Friday, January 10, 2014

หากต้องการรู้อนาคตของทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ต้องลองอ่านเรื่องของเบนอาลี (Ben Ali)


หากต้องการรู้อนาคตของทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ต้องลองอ่านเรื่องของเบนอาลี (Ben Ali)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: การเมือง, politics, การปกครอง, governance, ประชาธิปไตย, Democracy, เผด็จการรัฐสภา, ระบอบทักษิณ, Taksinocracy, คณาธิปไตย, Oligarchy, ทักษิณ ชินวัตร, Thaksin Shinawatra, ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, พรรคเพื่อไทย, คอรัปชั่น, Corruption, ปฏิรูปประเทศไทย, Thailand Reform, เบนอาลี, Ben Ali, ตูนิเซีย, Tunisia


ภาพ เผด็จการ อดีตผู้นำแห่งตูนิเซีย เบนอาลี (Ben Ali)

มีคนถามผมบ่อยว่าแล้วอนาคตประเทศไทยต่อไปนี้จะเป็นอย่างไร อนาคตของยิ่งลักษณ์-ทักษิณจะจบลงอย่างไร ผมไม่ได้เป็นหมอดูหรือนักทำนาย แต่บอกได้ว่า ประชาชน หรือมวลมหาประชาชนจะเป็นฝ่ายชนะในที่สุด หากนั้นเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่ยืนอยู่บนหลักการและความถูกต้อง ต้องการปฏิรูปประเทศไทยสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ส่วนเผด็จการรัฐสภา ระบอบทักษิณ การคอรัปชั่น การเล่นพรรคเล่นพวกในระบบราชการ และการครอบงำสื่อสารมวลชน ในที่สุดก็จะต้องล่มสลายไป

เผด็จการหรือทรราชย์ ไม่เคยมีใครจบชีวิตลงด้วยดี ลองดูชีวิตของจอมเผด็จการ เบนอาลี (Ben Ali) แห่งตูนิเซียไว้เป็นตัวอย่าง

ซิเน เอล อาบิดีน เบนอาลี (Zine El Abidine Ben Ali) เกิดเมื่อวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1936 เป็นนักการเมืองชาวตูนิเซีย เป็นประธานาธิบดีของตูนิเซียคนที่สองในช่วงปี ค.ศ. 1987 และถูกโค่นล้มไปในช่วงอาหรับสปริง (Arab Spring) ในปี ค.ศ. 2011

เบนอาลีได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศตูนิเซียในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1987 และเขาได้ครองอำนาจด้วยวิธีการยึดอำนาจโดยไม่เสียเลือดเนื้อจากประธานาธิบดีฮาบิบ บูร์กีบา (Habib Bourguiba) ซึ่งถูกประกาศว่าไร้สมรรถภาพ ไม่สามารถปกครองประเทศต่อไปได้ ต่อมาเบนอาลีได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น แต่ละครั้งได้รับคะแนนกว่าร้อยละ 90 และครั้งล่าสุดเขาได้รับเลือกตั้งในวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 2009 แต่การเมืองแบบตูนิเซียก็เป็นที่รู้กันว่า เป็นระบอบเผด็จการ โดยมีระบบรัฐสภาและการเลือกตั้งเป็นการบังหน้า สื่อสารมวลชนในตูนิเซียไม่เคยมีเสรีภาพในการนำเสนอ กลไกตำรวจและทหารถูกครอบครองเหมือนเป็นสมบัติส่วนตัว เช่นเดียวกับระบบการเมืองการเลือกตั้งในประเทศอียิปต์ ในช่วงของประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค (Hosni Mubarak)ที่ครองอำนาจในช่วง ค.ศ. 1981 ถึง 2011 นานถึง 30 ปี และถูกขับออกจากอำนาจไปในระยะเวลาไม่ห่างกันนัก อำนาจของเบนอาลีกับมูบารัคคล้ายกัน ดูเหมือนแน่นหนาถาวร มีฐานสนับสนุนที่ถูกวางเอาไว้อย่างลงตัวในด้านผลประโยชน์ ฝ่ายตรงข้ามแทบไม่มีโอกาสการต่อสู้เลย แต่ในที่สุด เมื่อเวลามาถึงอำนาจเผด็จการแบบนี้ จะด้วยเป็นเผด็จการรัฐบาลทหาร หรือเผด็จการทางรัฐสภา แต่ในที่สุดก็จะพังไปอย่างรวดเร็วคล้ายปราสาททรายที่ชายหาด เมื่อน้ำทะเลและคลื่นมาถึง มันก็จะพังทลายไปอย่างรวดเร็ว

ในวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 2011 หลังจากการประท้วงโดยมหาชนต่อระบบการปกครองของเขาเป็นเวลาหลายเดือน ในที่สุด เบนอาลีก็ต้องสละอำนาจ แล้วลี้ภัยอยู่ในประเทศซาอุดิอาเรเบีย (Saudi Arabia) พร้อมกับภรรยา คือ นางไลลา เบนอาลี (Leïla Ben Ali) และบุตรธิดาอีก 3 คน ฝ่ายรัฐบาลใหม่ของตูนิเซียได้ขอให้ตำรวจสากลดำเนินการจับกุมเบนอาลีในโทษฐานการฟอกเงิน (Money laundering) และการค้ายาเสพติด (Drugs trafficking) ในวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 2011 ศาลของตูนิเซียได้ตัดสินคดีลับหลังให้เบนอาลีต้องถูกจำคุกตลอดชีวิต และภรรยาถูกจำคุก 35 ปี ด้วยข้อหาการขโมย การมีเงินและเพชรพลอยที่ได้มาอย่างผิดกฎหมาย

และในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2012 ศาลตูนิเซียได้ตัดสินโทษเบนอาลีอีกครั้งในข้อหาทางการเมือง ให้จำคุกเบนอาลีตลอดชีวิตฐานใช้ความรุนแรงและเข่นฆ่าประชาชน และอีกโทษจำคุกตลอดชีวิตโดยศาลทหารในเดือนเมษายน ค.ศ. 2013 ในฐานใช้ความรุนแรงต่อประชาชนผู้ประท้วงที่เมืองสแฟกซ์ (Sfax) ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต

No comments:

Post a Comment