Wednesday, September 2, 2009

รังที่ไร้นก (The Empty Nest Syndrome)





รังที่ไร้นก (The Empty Nest Syndrome)
ประกอบ คุปรัตน์
ศึกษาและเรียบเรียง
Updated: October 4, 2010
ภาพ รังที่ไร้นก (Empty Nest) สะท้อนภาพอาการของพ่อแม่ที่เมื่อลูกๆโตขึ้นแล้ว เขาก็จะแยกครอบครัวจากไป การที่คิดว่าลูกๆจะอยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่นในครอบครัวเหมือนที่เคยนั้น มักจะไม่เป็นจริง

ภาพ การมีบ้านใหญ่โต งดงามเพียงใด แต่ก็อาจไม่ทำให้ลูกๆอยากใช้ชีวิตร่วมกันในครอบครัวใหญ่ โดยเฉพาะในวิถีชีิวิตแบบตะวันตก ที่เมื่อลูกๆโตแล้ว เขาก็จะแยกครอบครัวไปอยู่กันเป็นครอบครัวเล็กๆของเขา

รังที่ไร้นก (The Empty Nest Syndrome) คืออาการความรู้สึกที่เหงาเปล่าเปลี่ยวที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองจะมี เมื่อลูกๆของเขาต้องจากบ้านไป ลักษณะเช่นนี้จะมีในสตรีมากกว่าบุรุษ เริ่มตั้งแต่ชีวิตการแต่งงานนั้นจะทำให้สามีภรรยาตื่นตัว อยากที่จะรับผิดชอบในบทบาทพ่อแม่ใหม่ของตน เป็นความเห่อตั้งแต่การเตรียมตัวเรียนรู้ว่าจะเลี้ยงเด็กอย่างไร จะดูแลเขาอย่างไร เมื่อเขาโตขึ้น จะให้การศึกษา หาโรงเรียนที่เหมาะสมให้เขาอย่างไร แต่ยามที่เขาโตแล้ว ต้องจากไปเพื่อไปศึกษาเล่าเรียน ไปเรียนรู้ที่จะเป็นตัวของเขาเอง หรือไปมีครอบครัวใหม่ คนที่เป็นพ่อแม่ ก็จะรู้สึกเหงา ยิ่งสำหรับลูกๆที่ต้องจากไปอยู่ในที่ห่างไกล ด้วยการแต่งงานข้ามวัฒนธรรม หรือต้องไปทำงานอยู่ต่างประเทศ หรือต่างเมืองแดนไกล ความรู้สึกนี้จะมีมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในสตรี หรือคนที่เป็นแม่

ยิ่งพ่อหรือแม่ ที่มีความรักความผูกพันกับลูกมาก ก็ยิ่งทำให้อาการเหงานี้มีมากขึ้น แม้เมื่อลูกๆอยู่ใกล้ๆ พ่อแม่จะขี้บ่น มีความขัดแย้งทางอารมณ์บ้างเล็กๆน้อยๆ แต่ด้วยความเป็นจริงแล้ว คือความผูกพัน แต่เมื่อลูกๆต้องอยู่ไกลออกไป พ่อแม่จะรู้สึกเหงา
พ่อหรือแม่บางคนบางวัฒนธรรม และคนชั้นกลางในสังคมไทยที่พอมีฐานะ มักจะหาทางผูกใจลูกๆ เช่นสร้างบ้านเป็นหลังๆให้อยู่ใกล้ๆ หรือสร้างเป็นแบบบ้านหรือหมู่บ้านหลายหน่วย หรือเป็นบ้านใหญ่ที่มีหลายห้องที่ลูกๆจะมาอยู่ด้วยได้ บางคนคิดสร้างเป็น Complex เป็นเหมือนคอนโดมีเนียมหรือ Apartments ให้คนเช่า แล้วให้ลูกๆมาอยู่ในส่วนของที่พักนั้น หากมีหลานปู่ย่า หรือตายาย ก็ให้ได้พักอาศัยอยู่ใกล้ๆกัน

หากเป็นวัฒนธรรมแบบจีนเก่า ก็จะเรียกว่า “กงสี” คือกินอยู่ ทำงานร่วมกันเป็นครอบครัว

ในต่างจังหวัดของประเทศไทย พ่อแม่ที่มีลูกโตแล้ว เขาไปทำงานในเมืองห่างไกล เข่นที่กรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ พ่อแม่ส่วนหนึ่งเข้าใจและต้องการเช่นนั้น เพราะเป็นโอกาสไปหารายได้และมีชีวิตที่มีมากกว่าในชนบทห่างไกล แต่ความผูกพันในแบบเดิมยังตามมา พอพ่อแม่หนุ่มสาวมีลูกน้อย ก็จะไปเยี่ยมบ้าน บางครั้งฝากลูกให้ปู่ย่า หรือตายายช่วยเลี้ยงดู เด็กๆก็จะเรียกปู่ย่าหรือตายายว่า “พ่อแก่ แม่แก่” บางทีพ่อแม่เลี้ยงลูกเอง ไม่ส่งกลับไปบ้านเกิด นำลูกมาอยู่ด้วยที่ในเมืองใหญ่ แล้วแม่แก่ หรือย่า หรือยาย ก็จะตามมาช่วยเลี้ยงหลาน แล้วบางทีก็เดินทางกลับไปกลับมา ใช้ชีวิตในชนบทส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็เข้ามาอยู่กับลูกๆหลานๆ เป็นการตอบสนองทั้งสองด้าน คือปู่ย่า ตายาย ก็ได้มีงานเลี้ยงหลาน หายเหงา ทางฝ่ายหนุ่มสาวพ่อแม่ ก็จะได้มีคนช่วยเลี้ยงดูลูก ในขณะที่ตนเองต้องไปทำงานนอกบ้านทั้งคู่

“บ้าน” หากเปรียบเหมือนรังนก (Nest) ก็ต้องมีขนาดพอเหมาะ สร้างใหญ่หรือมีขนาดใหญ่ ก็มีค่าใช้จ่ายด้านการดูแลตามมา ลูกๆเปรียบเหมือนลูกนก ตอนที่ยังเล็ก ปีกยังไม่กล้า ขายังไม่แข็ง ก็ต้องการดูแลใกล้ชิดพ่อแม่ แต่เมื่อเขาโตขึ้น ความต้องการที่จะอยู่ใกล้พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ก็ลดลง คนเป็นพ่อแม่ นับวันก็จะยิ่งอายุมากขึ้น บ้านที่เคยอยู่อย่างคับแคบอึดอัด ก็จะมีห้องเหลือ หากสร้างใหญ่เกินไป ยามแก่เฒ่า ก็จะไม่มีกำล้งดูแล ในต่างประเทศ หากเป็นบ้านย่านที่อยู่ในเมือง หรือตามเมืองมหาวิทยาลัย ที่พักมีราคาสูง เขาก็จะปรับปรุงบ้านใหม่ให้กลายเป็นหน่วยอยู่อาศัยได้หลายๆหน่วย กลายเป็นห้องให้เช่า มีห้องน้ำ ห้องครัวในแต่ละหน่วยเป็นอิสระ แล้วเปิดให้คนมาเช่าพัก มีรายได้เพิ่มขึ้นจากค่าเช่าที่พักอาศัย อาชีพอย่างนี้เขาเรียกว่า Land lord หรือผู้มีที่พักอาศัยแล้วให้คนมาเช่าพักได้

ในสหรัฐอเมริกา คนที่เคยมีครอบครัวใหญ่ มีบ้านใหญ่หลายห้อง เมื่อลูกๆเติบโตแยกย้ายกันไป พ่อแม่ที่เข้าสู่วัยเกษียณอายุ ก็จะขายบ้าน โดยเฉพาะบ้านในแถบทางเหนือที่อากาศหนาวจัด แล้วย้ายมาหาบ้านพักขนาดพอเหมาะในแถบที่มีอากาศอบอุ่นกว่า เหมาะสำหรับผู้มีอายุ เช่นบ้านแถบรัฐทางตะวันตก ดังเช่น แคลิฟอร์เนีย (California) อริโซน่า (Arizona) และทางตะวันออกตอนใต้อย่างรัฐฟลอริด้า (Florida) สังคมอเมริกันเขาเป็นพวกมีชีวิตคุ้นเคยกับการย้ายถิ่น ไม่ติดยึด กิจการซื้อขายบ้าน แลกเปลี่ยนบ้าน จะมีให้เห็นในทุกๆเมือง

ในเขตกรุงเทพฯมหานคร ผมเห็นผู้เกษียณอายุแล้วเป็นจำนวนไม่น้อย ที่มีที่ดินสัก 100-200 ตารางวาขึ้นไป เขาทุบบ้านเก่าทิ้ง และสร้างอาคารหลังใหม่ เป็นอาคารชุดห้องพัก อย่างที่เรียกว่า Apartments นอกจากตนเองจะได้พักอาศัยเองแล้ว ยังมีห้องให้เช่าพักได้อีกตั้งแต่เป็น 10-20 ห้องหรือมากกว่านั้น นับเป็นการใช้พื้นที่ให้คุ้มกับมีโอกาสใหม่ๆ แถมทำให้มีเพื่อนบ้าน คนหนุ่มสาว นักเรียน นักศึกษา หรือคนวัยทำงานมาอยู่ใกล้ๆ ไม่เหงาจนเกินไป ไม่กลายเป็นคนมีอาการ “รังที่ไร้นก” หรือ The Empty Nest Syndrome ดังที่ได้เล่ามาแล้ว

1 comment:

  1. สวัสดีค่ะ
    แวะเข้ามาเยี่ยมเยียนค่ะ ดีใจที่ได้อ่านข้อเขียนของอาจารย์ เลยสมัครขอติดตามนะคะ

    ReplyDelete