Thursday, January 2, 2014

แนวทางการจัดการความขัดแย้งในยุคทักษิณ-ยิ่งลักษณ์

แนวทางการจัดการความขัดแย้งในยุคทักษิณ-ยิ่งลักษณ์

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: การเมือง, politics, การปกครอง, governance, ประชาธิปไตย, Democracy, เผด็จการรัฐสภา, ระบอบทักษิณ, Taksinocracy, คณาธิปไตย, Oligarchy, ทักษิณ ชินวัตร, Thaksin Shinawatra, ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, พรรคเพื่อไทย, คอรัปชั่น, Corruption, ปฏิรูปประเทศไทย, Thailand Reform, การแก้ปัญหาความขัดแย้ง, Conflict management
---------------

ความนำ

ยุคประเทศภายใต้ระบอบทักษิณกว่า 10 ปีนี้ ทำให้หลายท่านเป็นทุกข์ โดยเฉพาะผู้ใหญ่มีการศึกษา รับรู้มามาก ประสบการณ์มาก มีเวลา มีทรัพยากร แต่ไม่มีแรง ผมได้รับฟังความทุกข์แบบนอนไม่หลับจากท่านเหล่านี้ และในช่วงที่เราจะเข้าจุดวิกฤติ จึงเสนอหลักวิชาในการจัดการกับความขัดแย้งเหล่านี้ทั้งของตัวเองและบ้านเมือง ขอเวลาเขียนและนำเสนอเป็นลำดับ


บัดนี้เขียนเป็น Draft แรกเสร็จแล้วครับ รอฟังทัศนะจากท่านทั้งหลาย เพื่อปรับปรุงให้ดีอีกครั้งหนึ่ง
แนวทางการจัดการความขัดแย้งของโธมัส-คิลแมน เรียกว่า Thomas-Kilmann Conflict Mode Instrument (TKI) มีอยู่ 5 แนวทางด้วยกัน คือ การแข่งแล้วเอาชนะ (Competing); การให้ความร่วมมือ (Collaborating); การประนีประนอม (Compromising); การหลีกหนี (Avoiding); และ การอำนวยความสะดวก (Accommodating) เราจะใช้แนวทางจัดการ 5 แบบนี้อย่างไร

ทั้ง 5 วิธีการนี้ ไม่มีอะไรดีที่สุด หรือเลวที่สุด มันขึ้นอยู่กับเป้าหมาย และสภาพแวดล้อม ตามแนวทางทฤษฎีนี้ มีอยู่ 2 แกน คือ จะให้ความร่วมมือกับเพื่อความพอใจของคนอื่นๆ มากน้อยเพียงใด และในอีกด้านหนึ่ง เราจะใช้พลังในการผลักดันเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย (Unassertative – Assertive) มากน้อยเพียงใด

1. การหลบเลี่ยง หลีกหนี (Avoiding)

แนวทางนี้คือ “ถอย” เหมือนการรบก็คือเป็นระยะหลีกเลี่ยงการปะทะ หรือ ถอยเพื่อรอจังหวะในการบุก
แม้ในเกมส์ที่ต้องการชัยชนะในที่สุด แต่ระหว่างทางเดินนั้น ก็ต้องใช้วิธีการหลีกเลี่ยง หลีกหนีเป็นครั้งคราว และกระทำอย่างมียุทธศาสตร์ ยกตัวอย่างเช่น

ฝ่ายต่อต้านระบอบทักษิณ เดินเข้าไปในร้านอาหารแห่งหนึ่งเพื่อจะหาอาหารรับประทาน แล้วมาพบว่า ร้านนี้ปักธงแดง ประกาศตนเป็นฐานของคนเสื้อแดง เปิดทีวี AsiaUpdate ของคนเสื้อแดง ลูกค้าหลักเป็นเครือข่ายแทกซี่เสื้อแดง ดังนี้ก็ต้องทำตัวเฉยๆ รับประทานอาหารเสร็จ ก็เดินออกมา อย่าไปมีเรื่องโดยไม่จำเป็น แล้วจำไว้ว่าก็ไม่ต้องไปอุดหนุนเขาต่อไป

ในการเข้าร่วมกับ กปปส. หรือกลุ่มต่อต้านระบอบทักษิณ แต่ก็ต้องเดินทางผ่านด่านที่มีตำรวจตรวจตรา ก็เก็บพวกนกหวีด สายสีธงชาติ 3 สี สัญลักษณ์ของการต่อสู้เอาไว้ในกระเป๋า สงบปากสงบคำ ทำทุกอย่างให้ถูกกฎหมาย ไม่ไปต่อล้อต่อเถียงกับคนในชุดตำรวจในยามวิกาล เพราะในเวลามืดและห่างไกลผู้คนนั้น เราไม่รู้ว่าจะต้องพบกับอะไรในประเทศที่ใกล้ความเป็น “รัฐตำรวจ” เข้าไปทุกที

หากเป็นนักธุรกิจขนาดใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับระบอบทักษิณ แต่เกรงว่าจะได้รับผลกระทบจากระบอบทักษิณ เสี่ยงต่อความเสียหายจากฝ่ายทักษิณ ก็ทำตัวเฉยๆ เป็นกลาง แต่หาทางหลีกเลี่ยงจากระบอบทักษิณ อยู่ให้ห่าง และขณะเดียวกัน แต่หากเราเห็นด้วยกับแนวทางปฏิรูป ไม่เห็นด้วยกับระบอบทักษิณ ก็สนับสนุนทางการเงินกับฝ่ายต่อต้านทักษิณ มีลูกน้อง เจ้าหน้าที่ ก็ปล่อยให้เขาสามารถเข้าร่วมทางการเมืองได้อย่างอิสระ

2. การเอื้ออำนวย (Accommodating)

Accommodating การเอื้ออำนวยหรืออำนวยความสะดวก

คือการเข้าถึงกลุ่มคนที่เราจะหวังวัตถุประสงค์เป้าหมายระยะยาวอย่างยิ่งนั้นยังกระทำไม่ได้ ต้องกระทำการอะไรก็ตามกับกลุ่มเป้าหมายที่เอื้อประโยชน์ให้กับเขาเหล่านั้น ยกตัวอย่าง

ศาสนาคริสต์ในนิกายแคธอลิก ต้องการมีอิทธิพลในหมู่คนไทยที่ฐานเดิมนับถือพุทธศาสนา แต่เขาใช้นโยบายมาสร้างโรงเรียนที่ให้การศึกษาที่ดีที่สุด สร้างโรงพยาบาลประกาศเมตตาธรรม สร้างทัศนคติที่ดีให้เกิดขึ้นแก่ท้องถิ่นนั้นๆ โดยยังไม่ถือว่าต้องการเปลี่ยนศาสนาของกลุ่มเป้าหมาย แต่อย่างน้อยก็สร้างความปรารถนาดีให้กับกลุ่มคนไทยดังกล่าว

ยกอีกหนึ่งตัวอย่าง - ในการเข้าถึงคนระดับรากหญ้าในกลุ่มคนเสื้อแดง คนยากจนในชนบท ซึ่งคนกลุ่มเหล่านี้ผูกพันติดยืดอยู่กับนโยบายและประโยชน์ที่เห็นๆของระบอบทักษิณ เช่น โครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ดในราคาตันละ 15,000 บาท เงินเดือนราชการผู้จบปริญญาตรีที่ 15,000 บ่าท/เดือน ฝ่ายต่อต้านทักษิณ ต้องคิดถึงวิธีการนำเสนอในสิ่งที่ดีกว่านโยบายประชานิยมของระบอบทักษิณ ที่ไม่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน แต่นโยบายที่จะเสนอนั้น คืออะไร ซึ่งก็ต้องให้ชัดเจน และมีจุดขายที่ดีที่จะเป็นทางเลือกแทน “นโยบายประชานิยม” ที่กำลังหมดมนต์ขลัง

3. การเอาชนะ (Competing)

ในการแข่งขัน เป้าหมายคือเอาชนะ (To win) เหมือนกับการเล่นกีฬา เทนนิส บาสเก็ตบอล รักบี้ มวย ฯลฯ เขาออกแบบเกมส์มาเพื่อให้สู้กันถึงที่สุด จนฝ่ายหนึ่งชนะ แม้ชนะเพียงแต้มเดียวก็ถือว่าชนะ คนเล่นก็ต้องทุ่มที่สุดเพื่อชนะ แต่ทั้งนี้เขาต้องวางกฎ กติกา ที่ทำให้การแข่งขันเกิดขึ้นได้อย่างเป็นธรรม โปร่งใส และคนมีโอกาสแพ้ชนะได้อย่างสนุกสนาน

ในระบอบทักษิณ (Thaksinocracy) เขาจะคิดในทางการเมืองว่า ทำอย่างไรจึงจะชนะอย่างเด็ดขาด และโดยใช้ระบบเลือกตั้งสร้างความชอบธรรม คือการชนะการเลือกตั้ง (Election) ที่จะชนะและผูกขาดระบบการเมืองการปกครองและการเข้าควบคุมระบบเศรษฐกิจต่อไป

นโปเลียนแห่งฝรั่งเศส ระบอบคอมมิวนิสต์ในช่วงศตวรรษที่ 20 หรือเผด็จการฮิตเลอร์ของเยอรมัน เขาและคณะบุคคลเหล่านี้ต้องหาทางชนะอย่างเด็ดขาด แล้วผลตอบแทนก็จะไหลมาอย่างมหาศาล
ระบอบทักษิณก็คล้ายกับสิ่งที่กล่าวมาแล้ว เมื่อต้องการชนะเด็ดขาด แล้วผูกขาดระบอบการเมือง ฝ่ายตรงข้าม และคนที่เสียประโยชน์ อันได้แก่มวลมหาประชาชน ก็ต้องไม่ยอม และต้องเอาชนะให้ได้ การจะชนะให้ได้ก็ต้องมีพวก (Alliance) หรือมีพวกที่โดยจำนวนบวกกับอำนาจต่างๆ ต้องให้มีอำนาจเหนือกว่า แต่โดยหลักก็คือการต้องโดดเดี่ยวฝ่ายตรงข้าม ให้เหลือจำนวนให้น้อยที่สุด พวกที่ไม่เกี่ยวข้องหากไม่เป็นพวก ก็ต้องให้ถอยออกไป

อังกฤษเอาชนะฝรั่งเศสภายใต้นโปเลียนเองไม่ได้ แต่สร้างพันธมิตรชาติต่อต้านฝรั่งเศสทั่วยุโรป รวมทั้งเยอรมัน (ปรัสเซีย) รัสเซีย และชาติขนาดกลางและเล็กๆอื่นๆ

เยอรมันนาซีในยุคฮิตเลอร์ ต้องแพ้สงครามโลกครั้งที่สองไปในที่สุด เพราะศัตรูเริ่มมีมากขึ้น และรวมไปรัสเซีย ชาติในยุโรป จนถึงมีพันธมิตรมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ที่เข้าร่วมรบด้วย

ชาติในระบอบคอมมิวนิสต์ ไม่ว่าจะเป็นสหภาพโซเวียต และจีน ในที่สุดก็ต้องล่มสลาย เพราะระบบมีจุดอ่อนที่ การผูกขาดอำนาจ การฝืนใจประชาชน การไม่มีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ ท้ายสุดระบอบก็ต้องเปิดทางให้กับระบอบอื่นที่มีความยืดหยุ่น คล่องตัว และดำรงอยู่ได้ในทุนนิยมเสรีของตลาดที่แข็งแกร่งกว่า จีนเอง ก็ต้องเปลี่ยนไปสู่ระบอบทุนนิยมลูกประสม ยังยืดเผด็จการทางการเมืองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ก็ต้องปล่อยให้ระบบเศรษฐกิจเป็นตลาดเสรี

ระบอบทักษิณมีจุดอ่อนมากมาย (อ่านข้อเขียนจาก ธีรยุทธ บุญมี, ไสว บุญมา, วิจารณ์ พานิช, ฯลฯ) เพราะความต้องการมีอำนาจมากจนนำไปสู่การคอรัปชั่น การเล่นพรรคเล่นพวก และในที่สุดก็ต้องสูญสลาย ข้อสำคัญ ฝ่ายต่อต้านระบอบทักษิณจะต้องสร้างฐานมวลชนที่กว้างขวาง และจัดกรอบฝ่ายแกนของระบอบทักษิณให้เหลือให้น้อยที่สุด คือเพียง 1 ใน 100 ส่วนที่เหลือคือ 99 เปอร์เซ็นต์ต้องกลายเป็นพวก หรืออย่างน้อย ไม่รู้สึกว่าถูกคุกคาม สามารถอยู่เฉยๆได้อย่างสะดวกใจ

4. การประนีประนอม (Compromising)

ในการทำธุรกิจโดยทั่วไป มักจะต้องมีการต่อรอง เช่น ฝ่ายผู้ขายต้องการได้กำไรสูงสุด แต่ผู้ซื้ออยากได้ของหรือบริการที่ดีที่สุด ในราคาที่ต่ำที่สุด เสร็จแล้วการต่อรองก็จะทำให้ฝ่ายผู้ซื้อให้ราคาที่สูงขึ้น และฝ่ายผู้ขายยอมลดราคาลง จนสู่ระดับที่ตกลงกันได้ เรียกว่า พบกันครึ่งทาง

การดำเนินการทางการเมืองปกติมักจะต้องมีการเจรจาต่อรอง ฝ่ายรัฐบาลต้องการอย่างหนึ่ง ฝ่ายค้านเห็นต่าง แล้วท้ายสุดต้องมีการตั้งคณะกรรมการร่วม ในสภาเรียก “กรรมาธิการ” เพื่อจัดทำรายละเอียดจนเป็นที่ตกลงกันของทั้งสองฝ่าย แล้วจึงนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาใหญ่อีกครั้งหนึ่ง แม้การอภิปรายในสภาก็ต้องเป็นการเจรจาต่อรอง รัฐบาลเองก็ต้องประนีประนอม ฟังเสียงฝ่ายค้าน ตอบข้อซักถามและท้วงติงให้ได้ชัดเจน อะไรที่ตกลงกันได้ก็ตกลงกัน แต่ทั้งนี้ต้องกระทำอย่างเปิดเผยต่อประชาชนได้ ไม่ใช่ไปร่วมกันสมยอมอย่างผิดหลักการ หรือผิดกฎหมาย

แต่เหตุที่เกิดความขัดแย้งในช่วงเดือนตุลาคมถึงต้นปี 2557 ก็เพราะพรรคเพื่อไทย ใช้เผด็จการเสียงข้างมาก ดังเช่น “พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแบบสุดซอย” หวังช่วยให้ทักษิณ ชินวัตรพ้นผิดในทุกกรณีรวมถึงการคอรัปชั่นด้วย แม้การออกเสียงในวาระที่สาม ก็ยังไม่ได้ให้ฝ่ายค้านได้อภิปรายถึงที่สุด โดยรวบรัดออกเสียงกันในเวลาตีสี่ของวันใหม่ พฤติกรรมการพยายามเอาชนะอย่างเด็ดขาด เพราะคิดว่าสามารถกระทำได้แบบพวกมากลากไป โดยไม่ตระหนักว่ามีความไม่พอใจของประชาชนครุกรุ่นอยู่แบบเงียบๆมานานแล้ว

ดังนั้นการเจรจาต่อรอง หรือประนีประนอมกับระบอบทักษิณนั้น ต้องระวังอย่างที่สุด แล้วก็จะยังพบว่า คำพูดหรือคำสัญญาจากเขานั้นมักไม่เป็นความจริง

5. การให้ความร่วมมือ (Collaborating)

แนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยการให้ความร่วมมือ (Collaborating) ทำให้ทุกฝ่ายสมประโยชน์แบบชนะด้วยกัน (Win-win solution) ถือเป็นสถานะที่สูงสุดสำหรับหลักการนำและการบริหารประเทศ
ความจริงการชนะด้วยกันทุกฝ่ายสำหรับสังคมไทยนั้นเป็นไปได้ ทั้งนี้โดยให้ทั้งสองฝ่ายที่อาจเห็นแตกต่างกันถอยออกไปก่อน ดังเช่น แนวคิดปฏิรูปประเทศไทยก่อน (Reform Before Election) แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายเห็นชอบ การใช้แนวทาง Collaborating หรือการใช้นโยบายความร่วมมือ จะเป็นไปได้ด้วยเงื่อนไขต่อไปนี้

คน 1% ที่เป็นแกนกลาง หากินกับระบอบทักษิณ ที่ค้าขายอย่างเอาเปรียบชาวบ้าน ต้องหยุดเฉย ปล่อยให้คนอีก 99% ในประเทศเขาได้มีโอกาสปฏิรูปประเทศไทย

การจะเกิดขึ้นได้ดังนี้ จำเป็นต้องมีคนกลาง (Mediator) ทำหน้าที่ประสานฝ่ายที่เห็นขัดแย้ง ต้องมีนักคิดสร้างสรรค์ (Creative, architect) ที่สามารถให้ภาพของสิ่งที่ยังเป็นนามธรรม ให้เกิดความชัดเจนเป็นรูปธรรม คนจะไม่กล้าเดินไปข้างหน้า หากทางที่จะเดินไปนั้นมันมืดและมองไม่เห็น แต่หากมีคนฉายไฟส่องนำไป และคนมองเห็นทาง เขาจึงจะกล้าเดินไป

การที่พรรคเพื่อไทย (มีส่วนที่ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับทักษิณ) และพรรคประชาธิปัตย์ อันเป็นฝ่ายการเมือง ที่คนเขาเห็นว่าระบบการเมืองของไทยเรานั้นเป็นปัญหามากมายที่ต้องการปรับเปลี่ยนปฏิรูปเสียก่อน การที่ให้ฝ่ายการเมืองหลักทั้งสองฝ่ายถอยออกไปก่อนนั้น ให้ถือว่าฝ่ายที่เป็นคู่ที่อาจขัดแย้ง จะเป็นด้วยหลักการ หรือผลประโยชน์ทางการเมืองก็ตาม กลุ่มนี้ต้องถอยออกไปก่อน

การต้องสร้างวิสัยทัศน์ประเทศไทย อะไรที่เขาต้องการ และอะไรที่เขาไม่ต้องการ สังคมไทยควรเดินไปในทิศทางใด และอย่างไร แทนที่จะติดกับอยู่กับความขัดแย้งอยู่กับระบอบทักษิณ ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน วิธีการ Win-Win คือสร้างเป้าหมายที่ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันได้ก่อน และไม่สามารถปฏิเสธได้ เช่น นโยบายการปราบคอรัปชั่น การเลิกการเล่นพรรคเล่นพวกในระบอบราชการ การไม่มีสองมาตรฐาน ความโปร่งใส การยึดหลักประชาธิปไตย สิ่งเหล่านี้ โดยเปิดเผยแล้ว ไม่มีใครปฏิเสธได้

ฐานอำนาจ (Locus of Control) อยู่ที่ตัวเรา

อย่าเป็นเพียงผู้เฝ้าสังเกตสังคม แต่ต้องเชื่อมั่นในอำนาจของตนเอง และเข้าร่วมด้วยอย่างใช้สติและปัญญา

ในช่วงต่อไปนี้ เราต้องมองวิกฤติ (Crisis) อย่างที่เห็นโอกาส (Opportunities) และต้องมองว่า ฐานอำนาจ (Locus of Control) นั้นอยู่ที่ตัวเรา และตัวเราทุกๆคน ไม่ใช่ที่คนอื่นๆ ไม่ใช่สิ่งแวดล้อม ดังนั้นเราจึงเรียกในภาษาไทยว่า “มวลมหาประชาชน” หรือทุกๆคนของพวกเรา คนที่อยู่ในประเทศไทย คนที่เกิด หรือใช้ชีวิต หรือจะตายในประเทศไทย แต่มันก็เป็นสิ่งที่เราเองต้องมีบทบาทเป็นผู้เข้าร่วม มีการกระทำด้วยวิจารณญาณของเรา เราจะไม่ปล่อยให้สังคมเป็นไปตามยถากรรม หรือได้แต่เป็นไทยเฉย

ในช่วงนี้ฟังเพลง Imagine ของ Beatles ไปก่อน ต้องมีจินตนาการหลุดออกจากปัจจุบันบ้าง เป็นระยะๆ อย่าหมกมุ่นอยู่กับความโกรธ เกลียด หลง หรือกลัว #Thailand Reform http://www.youtube.com/watch?v=RwUGSYDKUxU

สรุปปิดท้าย

สังคมไทยท้ายสุดจะต้องเลือก เอาชนะระบอบทักษิณอย่างเด็ดขาด (To win) แต่โดยส่วนใหญ่ 99% ต้องใช้หลักให้ความร่วมมือ (Collaborating) เปิดทางให้มีการปฏิรูปประเทศไทย หยุดโกงกินบ้านเมือง หยุดการเล่นพรรคเล่นพวกในราชการ หยุดระบบสองมาตรฐาน แต่สร้างความโปร่งใสในราชการ เลิกแบ่งแยกเป็นพวกเขาพวกเรา มีแต่พวกเราทั้งนั้น เป้าหมายของประเทศคือ Win-Win

หลังความขัดแย้ง การปกครองและบริหารบ้านเมือง จะเน้นการมีระบบรัฐสวัสดิการ การศึกษาที่มีคุณภาพแก่ทุกคน การสาธารณสุข สุขภาพดีถ้วนหน้า และการประกันสังคมและรายได้แก่คนระดับล่างและผู้ตกงาน ในด้านการนำ เราจะหันมาใช้การกระจายอำนาจการปกครอง (Decentralization) เป้าหมายคือเลือกผู้ว่าราชการจังหวัด เราจะต้องสรรหาและเลือกคนที่จะนำสังคมไทยในทุกระดับ ที่จะให้ได้คนดีคนเก่งมานำและจัดการบ้านเมือง

โดยรวม สังคมไทยตื่นแล้ว และได้เห็นแล้วว่า การนิ่งเฉยก่อให้เกิดผลเสียต่อประเทศชาติอย่างไร ต่อไปนี้ แต่ละคนจะต้องเรียนรู้การแก้ปัญหาความขัดแย้ง ใช้สติปัญญา เรียนรู้ พัฒนาทักษะในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในทุกระดับ อย่าปล่อยให้สังคมต้องหยุดชะงักติดกับกับระบอบที่ไม่ใช่ของจริงที่ยั่งยืน

No comments:

Post a Comment