Thursday, October 2, 2014

ความพอดี (Appropriateness) ในการใช้ชีวิต

ความพอดี (Appropriateness) ในการใช้ชีวิต

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: ความสำเร็จในชีวิต, life success, เศรษฐกิจพอเพียง, sufficiency economy, ประสิทธิภาพ, ประสิทธิผล, การดูแลสุขภาพร่างกาย, healthcare

Appropriateness แปลเป็นไทยได้ว่า ความเหมาะสม, ความเหมาะเจาะ, ความพอดี ในทางพุทธศาสนา เราสอนให้คนรู้จากทางสายกลาง คือให้ใช้ชีวิตอย่างมีความเหมาะสมพอดี ไม่มากหรือไม่น้อยเกินไป ซึ่งในเรื่องนี้ต้องมีการตีความและยกเป็นตัวอย่าง

อันความพอดีเหมาะเจาะนั้น ไม่ใช่ทางเลือกระหว่างความดีงาม กับความเลว ทำความดีได้ครึ่งหนึ่งปนกับความเลวครึ่งหนึ่ง จึงพบกันที่ทางสายกลาง อย่างนี้ไม่ใช่ความพอดี

ตัวอย่างความพอดีที่เป็นรูปธรรม คือ การใช้ชีวิตของผู้ป่วยเป็นเบาหวาน โดยเฉพาะเบาหวานประเภทที่สอง (Type II Diabetes) ความพอดีที่สำคัญคือการรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เป็นปกติ ซึ่งอาจวัดได้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการตรวจน้ำตาลในเลือด ซึ่งกระทำได้ด้วยตัวเอง ซึ่งที่เป็นปกติจะอยู่ที่ 85-120 mg/dl และเป็นการวัดในช่วงที่หลังอาหารแล้วไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง ซึ่งจะให้เหมาะ เขาแนะนำให้วัดตอนตื่นนอนและก่อนอาหารเช้า คือไม่กินอะไรก่อนตรวจน้ำตาลในเลือด


ภาพ เครื่องมือที่ใช้ในการตรวจน้ำตาลในเลือด ใชเวลาไม่ถึง 1 นาทีก็รู้ผลได้ และสามารถทำได้ด้วยตนเอง


ภาพ เครื่องมือในการตรวจน้ำตาลในเลือด จะประกอบด้วยปากกาที่ใช้เจาะเลือด; มีปลายเป็นเข็มที่สามารถเปลี่ยนใหม่ได้; แถบวัดระดับน้ำตาลในเลือด; และเครื่องวัดน้ำตาลในเลือด


ภาพ อาหารพวกผักต่างๆ สามารถกินได้ไม่จำกัด


ภาพ หากเป็นพวกธัญญพืช พวกแป้ง ให้เลือกกินสิ่งที่ทำจาก Whole grain หรือพวกข้าวกล้องที่มีความหยาบ จะทำให้มีกาก ทำให้การดูดซึมพลังงานไปใช้เป็นไปอย่างช้าๆ


ภาพ การตรวจวัดน้ำหนักตัวเป็นระยะๆ หากน้ำหนักเกิน ก็ต้องหาทางลดลง แต่อย่างค่อยเป็นค่อยไป


ภาพ บริเวณพุง ทั้งด้านหน้าและด้านข้าง หากมีการสะสมไขมันมาก ชั่งน้ำหนักแลัวมีส่วนเกินมาก ก็ต้องหาทางลดลง

คนเป็นเบาหวานดำรงชีวิตอย่างพอเหมาะพอดี คือ กินอาหารได้ แต่ให้เลือกกินเนื้อสัตว์และถั่วเป็นอาหารโปรตีน กินได้มากพอประมาณ ส่วนผักนั้นกินได้เต็มที่ไม่จำกัด ส่วนพวกพลังงาน กินข้าวได้บ้าง ดังเช่นพวกข้าว หรือธัญพืช แต่ควรเป็นข้าวกล้องที่จะมีกากหรือเยื่อใย ที่ช่วยให้การดูดซึมไปใช้เป็นพลังงานได้อย่างช้าๆ แต่ไม่ควรกินน้ำตาล เหล้า เบียร์ ซึ่งจะเป็นพลังงานประเภทเร็ว หรือถ้าจะกินเพื่อการเข้าสังคม ก็ต้องรู้ว่ากินให้น้อยที่สุด

ความพอดีคือไม่ทำตัวอย่างสุดขั้ว คือด้านหนึ่งไม่กินข้าวปลาอาหารเลย ก็เป็นอันตรายแน่นอน และอีกด้านหนึ่ง กินอย่างเต็มที่ กินทุกอย่างที่อยากกิน อย่างนี้ก็เป็นการสุดขั้วอีกด้านหนึ่ง ความพอดี คือรู้จักกินโดยเข้าใจธรรมชาติของร่างกาย กินพอเหมาะ ออกกำลังกายพอเหมาะ พักผ่อนพอเหมาะ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

ความพอดีที่จะตรวจได้อีกด้านหนึ่ง คือ น้ำหนักตัว (Body weight) ให้ชั่งน้ำหนักเสมอๆ เช่น ทุกเช้า หากน้ำหนักกายเป็นปกติ การตรวจน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองก็ไม่ต้องทำบ่อยนัก เป็นตรวจทุกสัปดาห์ละ 1 ครั้งก็พอ ดังนี้เป็นความพอดีที่ตรวจวัดและติดตามผลได้ เรียกว่ามีระบบ Monitoring ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยดำรงชีวิตได้อย่างพอดีและเหมาะสม โดยดูแลว่ากินอะไรก็ตาม อย่าให้น้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงกว่ากำหนด ด้านน้ำหนักตัว ดูว่าน้ำหนักไม่เพิ่มหรือลดกว่าที่กำหนด ทั้งนี้โดยใช้การออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ ในยามใดที่ออกกำลังกายแล้วหิว หรือใจสั่น อาจเป็นเพราะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) ก็ให้กินของที่ให้พลังงานทันที เพราะน้ำตาลในเลือดต่ำจะมีผลอันตรายต่อร่างกายทันที อาจเกิดอาการช๊อคหรือหมดสติได้

เห็นไหมครับ น้ำตาลในเลือดสูงไปก็ไม่ดี มีผลเสียต่อหลอดเลือด หัวใจ ไต นัยน์ตา ฯลฯ น้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป ก็ไม่ใช่ของดีอีกเช่นกัน สิ่งที่เหมาะสม คือต้องดูแลให้ร่างกายมีระดับน้ำตาลที่เหมาะสม
หันมาประยุกต์ใช้กับหลักในการดำเนินชีวิตด้านอื่นๆ

ในด้านเศรษฐกิจ หลักก็คือการดำรงชีวิตอย่างพอเหมาะพอสม

 ต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ โดยมีรายได้เหนือรายจ่าย เพื่อเป็นเงินออม หากมีรายได้น้อย ก็จำกัดการใช้จ่ายให้พอเหมาะสม หากสามารถมีเงินเหลือเก็บได้สักสักร้อยละ 10-15 ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่ในทางกลับกัน มีรายได้เป็นแสนเป็นล้าน แต่มีรายจ่ายเหนือรายได้สักร้อยละ 5-10 อย่างนี้ต่อเนื่องตลอดเวลา อย่างนี้ก็แสดงว่าเป็นสัญญาณอันตราย ต้องหางลดทอนค่าใช้จ่ายในชีวิตลง เพื่อกลับไปสู่การมีรายได้เหนือรายจ่ายให้ได้

คนเราจะกินใช้ฟุ่มเฟือยหรือไม่ ก็ดูได้จากการกินอยู่ใช้จ่ายที่เกินตัวหรือไม่ หากเป็นคนหนุ่มสาว มีรายได้เดือนละ 15,000 บาท แล้วกินอยู่ใช้จ่ายได้ภายใน 12,000-13,000 บาท ส่วนที่เหลือเก็บไว้เป็นเงินสำรองยามฉุกเฉิน ดังนี้ก็ถือว่ากินอยู่ใช้จ่ายอย่างพอเหมาะพอสม หากทำไม่ได้ ก็ให้หันไปดูวิถีการดำรงชีวิต กินอย่างไร อยู่อย่างไร ใช้เงินเพื่อยานพาหนะอย่างไร มีอะไรที่ใช้จ่ายเกินตัวบ้าง มีอะไรที่พอาจะตัดทอนลงได้บ้าง

สำหรับคนที่ทำธุรกิจที่ต้องรับผิดชอบการเงินที่มากขึ้นไป

คำว่าเศรษฐกิจพอเพียง หรือ Sufficiency Economy ก็ตั้งอยู่บนฐานคิดแบบนี้แหละ ง่ายๆ คือจะทำสิ่งใด ก็ต้องคำนึงถึงต้นทุนค่าใช้จ่าย เมื่อใดที่สินค้าและบริการราคาสูงกว่าราคาขาย เมื่อนั้นเศรษฐกิจก็จะดำเนินไปได้ยาก การเกษตรที่เหมาะสม ไม่ได้หมายความว่าให้มีรายได้สูงสุด แต่ต้องไปคิดว่า รายได้ที่เหนือรายจ่ายนั้น เป็นในระดับใด เพราะหลักง่ายๆที่สุด คือต้องทำให้รายได้เหนือรายจ่าย


เป็นไปได้เหมือนกัน ที่บางช่วงเวลา เราต้องหันมาลงทุนใช้จ่ายเพิ่ม เพื่อพัฒนากิจการของเราให้มีประสิทธิภาพ มีต้นทุนการดำเนินการในระยะยาวที่ถูกลง ลดต้นทุนด้านแรงงานลง ลดต้นทุนค่าขนส่งได้ ดังนี้ก็จะเป็นประโยชน์ในระยะยาว และถือว่าเป็นการเดินทางไปสู่ “เศรษฐกิจพอเพียง” เช่นกัน

No comments:

Post a Comment