Sunday, October 26, 2014

โจโค วิโดโด (Joko Widodo) เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของอินโดนีเซีย

โจโค วิโดโด (Joko Widodo) เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของอินโดนีเซีย

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: การเมือง, การปกครอง, อาเซียน, ASEAN, อินโดนีเซีย, Indonesia, โจโค วิโดโด, Joko Widodo, Jokowi, การกระจายอำนาจ, decentralization, การขนส่งทางทะเล, sea transportation, การขนส่งทางอากาศ, air transportation, พลังงาน, energy, petroleum, gas, coal

ความนำ

ทุกคนชอบประธานาธิบดีที่ทำตัวเหมือนชาวบ้าน ยกเว้นในเรื่องความมั่นคงของชาติ วิโดโด (Joko Widodo) ก้าวสู่ตำแหน่งไม่ใช่ด้วยประวัติการศึกษาอันสูงส่งจากสถาบันชั้นนำของโลก หรือของประเทศ เขาจบมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นสาขาวนศาสตร์แล้วหันมาทำธุรกิจช่างไม้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ แต่ผลงานการเมืองที่สำคัญของเขาคือการเป็นนายกเทศมนตรีของเมืองสุราการ์ตา (Surakarta) ที่ทำงานต่อเนื่อง 7 ปี และผู้ว่าราชการแห่งนครจาการ์ตา เมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศอินโดนีเซีย 2 นโยบายที่เป็นรูปธรรม คือ ทำความสะอาดเมือง หาบเร่แผงลอยที่มาขายของบนทางเท้า โดยหาที่ทำกินให้ใหม่เป็นจุดๆ และการทำให้การบริหารบ้านเมืองโปร่งใส ห้ามเครือญาติและครอบครัวเข้าไประมูลงานราชการ
บทเรียนประชาธิปไตยของอินโดนีเซียเป็นอันมาก ควรมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับประเทศไทย ผู้เขียนจึงเห็นเป็นโอกาสอันดีที่จะติดตามเรียนรู้การทำงานของประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศนี้


ภาพ นายโจโควิ ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าการจังหวัดจาการ์ตาได้เยี่ยมชุมชนต่างๆ


ภาพ นายโจโควิในช่วงการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศอินโดนีเซีย


ภาพ แม้อินโดนีเซียจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีในระดับร้อยละ 6-7 ต่อปี แต่ปัญหาความยากจน การขาดที่พักอาศัย ปัญหาขาดน้ำสะอาด ฯลฯ ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไข


ภาพ ความแตกต่างระหว่างคนมีและคนยากจนในประเทศอินโดนีเซีย นับเป็นการท้าทายผู้นำประเทศที่จะต้องลดช่องว่างทางเศรษฐกิจนี้


ภาพ ปัญหาพลังงาน คนอยากใชน้ำมันราคาถูก แต่ขณะเดียวกัน ปัญหาการจราจรติดขัดก็เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ

ประชาธิปไตยที่เพิ่งก่อร่าง

ประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศใหญ่สุดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันมีประชากร 250 ล้านคน แต่เพิ่งก่อตั้งเป็นประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เริ่มมีประธานาธิบดีคนแรก คือซูการ์โน (Sukarno, 1945-1967) ในยุคก่อตั้งประเทศซึ่งยังอ่อนแอและสับสนในทิศทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งต่อมาตามด้วยการยืดอำนาจด้วยฝ่ายทหารของนายพลซูฮาร์โต (Suharto, 1967-1998) ซึ่งเขาครองอำนาจยาวนานถึง 31 ปี และตามด้วยช่วงรัฐบาลเปลี่ยนผ่านในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจของเอเซีย ที่หลายคนเรียกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง โดยมีนายบาชารุดดิน จูซุฟ ฮาบิบี (Bacharuddin Jusuf Habibie, 1998-1999) ซึ่งครองอำนาจรักษาการในช่วงสั้นๆ ก่อนเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิไตยเป็นครั้งแรก ในยุคนายอับดุลราห์มาน วาฮิด (Abdurrahman Wahid, 1999-2001)

การบริหารงานภายใต้การนำของนายวาฮิด นอกจากจะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่สับสนและมีอำนาจการเมืองที่ไม่เด็ดขาดแล้ว นายวาฮิดเองยังมีจุดอ่อนทางร่างกายที่สายตาที่เกือบจะมองอะไรไม่เห็น อ่านอะไรไม่ได้ ซึ่งก็ครองอำนาจเพียงช่วง 2 ปีสั้นๆ ก่อนสละอำนาจต่อไปยังนางเมกะวาตี ซูการ์โนบุตรี (Megawati Sukarnoputri, 2001-2004) ซึ่งนางนอกจากเป็นบุตรสาวของอดีตผู้นำและวีรบุรุษของชาติ คือซูการ์โนแล้ว นางมีประสบการณ์ทางการเมืองน้อยมาก และขาดความสามารถในการตัดสินใจทางการเมือง ครองอำนาจในช่วงวาระให้ครบภายใต้พรรคประชาธิปไตยและการต่อสู้ (Indonesian Democratic Party – Struggle) ก่อนที่นายพลซูสิโล บัมบัง ยุดโดโยโน (Susilo Bambang Yudhoyono, 2004-2014)
นายพลซูสิโล บัมบัง ยุดโดโยโน เป็นทางเลือกใหม่ที่ประชาชนหันไปเลือกคนที่มีประสบการณ์บริหาราชการในระดับกองทัพมาแล้ว เพราะเหนื่อยหน่ายกับการนำประเทศจากคนที่ไม่มีประสบการณ์ ยุดโดโยโนสามารถสร้างความเชื่อมั่นในการบริหารประเทศ ทำให้อินโดนีเซียกลับมาเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้เขาครองอำนาจอย่างต่อเนื่อง 2 สมัยๆละ 5 ปีติดต่อกัน ในช่วงนี้นับได้ว่ามีการพัฒนาทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ มีเสถียรภาพอย่างต่อเนื่องภายใต้พรรคประชาธิปัตย์ (Democratic Party)

ปี ค.ศ. 2014 นับเป็นอีกหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมือง เมื่อผู้แข่งขันชิงตำแหน่งทางการเมืองที่มาจากสองพรรคใหญ่ต้องมาแข่งขันกันในระบอบประชาธิปไตย โดยมีการเลือกประธานาธิบดีโดยตรง

ฝ่ายหนึ่งคือปราโบโว สุเบียนโต (Prabowo Subianto) อายุ 63 ปี เป็นนักธุรกิจ นักการเมือง และนายพลในกองทัพของอินโดนีเซีย ในปี ค.ศ. 2009 เขาลงสมัครเป็นรองประธานาธิบดีในทีมของนางเมกะวาตี ซูการ์โนบุตรีที่สมัครเป็นประธานาธิบดีต่ออีกสมัยหนึ่ง แต่ต้องพ่ายแพ้ต่อฝ่ายประธานาธิบดียุดโยโนไป
ในปี ค.ศ. 2014 นายพลสุเบียนโตลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในนามพรรคการเคลื่อนไหวที่ยิ่งใหญ่ของอินโดนีเซีย (Great Indonesia Movement Party หรือ Partai Gerindra)

นายพลสุเบียนโตลงแข่งกับนายโจโควิ (Joko Widodo) ผู้ว่าราชการจังหวัดจาการ์ตา ผู้สมัครจากพรรคพรรคประชาธิปไตยและการต่อสู้ (Indonesian Democratic Party – Struggle) แต่ในที่สุดก็พ่ายแพ้ต่อนายโจโควิไป และเป็นการแพ้ชนะกันอย่างหวุดหวิด นายพลสุเบียนโตในอีกส่วนหนึ่งคืออดีตสามีของสิติ เฮเดียติ (Siti Hediati) บุตรสาวคนที่สองของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตผู้ยิ่งใหญ่

ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 2014 นายโจโค วิโดโด (Joko Widodo) ก็ได้เข้าสาบานตนรับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีมีฐานจากพรรคประชาธิปไตยและการต่อสู้ (Indonesian Democratic Party – Struggle) เขาเป็นความหวังของประเทศอินโดนีเซียที่จะพัฒนาไปในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งก็ยังมีปัญหาต่างๆที่จะต้องเผชิญต่อไปอีกมากมาย

ประวัติโจโควิ (Jokowi)

โจโค วิโดโด (Joko Widodo) ประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศอินโดนีเซีย เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในอินโดนีเซียว่า “โจโควิ” (Jokowi) เขาเคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดจาการ์ตา (Jakarta) และก่อนหน้านี้เคยเป็นนายกเทศมนตรีเมืองสุราการ์ตา (Surakarta)

โจโควิได้รับเลือกจากพรรคประชาธิปัตย์แห่งอินโดนีเซีย (Indonesia Democratic Party – Struggle ซึ่งใช้ชื่อย่อว่า PDI-P เขาหาเสียงชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการจาการ์ต้า โดยมีนายบาซูกิ ชาฮาจา เปอร์นามา (Basuki Tjahaja Purnama) เป็นผู้สมัครร่วมทีม เขาได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดจาการ์ตาเมื่อวันที่ 20 กันยายน ค.ศ. 2012 หลังจากต้องเลือกรอบที่สอง ซึ่งเขาชนะคู่แข่งขันคือผู้ครองตำแหน่งเดิม นายฟาอูซิ โบโว (Fauzi Bowo) โดยในการลงคะแนนเสียงรอบที่สองนี้เขาชนะด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ซึ่งเป็นการสะท้อนความนิยมของประชาชนที่เลือกผู้นำใหม่ที่ต้อง “ใหม่และสะอาด” และเป็นปฏิเสธการเมืองเก่าและน้ำเน่าแบบเดิมของอินโดนีเซีย

โจโคโวได้รับคะแนนนิยมพุ่งขึ้นอย่างชัดเจนหลังจากเขาได้รับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดจาการ์ต้าในปี ค.ศ. 2012 ในปี ค.ศ. 2013-2014 เขาปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้นว่าจะเป็นตัวแทนพรรค PDI-P ที่จะเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของอินโดนีเซียในปี ค.ศ. 2014 และเขาก็ได้รับเลือกจากพรรคให้สมัครเข้าแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 2014

โจโควิได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 2014 โดยได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 53 เหนือกว่าคู่แข่งขัน คือปราโบโว สุเบียนโต (Prabowo Subianto) ซึ่งประท้วงผลการนับคะแนนและถอนตัวจากการนับคะแนนในครั้งที่สองจะเสร็จสมบูรณ์

การชนะการเลือกตั้งของโจโควิยังนับว่าเป็นความก้ำกึ่ง มันยังเป็นการต่อสู้ระหว่างนักการเมืองฐานรากหญ้ากับนักการเมืองสายเก่า

แม้โจโควิจะครองอำนาจฝ่ายบริหาร แต่ฝ่ายปราโบโว สุเบียนโตครองเสียงในรัฐสภาที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ และผู้สันทัดทางการเมืองส่วนหนึ่งได้ออกมาแสดงความเห็นว่าโจโควินั้นเป็นคนดีมือสะอาด แต่ยังเป็นผู้ไร้เดียงสาทางการเมือง

ทิศทางของอินโดนีเซีย

คะแนนนิยมของโจโควิมาจากคนหนุ่มสาวและชนชั้นกลางในเมือง แต่เขาเข้าสู่การเป็นประธานาธิบดีด้วยคะแนนเสียงก้ำกึ่งที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งทำให้เขาต้องถูกโต้แย้งเรื่องการนับคะแนนและเสียเวลาในคดีความกว่าจะได้เข้าสู่ตำแหน่งจริงในที่สุด

เขาแสดงตนเป็นคนมือสะอาด เติบโตมาจากการเมืองส่วนท้องถิ่น เขาไม่ใช่คนที่อยู่ในการเมืองส่วนกลางของประเทศและเติบโตมาด้วยมีระบบพรรคพวกในแบบเดิม

นโยบายของโจโควิที่จะได้รับการทดสอบ คือการปล่อยราคาเชื้อเพลิงแบบลอยตัว เพื่อลดการขาดดุลของงบประมาณลงครึ่งหนึ่ง เพราะนโยบายอุดหนุนราคาน้ำมันทำให้รัฐต้องใช้จ่ายงบประมาณกว่า USD23,000 ล้าน หรือ 736,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งเป็นเรื่องหนักสำหรับประเทศที่อยู่ในช่วงเศรษฐกิจโลกซบเซา แต่การขึ้นราคาน้ำมันแบบลอยตัวนี้เป็นเรื่องใหญ่สำหรับประเทศอย่างอินโดนีเซียที่จะได้รับการต่อต้าน เพราะนโยบายการปล่อยราคาน้ำมันลอยตัวนี้เคยทำให้นายพลซูฮาร์โต เผด็จการทหารที่ครองอำนาจประเทศมาอย่างยาวนานต้องหลุดจากอำนาจไปในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเอเซีย

วิโดโดสัญญาว่าจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตในระดับร้อยละ 7 ต่อปี การขจัดคอรัปชั่นและการรั่วไหลในระบบราชการให้หมดไป การให้ความสำคัญของการพัฒนาที่การศึกษา การสาธารณสุข และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง

ประเทศอินโดนีเซียมีเกาะ 13,500 เกาะ มีประชากร 250 ล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรอาเซียน จัดเป็นประเทศมุสลิมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก วิโดโดเน้นการพัฒนาการขนส่งทางเรือและทางอากาศ เน้นให้อินโดนีเซียมีบทบาทเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค หันกลับไปสู่การเป็นเจ้าในมหาสมุทร และเน้นการเดินทางผ่านช่องแคบและการใช้ประโยชน์จากอ่าวต่างๆ และในขณะเดียวกัน อินโดนีเซียก็จะมุ่งมั่นเร่งการพัฒนาทางด้านสังคม

วิโดโดยังคงนโยบายของสุซิโล บัมบัง ยุดโดโยโน (Susilo Bambang Yudhoyono) ประธานาธิบดีคนที่ผ่านมา ด้วยการคงสัมพันธภาพที่ดีกับสหรัฐอเมริกา เริ่มตั้งแต่สมัยฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) เยือนประเทศอินโดนีเซียในปี ค.ศ. 2009 การคงสัมพันธภาพทางการค้ากับจีน แต่ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งของจีนกับฟิลิปปินส์ สมาชิกอาเซียนในการอ้างอิงดินแดนทางทะเล

ในด้านนโยบายต่างประเทศ นายจอห์น แครี (John Kerry) รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เน้นย้ำนโยบายสำคัญ 2 ประการ คือ การต่อสู้กับอิสลามหัวรุนแรงในอิรัคและซีเรีย และหนุนให้อินโดนีเซียเข้าร่วมเสนอข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางการค้าย่านแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership Trade)

3 นโยบายหลักที่น่าติดตาม

Huffington Post หนังสือพิมพ์ออนไลน์ได้ให้ข้อคิดสิ่งที่รัฐบาลของประเทศอินโดนีเซียภายใต้การนำของโจโควิต้องให้ความสำคัญที่สุด 3 ประการคือ

1. การลดการสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและไฟฟ้า เพราะเป็นการไปสนับสนุนคนที่ฐานะที่ใช้รถยนต์และการใช้จ่ายด้านค่าไฟฟ้าเครื่องปรับอากาศ

คนขับรถสาธารณะคนหนึ่งให้ความเห็น "เป็นเรื่องดีที่จะทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง" และเขาก็เสริมว่า "มันเป็นเรื่องบ้าที่จะทำให้คนใช้รถเมอซีเดซคันใหญ่ได้ใช้น้ำมันราคาถูก มันต้องใช้เงินค่าภาษีที่จัดเก็บได้ไปใช้กับโรงเรียนและคลินิคจะเกิดประโยชน์กว่า

ปัจจุบันคนในเขตอุตสาหกรรมจ่ายค่าเชื้อเพลิงที่ USD0.53 หรือประมาณ 17 บาท/ลิตร การสนับสนุนนี้เกิดขึ้นในเกาะชวาที่มีอุตสาหกรรมมาก ด้วยราคาที่ไม่เป็นธรรมชาตินี้ บรรดาปั๊มน้ำมันมีน้ำมันขายที่หน้าปั๊มอย่างจำกัด แล้วลักลอบไปปล่อยน้ำมันขายในราคาแพงในตลาดมืด หรือตามเกาะแก่ง ซึ่งไม่สามารถควบคุมราคาน้ำมันได้ เพราะต้องไปบวกค่าขนส่งและดำเนินการ

ส่วนการดูโทรทัศน์ ก็จะเป็นเรื่องตลกเศร้าที่นักการเมืองจะออกมาพูดถึงเรื่องต้องสนับสนุนราคาน้ำมันสำหรับคนยากคนจนในประเทศ แต่ขณะเดียวกัน นักการเมืองเหล่านี้ก็ได้ประโยชน์จากคอรัปชั่นค่าที่แตกต่างระหว่างราคาสนับสนุนโดยรัฐกับราคาที่จะเป็นจริงในตลาดนอกระบบ ที่มีขายกันแบบใส่ขวดลิตรกันตามข้างทางทั่วไป

2. การสร้างแรงจูงใจในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะในบริเวณนอกเกาะชวา คนป่วยต้องนั่งมากับเรือเดินทะเลบรรทุกสินค้าเป็นวันเพื่อจะไปโรงพยาบาล แล้วต้องเดินทางต่อด้วยเรือหาปลา เพราะท่าเรือที่มีอยู่พัง เรือขนาดใหญ่เข้าเทียบไม่ได้ ประเทศอินโดนีเซียมีเกาะอยู่ 17,008 แห่ง มี 6000 แห่งที่มีผู้คนอาศัยอยู่ ด้วยสภาพเป็นเกาะกระจายไปทั่วนี้ ไม่มีทางที่จะสร้างสะพานเชื่อมโยงระหว่างเกาะหลักๆได้ ทางที่ดีคือสร้างระบบการขนส่งทางน้ำที่มีประสิทธิภาพ และเสริมด้วยการมีการขนส่งทางอากาศที่จำเป็น

การส่งเสริมแบบกระจายอำนาจมากเกินไป (Over Decentralization) ทำให้เกิดระบบการบริหารแบบตัวใครตัวมัน ทำให้เขต/อำเภอขาดแรงจูงใจที่จะมานั่งร่วมกันคิดวางแผนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วม ส่วนการลงทุนด้วยภาคเอกชนก็ยังถูกจำกัดด้วยการคิดแบบสังคมนิยมในกรอบรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้รัฐต้องเข้าไปควบคุมทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจที่มีผลต่อสวัสดิการสังคม นอกจากนี้ยังมีการกำหนดราคาดังเช่นค่าไฟฟ้าที่สับสนด้วยกฎเกณฑ์ที่เปลี่ยนไปมา

อีกส่วนหนึ่งที่มีผลติดลบคือการคิดแบบชาตินิยม (Nationalism) ที่มีด้วยกันทั้งสองฝ่ายคู่ชิงประธานาธิบดีในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ทำให้นักลงทุนต่างชาติอ่อนล้าในการเข้ามาลงทุน ส่วนชาวอินโดนีเซียเองก็มีจำนวนน้อยที่จะเข้าใจปัญหาโครงสร้างที่ไกลตัว ส่วนใหญ่ไปออกคะแนนเสียงเลือกตั้งด้วยนโยบายที่สัมผัสได้ใกล้ๆตัว เหมือนใครทำให้ได้สินค้าและบริการถูกกว่ากัน ก็เลือกคนนั้น คล้ายกับนโยบายประชานิยมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

3. การดำเนินนโยบายด้วยการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น/ภูมิภาค อย่างเน้นผลงาน ซึ่งเรียกว่า Performance-Based Cash Transfers ที่ทศวรรษที่ผ่านมาจัดได้ว่าอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีการกระจายอำนาจมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ซึ่งเป็นการกระตุ้นกิจกรรมด้านบริการสุขภาพอนามัย การศึกษา การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และอื่นๆอีกมาก การกระจายอำนาจนี้ผ่านไปยังรัฐบาลท้องถิ่น อำเภอ/เขต (Districts) กว่า 500 แห่ง อินโดนีเซียจัดเป็นห้องทดลองการกระจายอำนาจ แต่ไม่มีใครไปติดตามผลการดำเนินการ ได้เพียงแต่ไปลอกรูปแบบการดำเนินการกันต่อๆไป

เปรียบเทียบกับไทย อินโดนีเซียรับนโยบายกระจายอำนาจอย่างสุดใจ และเดินตามนโยบายนั้น แต่สำหรับประเทศไทย เมื่อช่วงหลังปีพ.ศ. 2535 ได้พูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจ แต่แล้วในช่วงรัฐบาลภายใต้ทักษิณ ชินวัตร 10 ปี เกือบทุกอย่างกลับรวมศูนย์สู่ส่วนกลาง การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด กลายเป็น “ผู้ว่าฯซีอีโอ” เหมือนผู้ว่าราชการจังหวัดขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ส่วนการกระจายอำนาจการศึกษา ก็กลายเป็นให้สิทธิโรงเรียนจำนวนมหาศาลเกือบ 30,000 แห่ง มีความเป็นนิติบุคคล แต่ยังขึ้นตรงต่อกระทรวงศึกษาธิการ แต่เขตพื้นที่การศึกษาที่มีการจัดแบ่งโครงสร้างไปแล้ว กลับมิได้มีความเป็นนิติบุคคล

การประมูลจัดซื้อจัดจ้างในยุค 10 ปีที่ผ่านมา ยิ่งเน้นการจัดทำโดยส่วนกลาง ซึ่งเท่ากับเปิดช่องการให้เกิดการคอรัปชันมากขึ้นไปอีก เพราะชาวบ้านระดับรากหญ้าไม่มีขีดความสามารถมาติดตาตรวจสอบรัฐบาลส่วนกลางได้ เมื่อประชาชนต่างจังหวัดได้รับผลประโยชน์จากนโยบายประชานิยมไปแล้ว ก็พอใจแล้ว ขอเพียงให้รัฐบาลให้ประโยชน์ต่อประชาชน โดยไม่ได้ใส่ใจว่าแล้วเกิดการรั่วไหลหรือเป็นนโยบายพึ่งพาส่วนกลางที่ไม่สามารถทำให้เป็นจริงได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน

ในอีกด้านหนึ่งที่เขาเห็นว่าเป็นปัญหาของอินโดนีเซีย คือเงินที่ปล่อยไปยังรัฐบาลท้องถิ่นมาในรูปเงินก้อน (Block Grant) จากจาการ์ตา โดยแทบจะไม่มีเงื่อนไขผูกมัด บางรัฐบาลดำเนินการไปได้ด้วยดีมากๆ แต่บางรัฐบาลท้องถิ่นก็ดำเนินการไปได้อย่างเลวมากๆ ปัจจุบันไม่มีระบบให้รางวัลรัฐบาลท้องถิ่นที่ทำดี และไม่มีการลงโทษรัฐบาลที่ทำเลว

อินโดนีเซียยุคกระจายอำนาจไม่มีการแลกเปลี่ยนบทเรียนกันอย่างเป็นระบบระหว่างอำเภอ/เขตต่างๆ ยังไม่มีการประเมินซึ่งกันและกันว่าสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไร และยังไม่มีการกำหนดเงื่อนไขการให้เงินสนับสนุน ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นการเรียนรู้และการได้ผลงานที่ดีตามลำดับ

โจโควิต้องใช้อำนาจจากความนิยมในตัวเขาเพื่อเอาชนะการต่อต้านจากคนหัวเก่าที่นั่งอยู่ในระบบพรรคการเมืองหลายฝ่ายของอินโดนีเซีย ทั้งนี้เพื่อการสร้างรากฐานการเปลี่ยนแปลงที่จะเป็นอนาคตของอินโดนีเซีย

ดูนโยบายให้ดูที่ผลงาน

โจโควิมีอายุ 53 ปี ถือว่าเป็นคนหนุ่มทางการเมือง และเขาก้าวสู่อำนาจในช่วงที่ประชาชนเบื่อนักการเมืองในแบบเดิมๆที่เกาะติดอยู่กับระบบรัฐสภาและฐานอำนาจพรรคการเมืองส่วนกลาง

โจโควิมีฐานอำนาจสุดท้ายที่สำคัญคือการได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดจาการ์ตา ซึ่งมีเมืองที่ประชากรกว่า 10 ล้านคน และมีเขตปริมณฑลอีกกว่า 20-30 ล้านคน ซึ่งเมื่อเขาได้รับตำแหน่งดังกล่าวในปี ค.ศ. 2012 นั่นเป็นเพียงฐานที่จะก้าวกระโดดสู่การชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ฐานที่เป็นผลงานของเขาคือการเป็นนายกเทศมนตรีของเมืองสุราการ์ตา (Surakarta)

เมืองสุราการ์ตา (Surakarta) มีประชากร 505,461 คนในเขตชวากลาง (Central Java) อันเป็นเมืองใหญ่อันดับที่ 27 ของประเทศอินโดนีเซีย และที่เมืองใหญ่ขนาดกลางนี้ ที่เป็นฐานอ้างอิงประว้ติการทำงาน 7 ปีของเขา ที่ทำให้เขาก้าวสู่การได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการจังหวัดจาการ์ตาในปี ค.ศ. 2012 และก้าวสู่การเป็นประธานาธิบดีในระบอบประชาธิปไตย โดยไม่ได้ติดยึดกับระบบการเมืองในส่วนกลางดั่งเดิม
ผลงานของโจโควิที่เมืองสุราการ์ตาในช่วงเวลา 7 ปีของการทำงาน คือ

·       การพัฒนาตลาดดั่งเดิมในแบบใหม่ (New Traditional Markets) รวมถึงตลาดค้าของเก่า (Antiques market) และตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า
·       การสร้างทางเท้ายาว 7 กิโลเมตร ขนาดกว้าง 3 เมตร เพื่อเป็นทางเดินหลักของเมืองสุราการ์ตา
·       การฟื้นฟูสวนสาธารณะสำคัญสองแห่ง คือ เบเลกัมบัง (Balekambang Park) และสวนสรีเวดารี (Sriwedari Park)
·       การบังคับใช้กฏเกณฑ์การตัดต้นไม้ใหญ่ของเมืองบนถนนสายหลักอย่างจริงจัง
·       การสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของเมืองสุราการ์ตาให้เป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของชาวชวา โดยให้ชื่อเมืองปรากฏควบคู่ไปกับคำว่า “สปิริตแห่งชวา” (The Spirit of Java)
·       ส่งเสริมให้เมืองเป็นศูนย์กลางของการประชุม การสร้างแรงจูงใจ และนิทรรศการ ซึ่งเรียกว่า MICE ซึ่งมาจากคำว่า Meetings, Incentives, Conventions and Exhibitions (MICE)
·       เขาสร้างวัฒนธรรมใหม่ทางการเมืองที่เรียกว่า บลูซุกัน (Blusukan culture) แบบที่โจโควิเข้าไปเยี่ยมแต่ละท้องที่อย่างไม่มีพิธีรีตอง เพื่อรับฟังปัญหาและข้อวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน
·       การห้ามสมาชิกในครอบครัวของเขาเข้าประมูลงานราชการของเมือง
·       การมีประกันสุขภาพ (Healthcare Insurance) สำหรับประชากรของเมืองทุกคน
·       การมีระบบขนส่งสาธารณะในรูปของรถโดยสารสองชั้น (Double-decker buses) และรถประจำทางระบบราง (Railbus)
·       การพัฒนาอุทธยานเทคโนโซโล (Solo Techno Park) ซึ่งสนับสนุนโครงการถยนต์อีเซมคาของอินโดนีเซีย (Esemka Indonesian car project)

ในข้อมูลส่วนนี้ผู้เรียบเรียงอยากเสนอให้ผู้นำและผู้บริหารเมืองของไทย ได้ใช้โอกาสที่เราจะต้องปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศแบบกระจายอำนาจ ซึ่งต้องอาศัยฐานจากรากหญ้าทั่วประเทศ อินโดนีเซียมีเมืองขนาดใหญ่มากกว่าไทย เพราะส่วนหนึ่งเขามีประชากรมากกว่าไทยถึง 4 เท่า แต่อีกส่วนหนึ่งคือ ประเทศไทยไม่ได้เน้นการพัฒนาเขตชุมชนในส่วนภูมิภาคอย่างจริงจัง นอกจากกรุงเทพฯที่เป็นเมืองใหญ่สุดแล้ว ประเทศไทยมีเมืองใหญ่มีประชากรกว่า 50,000 คนเพียง 30 แห่ง นั่นแสดงว่ามีอีกหลายจังหวัดที่ไม่มีเมืองขนาดใหญ่ แต่ในอนาคต เมืองในต่างจังหวัดจะมีการเติบโตขึ้นอย่างมาก เพียงแต่ว่าจะเติบโตอย่างไร้แผนและไร้ทิศทาง

ซึ่งในเรื่องนี้ เราควรได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับประเทศเพื่อนบ้านใน ASEAN อย่างอินโดนีเซีย

ตารางแสดงขนาดของเมืองในอินโดนีเซีย จากขนาดใหญ่ไปสู่เล็ก สุราการ์ตา (Surakarta) อยู่ในอ้นดับที่ 27

ลำดับที่Rank
เมือง
City/Town
ประชากร
City Population
จังหวัดProvince
1
10,135,030
2
2,843,144
3
2,575,478
4
2,510,951
5
2,185,789
6
2,001,925
7
1,869,681
8
1,575,068
9
1,561,959
10
1,436,187
11
1,398,801
12
1,142,646
13
1,030,732
14
1,022,002
15
923,970
16
876,880
17
856,412
18
843,284
19
842,691
20
683,386
21
675,030
22
645,866
23
643,101
24
586,930
25
581,989
26
573,751
27
505,461
28
430,490
29
420,941
30
416,901
31
404,003
32
368,987
33
364,014
34
362,621
35
315,872
36
328,827
37
314,042
38
319,353
39
316,971
40
295,954
40
289,975
41
282,473
42
282,473
43
281,368
45
260,018
46
260,018
47
255,243
48
254,450
49
229,182
50
215,906
51
214,444
52
170,332
53
175,910
54
201,308
55
223,446
56
187,652
57
171,390
58
171,136
59
220,962
60
187,359
61
167,892
62
199,627
63
185,705
64
193,370
65
180,127
66
171,163
67
154,445
68
145,945
69
145,248
70
148,945
71
130,389
72
147,932
73
161,984
74
145,471
75
126,202
75
126,776
76
118,227
77
142,579
78
120,348
79
120,132
80
136,991
81
126,181
82
125,421
83
116,825
84
100,512
85
95,915
86
91,737
87
90,489
88
80,649
89
78,025
90
72,458
91
70,032
92
54,049
93
53,081
94
45,439
95
28,454


No comments:

Post a Comment