Friday, November 11, 2011

อย่าเอาม้าไปใส่ท้ายเกวียน

อย่าเอาม้าไปใส่ท้ายเกวียน

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: การบริหาร, การจัดการ, Management, Administration, Job Coaching, Transfer

มีสุภาษิตชาวดัชหรือเนเธอร์แลนด์บทหนึ่งกล่าวว่า “Het paard achter de wagen spannen" ซึ่งในภาษาอังกฤษมีความหมายว่า “To put the horse behind the cart." หรือการนำม้าไปใส่ที่หลังเกวียน ซึ่งความเป็นจริง ม้าที่จะใช้ลากรถนั้น เขาจะใส่ข้างหน้า เพื่อให้ม้าเป็นพลังลากรถ แต่เมื่อนำม้ามาไว้ข้างหลังเกวียนหรือรถม้าแล้ว จะนำเอาพลังที่ไหนไปขับเคลื่อนเกวียน สิ่งที่คิดว่าจะเป็นโอกาส ก็กลายเป็นปัญหาตัวหนักที่ต้องแบกไว้

ดังการแก้ปัญหาของประเทศพัฒนาแล้วในยุโรป ซึ่งมีลักษณะเป็นสังคมนิยม หรือรัฐสวัสดิการ (Welfare states) คนได้รับสวัสดิการตั้งแต่เกิดจนตาย เขาเรียกว่า From cradle to grave นั้นคือรัฐมีสวัสดิการสำหรับประชาชน ตั้งแต่สุขภาพอนามัย การรักษาพยาบาลฟรี มีการศึกษาฟรี เมื่อทำงานตกงาน ก็มีเงินสวัสดิการสังคมรองรับจนกว่าจะมีงานทำ ทั้งนี้โดยมีการจัดเก็บภาษีสูง ซึ่งประชาชนทุกคนเมื่อทำงานก็ต้องมีส่วนที่ต้องจ่ายภาษีสูง แต่แล้วภาษีนั้นก็จะสูงจนเกินไป จนคนไม่อยากทำงาน อยากเป็นฝ่ายรอรับผลประโยชน์จากสวัสดิการของรัฐมากกว่า สถานะของประเทศเองก็สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ผลิตผลที่เคยทำได้ดี ก็ต้องกลายเป็นส่งงานออกไปให้ต่างชาติทำ เพราะคนในชาติเองมีค่าแรงงานสูงจนไม่สามารถทำงานนั้นๆได้คุ้ม

ในด้านประเทศเอง สถานะทางการเงินก็จะเริ่มเพียบหนักขึ้นเรื่อยๆ มีลักษณะที่ใช้เงินมากกว่ารายได้ จนเริ่มต้องมีการกู้หนี้ยืมสินจากต่างประเทศมาใช้ จนหนักเข้าประเทศเองมีสภาพมีหนี้สินใกล้ล้มละลาย ดังที่ปรากฏให้เห็นในวิกฤติการ Euro zone ดังที่เป็นอยู่ในหลายๆประเทศ

มองในอีกมุมกลับหนึ่ง หากเราเอาม้าที่เป็นตัวพลังให้ไปอยู่หน้ารถม้าหรือเกวียน ทำให้ม้าเป็นตัวลากรถ เป็นตัวพลังขับเคลื่อน ก็เหมือนกับการปรับประเทศ ให้ฝ่ายเอกชนที่เป็นส่วนของการผลิต ได้เป็นตัวแข่งขันกับต่างประเทศ รัฐบาลเก็บภาษีในอัตราอันพอเหมาะและเป็นธรรม มีรัฐสวัสดิการเท่าที่จำเป็น ให้ภาคธุรกิจขนาดเล็ก อย่างที่เรียกว่า Small and Medium Sized Enterprises หรือ SMEs และธุรกิจระดับกลาง และธุรกิจข้ามชาติ ได้กลายเป็นตัวนำเกมส์ ฝ่ายรัฐบาลเป็นฝ่ายสนับสนุนด้านหลัง ระบบรัฐวิสาหกิจหลายๆด้าน ก็ต้องปล่อยให้เป็นการดำเนินการโดยภาคเอกชน โดยแตกขายกิจการที่เคยเป็นของรัฐ ให้กับเอกชนได้เข้ามาถือหุ้นในกิจการของรัฐที่ขาดความสามารถในการแข่งขัน ดังเช่น สายการบินแห่งชาติ รถไฟ ไปรสณีย์ ระบบโทรคมนาคม กิจการพลังงาน ฯลฯ

ประเทศสหภาพโซเวียต ประเทศจีน ล้วนเคยใช้ระบบ “เกวียนลากม้ามาสู่การปรับเป็นให้ม้ามาเป็นฝ่ายลากเกวียน จนในที่สุดก็ปรับประเทศสู่ความเป็นประเทศตลาดเสรี โดยให้กิจกรรมการผลิตและบริการมาเป็นอยู่ภายใต้การดำเนินการโดยภาคเอกชน

คำกล่าวที่ว่า “อย่านำม้ามาใส่ท้ายเกวียน” จึงเป็นการเตือนสติแก่ประเทศและรัฐบาลที่คิดว่าจะนำประเทศไปในแบบประชานิยม (Populism Policies) นำเงินภาษีอากรที่ได้มาจัดทำกิจกรรมในลักษณะสร้างความนิยมแก่ประชาชน ทำให้ระบบการเงินการคลังเสียหาย จึงต้องคิดใหม่ โดยให้เป็นธรรมชาติที่ ม้าจะต้องอยู่ข้างหน้าเกวียน และเป็นฝ่ายลากเกวียนให้ขับเคลื่อน

No comments:

Post a Comment