Friday, September 17, 2010

ความตื่นตัวในรถยนต์ไฟฟ้า

ความตื่นตัวในรถยนต์ไฟฟ้า

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

เรียบเรียงจาก “Inside the Electric-Car Explosion” September 16, 2010, เป็นผลการวิเคราะห์โดย GLG Expert Contributor

ความตื่นตัวที่จะใช้รถไฟฟ้า (Electric car, EV) ได้เกิดขึ้นทั่วไป ทำให้บริษัทรถยนต์ค่ายต่างๆต้องหันมาคิดค้นและประดิษฐ์รถยนต์ไฟฟ้าแข่งกัน

ค่ายรถยนต์เยอรมัน BMW หรือ Bavarian Engine works ได้ใช้ตัวถังโครงสร้างรถอังกฤษมีชื่อ คือ Austin Mini อันเป็นรถยนต์ขนาดเล็ก ประหยัดน้ำมันเป็นเยี่ยมอยู่แล้ว มาทำเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ชื่อว่า MINI E, 612

ในสหรัฐอเมริกามีคนอเมริกันมากกว่า 14,000 คน ได้จองรถยนต์ไฟฟ้าญี่ปุ่น Nissan Leaf ขนาดเท่าๆกับ Tiida ที่มีวิ่งในประเทศไทย และไม่เกินสิ้นปี ค.ศ. 2010 ก็จะมีรถเหล่านี้มาวิ่งบนถนนของอเมริกา

มีค่ายรถยนต์อื่นๆที่ตามมา ดังเช่น

ค่ายฝรั่งเศส มีรถ Peugeot iOn, Citroën C-ZERO ที่จะเปิดตัวเป็นรถยนต์นั่งไฟฟ้าขนาดเล็ก ซึ่งคือตัวเดียวกับรถยนต์ค่ายความร่วมมือญี่ปุ่น คือ Mitsubishi’s I-MiEV

ส่วนค่ายรถยนต์ฟอร์ด (Ford Motors) จะเปิดตัวรถไฟฟ้าในปี ค.ศ. 2011

ค่าย GM หรือ General Motors เจ้าของแนวคิดรถยนต์ไฟฟ้าลูกประสม Chevrolet Volt และในยุโรปและบางประเทศจะใช้ชื่อว่า Vauxhall/Opel Ampera ซึ่งจะเป็นแนวคิดมีเครื่องยนต์ขนาดเล็กไว้ปั่นไฟฟ้าเพื่อส่งไปยังมอเตอร์เพื่อขับเคลื่อนรถยนต์ พร้อมทั้งมีแบตเตอรี่สำหรับสำรองไฟ อัดไฟฟ้าแบบเสียบปลั๊ก (PHEV) แนวคิดนี้จะมีการขยายผลนำมาใช้ในรถ Jaguar โดยมีบริษัท Lotus เป็นฝ่ายออกแบบเครื่องยนต์

เนื่องจากแบตเตอรี่ที่จะใช้สำรองไฟในรถยนต์ไฟฟ้าจะมีน้ำหนักมาก บางคันมีน้ำหนักแบเตอรี่ถึง 700 ปอนด์ จึงมีการคิดค้นที่จะทำให้ส่วนประกอบรถยนต์อื่นๆ ทั้งโครงสร้างและตัวถังมีน้ำหนักเบาโดยใช้วัสดุที่เรียกว่า Carbon fibre

ค่ายรถโฟล์คสวาเกน (VW) จะใช้รถยนต์ Golf ซึ่งเป็นรถยนต์ขนาดเล็กที่เป็นที่นิยมทั่วโลก และผลิตออกมาเป็นรุ่นที่ 7 แล้ว เพื่อเป็นโครงสร้างรถยนต์ไฟฟ้าที่จะผลิตออกสู่ตลาดได้คาดว่าในราว ค.ศ. 2012-2014

ในสหรัฐอเมริกา ได้มีความพยายามส่งเสริมในสองระดับ คือส่งเสริมทั้งบริษัทผู้ผลิต และส่งเสริมด้วยการลดหย่อนภาษีผู้ใช้รถไฟฟ้า ซึ่งรวมเป็นเงินประมาณ USD 25,000,000,000 ซึ่งเงินนี้จะใช้ไปเพื่อไปช่วยค่าแบตเตอรี่รถไฟฟ้าที่เป็นอันมากจะใช้ Lithium-ion

ในประเทศสหราชอาณาจักรได้ใช้มาตรการส่งเสริมทำให้ราคารถลดลงร้อยละ 25 หรือเป็นเงินประมาณ 5,000 ปอนต์สำหรับผู้ซื้อ 8,600 คนแรก ส่วนในรัฐแคลิฟอร์เนียที่กังวลกับปัญหามลพิษทางอากาศ มีส่วนลดภาษีให้ผู้บริโภคอีกคันละ USD 5,000

ในยุโรปเหนือ รถยนต์ตระกูล Norway ชื่อ THINK ได้บุกเบิกเรื่องรถยนต์ไฟฟ้ามากว่าสองทศวรรษ ปัจจุบันได้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าโดยใช้แบตเตอรี่แบบ Lithium-ion และหวังว่าระบบขับเคลื่อนของรถยนต์ฟ้า หรือที่เรียกว่า Power-train ที่บริษัทได้คิดค้นมานั้น จะได้มีบริษัทยักษ์ใหญ่นำไปใช้

ในแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา แดนผู้บุกเบิกด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ได้มีบริษัทตั้งใหม่ ชื่อ Tesla Motors ได้ใช้แบตเตอรี่แบบ Lithium-ion และใช้โครงสร้างรถสปอร์ต Lotus โดยใช้แบตเตอรี่เทียบเท่ากับที่ใช้ในเครื่องคอมพิวเตอร์แบบกระเป๋าหิ้ว 6,831 เครื่องมาประกอบเป็นแหล่งพลังของรถยนต์ไฟฟ้า

แม้จะไม่ได้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกสู่ตลาดในขนาดกว้างขวางจนพอที่จะสร้างกำไร แต่เทคโนโลยีของ Tesla ก็ทำให้บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ตัวจริงของโลก คือ Toyota ได้เข้ามาถือหุ้น USD 50 ล้าน แล้วยังมีบริษัทรถหรูอย่าง Daimler เข้ามาร่วมเป็นหุ้นส่วนอีกราย สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทที่จะออกสู่ตลาดในวงกว้างด้วยราคาที่ลดลงเหลือคันละ USD 49,900 เรียกว่า Tesla Model S Saloon ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะได้นำมาใช้ในรถยนต์สปอร์ตอเนกประสงค์ (SUV) Toyota RAV4 คาดว่าในกลางปีนี้ Tesla Motors จะระดมเงินในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกกว่า USD 200 ล้าน

ค่ายรถไฟฟ้าที่เป็นคู่แข่งของ Tesla คือ Fisker Automotive ได้พัฒนารถยนต์ไฟฟ้าแบบหรู รถยนต์ไฟฟ้า Fisker Karma ได้ใช้โรงงานเก่าของฟอร์ดและมีนักออกแบบสำคัญจากรถสปอร์ตหรู Aston Martin พัฒนารถยนต์ไฟฟ้าแบบ Sports saloon ที่จะออกสู่ตลาดได้ในราคาคันละ USD 87,900 แล้วจะตามมาด้วยรถในราคาที่ถูกกว่าสำหรับตลาดกว้าง โดยจะมีฐานผลิตที่ Wilmington

แบตเตอรี่นับเป็นหัวใจความสำเร็จของรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ซึ่งมีโจทย์ยากที่ต้องทำให้สำเร็จ คือ ต้องมีน้ำหนักตัวที่เบาลง สามารถจัดเก็บพลังไฟฟ้าได้อย่างหนาแน่นให้พลังงานได้ต่อเนื่องยาวนานในการอัดครั้งเดียว ต้องมีราคาที่ถูกลง ด้วยเหตุดังกล่าว ประเทศที่มีเทคโนโลยีหรือเป็นฐานผลิตแบตเตอรี่ให้กับเครื่องโทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้วและพกพาทั้งหลายจึงมีความได้เปรียบในการเดินต่อไปทางด้านแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ดังบริษัท LG Chem ของเกาหลี จึงได้ทำงานร่วมกับบริษัท A123 ที่มีฐานอยู่ที่เมืองบอสตันในสหรัฐ บริษัท Daimler ได้ลงทุนกับบริษัท Li-Tec และบริษัทรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ในการพัฒนาแบตเตอรี่ไฟฟ้าป้อนให้กับค่ายรถยนต์ความร่วมมือ ส่วนค่ายรถยนต์โฟล์คสวาเกน (VW) ได้ร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้ว BYD ของจีน บริษัทดังกล่าวมีเงินลงทุนจากมหาเศรษฐีติดอันดับของโลก คือ Warren Buffett

ราคาของแบตเตอรี่สำหรับใช้ในรถยนต์ไฟฟ้ายังเป็นตัวแปรสำคัญ ในรถยนต์ไฟฟ้า Nissan Leaf ที่ทำให้ถูกที่สุดแล้วนั้น ค่าแบตเตอรี่มีราคาประมาณ 15,000 ปอนต์ หรือ 720,000 บาท ซึ่งยังนับว่าสูงมาก และจะต้องผลักด้นให้ราคาส่วนแบตเตอรี่นี้ลดลงมาเหลือร้อยละ 25 ของราคาดังกล่าว หรือประมาณ 180,000 บาทไทย

เพราะราคาแบตเตอรี่ที่ยังสูงมากนี้ มีแนวโน้มที่จะลดลง จึงมีแนวทางในการนำเสนอใหม่ๆ เช่น บริษัท General Motors ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Chevrolet Volt มีสัญญารับประกันแบตเตอรี่ 100,000 ไมล์ หรือ 8 ปีอย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วน Nissan มีทางเลือกของสัญญาให้เช่าใช้แบตเตอรี่แทนการซื้อ

อากาศร้อนหรือหนาวนับเป็นตัวแปรและผลกระทบสำคัญต่อประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ Nissan Leaf ยอมรับว่ารถของเขาวิ่งได้ตั้งแต่ 47 ถึง 137 ไมล์ ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและสไตล์การขับขี่ ด้วยเหตุของภูมิอากาศที่แตกต่างกันมาก จึงทำให้ต้องมีระบบระบายความร้อนแบตเตอรี่ด้วยของเหลว และควบคุมอุณหภูมิแบตเตอรี่ให้อยู่ในระดับทำหน้าที่ได้ดีที่สุดตลอดเวลา

อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นข้อจำกัดของรถไฟฟ้า คือความกังวลเรื่องระยะทางวิ่ง หรือ Range anxiety คนจะกลัวว่าวิ่งไปแล้ว ไฟฟ้าหมด แล้วหาที่อัดไฟไม่ได้ หรืออัดได้ แต่ก็จะใช้เวลานาน ไม่เหมือนกับเติมน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งนาทีก็เติมน้ำมันเพื่อวิ่งต่อได้ ในความเป็นจริงนั้น ชาวตะวันตกพวกที่ขับรถไปทำงานทุกวันนั้นใช้รถไม่เกินวันละ 45 ไมล์ก็จริง แต่คนมักจะต้องคิดว่ามีพลังเอาไว้ให้เหลือเฟือเพียงพอ แต่ขณะเดียวกัน การต้องมีพลังสำรองนั้น ทำให้ต้องมีแบตเตอรี่ที่มีขนาดและน้ำหนักมาก และทำให้ราคารถโดยรวมสูงขึ้นจนเกินเหตุ

เพื่อแก้ปัญหาการเติมไฟฟ้า หรือ Charging Points ที่เติมไฟแต่ละแห่งจะมีราคาประมาณ 5,000 ปอนด์ การออกแบบที่เติมไฟฟ้านั้นไม่ยาก แต่วิธีการบริหารนั้นยังต้องคิดและพัฒนากันต่อไป Elektromotive Ltd เป็นบริษัทคิดทำระบบเติมไฟฟ้าที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ชื่อว่า Elecktrobay ในปัจจุบันได้มีการติดตั้งเครื่องดังกล่าวแล้ว 165 จุดในกรุงลอนดอน และ 1,300 จุดทั่วประเทศ

เมื่อต้องมีการเติมไฟฟ้า ก็ต้องมีมาตรฐานเข้ามาเกี่ยวข้องที่ทำให้ระบบรองรับรถยนต์ไฟฟ้าจากทุกค่ายได้ ระบบการคิดและเรียกค่าใช้พลังไฟฟ้า เพราะบริษัทอย่าง Elektromotive เองก็อยากที่เข้าไปดำเนินการในตลาดร่วมยุโรป ปัญหาก็คือเมื่อเทคโนโลยียังอยู่ในช่วงของการพัฒนา จึงยังไม่มีความลงตัวแน่นอนในขณะนี้

Contributed by a Member of the GLG Consumer Goods & Services Councils

No comments:

Post a Comment