Wednesday, July 22, 2015

Dutch Treat – งานเลี้ยงแบบต่างคนต่างจ่าย

Dutch Treat – งานเลี้ยงแบบต่างคนต่างจ่าย

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: สังคม, วัฒนธรรม, งานเลี้ยง, ชาวดัช, Dutch, อเมริกัน, American, Dutch treat

หากเป็นงานเลี้ยงแบบไทยๆ นึกเปรี้ยวปาก อยากไปหาอาหารอร่อยรับประทานในบรรดาพรรคพวก มีชวนกันไป กินกันสนุกสนาน แต่พอถึงเวลาจ่ายมักจะเกิดเหตุการณ์แย่งกันจ่าย หรือเกี่ยงกัน นั่งเงียบๆ แล้วมักจะมีคนอดรนทนไม่ไหว ควักสตางค์จ่ายแทนคนอื่นๆ


ภาพ ร้านอาหารที่ให้บริการแบบ Buffet คิดค่าบริการตามรายหัว แต่กิได้ไม่จำกัด

บางทีเป็นเรื่องธรรมเนียม ผู้อาวุโสสูงสุด เป็นผู้ใหญ่ เป็นเจ้านายเขา มีสถานะทางการเงินดีกว่าคนอื่นๆ ถูกคาดหวังให้เป็นคนจ่าย หรือบางที่ก็ชัดเจน คือเป็นการเชิญมาเลี้ยงแสดงความยินดี โดยลูกๆหลานๆ หรือผู้คนจัดงานเลี้ยง แล้วเชิญผู้ใหญ่มาร่วมงาน ดังนี้ผู้ใหญ่ หรือผู้มีสถานะพิเศษ ไม่ต้องเป็นคนจ่าย คนอื่นๆเขาไปมีวิธีการเรียกเงินค่าใช้จ่ายกันเอง

งานเลี้ยงรุ่นของเพื่อนทั้งกลุ่มศิษย์เก่าเทพศิรินทร์ 04-06 และที่ครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ผมคุ้นเคย ทุกคนมีสถานะเท่าๆกัน เป็นเพื่อนกัน เขาต่างก็ใช้ธรรมเนียมที่เรียกว่า Dutch Treat แต่บางทีคนไทยเราคุ้นกับฝรั่งแบบอเมริกัน เราเรียกคล้ายๆกันว่า American Share คือแบ่งค่าใช้จ่ายกันแบบอเมริกัน

Doing Dutch – ทำตามแบบชาวดัช หรือชาวเนเธอร์แลนด์ เป็นคำที่แสดงถึงแต่ละคนที่ร่วมกิจกรรมกลุ่ม ต่างคนต่างจ่ายในส่วนของตนเอง แทนที่จะให้มีคนใดคนหนึ่งเสียสละจ่ายแทนให้คนอื่นๆ ที่พบกันมากๆ คือเมื่อไปกินอาหารในภัตตาคารแล้วมีใบเรียกเก็บเงินมา ก็นำค่าใช้จ่ายตามบิลนั้นมาหารตามจำนวนคน วิธีการแบบนี้อาจเรียกว่า Dutch date หรือ Dutch treat ซึ่งแปลได้ว่า ปฏิบัติตามแบบชาวดัช


ปฏิบัติตามแบบชาวดัช (Dutch treat) หมายถึงแต่ละคนจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนที่ตัวเองสั่งมากิน หรือนำบิลทั้งหมดมาแล้วหารด้วยจำนวนคนที่เข้าร่วม ถ้าปฏิบัติตามอย่างชาวดัชแท้จะเป็นในอย่างแรก คือจ่ายตามค่าใช้จ่ายในส่วนที่ตนเองสั่งมา เช่น เวลาไปรับประทานอาหารตามภัตตาคาร บางคนสั่งน้ำเปล่า เพราะไม่ดื่มแอลกอฮอล แต่บางตนสั่งไวน์ราคาแพง ดังนี้หากใครสั่ง ไวน์พิเศษ ก็ต้องจ่ายในส่วนที่ตนเองสั่งมา แต่หากจะหลวมๆหน่อย ไม่คิดละเอียด แต่ละคนมีค่าใช้จ่ายไม่ต่างกัน เช่นไปรับประทานอาหารแบบบุฟเฟ (Buffet) รับประทานได้อย่างไม่จำกัด เขาคิดเป็นรายหัวอยู่แล้ว ได้บิลค่าใช้จ่ายมา ก็จ่ายไปโดยเอาค่าใช้จ่ายทั้งหมด หารด้วยจำนวนคน ออกมาเป็นค่าใช้จ่ายที่แต่ละคนต้องรับผิดชอบ

No comments:

Post a Comment