การสอบวัดคุณสมบัติ (Qualifying Examination)
รศ.ดร. ประกอบ คุปรัตน์
โครงการดุษฎีบัณฑิต
ความเป็นผู้นำและการบริหารการศึกษา
มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์
Updated: วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2552
ความนำ
ผมได้เข้าไปในอินเตอร์เน็ต แล้วพบคนเข้ามาเขียนคุยกันใน Weblog ดังนี้
ใครนะช่างพูดจริง ว่าการสอบQE ( Qualifying Examination) เป็นการสอบของของควาย ช่างคิดเสียนี่กระไร หรือจริงหว่า และแล้วก็ยังไม่ได้อ่านหนังสือที่จะสอบเลย มั่วแต่เที่ยว ไม่ช่าย คงต้องเร่งอ่านเสียแล้วเรา ปีที่แล้วไม่ได้สอบ เพราะคุณแม่เสียพอดี ปีนี้เลยต้องมาสอบกับรุ่นน้อง เสียดายเหมือนกัน ถ้าสอบปีที่แล้ว คงไม่ต้องอ่านมาก เพราะเพิ่งเรียนจบใหม่ ก็สอบเลย แค่ทบทวนนิดหน่อย แต่มาสอบปีนี้ เลยต้องอ่านมากหน่อย เริ่มลืมแล้ว
บอกหน่อย เผื่อคนไม่รู้ว่า QE คือไร ก็คือการสอบวัดคุณภาพของนักศึกษาปริญญาเอก ว่าสมควรจะเรียนหรือเปล่า เป็นการสอบความรู้ที่เหมาะสมกับการเรียน การทำวิทยานิพนธ์ ในแต่ละสถาบัน และแต่ละคณะจะกำหนดวิธีการสอบ รูปแบบ คะแนน หรือเกณฑ์แตกต่างกันไป
จาก Webblog แห่งหนึ่ง
Create Date : 13 พฤศจิกายน 2549
Last Update : 13 พฤศจิกายน 2549 13:14:35 น.
ผมจึงเข้าหาเวลาว่างเพื่อเขียนบทความสั้นๆนี้ เพื่อสื่อให้กับผู้เรียนในระดับปริญญาเอก และเป็นการแลกเปลี่ยนกับผู้สอน และผู้ต้องบริหารหลักสูตรในระดับปริญญาเอกที่มีอยู่ทั่วประเทศหลายแห่งในปัจจุบัน
ความหมายและวัตถุประสงค์
การสอบวัดคุณสมบัติ (Qualifying Examination) เรียกย่อๆว่า QE ในบางประเทศและบางมหาวิทยาลัยมีเรียกว่า Preliminary Examination หรือสอบ Prelims บางแห่งเรียก Comprehensive Examination ซึ่งพิจารณาจากศัพท์ที่เกี่ยวข้องได้ดังต่อไปนี้
หลายมหาวิทยาลัยในประเทศไทย เรียกการสอบนี้ว่า Qualifying Examination หรือ QE มีคำหลักที่ใช้ คือ qualifying มีความหมายว่า- มีสิทธิ, มีคุณวุฒิ, เพื่อคัดเลือกในชั้นแรก, เพื่อวางเงื่อนไข
มีหลายมหาวิทยาลัยในยุโรปและทวีปอเมริกาเหนือเรียกการสอบนี้ว่า Preliminary Examination เรียกสั้นๆว่า Prelims มีคำหลักคือ Preliminary มีความหมายว่า เบื้องต้น ชั้นต้น ตอนต้น อันหมายความว่าเป็นการสอบเบื้องต้น ในขณะที่การทำวิทยานิพนธ์ และการสอบปากเปล่าและนำเสนอในท้ายสุด เป็นการสอบสุดท้าย หรือ Finals
บางแห่งเรียกว่า Comprehensive Examination มีคำหลักคือ Comprehensive มีความหมายว่า รวม, สรุป, กว้างขวาง, กินความกว้าง, เข้าใจ, หยั่งรู้ การสอบนี้มีความหมายว่า เป็นการสอบที่รวม สรุป กินเนื้อหาที่กว้างขวาง เพื่อทดสอบความรู้กว้าง หยั่งรู้ ในสาระวิชาการ
โดยทั่วไป คือการสอบกลุ่มวิชา (Set of examinations) ที่ทางมหาวิทยาลัยฯจัดขึ้น เป็นช่วงกึงกลางระหว่างการรับเข้า และการสอบจบการศึกษา ซึ่งเรียกว่า Finals ซึ่งในระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต คือการทำวิทยานิพนธ์ตามหัวข้อที่กำหนด และสอบปากเปล่า (Oral Examination)
ในหลายมหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกา การสอบ Prelims จะใช้เป็นการสอบเบื้องต้น ก่อนที่ผู้เรียนจะได้รับอนุญาตทำงานวิจัยในวิทยานิพนธ์ (Doctoral dissertation) เพื่อให้ผู้เรียนและผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นอาจารย์ผู้ควบคุมวิทยานิพนธ์ได้มั่นใจว่า ผู้เรียนมีความเข้มแข็งทางวิชาการพอที่จะทำการวิจัยในวิทยานิพนธ์เป็นขั้นพื้นฐานแล้ว สำหรับผู้สอนที่มีประสบการณ์มาแล้ว จะพบว่า หากผู้เรียนที่มีพื้นฐานไม่พอ เมื่อจะทำวิทยานิพนธ์นั้นจะมีปัญหากับผู้สอน สื่อความกันไม่ค่อยเข้าใจ หรือเข้าใจความต้องการที่ไม่ตรงกัน
แต่อย่างไรก็ตาม บางมหาวิทยาลัยอาจให้การสอบวัดคุณสมบัติ (QE) และการเริ่มต้นทำวิทยานิพนธ์เป็นกิจกรรมคู่ขนานกันไปได้ เพราะหากเป็นการต้องทำอย่างหนึ่งก่อนแล้วจึงจะไปมีสิทธิทำอีกอย่างหนึ่งนั้น อาจเป็นผลให้มีการสดุดได้ แต่อย่างไรก็ตาม คนที่จะมีสิทธิสอบ QE นั้น ควรต้องผ่านการศึกษาวิชาการต่างๆให้ครบถ้วนเป็นขั้นต้นตามกำหนด
รูปแบบการสอบ
สำหรับรูปแบบการสอบมีความแตกต่างกัน ยากที่จะบอกได้ว่ารูปแบบใดที่ดีที่สุด แต่และแห่ง แต่ละสายวิชาชีพได้มีประสบการณ์มาต่างกัน ลักษณะผู้สอน เนื้อหาวิชาการที่ต่างกัน ย่อมมีความประสงค์ และกำหนดรูปแบบที่ต่างกัน
แต่หลักโดยรวม คือ
1. การสอบเป็นสอบข้อเขียน ไม่ใช่สอบแบบปรนัย หรือทำเป็นข้อย่อยมากเกินไป เพราะผู้ออกข้อสอบต้องการวัดความคิดรวบยอด ความสามารถในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และการนำเสนอเหตุผลอย่างเชื่อมโยงมากกว่าที่จะไปถามความรู้เฉพาะ เป็นจุดๆไป
2. การให้เวลาแก่ผู้เข้าสอบอย่างเหมาะสม ได้ใช้เวลาอย่างเหมาะสม ไม่มาก หรือไม่น้อยเกินไป
3. มีความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย จึงต้องมีการประกาศให้ทราบว่า ใครบ้างมีสิทธิเข้าสอบ และมีกรอบ กฎ กติการในการสอบอย่างไร
4. งานที่จะให้ผู้ตรวจงานสอบ ได้มีงานที่จะอ่านอย่างเหมาะสม หากมีมากจนเกินไป แต่เป็นแบบน้ำท่วมทุ่ง ก็ไม่เป็นประโยชน์
ถามและตอบ
นอกจากนี้ยังมีคำถามที่มักจะมีคนถาม และต้องการรับรู้ก่อนสอบดังนี้
การสอบเป็นครั้งเดียวหรือหลายครั้ง (Single Tests หรือเป็น Set)
บางแห่งใช้การสอบเพียงครั้งเดียว แล้วแบ่งเป็นการวิเคราะห์ไปเป็นส่วนๆ
เช่นให้โจทย์ว่าด้วยเรื่องปัญหาโลกร้อน (Global Warming) แล้วแบ่งออกเป็นส่วนการวิเคราะห์
ส่วนที่หนึ่งว่าด้วย มิติด้านสิ่งแวดล้อม
ส่วนที่สองว่าด้วย มิติเศรษฐกิจและสังคม
ส่วนที่สามว่าด้วย มิติวัฒนธรรมและการเปลี่ยนแปลง
ส่วนที่สี่ว่าด้วย การวางแผนการเปลี่ยนแปลงโลกอย่างเป็นระบบ
แต่ทั้งหมดว่าด้วยการตอบปัญหาว่าด้วย “โลกร้อน” แต่ใช้หลายๆมิติเข้ามาวิคราะห์และแก้ปัญหา และท้ายสุดที่ต้องแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ เป็นต้น
แล้วให้เวลายาวนานติดต่อกัน หรือว่าแบ่งเป็นช่วงเวลา
บางแห่งสอบเป็น Set แบ่งเป็นส่วนๆ เช่นอาจเป็น 2 -3 - 4 ส่วน แต่ละส่วนไม่สัมพันธ์กัน ก็มีกระทำได้ เพื่อทำให้แบ่งการตรวจงานกระทำได้ในทางบริหาร
การให้ผู้เรียนมีเวลามาก เคยมีการจัดสอบประเภทให้เปิดตำราเรียนได้ แล้วให้เวลานาน 24 ชั่วโมง แล้วให้ผู้เรียนไปเก็บตัวในสถานที่กำหนด แล้วนั่งทำงานสอบให้เสร็จ การมีเวลาให้ถึง 24 ชั่วโมงติดต่อกันนั้น ดูเหมือนจะดี ให้เปิดตำราได้ก็ดูดี เหมือนทำให้ง่าย แต่ที่สำคัญคือ การมีเวลา 24 ชั่วโมง ผู้เข้าสอบก็ต้องใช้เวลาให้เต็มที่ อดหลับอดนอนในช่วงเวลายาวนั้น อาจทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายได้ และกลับเป็น
การสร้างความเครียดจนเกินไป
การมีเวลาทำงานมากผู้ตรวจก็ต้องใช้เวลาตรวจมาก งานของครูอาจารย์ผู้สอบก็ยิ่งจะต้องมากตามไปด้วย ในปัจจุบัน มีการสอนนิสิตนักศึกษาปริญญาเอกกันเป็นรุ่นละหลายๆคน ก็จะทำให้ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะตรวจงานได้อย่างมีคุณภาพ
ในการสอบปัจจุบันมักจะมีการแบ่งออกเป็นส่วนๆ แต่ไม่ใช่ไปเอารายวิชาที่เรียนมาทั้งหมดมาสอบใหม่ การสอบจะมีลักษณะเป็นแบบรวบยอด เป็นการประมวลหลายสิ่งเข้าด้วยกัน
การให้นำหนังสือเข้าห้องสอบได้หรือไม่
บางแห่งบางวิชา ให้นำหนังสือเข้าห้องสอบได้ แต่อย่างไรก็ตาม มันจะถูกจำกัดด้วยเวลาทีให้ในการสอบ และการสอบในสมัยใหม่ มีคนเรียนจำนวนมาก และมีหลายคน จึงยุ่งยากแก่ผู้เรียน และทำให้เกิดความยุติธรรมถ้วนหน้าได้ลำบาก หลายแห่งจึงมีการจำกัดด้านนำหนังสือเข้าห้องสอบ หรือไม่ให้นำหนังสือหรือตำราเรียนเข้าห้องสอบเลย
การนำโน๊ตย่อเข้าห้องสอบได้หรือไม่
มีบางแห่ง และในการสอบบางสายวิชาชีพและวิชาการที่อนุญาตให้นำโน๊ตย่อ ที่เขียนในกระดาษขนาดตามที่กำหนด เช่น “ให้นำโน๊ตย่อขนาดกระดาษ A4 1 แผ่น เขียนได้ 2 ด้าน” เข้าในห้องสอบ
ทั้งนี้เพื่อให้การสอบมีลักษณะใกล้กับการทำงานในชีวิตจริง ที่เราไม่ได้พึ่งความจำ เพราะแม้แต่การไปกล่าวสุนทรพจน์ ก็ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มีการเตรียมโน๊ตไปอ่านได้ หรือบางที่เป็นโน๊ตย่อ เพื่อบรรยายหรือนำเสนอสุนทรพจน์นั้นได้อย่างเป็นระบบ แต่ในลักษณะการให้นำโน๊ตย่อเข้าห้องสอบเช่นนี้ จะไม่มีการให้แนวข้อสอบล่วงหน้ามากนัก เพราะหากผู้เรียนรู้แนวข้อสอบ ก็จะกลายเป็นเขียนร่างมาเพื่อจะมาขยายความตอบในห้องสอบ
การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในห้องสอบได้หรือไม่
ในยุคที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัว (Personal Computer – PCs) หรือเครื่องคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้ว (Notebooks, Laptop) หรือเครื่องคอมพิวเตอร์มือถือ (Palmtop, PDA) และรวมถึงโทรศัพท์มือถือ เหล่านี้ไม่ได้รับอนุญาตนำเข้าห้องสอบ
แต่ด้วยการสอบนี้เป็นการสอบข้อเขียน บางคนอาจมีข้อจำกัดในการเขียน จะด้วยความพิการในสายตา หรืออื่นๆ ก็จะได้รับการอนุญาตเป็นกรณีไป และเป็นเครื่องมือที่เขาเตรียมไว้ให้ ซึ่งมีการล้างข้อมูล การไม่ให้ติดกับระบบสื่อสารผ่านเครือข่าย (Offline)
การนำเครื่องมือในการทำงานเข้าห้องสอบได้หรือไม่
บางแห่งที่เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือ ก็มีการอนุญาตให้นำเครื่องมือในการทำงานที่จำเป็นเข้าห้องสอบได้ แต่โดยทั่วไปแล้วจะจำกัดให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
ในการสอบในสายวิชาการและวิชาชีพอย่างวิศวกรรมศาสตร์ อาจอนุญาตให้ใช้เครื่องคิดเลข (Calculators, slide rules) หรืออื่นๆที่ใกล้เคียง เพราะเมื่อทำการสอบจริง ผู้ออกข้อสอบมักเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ อาจไม่ได้เป็นผู้มาคุมสอบเอง แต่มีเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งเขาต้องปฏิบัติไปตามกฎและเกณฑ์
เวลาที่ใช้ในการสอบควรนานสักเท่าใด
ในประวัติศาสตร์การเรียนในระดับปริญญาขั้นสูง เคยมีการสอบแบบเปิดตำรา (Open Books) คือให้ผู้เรียนนำหนังสือเข้าไปใช้ในห้องสอบได้จำนวนหนึ่ง และขณะเดียวกันให้เวลาที่ยาวนานแบบต่อเนื่องกัน เช่น 24-48 ชั่วโมง ส่งเข้าห้องสอบ แล้วให้ทำข้อสอบได้อย่างไม่จำกัด ส่วนใหญ่ข้อสอบแบบนี้ก็เป็นเรื่องยากเช่นเดียวกัน แต่ผลก็คือบางทีผู้เรียนทุ่มเทมาก อดหลับอดนอน เป็นอันตรายต่อร่างกาย เหมือนเป็นความทรมานมากกว่าจะเป็นผลดี
ความจริงในชีวิตนั้นมีงานหลายอย่างที่เราได้รับโจทย์ไปทำ ที่ให้เวลาทำมากยิ่งกว่านี้ เช่นเป็นงานภายใน 1 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน แล้วระหว่างนั้น เราต้องวางแผนงาน และทำงานนั้นๆให้เสร็จในช่วงเวลาที่กำหนด แต่ปํญหาที่จะตามมาอีกก็คือ ย่งมีเวลามาก เขียนมาก ก็ต้องมีผู้ตรวจที่ต้องมีงานอ่านมาก หากมีผู้เข้าสอบหลายๆคน ก็จะมีงานมากทวีคูณไปอีก จึงเป็นเรื่องยากทางปฏิบัติ
ในทางปฏิบัติ คือการให้สอบ และมีเวลาพัก และสอบโดยรวมก็ควรจะไม่ใช้เวลายาวนานเกินไปนัก มีการแบ่งตามหมวดวิชาบ้าง ผู้ตรวจงาน ก็จะได้มีการแบ่งงานกันทำได้ สอบข้อเขียนรวมกันไม่เกิน 2-3 วันละไม่เกิน 6 ชั่วโมง หรือ รวมไม่เกิน 12-18 ชั่วโมง
การสอบข้อเขียนอาจมีการสอบปากเปล่า (Oral Examination) ติดตามไปด้วย เพื่อตรวจสอบความเข้าใจ อะไรที่ยังไม่ชัดเจนจากข้อเขียน ก็มีการหยีบยกมาถามเพิ่มเติมได้
หากสอบไม่ผ่านจะทำอย่างไร
คำถามนี้ผู้เรียนเป็นอันมากต้องการทราบ เพราะก่อให้เกิดความกังวล
ทางที่ดีควรได้ผู้เรียนควรปรึกษากับอาจารย์ที่ปรึกษา (Academic Advisor) เสียก่อนว่าพร้อมที่จะสอบแล้วหรือยัง อย่าคิดว่าเรียนจบหลักสูตรรายวิชาแล้วจะเป็นสิทธิที่จะสอบ เพราะการได้สอบนั้น ส่วนใหญ่เขาให้สอบได้ไม่เกิน 2 ครั้ง หากครั้งแรกไม่ผ่าน และสอบครั้งที่สองอีก ก็ไม่ผ่าน ก็เท่ากับเราไม่มีความเหมาะสมที่จะศึกษาต่อ นั่นคือต้องถูกให้ออก
เมื่อได้ปรึกษาแล้ว และอาจารย์ที่ปรึกษาเห็นว่าควรจะได้เข้าสอบแล้ว ก็ต้องเตรียมพร้อมก่อนสอบ โดยทั่วไป ทางฝ่ายบริหารหลักสูตรเขาจะสื่อสารกับผู้เรียนว่ากรอบในการสอบ (Frames) จะเป็นอย่างไร มีอะไรบ้างควรจะเตรียมตัว อ่านซ้ำ
กระบวนการ
คณะกรรมการหลักสูตรจะได้ตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้น และแจ้งให้นักศึกษาทราบ โดยทั่วไป จะมีเงื่อนไขความพร้อมในการเข้าสอบ ซึ่งคณะกรรมการวิชาการของแต่ละหลักสูตรจะพิจารณาจากเช่นต่อไปนี้
- สอบผ่านในวิชาหลัก และได้คะแนนรวมไม่น้อยกว่าที่กำหนด
- มีทักษะสำคัญที่จะใช้ในการทำวิทยานิพนธ์
o ภาษาอังกฤษ ให้ใช้คะแนน IELTS, TOEFL, หรือ CU-TEP ได้ ตามคะแนนที่แจ้งให้ทราบ
o ทักษะภาษาต่างประเทศ (English) และคอมพิวเตอร์ หรือที่เขาเรียกว่าเป็นภาษาที่สอง ในสมัยก่อนใน
ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ให้ใช้ภาษาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ เช่น ลาติน ฝรั่งเศส เยอรมัน ฯลฯ ซึ่งเป็นภาษาที่นักวิชาการในยุโรปใช้ในการสื่อสารกัน
o ทักษะทางด้านคอมพิวเตอร์เพื่อการทำงานและการสื่อสาร ถือว่าเป็นความจำเป็น และเป็นสิ่งไม่ยาก เกือบจะสามารถใช้แทนการสอบภาษาที่สองได้ และต้องการให้เป็นการ Screen พวกที่กลัวเทคโนโลยี (Technophobia) หรือคนที่ปิดกั้นการเรียนรู้ในแบบใหม่
- มีความสามารถในการเขียนงานวิชาการ การศึกษาหาข้อมูล การเรียบเรียงเขียนอย่างมีวิจารณญาณ และถูกต้องตามหลักวิชา ในเรื่องนี้ คณะกรรมการสอบจะมีการรวบรวมผลงาน คะแนนที่ได้รับ และภาพรวมของความเป็นนักวิชาการหรือนักวิชาชีพว่ามีความพร้อมเพียงพอหรือไม่ และอย่างไร
รายชื่อผู้มีสิทธิสอบ คณะกรรมการฯ จะประกาศให้ทราบในภายหลัง
การเตรียมตัวสอบ
การเตรียมตัวโดยทั่วไป
ศึกษาเป็นระบบอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่มาเพียงเริ่มศึกษาเอาก่อนสอบ
การทำ short notes การเขียนในฟอร์มอย่างสั้นที่สุด หรือในแบบที่เขานำเสนอเป็น Presentation เห็นหรืออ่านแล้วเข้าใจ เห็นคำศัพท์เทคนิคหรือวิชาการ (Terminology) ที่เขาใช้กันแล้วเข้าใจ สามารถอธิบายความต่อไปในภาษาของเราเองได้อย่างครบถ้วนและถูกต้อง
การเห็น Graphics หรือภาพระบบ แล้วนำไปสู่ความเข้าใจอธิบายความได้ บางคนมีความจำและความเข้าใจได้ดี หากมองเห็นเป็นภาพ ดังเช่นการอธิบายเกี่ยวกับระบบบางอย่าง ก็จะเขียนหรือเริ่มทำกับฝึกขยายความจากภาพ หรือกราฟฟิกนั้นๆ
บางคนมีความเข้าใจได้ดี และทดสอบความเข้าใจได้จาก “คำหลัก” หรือ Keywords ซึ่งในทุกสายวิชาการและวิชาชีพ มักจะมีคำหลักที่จะต้องสื่อความกัน
การเข้าสอบ
ศึกษาทำความเข้าใจให้ดีก่อนเข้ารับการสอบ
ไปถึงสถานที่สอบก่อนเวลา มีเวลาพักผ่อนให้เพียงพอก่อนสอบ หากเป็นในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ต้องเผื่อเวลารถติดเอาไว้ด้วย
เงื่อนไข
สำหรับหลักสูตรดุษฎีบัณฑิตความเป็นผู้นำและการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ได้ให้มีการทดสอบใน 3 วิชาหลัก (1) หลักการ และทฤษฏีเกี่ยวกับการบริหารการศึกษา (2) ความเป็นผู้นำทางการศึกษา (3) การวิจัยทางความเป็นผู้นำและการบริหารการศึกษา
ความจริงในวิชาที่เรียนมีมามากกว่านี้ แต่โดยหลัก Good things come in three. ในท้ายที่สุดก็ต้องเลือกเอาว่าส่วนที่สำคัญที่สุดที่จะต้องสอบวัดคุณสมบัตินั้นคืออะไร
3 เรื่องรวบยอดที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนนี้ คณะกรรมการบริหารหลักสูตรจะเป็นผู้กำหนด นอกจากนี้ยัมีหลักการเพิ่มเติม คือ
สอบได้ไม่เกิน 2 ครั้งในแต่ละวิชา
มีการให้สอบได้ปีละ 2 ครั้ง โดยทั่วไปจะอยู่ประมาณเดือนที่สามของแต่ละภาคการศึกษา หากมีความจำเป็น ผู้เรียนอาจขอทำการสอบ หรือทึ่ปรึกษาอาจเสนอให้สอบนอกเหนือจากนี้ได ตามกรณี
หลังจากสอบข้อเขียนแล้ว ในสัปดาห์ต่อไป จึงมีการสอบสัมภาษณ์ (Oral Examination)
ประกาศสอบ
ตัวอย่างการประกาศสอบ
ประกาศสอบวัดคุณสมบัติ (Qualifying Examination – QE)
หลักสูตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาความเป็นผู้นำและการบริหารการศึกษา
มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ ภาคต้น ปีการศึกษา 2551
วิชาที่ 1
วิชา - การบริหารการศึกษาขั้นสูง
เวลา/สถานที่
หัวเรื่องในการสอบ ดูได้จาก Presentation หลักที่ใช้ในการสอน หรือ
Download ได้จาก
เงื่อนไขการสอบ ข้อสอบ 2 ข้อ ใช้เวลา 3 ชั่วโมง
ไม่อนุญาตให้นำตำราใดๆเข้าสอบ
นำบันทึกย่อเข้าสอบได้ ขนาด A4 จำนวน 1 แผ่น เขียนหน้าและหลังได้
วิชาที่ 2
วิชา - ความเป็นผู้นำทางการศึกษา
เวลา/สถานที่
หัวเรื่องในการสอบ ดูได้จาก Presentation หลักที่ใช้ในการสอน หรือ
Download ได้จาก
เงื่อนไขการสอบ - ข้อสอบ 2 ข้อ ใช้เวลา 3 ชั่วโมง
ไม่อนุญาตให้นำตำราใดๆเข้าสอบ
นำบันทึกย่อเข้าสอบได้ ขนาด A4 จำนวน 1 แผ่น เขียนหน้าและหลังได้
วิชาที่ 3
วิชา – การวิจัยทางความเป็นผู้นำและการบริหารการศึกษา
เวลา/สถานที่
หัวเรื่องในการสอบ
เงื่อนไขการสอบ
Wednesday, August 19, 2009
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment