Monday, November 21, 2011

อย่าทำเหมือนเป็นวัวลังเลที่หน้าโรงนา

อย่าทำเหมือนเป็นวัวลังเลที่หน้าโรงนา

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: การบริหารยามวิกฤติ, Crisis management, น้ำท่วม, flood, น้ำแล้ง, draughts

มีสุภาษิตเยอรมันบทหนึ่งกล่าวว่า “Wie der Ochs' vorm Scheunentor" แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า “Like the ox in front of the barn door" หรือเหมือนวัวที่ลังเลอยู่ที่หน้าโรงนา จะเข้าไปข้างในก็ไม่เข้า จะออกไปข้างนอกก็ไม่ออก เป็นเรื่องค้างคากันอยู่อย่างนั้น

เป็นคำสุภาษิตที่มักจะพูดถึงคนยามมองเห็นหนทางแล้ว แต่ก็ยังลังเลไม่กล้าที่จะดำเนินการต่อไป เปรียบเหมือนคนที่ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่คุ้นกับการต้องรับผิดชอบ นอกจากจะต้องมีคนไปกระตุ้นให้ดำเนินการ

เรื่องดังกล่าวอาจเกิดขึ้นกับคนที่เป็น “นักวิชาการ” (Academics) ที่มักต้องการอะไรทุกอย่างที่สมบูรณ์แบบไปหมด ถ้ายังไม่มีข้อมูลชัดแจ้งก็จะไม่กล้าตัดสินใจ แต่สำหรับนักบริหารแล้ว แม้จะไม่มีข้อมูล หรือสถานะที่สมบูรณ์แบบ แต่ด้วยประสบการณ์ทางการจัดการแล้ว จะรู้ว่าหากถึงจุดดังกล่าวแล้วไม่มีคนตัดสินใจดำเนินการ ปัญหาร้ายแรงอาจตามมา การตัดสินใจบางอย่างไม่ใช่ว่าจะถูกต้องเสียทั้งหมด แต่การที่ลังเลไม่ตัดสินใจอะไรเลยนั้น กลับเป็นอันตรายเสียยิ่งกว่า เพราะบางครั้งการตัดสินใจไป หากผิดพลาด ยังมีโอกาสปรับแก้ได้ แต่หากไม่ตัดสินใจ หลายอย่างก็จะค้างเติ่ง แม้จะดำเนินการในระยะต่อมา แต่บางครั้งก็จะสายเสียแล้ว

ตัวอย่างมีเรื่องของชายคนหนึ่ง ชื่อสมบูรณ์ เขาอยากได้ที่ดินแปลงหนึ่งใกล้บ้านเขา ผู้ขายเสนอขายมาในราคาตารางวาละ 50,000 บาท ตามราคาประเมินเขาพบว่าราคาถูกกว่าที่มีการเสนอขาย ซึ่งก็เป็นปกติที่ราคาประเมินนั้นไม่ใช่ราคาซื้อขายกันจริงๆ แต่เขาลังเลที่จะเสนอซื้อ เพราะไม่แน่ใจว่าจะได้ราคาที่ถูกที่สุดหรือไม่ ไม่รู้จะต่อรองกันอย่างไร จึงพยายามไปสืบหาข้อมูล แต่ก็ยังไม่กล้าไปต่อรองกับคนขาย เพราะเกรงว่าหากเขาขายจริง แล้วพบว่าราคาสูงเกินไป เขาก็จะเสียเปรียบ เขารีรออยู่นานเป็นเดือน จนท้ายสุดสอบถามจากหลายแหล่ง ก็พบว่าที่ดินนี้มีศักยภาพที่ดี ราคาไม่แพง ทำให้เขามั่นใจว่าเขาควรจะต่อรองในราคาตารางวาละ 40,000 บาท แล้วหากได้ราคาสัก 45,000 บาท เขาก็จะตกลงซื้อ

เมื่อตัดสินใจซื้อ เขาจึงโทรศัพท์ไปหาเจ้าของที่แล้วเสนอราคาต่อรอง แต่เจ้าของได้บอกว่า ได้ตกลงซื้อขายกันไปเรียบร้อยแล้ว โดยได้ขายไปในราคาตารางวาละ 45,000 บาท และได้ลงนามในสัญญาจะซื้อจะขายไปแล้ว

การซื้อขายที่ดินนั้นเป็นของมีราคา ไม่เหมือนไปนั่งรับประทานอาหารแต่ละมื้อ ซึ่งไม่ต้องคิดมาก แต่การซื้อขายที่ดินอาจนับเป็นเงินหลายล้านหรือหลายสิบล้านบาท แต่สำหรับคนเป็นนักธุรกิจ เมื่อถึงเวลา ก็ต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง สำคัญที่ว่าเมื่อจะตัดสินใจ ก็ต้องศึกษาหาข้อมูลให้ดีที่สุด มองหาทางเลือกหลายๆด้าน แล้วก็ต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง

หลักสำคัญ “อย่าทำเหมือนเป็นวัวลังเลที่หน้าโรงนา” แล้วก็ต้องเสียโอกาสดีๆไป

1 comment:

  1. ตัวอย่างจากน้ำท่วม

    กรณีการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 นับว่าล่าช้ามาก และไม่มีความแน่นอนว่ารัฐบาลจะช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมที่ต่างกันอย่างไร บางคนดูเหมือนจะถูกน้ำท่วมจนทำใจไปแล้วอย่างผม แต่แล้วน้ำก็มาหยุดที่คลองบางซื่อ แล้วไม่ข้ามคลองมาเลย แต่บางครอบครัวดังที่ลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี น้ำท่วมมาก่อนใคร และยังคงอยู่นานกว่าใคร เพราะรัฐบาลไปตั้งถุงทรายยักษ์ (Big bags) ขวางทางระบายน้ำเขา เพื่อช่วยชุมชนใต้คันกั้นน้ำ ดังนี้ความทุกข์ยากย่อมมีความต่างกัน แต่กระนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องหาทางเยียวยาบุคคลต่างๆให้เป็นไปอย่างยุติธรรมที่สุด โดยต้องระดมผู้มีประสบการณ์ นักการธนาคาร ผู้มีประสบการในการปล่อยเงิน ปล่อยสินเชื่อ ธนาคารสำหรับคนระดับล่างอย่างธนาคารธกส. หรือธนาคารออมสิน

    ไม่เป็นการยากที่จะระดมความคิดของคนที่จะช่วยกันเยียวยาคนที่เขาประสบภัย และวิธีการช่วยเหลือมีได้หลายวิธี ตั้งแต่เร่งช่วยให้เขาพ้นจากการน้ำท่วมโดยเร็ว จะด้วยวิธีการใดๆก็ตาม การช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาลกลาง การช่วยเหลือจากรัฐบาลท้องถิ่น ดังเช่นกรุงเทพมหานคร องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งอาจช่วยได้ด้วยการเยียวยาสมทบ การงดหรือลดภาษี การช่วยโดยธนาคารที่จะให้มีสินเชื่อที่แม้ไม่มีหลักทรัพย์ แต่ก็สามารถปล่อยเงินช่วยเหลือได้เป็นกรณีพิเศษ
    วิธีการช่วยเหลือมีได้หลายแบบ แต่ต้องมีคนชงเรื่องเพื่อให้มีการผ่านการพิจารณา และท้ายที่สุด ฝ่ายผู้จะตัดสินใจปล่อยเงินให้กับชาวบ้านนั้น จะต้องตัดสินใจดำเนินการที่อาจมีความเสี่ยงอยู่บ้าง แต่หากมองผลประโยชน์ของคนเดือดร้อนเป็นที่ตั้ง อาจมีการพลาดบ้าง แต่คนที่เดือดร้อนจะได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสมที่สุด

    แต่ก็นั่นแหละ เรามักจะพบว่ามีเป็นอันมาก ที่จะมีคนที่มีหน้าที่ตัดสินใจลังเล และไม่กล้าตัดสินใจดำเนินการอะไร เกร็ง กลัวผิดระเบียบ กลัวนั่นกลั่วนี่จนท้ายสุดไม่มีอะไรขยับ จนกระทั่งมีคนไม่พอใจในความเดือดร้อนที่เขาได้รับ จนต้องมีการออกมาประท้วง การขู่จะปิดถนน การรื้อกระสอบทราย ทำลายทรัพย์สินของทางการ

    ReplyDelete