Keywords: ความเป็นผู้นำ, ภาวะผู้นำ, Leadership, authenticity, ของแท้, ความจริง, ความน่าเชื่อถือ, ความแน่แท้, Steve Jobs, Jack Welch, Jr, Thomas Edison, Alexander Graham Bell,
เก็บความจาก “What do great leaders have in common? They’re authentic.” โดย Jack and Suzy Welch, Fortune, April 9, 2012
ภาพ แจ๊ค เวลช์ (Jack Welch, Jr.) อดีต CEO ของบริษัท General Electric
John Francis หรือ Jack Welch, Jr เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1935 เขาเป็นวิศวกรเคมี นักบริหารธุรกิจที่ประสบความสำเร็จยิ่ง เป็นนักเขียน
เป็นผู้บริหารสูงสุด (CEO) ของบริษัท General
Electric (GE) ในช่วงปี ค.ศ. 1981 ถึงปี ค.ศ. 2001
ในช่วงที่เขาทำงานบริหารให้กับ GE นั้นมูลค่าของบริษัทเพิ่มขึ้น
4,000% และเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกในขณะนั้น
โดยส่วนตัว Jack Welch มีทรัพย์สินมูลค่าประมาณ $720 ล้าน หรือประมาณ 21,600 ล้านบาท
จัดว่าเป็นเศรษฐีคนหนึ่งทีเดียว
Welch ได้ให้ข้อสังเกตผู้นำของโลกในด้านต่างๆว่ามีลักษณะอย่างหนึ่งเหมือนกัน
คือมีความเป็นของแท้ (Authentic)
Authenticity = ของแท้, ความจริง, ความน่าเชื่อถือ, ความแน่แท้
ความเป็นผู้นำของแท้นั้น เขาชี้ให้เห็น 3 ประการ
ซึ่งผมขอนำมาแปลงให้เข้ากับสภาพบรรยากาศการเมืองและธุรกิจในประเทศไทยเราด้วย
ลักษณะแรก
ผู้นำคือคนที่เป็นอย่างที่เขาเป็น ดังคำที่การ์ตูน Popeye บอกว่า
“I’m what I’m.” ผมเป็นอย่างที่ผมเป็น โปรดเข้าใจผมด้วย
จริงๆแล้ว ผู้นำไม่ต้องไปเสแสร้งทำอะไรที่ดูไม่เป็นตัวตนที่แท้จริงของเขา
มีผู้นำหลายคนที่ดูแต่งตัวไม่เป็นเรื่อง โบราณบ้าง ดูแต่งตัวแบบสบายๆจนเกินไป
แต่นั่นก็เป็นลักษณะตัวตนของเขา ผู้นำบางคนพูดจาเสียงเหมือนบ้านนอก ทำให้ดูเหมือนเป็นคนไม่มีการศึกษา
แต่ก็ดูจะเป็นเหมือนคนที่ติดดิน แต่ไม่ว่าเขาจะเป็นคนอย่างไร มีรสนิยมอย่างไร
มีค่านิยม ความเชื่ออย่างไร ก็จงเป็นอย่างที่เขาเป็น ไม่ต้องมีการเสแสร้ง
ไม่ต้องสร้างภาพพจน์ให้ดูเกินเลยจากความเป็นจริง อย่างที่คนเขาเรียกว่า “จัดฉาก”
ไม่ต้องไปอาศัยฝ่ายโฆษณาประชาสัมพันธ์มาช่วยตกแต่งภาพลักษณ์
ลักษณะที่สอง
ผู้นำต้องกล้าบอกว่าเขาชอบอะไร เขาชอบในสิ่งที่ชอบ และต้องกล้าบอกไม่ชอบในสิ่งที่ไม่เห็นด้วย
แม้คนอื่นจะเห็นตามด้วยหรือไม่ก็ตาม คนทั่วไปจะชอบในความคิดความเห็นของเราหรือไม่ก็ตาม
ที่กล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่าให้ผู้นำต้องพูดหรือให้ความเห็นในทุกๆเรื่อง ซึ่งไม่ใช่เป็นสิ่งที่จำเป็น
เพราะบางอย่างเป็นเรื่องไกลตัว และไม่ได้เกี่ยวกับบทบาทการนำหรือการทำงานของเขา
ก็ไม่ต้องไปพูดหรือแสดงความคิดเห็นของตนเองในทุกเรื่อง
ยกตัวอย่าง
สมมุติว่าก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี มีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษี
นโยบายการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชน การศึกษา นโยบายการทหาร
เหล่านี้คนจะเป็นประธานาธิบดีต้องมีจุดยืน
เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงทั้งหลาย
แต่การที่ผู้สมัครประธานาธิบดีจะมีความเห็นนั้น ไม่จำเป็นต้องไปจัดทำโพลว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความเห็นอย่างไร
แล้วผู้นำไปหาจุดยืนของตนแบบตามกระแส คนจะเป็นผู้นำต้องมีจุดยืนของตนเองว่าคิดอย่างไร
และจะทำอย่างไรเมื่อได้เป็นประธานาธิบดี เพราะประธานาธิบดีคือผู้นำ
ไม่ใช่ผู้บริหารที่เพียงทำตามความคิดเห็นของประชาชน
บางอย่างประธานาธิบดีต้องมีวิสัยทัศน์ และต้องแสดงมันออกมาว่า
เขามองเห็นอนาคตของสังคมประเทศของเขาอย่างไร
เขาจะเดินหน้าไปอย่างไรหากได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี
ในทางธุรกิจ Steve Jobs บอกว่า
เขาไม่เคยคิดว่าจะต้องไปวิจัยทำการตลาดว่าสินค้าของ Apple นั้นควรมีลักษณะอย่างไร
ไม่ต้องไปหานักวิชาการผู้เชี่ยวชาญนับสิบมาทำ Focus Group มันสำคัญว่า
เขาในฐานะผู้นำ CEO ของบริษัทนั้นคิดจะทำอะไร
มองเห็นอะไรในตลาดผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างที่ตลาดก็ยังมองไม่เห็น Steve Jobs เองก็พูดว่า เมื่อ Thomas Edison จะประดิษฐ์หลอดไฟฟ้านั้น
เขาไม่ได้ต้องไปวิจัยการตลาดว่าประชาชนต้องการอะไร หรือ Alexander Graham
Bell ไม่ต้องไปวิจัยการตลาดว่าประชาชนต้องการโทรศัพท์หรือไม่ หรือมันควรมีรูปลักษณ์อย่างไร
คนจะนำคนต้องรู้ว่าเขาจะทำอะไร จะเดินไปทางไหน เขาชอบหรือไม่ชอบอะไร
อยากเห็นอะไรที่ควรจะเกิด
ลักษณะที่สาม ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่เป็นของแท้
ต้องกล้ายอมรับในสิ่งที่ผิดพลาด ยอมรับดังกล่าวว่า “ผมทำพัง ผมรู้สึกแย่มากๆ
เป็นความรู้สึกที่เลวร้ายจริงๆ” (“I’ve screwed up, and I’ve been down,
and it was awful.”) ผู้นำที่ผ่านร้อนผ่านหนาว
มีประสบการณ์ชีวิตและการทำงานมามากนั้น
ล้วนแต่ได้เคยทำในสิ่งที่ผิดพลาดมาแล้วทั้งนั้น และผู้นำที่เป็นของแท้นั้น
คือคนที่กล้ายอมรับ และบอกถึงสิ่งที่เขาได้เคยทำผิดพลาดมาแล้วได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า
ผู้นำบางคนอาจรู้ว่าได้ทำอะไรผิดหรือถูกอย่างไร
แต่กระนั้นก็ไม่กล้าสื่อสารให้กับลูกน้องหรือสาธารณชนทราบ เพราะเกรงเป็นการไปลบความเชื่อมั่นที่สังคมจะมีต่อตน
ซึ่งเรื่องนี้เป็นจริง ผู้นำองค์การเอกชนต้องมีหน้าที่ “ขายฝัน”
ทำให้คนทั่วไปได้เชื่อมั่นในตัวเขา บริษัทของเขา และมั่นใจในผลิตภัณฑ์ของบริษัทเขา
แต่อย่างน้อย เขาจะต้องเป็นคนกล้ารับความเป็นจริง เมื่อเหตุการณ์ได้ผ่านไปแล้วระยะหนึ่ง
เขาต้องกล้าที่จะหันมาตรวจสอบดูสิ่งที่เขาทำที่ผ่านๆมา เขาได้ทำบางส่วนหรือหลายส่วนสำเร็จ
แล้วก็มีบางส่วน หรืออาจจะหลายส่วนที่เป็นข้อผิดพลาด การที่เขากล้ารับ
หรือเปิดเผยในสิ่งที่ไม่สำเร็จนี้ จะทำให้คนร่วมงานเชื่อในความจริงใจ
และความเชื่อในความจริงใจ บางอย่างเมื่อรู้ว่าผิดพลาดได้เร็ว ตระหนักและยอมรับเสีย
ก็จะปรับทิศทางได้เร็ว อีกอย่างหนึ่ง การได้ตระหนักว่าผู้นำของเขานั้นยังยืนอยู่บนฐานของความเป็นจริง
รู้อะไรผิดอะไรถูก นั่นยอมเป็นความมั่นใจแก่ผู้ตามว่า
แม้จะได้มีการเดินผิดพลาดมาบ้าง แต่เพราะความที่เป็นคนเปิดใจรับความเป็นจริงนี้
สิ่งที่จะกระทำต่อไปในอนาคตนั้น จะตั้งอยู่บนฐานของการรับความจริงอย่างตรงไปตรงมาที่สุด
และเมื่อถึงจุดที่จะจำเป็นต้องเปลี่ยน ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างไม่ติดยึด
No comments:
Post a Comment