Friday, November 11, 2011

สุภาษิตชาวดัช - ยาดีขมที่ปาก แต่จะดีสำหรับหัวใจ


สุภาษิตชาวดัช - ยาดีขมที่ปาก แต่จะดีสำหรับหัวใจ

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: การบริหารยามวิกฤติ, Crisis management, water management, การจัดการน้ำ, การควบคุมน้ำท่วม


ภาพ น้ำท่วมใหญ่ประเทศไทย ปี 2011 ที่มีผลกระทบไปทั่วในภาคกลาง


ภาพ ปี ค.ศ. 2011 บริเวณที่ท่วมใหญ่ส่วนหนึ่งคือนิคมอุตสาหกรรม


ภาพ ปี ค.ศ. 2011บริเวณน้ำท่วมสองข้างฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

มีสุภาษิตชาวดัชบทหนึ่งกล่าวว่า “Bitter in de mond maakt het hart.” ซึ่งในภาษาอังกฤษมีความหมายว่า “Bitter in the mouth makes the heart healthy.” ~ Dutch proverb

ในภาษาไทยแปลเป็นความได้ว่า “ยาดีขมที่ปาก แต่จะดีสำหรับหัวใจ” ~ สุภาษิตชาวดัช

คนเราเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นนั้น ทุกคนอยากได้วิธีการแก้ปัญหาแบบง่ายๆ โดยเขาไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไรเลย เช่น เป็นคนอ้วนอยากผอม แต่มีอะไรไหมที่ทำให้ผอมได้ โดยไม่ต้องออกกำลังกาย ไม่ต้องอดอาหาร ได้กินของชอบเหมือนเดิม คำตอบมันก็คือ ไม่มีหรอก เพราะวิธีการลดน้ำหนักและรักษาสุขภาพสำหรับคนน้ำหนักเกินนั้น ต้องอาศัยการลดอาหาร ลดส่วนที่เป็นอาหารพลังงานลง อันได้แก่ต้องลดของหวาน แป้ง น้ำตาล ยังคงกินเนื้อและผักได้เต็มที่ กินผลไม้ได้บ้างตามกำหนด แต่ต้องไม่เป็นผลไม้รสหวานที่แสดงว่ามีน้ำตาลมาก ส่วนอีกด้านหนึ่ง คือการออกกำลังกาย เพื่อเผาผลาญน้ำหนักส่วนเกิน ใช้พลังงานให้มากกว่าที่บริโภคเข้าไป ดังนั้นคนต้องการลดน้ำหนัก จึงต้องทำในสิ่งที่ฝืนใจ แต่สามารถเลือกทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ระยะแรกๆที่ทำนั้น จะรู้สึกยาก แต่ก็ต้องกัดฟันทำไปอย่างมุ่งมั่น และเมื่อได้ผลดี เราจะเริ่มมีกำลังใจมากขึ้น ทำให้รู้สึกยอมรับได้กับการปรับเปลี่ยนนิสัย

หันกลับมาที่เรื่องวิกฤติสำหรับสังคมไทยในส่วนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วมจากแม่น้ำ (River flood)

การที่มีน้ำท่วมใหญ่ในเดือนกันยายน-พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 คาดว่ามีผลเสียหายทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 400,000-500,000 ล้านบาท หากนับการเสียโอกาสทางธุรกิจด้วย ก็คงนับเป็นล้านล้านบาท ปัญหาใหญ่ส่วนหนึ่งคือบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา (Delta) หรือบริเวณที่เรียกว่า 

“กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อันครอบคลุม 5-6 จังหวัด ที่มีการขยายตัวของเมืองอย่างไร้กฎระเบียบ จนทำให้ไปขวางทางเดินของน้ำ ส่วนที่เคยกำหนดให้เป็นทางน้ำหลากโดยธรรมชาติ ก็กลายเป็นมีหมู่บ้านจัดสรร นิคมอุตสาหกรรม สนามกอล์ฟ และถนนที่ตัดเป็นเครือข่ายที่ไปขวางทางเดินของน้ำ แต่ไม่มีระบบระบายน้ำ คูและคลองที่มีขนาดและการออกแบบที่เหมาะสมรองรับ นักธุรกิจพัฒนาที่ดิน ทุกฝ่ายต้องการอะไรง่ายๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงผลที่จะตามมาในท้ายที่สุด และเมื่อปัญหาสะสมหนักขึ้นๆ ในที่สุดก็จะเกิดปัญหา “ฟางเส้นสุดท้าย” กลายเป็นหายนะน้ำท่วมใหญ่ ที่กระทบไปทั้งหมดของสังคมและพื้นที่

ทางแก้ไขนั้นมี แต่มันก็เหมือนกับยาขม คือเราต้องยอมเสียสละและจริงจังกับการลงทุนเพื่อวางผังการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์เสียใหม่ มีกฎระเบียบที่ทำให้การขยายตัวของเมืองและอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ทำให้เสียดุลของธรรมชาติ จึงต้องมีการลงทุนเรื่อง ทางน้ำหลาก (Floodways) อันเป็นทางน้ำขนาดกว้างรอบเมืองดังกรุงเทพมหานคร ที่ต้องมีทางน้ำหลากทั้งทางฝั่งตะวันตก และตะวันออกของเมือง เพิ่มจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่วิ่งผ่ากลางเมือง ต้องมีการจัดทำ “แก้มลิง” อ่างเก็บน้ำ หรือ Reservoir เพื่อรองรับน้ำสำรองสำหรับแต่ละพื้นที่ หรือจังหวัดในเขตที่ลุ่มในจังหวัดเหนือกรุงเทพฯขึ้นไปอีก 

นอกจากนี้ต้องมีการขุดลอกคูคลอง ต้องขยายคูคลองให้ทั้งกว้างและลึก และเก็บรักษาหนองบึงที่มีอยู่ตามธรรมชาติเดิม ไม่ปล่อยให้มีการไปตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในที่ราบลุ่มเกิน ยกเว้นประชาชนจะต้องยอมรับสภาพอยู่อาศัยบนบ้านแบบเสาสูง หรือบ้านลอยน้ำ ที่ไม่เป็นอุปสรรคของทางน้ำหลาก

ทางแก้ไขเหล่านี้ล้วนเป็นเหมือนยาขม ที่สังคมต้องเข้าใจความจำเป็นที่ต้องดำเนินการ ไม่มีทางลัด ทุกอย่างที่ทำต้องมีต้นทุน มีค่าใช้จ่าย ต้องยอมเสียบางอย่าง เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่มีคุณค่าในระยะยาว และสำหรับทุกๆคน และเพราะเราจำเป็นต้องกินยาขมนี้เอง ที่จะทำให้เราจะยังมีสุขภาพที่ดีต่อไปอย่างยั่งยืน

No comments:

Post a Comment