Saturday, April 30, 2011

นโยบายของพรรคเพื่อไทย 1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต

นโยบายของพรรคเพื่อไทย 1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

นโยบายด้านการศึกษาที่ฮือฮากันมากประการหนึ่งของพรรคเพื่อไทย (Pheu Thai Party) คือการแจกเครื่องคอมพิวเตอร์แบบ Tablet ให้กับเด็กทุกคน หรือที่เรียกว่า “นโยบายหนึ่งนักเรียนหนึ่งแท็บเล็ต

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรมช.คลัง ในฐานะคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าว ว่า

นโยบายใหม่ที่น่าจับตามองคือ นโยบายหนึ่งนักเรียนหนึ่งแท็บเล็ต พร้อมเอดีเอสแอลและไวไฟ เพราะจะเปลี่ยนประเทศนี้ให้มีความสามารถแข่งขันเพิ่มขึ้น ปรับปรุงคุณภาพของประชาชนในอนาคต โดยรัฐบาลนี้พยายามพูดถึงนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ คำพูดดูดี แต่จับต้องไม่ได้ไม่เหมือนเพื่อไทย พรรคจะให้คอมพิวเตอร์แบบแท็บเล็ตกับนักเรียนทุกคนตั้งแต่ประถมฯหนึ่ง จัดให้มีระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงพร้อมไวไฟไปยังโรงเรียนทุกแห่งทั่ว ประเทศ รวมถึงสถานที่ราชการ และสถานที่สาธารณะอื่นๆ โดยไม่คิดค่าบริการ

นอกจากนี้ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ยังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า

ส่วนที่เกรงว่าราคาแท็บเล็ตจะแพง ไม่เป็นความจริง ราคาแทบเล็ตในจีนและอินเดียแค่100-200 ดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นกับความสามารถในการใช้สอย ซึ่งต้องถูกกว่านี้ถ้าซื้อจำนวนมาก

ผมเห็นด้วยที่จะให้เด็กๆได้มีเครื่องคอมพิวเตอร์ราคาถูกไว้ใช้งาน แต่จำเป็นแล้วหรือยังที่จะมีแจกให้กับเด็กทุกคนนั้นเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันอย่างลึกๆ

หากเครื่องราคาที่ 100-200 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเมื่อเราเข้าไปศึกษาราคาคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก็พบว่ามีขายในราคาเครื่องละ 120-250 ดอลลาร์สหรัฐ

มีคำถามอยู่หลายข้อที่จะต้องหาคำตอบ ก่อนที่นโยบายใดๆจะกลายเป็นแนวทางปฏิบัติ

ใครเป็นผู้รับผิดชอบ

ความจริงจะเป็น Laptop, tablets, หรือ netbooks อันใดอันหนึ่งก็ได้หากราคาถูก สามารถทำงานได้อย่างดีเพียงพอ ใช้สื่อกับอินเตอร์เน็ตได้ มีความทนมือทนไม้เด็กๆ และมีซอฟต์แวร์ใช้ได้อย่างถูกต้อง

แต่หากจะต้องให้เด็กแต่ละคนมีใช้ฟรี ก็ต้องถามว่าจะเอาเงินจากที่ไหน

ใครเป็นคนจ่าย รัฐบาลกลาง ในที่นี้คือกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จะดำเนินการ

รัฐบาลท้องถิ่น ดังเช่นองค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาลนคร เทศบาลเมือง ฯลฯ

แล้วเวลาเครื่องคอมพิวเตอร์และระบบที่เกี่ยวข้องมีปัญหา ใครจะเป็นคนดูแล คำถามที่ละเอียดมากขึ้นไปเรื่อยๆ จะยิ่งทำให้คำตอบยากขึ้นไปเรื่อยๆ และแน่นอนว่าการให้รัฐบาลกลาง โดยกระทรวงศึกษาธิการเข้าไปดูแลนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

รัฐบาลกลาง โดยกระทรวงศึกษาธิการในส่วนกลางนั้น อาจเหมาะที่จะกำหนดเป็นนโยบาย แต่ไม่เหมาะที่จะต้องดำเนินการในเชิงปฏิบัติ โดยเฉพาะในการที่จะต้องดำเนินการแบบรวมศูนย์ (Centralization)

โรงเรียนที่มีอยู่ทั่วประเทศ กว่า 30,000 แห่ง สำหรับการมีเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้ในโรงเรียนนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ยาก และเพียงให้โรงเรียน และเขตพื้นที่การศึกษา (Local Education Service Areas – LESAs) รับเป็นเจ้าภาพดูแล กำหนดให้ชัดเจนว่าให้มีเครื่องเพียงพอในระดับใด เช่น 1 เครื่องคอมพิวเตอร์ ต่อ 10 นักเรียน และพยายามทำให้ได้ ก็นับว่าจะเป็นประโยชน์ต่อวงการศึกษาที่ดีพอแล้ว โดยรัฐบาลกลางไม่ต้องไปดำเนินการในรายละเอียด

องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หากจะให้เด็กๆและเยาวชนได้ใช้เพื่อการศึกษา แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย ก็ยังพอจะทำได้ โดยให้ในระดับหมู่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบลร่วมเป็นเจ้าภาพ เรามีตำบลอยู่ประมาณ 7,000-8,000 ตำบล บางตำบลที่มีฐานะ ก็อาจเป็นเจ้าภาพได้มากกว่า 1 แห่ง รวมๆแล้ว อาจให้บริการเพิ่มขึ้นได้อีกสัก 10,000-12,000 จุดอย่างไม่ยากนัก และยังมีเจ้าภาพที่ชัดเจน

ความจริงมีหน่วยงานระดับท้องถิ่นอื่นๆ เช่น

เทศบาลเมือง ซึ่งในปัจจุบ้นยังไม่ได้เข้ามามีบทบาทด้านการศึกษามากนัก แต่มีโอกาสดำเนินการได้

องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จัดเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบได้

ใครได้ประโยชน์คนนั้นจ่าย

มีใครบ้างที่ได้ประโยชน์จากการใช้และการดูแลระบบคอมพิวเตอร์?

พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นผู้รับผิดชอบ มีหลักอยู่ประการหนึ่งคือ Who benefits who pays. ใครเป็นคนได้ประโยชน์ คนนั้นเป็นคนจ่าย รัฐบาลไม่ว่าจะเป็นในระดับชาติหรือท้องถิ่น ไม่จำเป็นต้องไปจ่ายเงินซื้อและค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง เพราะไม่ว่าจะเป็น Laptop, tablets, หรือ netbooks ล้วนเป็นอุปกรณ์ที่ออกแบให้ใช้เป็นส่วนตัว ต้องใช้อย่างดูแล ไม่ควรให้ตกกระแทก เปียกน้ำหรือน้ำฝน เมื่อมีปัญหาด้านโปรแกรม ก็ต้องดูแลจัดการกันเอง แต่ระบบบำรุงรักษาหลังการขาย โดยทั่วไป เขามีบริการดังกล่าวรองรับอยู่แล้ว เสียค่าใช้จ่ายบ้างไปตามสถานะ

ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองนั้นแหละคือผู้ที่จะรับผิดชอบ ซื้อหาเครื่องคอมพิวเตอร์เอาไว้ใช้งาน พ่อแม่อาจตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องแบบต่างๆไว้ใช้งาน โดยอาจให้มีในครอบครัวแบบใช้ร่วมกันได้ หากมีลูกหลายคน พ่อแม่เองก็ต้องมีไว้ใช้งานด้วย

พ่อแม่ผู้ปกครองอาจตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องว่าจะเป็นแบบใด และจะซื้อหาได้ง่ายขึ้น เมื่อเครื่องคอมพิวเตอร์มีราคาถูกลง รัฐบาลอาจช่วยได้ โดยเริ่มจากทำให้คอมพิวเตอร์ในตลาดราคาถูกลง และมีกลไกการขายและให้บริการที่สะดวก ส่วนพ่อแม่ที่พอมีปัญญาซื้อหาได้ ก็ให้ซื้อไปก่อน มีเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้ที่บ้านเพียง 1 เครื่อง ยังดีกว่าไม่มีใช้เลย

สำหรับเด็กที่พ่อแม่ไม่มีฐานะ ก็ให้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของโรงเรียน ชุมชน หรือตามร้านเน็ตต่างๆ

ร้านเน็ตและชุมชนใกล้บ้าน หากเป็นการใช้ในชุมชนใกล้บ้าน ระบบทั่วๆไป เขามีร้านอินเตอร์เน็ตบริการอยู่แล้ว โดยมีการเรียกเก็บค่าเช่าใช้ ซึ่งเมื่อมีการแข่งขันกันพอเหมาะสม ราคาก็จะไม่แพง ขณะนี้หากไปใช้ตามร้านเน็ตทั่วไป ราคาชั่วโมงละ 10-15 บาท แล้วเจ้าของยังอยู่ได้ มีให้เห็นทั่วไปในต่างจังหวัด

นโยบายให้มีหลายฝ่ายร่วมกันเป็นเจ้าภาพ

แนวคิดคือ ให้มีเจ้าภาพหลายฝ่าย แบ่งกันรับผิดชอบ และมีวิธีการติดตามผลได้

ในอดีต เราเคยมีนโยบายที่รัฐบาลเข้าไปสำรวจขุดเจาะน้ำบาดาลให้กับชาวบ้าน ทำระบบสำเร็จให้อย่างดี แต่เมื่อเวลาผ่านไป ระบบต้องมีคนคอยดูแลจัดการ ก็ไม่มีคนสามารถดูแลซ่อมบำรุงได้ ปล่อยให้เครื่องมีสนิมเกาะ และชำรุดจนพังไปในที่สุด

ระบบบ้านและที่พักของข้าราชการ มีเงินสร้าง แต่ไม่ได้วางระบบดูแลจัดการ เมื่อบ้านเก่า คนอยู่ก็ไม่ซ่อมแซม ระบบราชการเองไม่มีงบประมาณที่จะดำเนินการได้ หรือมันเป็นความยุ่งยากไม่เหมือนการสร้างสิ่งใหม่ จึงไม่ได้ทำการซ่อมบำรุง บ้านและที่พักของข้าราชการที่ใช้ไปสักระยะหนึ่ง ก็กลายเป็นบ้านที่เก่าทรุดโทรม และมองเห็นได้อย่างชัดเจน

นโยบายให้ใช้เครือข่าย Wifi และ ADSL เพื่อเอื้อประโยชน์ทางการศึกษา นั้นเป็นสิ้งที่ดี

การมีเครือข่าย (Network) รองรับระบบการศึกษาทั่วประเทศนั้นเป็นความจำเป็น แต่ในสภาพที่เป็นจริง มันต้องมีระบบจัดการพัฒนา (Development) และดูแลรักษา (Maintenance) อยู่แล้ว และระบบดูแลรักษานี้ต้องฉับไว ไม่ปล่อยให้ระบบติดขัดเป็นเวลายาวนาน เมื่อมีความต้องการใช้มาก ก็สามารถปรับขยายได้ตามความจำเป็น เพราะหากความต้องการมากกว่าระบบจะรองรับ ระบบจะล่ม หรือช้ามากจนไม่เกิดประโยชน์

การให้มีสายโทรศัพท์ขั้นพื้นฐานรองรับ ที่มีโครงข่ายอยู่เดิมอยู่แล้วทั่วประเทศนั้น ก็สามารถกระทำได้ แต่เช่นเดียวกัน คือรัฐบาลกลางไม่ต้องไปรับผิดชอบในรายละเอียด รัฐบาลสามารถใช้กลไกตลาดเท่าที่มีเพื่อเป็นเครือข่ายผู้ให้บริการ แต่ขณะเดียวกัน

การบริหารผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (Internet Service Providers – ISP)

เมื่อมีผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นเจ้าของเครือข่ายขนาดใหญ่ๆ ซึ่งมีไม่กี่บริษัท ก็ให้รวมเงื่อนไขการให้บริการสถานศึกษาอย่างทั่วถึงเข้าไปด้วย ต้องไม่ปล่อยให้โรงเรียนใด ไม่ว่าจะห่างไกลเพียงใด ต้องหลุดออกจากระบบบริการ เพียงเพราะไม่คุ้มที่จะให้บริการ

ขณะเดียวกัน ระบบอินเตอร์เน็ตเป็นแบบเปิด (Open Market) ทำให้มีผู้ให้บริการหลายรายเสนอให้บริการได้ จึงควรใช้กลไกให้สถานศึกษา และเขตพื้นที่การศึกษาเป็นฝ่ายมีสิทธิเลือกผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ISP) เพื่อทำให้เกิดบริการที่ต้องแข่งกันทำให้ได้ดี

No comments:

Post a Comment