สู่ความเป็นนานาชาติของการอุดมศึกษาไทย
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
การพัฒนาการศึกษาไทยในระดับอุดมศึกษาเพื่อการก้าวสู่ความเป็นนานาชาติ มีประเด็นดังต่อไปนี้
1. การพัฒนาการเรียนการสอนด้านภาษาอังกฤษ (International Languages) ทำให้นักศึกษามีความเข้มแข็งในการใช้ภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษให้มีความเข้มแข็งขึ้น สื่อสารกับโลกภายนอกได้
2. การเปิดสอนในหลักสูตรการเรียนการสอนที่ใช้ภาษาอื่นๆที่ไม่ใช่ภาษาท้องถิ่น (ไม่ใช่ภาษาไทย) เป็นสื่อกลางในการเรียนการสอน (Medium of Instruction) ในกรณีเช่นนี้อาจไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นภาษาอังกฤษ ยกตัวอย่างในปัจจุบันมีความสนใจในการค้าขายกับประเทศจีน ซึ่งมีประชากรกว่า 1300 ล้านคน มีเศรษฐกิจเป็นอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา ความสนใจที่จะเรียนรู้ภาษาจีนมีมากขึ้น
3. การทำให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง มีนักศึกษาที่ไม่ใช่คนในท้องถิ่น หรือชาตินั้นๆ เป็นนักศึกษาที่มาจากชาติอื่นๆ อาจมาเรียน โดยใช้ หรือไม่ใช้ภาษาในท้องถิ่นนั้นๆ (International Student Body) ดังในกรณีของประเทศสหราชอาณาจักร มีนักศึกษาต่างชาติเข้ามาศึกษาเป็นจำนวนมาก ทำให้บรรยากาศของการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยมีความเป็นสากล
4. การทำให้มหาวิทยาลัยได้รับความยอมรับในระดับระหว่างชาติ (Internationally Recognized Programs/ Institutions) ทำให้มีการโอนย้ายหน่วยกิต หรือนักศึกษาข้ามมหาวิทยาลัย ข้ามประเทศกันได้
5. การทำให้นักศึกษา คณาจารย์ และประชาชนโดยรวม มีทัศนคติที่ดีต่อสังคมนานาชาติ เข้าใจและใช้ประโยชน์จากความเข้าใจโลกภายนอก นอกเหนือจากความเป็นสังคมในชาติของตน
No comments:
Post a Comment