Saturday, June 18, 2011

เรียนรู้เรื่องข้าว พืชเศรษฐกิจและการเมือง

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

ศึกษาและเรียบเรียง จาก Wikipedia และอื่นๆ

ในช่วงนี้ ข้าวไม่ได้เป็นเพียง “พืชเศรษฐกิจ” แต่กลายเป็น “พืชการเมืองไปด้วย” เพราะมีความเห็นต่างกันระหว่างพรรคการเมืองฝ่ายหนึ่งใช้นโยบายประกันราคาข้าว และรวมถึงพืชผลการเกษตรอื่นๆ แต่อีกพรรคหนึ่ง ใช้นโยบายประกันราคาข้าว โดยรับซื้อหรือจำนองไว้ในราคาที่สูงถึง 15,000 บาทสำหรับข้าวทั่วไป และ 20,000 บาท สำหรับข้าวหอมมะลิ

พรรคใดจะทำได้จริง อะไรจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตร อะไรที่จะเป็นนโยบายที่ยั่งยืน ผู้อ่านต้องศึกษากันเอง ใช้สติปัญญาและการเปิดใจ




ภาพ ต้นข้าวที่ปลูกอยู่ในท้องนา (Rice field) ที่มีข้าวออกรวงแล้ว

ข้าว (Rice) เป็นเมล็ดพืช (seed) เป็นพืชประเภทหนึ่งของ monocot plants เรียกทางวิชาการว่า Oryza sativa หรือ Oryza glaberrima. เป็นเมล็ดพืชที่ใช้เป็นอาหารพลังงาน (Cereal grain) ของมนุษย์ ข้าวเป็นส่วนประกอบอาหารหลัก (Staple food) ของประชากรโลก โดยเฉพาะในทางเอเชีย หรือตะวันออก เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา และทาง West Indies จัดเป็นธัญพืช (Grain) ที่มีการผลิตมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากข้าวโพด (Maize หรือ corn)

แต่เนื่องด้วยข้าวโพดเป็นพืชที่ปลูกไว้เพื่อหลายวัตถุประสงค์ ทั้งเพื่อเป็นอาหารมนุษย์โดยตรง เป็นอาหารสัตว์ และรวมทั้งเป็นพืชผลิตพลังงาน ข้าวจึงจัดเป็นพืชอาหารหลักอันดับหนึ่งของมนุษย์ ที่ให้พลังงาน (Calories) โดยข้าวเป็นพืชให้พลังงานถึงกว่าร้อยละ 20 ของประชากรโลก

ข้าวเป็นพืชที่มีมนุษย์เพาะปลูกที่ยังมีถกเถียงกันอยู่ว่าจะมีปลูกกันมานานเพียงใดแล้ว มีนักมานุษยวิทยาในเกาหลีพบว่าข้าวมีปลูกกันมานานกว่า 15,000 ปี ซึ่งค้นพบโดยนักมานุษยวิทยาในปี ค.ศ. 2003 ซึ่งก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่นักวิชาการจากหลายมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงในสหรัฐ Stanford University, New York University, Washington University, และ Purdue University ร่วมกันยืนยันว่า หลักฐานที่ค้นพบแหล่งเริ่มต้นของการปลูกข้าวเพื่อการบริโภคได้เริ่มขึ้นจากแหล่งเดียวคือที่บริเวณลุ่มน้ำแยงซี (Yangtze Valley) ในประเทศจีน (China)

ร้อยละ 80 ของข้าวในโลกในปัจจุบัน ผลิตโดย 8 ประเทศหลักในเอเชีย และอื่นๆ ได้แก่ จีน (China), อินเดีย (India), อินโดนีเซีย (Indonesia), บังคลาเทศ (Bangladesh), เวียดนาม (Vietnam), ไทย (Thailand), พม่า (Myanmar), ฟิลิปปินส์ (Philippines), บราซิล (Brazil), ญี่ปุ่น (Japan) โดยรวมกันมีผลผลิตได้ประมาณปีละ 500-600 ล้านตัน แต่โดยแนวโน้มจะมีการผลิตที่ลดลง โดยหันไปปลูกพืชอื่นๆที่ยืดหยุ่น ขายเป็นอาหารคนได้ เป็นอาหารสัตว์ หรือเป็นพืชพลังงานทดแทนได้

ประเทศไทยมีการส่งออกข้าวได้เป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่อันที่จริงผลผลิตข้าวของไทยที่ปีละ 26-31 ล้านตันนั้นก็น้อยนิดคิดเป็นเพียงร้อยละ 4-5 เมื่อเทียบกับผลผลิตในโลกที่ประมาณ 600 - 670 ล้านตัน

ข้าวเป็นอาหารพลังงานหลักของคนเอเชีย จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ไทย และอื่นๆ และมีบางส่วนที่คนเอเซียอพยพไปอยู่แล้วยังบริโภคข้าว ดังเช่นในสหรัฐ ออสเตรเลีย ซึ่งเขาก็มีพื้นที่ปลูกข้าวได้อย่างเหลือเฟือ หากผลิตแล้วขายได้ราคาสูงพอ

ข้าวเป็นพืชที่เหมาะแก่อากาศร้อนชื้น อบอุ่น หรือไม่หนาวจัด จึงไม่เหมาะกับภูมิภาคทางตอนเหนือของโลก อย่างรัสเซีย แคนาดา หรือสหรัฐอเมริกาตอนเหนือ

ส่วนใหญ่ประเทศผู้ปลูกข้าวได้มองข้าวพื่อการบริโภคในประเทศเป็นหลัก ปลูกให้เพียงพอเพื่อการบริโภคในประเทศ ไม่ต้องมีการนำเข้า และรักษาระดับราคาไม่ให้ผันผวน ให้มีความสมดุลให้ผู้ปลูกมีแรงจูงใจ และยุติธรรมที่จะปลูก ส่วนผู้บริโภคที่อยู่ในเมือง โดยเฉพาะคนระดับล่าง ต้องมีข้าวกินในราคาไม่แพงจนเกินไปนัก

ข้าวเป็นสินค้ามีราคา มีคุณค่า ในประเทศไทยเราสอนให้คนกินข้าวอย่างไม่ทิ้งขว้าง ตักข้าวใส่จานแล้วต้องกินให้หมด คนอีสานตอนใต้ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด เมื่อเข้ามาทำงานกรุงเทพฯ กลับบ้านแล้วทางบ้านฝากข้าวหอมมาให้กิน มันมีค่ามากกว่าเพียงอาหาร

ข้าวเป็นสินค้าที่แม้มีราคา แต่ขายแพงมากไม่ได้ และต้องอิงตลาดโลกส่วนหนึ่ง หากปั่นราคาขายได้แพง สักระยะหนึ่ง คนก็จะหันไปบริโภคธัญพืชอื่นๆ เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด แม้แต่มันสำปะหลัง ก็สามารถปรับมาเป็นอาหารพลังงานแทนได้อย่างง่ายๆ การขายข้าว จึงต้องอาศัยเครือข่ายการค้าข้าว หวังพึ่งพากันในระยะเวลายาวนาน รักษาฐานผู้ซื้อ ดูแลคุณภาพให้เชื่อถือได้ ข้าวไทยเป็นข้าวที่ต้องการตลาดผู้ซื้อที่มีอำนาจการซื้อ ดังเช่นตลาดในสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น ร้านอาหารไทยในต่างประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของการตลาด โดยมีข้าวหอมมะลิที่เป็นตัวชูโรง

ไม่มีชาติไหนคิดเอาข้าว (Rice) ไปทำเป็นพืชพลังงาน เป็นแกสโซโฮล หรือให้สัตว์บริโภคเหมือนหญ้า มันสำปะหลัง หรือข้าวโพด เพราะมันแพง และมีผลกระทบต่อปากท้องของประชาชน

แต่กระนั้นชาวนาปลูกข้าวมักจะยากจน ปัจจุบันคนปลูกข้าวจึงต้องมีพืช เลี้ยงสัตว์ ปลา หรือรายได้อื่นๆเป็นตัวเสริม รัฐช่วยได้ด้วยการสร้างอุตสาหกรรมขนาดเล็กในชนบทรองรับ

ตารางแสดงผลิตผลข้าวในปี ค.ศ. 2009

ประเทศ
Country

ผลิตผลข้าว
Rice Production

สัดส่วนร้อยละ
Percentage

China

166,417,000

32.7

India

132,013,000

26.0

Indonesia

52,078,832

10.2

Bangladesh

38,060,000

7.5

Vietnam

34,518,600

6.8

Thailand

27,000,000

5.3

Myanmar

24,640,000

4.8

Philippines

14,031,000

2.8

Brazil

10,198,900

2.0

Japan

9,740,000

1.9

Total

508,697,332

100.0

นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกา และปากีสถาน ซึ่งมีการบริโภคข้าวอยู่บ้าง ผลิตได้ประเทศละ 10 ล้านตันต่อปี

การขายข้าวในตลาดโลก ขายเพื่อการส่งออกมีเพียงร้อยละ 3-5 ในปี ค.ศ. 2010 มีการขายข้าวระหว่างประเทศ 30.5 ล้านตัน การส่งออกที่เพิ่มขึ้นเกิดจากความต้อการในประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ บราซิล และสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจทำให้ข้าวที่ส่งไปอัฟริกาอาจลดลง

ประเทศไทยโดยทั่วไปและในปี ค.ศ. 2010 จัดว่าสามารถรักษาการส่งออกได้สม่ำเสมอ เช่นเดียวกับของจีน พม่า เวียดนาม ซึ่งทดแทนส่วนที่ลดลงของกัมพูชา สหรัฐอเมริกา และอูรุกวัย และเพื่อทดแทนการขาดแคลนข้าวในตลาดภายในของอินเดีย

ราคาข้าวในช่วง 2-3 ปีและต่อไปนี้อาจไม่ขยับเพิ่มขึ้นมากกมายนัก ด้วยเหตุของประเทศที่ขาดแคลน หรือเป็นกังวลก็ได้มีการสต๊อกข้าวเอาไว้ในประเทศอย่างเพียงพอ เพราะเขาก็กังวลกับการขาดแคลนที่อาจเกิดขึ้นในโลกด้วยเหตุของราคาพลังงานอย่างน้ำมันในโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

ภาพ เมล็ดข้าวมีความหลากหลาย ข้าวกล้อง หรือข้าวไม่ขัดสี หรือเรียกว่า "ข้าวสีน้ำตาล" นับเป็นความต้องการของผู้บริโภคที่รักสุขภาพ


Rice Market

อธิบาย - ประเทศไทยผลิตข้าวได้ 26-30 ล้านตัน แต่สามารถส่งออกได้ 8-9 ล้านตัน หรือประมาณร้อยละ 30 หรือ 1 ใน 3 ของปริมาณข้าว แต่อาจเป็นไปได้ว่าข้าวที่ส่งออกโดยไทยนั้นส่วนหนึ่งมีของประเทศเพื่อนบ้านปนมาด้วย เพราะมีการประกันราคาข้าว หรือพยุงราคาข้าวภายในประเทศไว้

No comments:

Post a Comment