Saturday, May 9, 2015

เอเชียก้าวสู่การใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยแนวคิด Tesla + Vespa

เอเชียก้าวสู่การใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยแนวคิด Tesla + Vespa

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: การจัดการ, management, financial management, Gogoro, Tesla Motors, รถสกูเตอร์ไฟฟ้า, Electric scooter, SmartScooter, GoStation,

จากบทความ “Tesla meets Vespa” โดย Aaron Tilley ใน Forbes

ผู้ริเริ่มธุรกิจผลิต Smartphone หันมาสนใจพัฒนารถจักรยานยนต์แบบสกูเตอร์ไฟฟ้า (Electric Scooter) เพื่อทดแทนรถจักรยานยนต์นับล้านๆคันที่ใช้เครื่องยนต์แบบเผาไหม้ที่สร้างมลพิษให้กับสิงแวดล้อม
ในบทความใน Forbes เรื่อง “Tesla meets Vespa”


ภาพ Horace Luke ยืนข้างรถจักรยานยนต์ที่ให้ชื่อว่า Gogoro Smartscooters

Horace Luke เคยเป็นหัวหน้าฝ่ายนวตกรรมของบริษัทผลิต Smartphone ชือ HTC เขาชอบความสวยงามและการทำงานของนวตกรรมต่างๆ เขาอยากได้รถยนต์ Tesla Model S ที่ยังไม่มีขายในไต้หวัน แต่แฟนของเขาบอกให้เขาเปลี่ยนใจ เพราะเขาไม่มีบ้านที่มีโรงรถเหมือนคนในอเมริกา หากจะใช้ ก็ต้องไปชาร์จไฟที่สำนักงาน ซึ่งไม่สามารถใช้ได้สะดวกนอกจากในช่วงวันหยุด

Tesla และรถยนต์นั่งแบบไฟฟ้าอาจประสบความสำเร็จในอเมริกา ที่ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่มีบ้านแบบมีรั้ว มีโรงจอดรถขนาดใหญ่ที่สามารถติดตั้งระบบชาร์จไฟแรงสูง แต่ในเอเชียในเขตเมืองทั้งหลายที่ดินมีราคามาก จนกระทั่งที่จอดรถเองก็หายาก นอกจากนี้ราคารถยนต์ไฟฟ้าอย่าง Tesla Model S ก็สูงจนกระทั่งเศรษฐีเองก็ยากที่จะซื้อมาไว้ในครอบครอง สำหรับประชาชนทั่วไปยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลย
Luke สนใจที่จะผลิตสินค้าที่คนร้อยละ 99 ได้ประโยชน์


ภาพ รถสกูเตอร์ไฟฟ้าของ Gogoro เปรียวเพรียวลม และไร้เสียงและกลิ่นควัน

เมื่อ 4 ปีที่แล้ว Luke และเพื่อนร่วมงานที่ HTC ชื่อ Matt Taylor ได้ร่วมกันคิดในเรื่องนี้ เขาลาออกจากบริษัทใหญ่เพื่อมาเริ่มกิจการใหม่ที่เรียกว่า “โกโกโร” (Gogoro) ที่ทั้งคิดออกแบบ การเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาสม และรวมถึงการใช้การตลาดเพื่อจะขายสินค้าใหม่ของเขา จักรยานยนต์ไฟฟ้าของเขามีชื่อว่า Smartscooter หรือ Gogoro bike คือ การนำความคิดของ Vespa มาประสมกับ Smartphone โดยเลือกใช้มอเตอร์ที่ให้พลังได้เท่าๆกับเครื่องยนต์ขนาด 125 CC สามารถเร่งความเร็วได้ 30 ไมล์/ชั่วโมงภายใน 4.2 วินาที ทำความเร็วได้สูงสุด 60 ไมล์/ชั่วโมง มีที่เก็บของที่สามารถเปิดได้ มีระบบแสงและเสียงแตรให้เลือกกว่า 129,600 แบบ เพื่อให้ผู้ใช้มีรถที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ในด้านราคายังไม่ได้มีการตกลงกันชัดเจน แต่คิดว่าน่าจะอยู่ในระหว่างรถจักรยานยนต์ Honda และ Yamaha คือคันละ 2,000 ถึง 3,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 66,000 ถึง 99,000 บาท ซึ่งถือเป็นราคาที่ตลาดในเอเซียพอรับได้

รถสกูเตอร์ไฟฟ้า Gogoro scooter ทั้งคันจะมีราคาสูงกว่าจักรยานธรรมดาอยู่มาก แต่ยุทธศาสตร์หนึ่งที่เขาพยายามทำ คือแยกราคาแบตเตอรี่ออกมา โดยให้ผู้ซื้อได้ซื้อแต่ตัวรถ แต่ใช้แบตเตอรี่โดยจ่ายค่าเช่าใช้ในราคาประหยัด สามารถถอดเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ (Swapping batteries) ณ สถานีที่จะจัดสร้างขึ้นเป็นเครือข่ายทั่วประเทศ แผนการทำให้การใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามีราคาถูกนั้น ก็ด้วยการมีรัฐให้การอุดหนุนกิจการที่เป็นคุณต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-subsidy)


ภาพ การเปลี่ยนแบตเตอรี่ในรถสกูเตอร์ไฟฟ้า Gogoro สามารถทำได้ง่ายโดยมีช่องใส่แบตเตอรี่ที่ใต้ที่นั่งคนขี่ พร้อมทั้งมีที่เก็บของอยู่ด้วย


ภาพ แบตเตอรี่สำหรับรถสกูเตอร์ไฟฟ้า ที่ออกแบบมาให้กระทัดรัด แบ่งออกเป็น 2 หน่วย น้ำหนักเบาผู้หญิงก็สามารถยกได้ง่ายด้วยมือ

ส่วน Gogoro เองก็มีระบบการเงินของตัวเองที่รวบรวมได้จาก Samuel Yin USD40 ล้าน ซึ่ง Yin มีธุรกิจมูลค่ากว่า 4,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเขาเป็น CEO ของ Ruentec Group ซึ่งมีธุรกิจด้านการค้าปลีก การบริการการเงินและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และ USD10 ล้านจาก Cher Wang ผู้ร่วมก่อตั้ง HTC นอกจากนี้ Luke ยังมองไปที่เงินประมาณ USD100 ล้าน ซึ่งรวมๆแล้วบริษัทก่อตั้งใหม่ของเขาจะมีมูลค่าประมาณ USD400

ธุรกิจสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery-swap) เคยมีคนริเริ่มมาก่อนหน้านี้แล้วดังบริษัท Better Place ในประเทศอิสราเอล ใช้เงินลงทุนกว่า USD1,000 ล้าน เพื่อสร้างเครือข่ายสลับเปลี่ยนแบตเตอรี่รถยนต์ด้วยระบบหุ่นยนต์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเมื่อทำกับแบตเตอรี่รถยนต์ขนาดใหญ่ สถานีก็ใหญ่และซับซ้อนตามไปด้วย โดยต้องใช้เงินทุนประมาณ USD500,000 ต่อสถานี แต่เอาเข้าจริงค่าใช้จ่ายกลับบานปลายเป็น USD2,000,000 บริษัท Better Place ต้องประกาศล้มละลายในปี ค.ศ. 2013 อันที่จริงแนวคิดของ Better Place นั้นดีมาก Shai Agassi ผู้ก่อตั้งบริษัทยังเชื่อในแนวคิดการมีสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่นี้ ดีกว่าการมีสถานีชาร์จแบตเตอรี่ ที่ต้องใช้เวลาชาร์จไฟ และต้องมีที่จอดรถยนต์หลายๆคัน ในระยะยาววิธีการเปลี่ยนแบตเตอรี่นั้นจะมีประโยชน์มากกว่าการชาร์จไฟ


ภาพ สถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ไฟฟ้าของรถยนต์ กิจการของ Better Place ที่ต้องล้มละลายไป เหตุผลจากหลายๆประการ แต่สิ่งหนึ่งคือระบบที่ดี แต่ใหญ่เกินไป และใช้ทุนดำเนินการต่อหน่วยสูง ที่ประมาณ 60 ล้านบาทไทย


ภาพ สถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ของรถสกูเตอร์ไฟฟ้า ของ Gogoro มีขนาดเล็ก ใช้เงินลงทุนต่อหน่วยเพียง USD10,000 หรือประมาณ 330,000 บาท ถูกกว่าการเปิดร้านขาย Smartphone

จากการศึกษาของ Luke ในข้ออ่อนของ Better Place คือความพยายามเริ่มโครงการในหลายๆประเทศเกินไป แทนที่จะจัดทำในสักหนึ่งประเทศ แล้วทำให้จนเกิดความสำเร็จอย่างจริงจัง


สำหรับบริษัท Gogoro มีสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่เรียกว่า GoStations มีขนาดเท่ากับที่ๆต้องใช้ติดตั้งตู้หยอดเหรียญ สามารถติดตั้งแบบแปะไปกับข้างฝาของที่ไหนๆก็ได้ โดยมีค่าการลงทุนต่อแห่งประมาณ USD10,000 และการเปลี่ยนแบตเตอรี่จะใช้เวลาเพียง 1 นาที คนขี่จักรยานยนต์ไฟฟ้าขับเข้ามาแล้วก็เปลี่ยนแบตเตอรี่ขนาด 20 ปอนต์ หรือประมาณ 9.1 กก. เข้าไปในช่องกระเปาะใต้คนขี่แล้วก็ขับออกไป แบตเตอรี่จะไม่ทำงานจนกว่าผู้ขี่จะยืนยัน (Authentication) โดยใช้ระบบปฏิบัติการใน Smartphone

No comments:

Post a Comment