Monday, April 9, 2012

การท่องเที่ยวของรัฐมณีปุระ (Tourism) ประเทศอินเดีย

การท่องเที่ยวของรัฐมณีปุระ (Tourism) ประเทศอินเดีย

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: ประเทศอินเดีย, รัฐมณีปุระ (Manipur State, India), สถานที่ท่องเที่ยว, Loktak Lake, Imphal

ความนำ

ผู้เขียนได้ร่วมคณะนักวิชาการและเครือข่ายของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ (Surindra Rajabhat University – SRRU) จำนวน 12 ท่าน เพื่อเดินทางไปสร้างสัมพันธ์และร่วมพัฒนาโครงการด้านการศึกษาร่วมกัน กับมหาวิทยาลัยมณีปุระ (Manipur University, Manipur, India) ประเทศอินเดีย ในช่วงวันที่ 2-7 เมษายน ค.ศ. 2012 ก่อนหน้านี้ มหาวิทยาลัยมณีปุระได้มาร่วมในกิจกรรมงานแสดงศิลปะพื้นบ้านนานาชาติ (Surin International Folk Festival – SIFF) ที่จัดเป็นประจำทุกปีมากว่า 6 ปี และมหาวิทยาลัยมณีปุระได้เป็นผู้นำคณะนักแสดงมาร่วมกิจกรรมทุกปีในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

การเดินทางของพวกเราในครั้งนี้ จัดเป็นการขยายขอบเขตความร่วมมือ จากที่เป็นการแลกเปลี่ยนทางศิลปวัฒนธรรม ไปสู่การมีความสัมพันธ์ทางด้านการศึกษา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งทางเรามองเห็นประโยชน์ที่จะพัฒนาร่วมกันในช่วงเริ่มต้น ใน 3 ด้าน (1) การเรียนการสอนภาษาไทย ด้านนี้เป็นความต้องการของมหาวิทยาลัยมณีปุระ (2) การเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นความต้องการของฝ่ายเรา ที่ต้องปรับตัวสู่มาตรฐานสู่ความเป็นชุมชนอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 ที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารระหว่างกัน และ (3) การพัฒนาหลักสูตรการท่องเที่ยวและการโรงแรม (Hospitality Management) ที่หวังจะเปิดบริการในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และมีการเปิดสาขาวิชาการที่มหาวิทยาลัยมณีปุระ ที่รัฐมณีปุระ ประเทศอินเดียด้วยเช่นเดียวกัน หลักสูตรนี้เป็นการเรียนการสอนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการสื่อสาร

รัฐมณีปุระ

รัฐมณีปุระ (Manipur State) เป็นรัฐหนึ่งใน 7 รัฐสาวพี่น้องทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย (Seven sister states of India) มีประชากรอย่างเป็นทางการ 2,721,756 คน แต่ลักษณะของการมีคนจากรัฐอื่นในประเทศอินเดียมาทำมาหากินมากเป็นที่สังเกตได้ คาดว่าน่าจะมีผู้อาศัยอยู่ในรัฐจริงในปัจจุบันสัก 4 ล้านคน แต่นั่นก็เป็นเพียงร้อยละ 0.3 ของประชากรทั้งประเทศอินเดีย ซึ่งมี 1,200 ล้านคน

รัฐมณีปุระมีพื้นที่รวม 22,347 ตรกม. ซึ่งนับว่าไม่น้อย แต่เป็นพื้นที่ภูเขาและป่าที่ต้องสงวนไว้ เป็นพืชที่เกิดตามธรรมชาติมีพื้นที่ 14,365 ตรกม. หรือประมาณร้อยละ 64 ของพื้นที่รัฐ พื้นที่ๆเหลืออยู่อันเป็นที่ราบนี้เป็นเพื่อที่อยู่อาศัยและการเพาะปลูกร้อยละ 36 แม้จะมีปริมาณน้ำที่พอเพียง แต่ก็ทำให้รัฐนี้ยังไม่สามารถพึ่งตนเองด้านอาหารการกินได้เต็มที่ ยังต้องมีการนำเข้าพืชผลด้านอาหารจากรัฐอื่นๆ และประเทศอื่นๆใกล้เคียง แต่อย่างไรก็ตาม จากการสังเกต ยังมีความสามารถที่จะใช้เทคโนโลยีการเกษตรอย่างเหมาะสมที่จะเพิ่มผลผลิตควบคู่ไปกับการพัฒนาสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืนได้ (Sustainable development)

สภาพธรรมชาติของรัฐมณีปุระมีจุดเด่นหลายประการ เช่น มีความอุดมสมบูรณ์มีปริมาณน้ำที่พอเพียง คือเฉลี่ยมีปริมาณฝน 1500 มม./ปี แต่ก็แตกต่างกันระหว่างต่ำสุดที่ 900 มม./ปีแถบเมืองอิมฟาล (Imphal) และที่สูงที่ดักรับเมฆฝนอาจถึง 2,500 มม./ปี แต่เพราะยังไม่สามารถควบคุมการบุกรุกทำลายป่าได้อย่างเต็มที่ จึงมีบริเวณป่าเป็นอันมากที่กลายเป็นเขาหัวโล้น ไม่มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุม ทำให้ผิวดินถูกชะล้างลงมาตามลำน้ำ แผ่นดินถล่มทลาย ความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินโดยรวมสูญเสียคุณค่าไปด้วย และทำให้มีผลกระทบต่อประสิทธิผลภาคการเกษตร สภาพการบุกรุกถางป่าเพื่อการทำการเกษตรมีลักษณะคล้ายพื้นที่ภูเขาในจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องมีการฟื้นฟู การต้องปลูกป่าใหม่ (Reforestation) การบริหารป่า และนำความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติกลับคืนสู่แผ่นดินอีกครั้ง ควบคู่ไปกับการพัฒนาความกินดีอยู่ดีของประชาชนในรัฐไปด้วย

มณีปุระ (Manipur) โดยชื่อมีความหมายว่าเป็นแผ่นดินแห่งเพชรรพลอย แต่ความเป็นจริงไม่ได้มีความเป็นแหล่งเพชรพลอยหรืออัญมณี เหมือนกับที่ไทยตั้งชื่อจังหวัด “เพชรบุรี” ซึ่งก็มิได้เป็นเมืองที่มีเหมืองเพชรหรือพลอยใดๆเป็นพิเศษ มณีปุระเป็นดินแดนที่มีวัฒนธรรมที่มีมาเก่าแก่ มีการแสดงด้านศิลปะการต่อสู้ (Martial arts), การเต้นรำพื้นเมือง (Dance), การแสดงนาฏศิลป์ (Theater) และการแกะสลัก (Sculpture) เสน่ห์ของสถานที่คือความเขียวชอุ่มและสภาพอากาศที่เย็นสบาย แม้อากาศจะไม่ร้อนแม้ในช่วงฤดูร้อนที่สุด

สิ่งที่ทางรัฐเขาอยากพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ คือ Shirui Lily ที่เขต Ukhrul (district) กวางหายาก ซังไก (Sangai หรือ Brow antlered deer) และ “เกาะลอยน้ำ” ที่ทะเลสาบลอกตัก (Floating islands at Loktak Lake) ซึ่งเป็นสิ่งที่หายากและไม่มีในที่อื่นๆ

แนวทางการพัฒนา

มณีปุระมีโอกาสในการพัฒนาด้านธุรกิจการท่องเที่ยวได้มากด้วยสภาพเหล่านี้

1. สภาพอากาศที่เย็นสบายแบบตอนเหนือ (Climate) สภาพภูเขา และมีความชุ่มชื้นที่พอเพียง มีสภาพธรรมชาติที่มีศักยภาพที่พร้อมจะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดีได้ และเป็นการพร้อมที่จะดึงดูดการลงทุนมาสู่รัฐ

2. สภาพบรรยากาศของความเป็นสังคมเปิดมากยิ่งขึ้น (Openness) หลังจากความขัดแย้งด้านการแบ่งแยกประเทศมาเป็นเวลานาน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 มณีปุระได้รับการยกระดับเป็นรัฐ (State) เช่นเดียวกับรัฐขนาดเล็กอื่นๆในเขต 7 รัฐสาวพี่น้องทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ประกอบกับประเทศพม่า (Myanmar, Burma) เองก็ได้มีการปฏิรูปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และต้องการเปิดประเทศสู่การพัฒนาร่วมกับประเทศในสมาคมอาเซียน (ASEAN) ที่พร้อมจะเปิดรับการลงทุนและการพัฒนาในทุกด้าน

3. รัฐบาลกลางของอินเดียให้ความสำคัญที่พร้อมจะส่งเสริม (Central government policy) รัฐบาลอินเดียเองก็เปิดรับและปรับเปลี่ยนประเทศสู่ความเป็นทุนนิยมเสรีมากขึ้น และใช้เงินทุนจากการที่เศรษฐกิจประเทศได้เติบโตขึ้น รัฐมณีปุระและอีก 6 รัฐสาวพี่น้องทางตะวันออกเฉียงเหนือ แม้ทางภูมิศาสตร์จะเป็นเหมือนรัฐหัวไก่ ที่มีคอลักษณะคอด มีประเทศบังคลาเทศขวางกั้นอยู่ มีอุปสรรคในการติดต่อกับอินเดียแผ่นดินใหญ่ แต่การพัฒนาระบบการคมนาคมเป็นสิ่งที่กระทำได้หลายเส้นทาง และทำได้อย่างเร่งรีบ

4. การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวควบคู่กับอื่นๆ สามารถกระทำร่วมไปกับอุตสาหกรรมการเกษตร การดูแลสิ่งแวดล้อม ความสะอาด ความเขียวชอุ่ม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการศึกษา

ในด้านการเกษตร เมื่อต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยว ก็ต้องมีอาหารการกินที่ดี อาหารที่เป็นความจำเป็นสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งในอินเดียและประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนนักท่องเที่ยวจากแดนไกล ก็จำเป็นต้องมีรองรับ ดังเช่น อาหารประเภทเนื้อสัตว์ วัว หมู แพะ แกะ เป็ด ไก่ ตลอดจนไข่ และนม ฯลฯ พืชผักที่สดและสะอาด สมุนไพร ธัญพืช ฯลฯ เครื่องดื่มต่างๆ ซึ่งเมื่อมีความต้องการใหม่เกิดขึ้น ก็ต้องพัฒนาระบบการเกษตร

เมื่อต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยว สิ่งที่ต้องตามมาคือมาตรฐานบริการอื่นๆที่จะรองรับ เช่น ห้องน้ำสะอาด โรงแรมและสถานที่พักมาตรฐานที่มีราคาไม่แพงนัก มีการจัดการบริการที่เข้ากับมาตรฐานสากล ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ประเทศไทยได้ผ่านประสบการณ์เหล่านี้มาแล้ว ในมากหลายจังหวัด

การพัฒนาระบบคมนาคม การขนส่ง (Transportation) ในปัจจุบัน รัฐมณีปุระ เช่นเดียวกับรัฐอื่นๆของอินเดีย ที่ยังไม่มีระบบถนน (Road & highway system) ที่พัฒนาในมาตรฐานที่ดีพอ เมื่อเทียบกับประเทศไทย ทำให้ใช้เวลา ไม่สะดวกสำหรับนักท่องเที่ยว เมื่อมีความต้องการทำให้พัฒนา และมีทรัพยากรที่จะกลับมาส่งเสริม ระบบถนนหนทางนี้ก็จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปด้วย

สำหรับการพัฒนาระบบการศึกษา (Education sector) นี้ ผู้เขียนมีความสนใจพิเศษที่เห็นว่าควรมีความร่วมมือระหว่างรัฐมณีปุระ รัฐ 7 สาวพี่น้อง กับประเทศไทย โดยให้เลือกเป็นความสัมพันธ์แบบหนึ่งต่อหนึ่ง (Bilateral relation) ดังการเริ่มจากมหาวิทยาลัยบางแห่งของทั้งสองประเทศ เป็นความร่วมมือต้นแบบระหว่างมหาวิทยาลัยมณีปุระ (Manipur University, India) ของรัฐมณีปุระ อินเดีย กับมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ (Surindra Rajabaht University – SRRU, Surin, Thailand) จังหวัดสุรินทร์ ประเทศไทย

5. ผลประโยชน์ร่วมกันในระยะเริ่มต้น คือ การพัฒนาการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติ (International program) ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อในการเรียนการสอน (English as Medium of Instruction) เปิดโอกาสให้มีนักศึกษาต่างชาติเข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยของทั้งสองแห่ง ส่วนมหาวิทยาลัยมณีปุระเขามีความต้องการเรียนรู้ภาษาไทย ส่วนหนึ่งเขาชื่นชมการพัฒนาในหลายด้านของประเทศไทยที่เขาสามารถเรียนรู้เป็นแบบอย่าง และวิธีการที่จะทำได้ คือการมาเรียนรู้และฝึกงาน (Work-study programs) ควบคู่กัน ส่วนมหาวิทยาลัยฝ่ายไทยเรา ต้องการพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยของเขาใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการสื่อสารในมหาวิทยาลัยและภาษาราชการอยู่แล้ว

No comments:

Post a Comment