Saturday, November 12, 2011

อย่าทำงานอย่างคนไม่มีหัวคิด

อย่าทำงานอย่างคนไม่มีหัวคิด

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: การบริหารยามวิกฤติ, Crisis management, น้ำท่วม, flood, น้ำแล้ง, draughts

มีสุภาษิตชาวดัชบทหนึ่งกล่าวว่า “Als een kip zonder kop.” ซึ่งตรงกับในภาษาอังกฤษว่า “Like a chicken without [a] head" หรือแปลได้ความว่า “อย่าทำเหมือนไก่ที่ไม่มีหัวแล้ว” ซึ่งหมายถึงไก่ที่เขาตัดหัวเตรียมถอนขนไปทำอาหารแล้ว จึงเป็นไก่ที่ไม่มีความรู้สึกนึกคิดใดๆ

อันคนเราหากจะทำอะไร รับทำเพียงตามคำสั่ง แม้รู้ว่าทำแล้วไม่ได้ผล แต่ก็ไม่มีการแจ้งให้หน่วยเหนือขึ้นไปได้รับทราบ ทำไปเรื่อยๆ โดยคิดเพียงแต่ว่า จะต้องทำให้ตัวเองรอดปลอดภัย เพราะได้ทำตามคำสั่งแล้ว ส่วนผลของการทำงานนั้นจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน คนในลักษณะนี้เป็นพวกทำงานอย่างไม่มีหัวคิด หากเป็นแรงงานก็เป็นแรงงานระดับล่างมากๆ ต้องทำงานภายใต้การดูแลนิเทศงานอย่างใกล้ชิด ไม่มีวิจารณญาณที่จะทำอะไรด้วยตนเองได้

คนที่ทำงานอย่างไม่เอาใจใส่ ส่วนหนึ่งเขาอาจไม่ได้เป็นคนโง่เขลาอย่างที่คิด แต่เพราะประสบการณ์การทำงานนั้น สอนให้เขารู้ว่าทำอะไรมากเกินกว่าที่สั่งนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นอันตรายต่อตนเอง อาจถูกสอบสวน ต้องรับผิดชอบโดยที่ตนเองไม่ได้กระทำผิด และได้ทำแล้วอย่างตั้งใจดี ดังนั้นสิ่งที่เขาเห็นว่าจะอยู่รอดปลอดภัยในองค์การ คือการทำเท่าที่สั่ง

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผู้ใหญ่สอนว่า จะทำอะไรก็ต้องทำอย่างเอาใจใส่กับงาน

ก่อนทำต้องฟังคำสั่ง การกำหนดเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของงานให้ชัดเจน ทำไปเพื่ออะไร ไม่เข้าใจให้ถาม และต้องถามว่ากรอบของการทำงานนั้นๆมีให้อย่างไร เช่น ต้องทำให้เสร็จภายในเมื่อใด มีงบประมาณหรือทรัพยากร คน เครื่องมือต่างๆอย่างไร หากทำแล้วมีข้อคำถามหรือติดขัดจะให้ปรึกษาใคร กรอบการทำงานดังกล่าวนับว่ามีความสำคัญ คนทำงานที่มีประสิทธิภาพ มักจะเป็นคนที่ต้องการกรอบความคิดต่างๆ เขาต้องการทราบสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ชัดเจน และเขาจะไม่ชอบการสั่งงานแบบต้องมาคุมงานอย่างใกล้ชิด แต่ต้องการโจทย์ของงานที่ชัดเจน ตลอดจนมีการให้อำนาจในการทำงาน (Empowerment) ที่เขาจะได้ใช้เพื่อการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อดำเนินการไปแล้ว คนทำงานมีประสิทธิภาพจะมีการรายงานให้เจ้านายได้ทราบถึงการทำงานเป็นระยะ เขาเรียกว่า “การรายงาน” หรือ Reporting หากทำไปแล้วประสบปัญหาที่คาดไม่ถึง ก็ควรมีการรายงานไปยังเบื้องบน เพราะการติดขัดนั้นอาจเป็นผลมาจากส่วนงานภายนอก ต้องมีการประสานงานกัน และจะให้ได้ หากคนทำงานได้เข้าใจกรอบและข้อจำกัดของงานมากพอ สามารถให้ข้อเสนอแนะจากฝ่ายตนไปได้ด้วยก็จะเป็นสิ่งที่ดี โดยสามารถเสนอได้เป็นทางเลือกหนึ่ง สอง หรือสาม การเสนอรายงานนั้นมีทั้งที่ต้องเป็นรายลักษณ์อักษร และที่ต้องรายงานได้อย่างรวดเร็ว ดังเช่นการรายงานโดยโทรศัพท์ โทรสาร (Fax) หรือ e-mail เป็นการสื่อสารที่ใช้ทั้งแบบทางการและแบบไม่เป็นทางการร่วมกันไป

เมื่อทำงานก็ต้องมีการปรึกษาหารือ (Consultation) โดยตามระบบสายงาน เจ้านายจะมีลูกน้องหลายคน เขาจะไม่เข้าใจเนื้องานได้อย่างละเอียดเท่ากับคนที่ทำงานนั้นๆ แต่ขณะเดียวกัน เจ้านายที่ดีมีประสบการณ์ในการทำงานนั้นๆมาก่อน ก็จะช่วยให้คำปรึกษาได้มาก หรือแม้เขาไม่มีประสบการณ์ด้านนั้นๆมาก่อน แต่เขาก็อาจช่วยให้แง่มุมในการมองและการแก้ปัญหาที่แตกต่างกันออกไป การปรึกษาหารือและการคิดร่วมกันจะเป็นการช่วยทำให้โอกาสในการแก้ปัญหาได้กว้างขวางขึ้น ไม่ตีบตันแบบแก้ซ้ำๆเดิม อ้นงานใดๆนั้น บางทีปัญหามันเป็นแบบมีหลายมิติและหลายตัวแปรที่เกี่ยวข้อง ดังเช่นการแก้ปัญหาน้ำท่วมในเมืองหนึ่งๆ มันเกี่ยวข้องทั้งทางวิศวกรรมทางน้ำ การบริหารเครื่องไม้เครื่องมือ การจัดการคน ทั้งคนที่ทำงาน และคนที่อาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม นอกจากนี้มันยังเกี่ยวกับการบริหารเงินและทรัพยากร กล่าวคือ หากคนทำงานแล้วไม่ได้รับผลตอบแทนอันควร เขาก็จะไม่มีขวัญในการทำงาน และหากทำงานนั้นๆปีแล้วปีเล่า ไม่มีการพัฒนางานให้ก้าวหน้าขึ้น เขาก็จะติดยึดกับการแก้ปัญหาแบบเดิมๆ แต่ปัญหานั้นอาจเปลี่ยนแปลงไป อาจทวีคูณสภาพปัญหานั้นๆ จนการจะแก้ไขปัญหานั้นๆ ยากเกินกว่าจะได้ด้วยวิธีการแบบเดิมๆ

คนทำงานที่ดีต้องมีการคาดเดาถึงสิ่งที่จะเกิดในอนาคต (Forecasting) และได้มีการเตรียมตัวล่วงหน้าไว้รองรับแล้ว (Proactive) ดังเช่น ปัญหาน้ำท่วมจากแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อทราบว่าจะมีน้ำจากเหนือมาเป็นปริมาณที่มากผิดปกติ รับทราบปัญหาล่วงหน้าได้ด้วยข้อมูลจากผู้ดูแลด้านเขื่อน สมมุติว่ามีน้ำเกินกว่าปกติ 13,000 ล้านลบ.เมตร หากสามารถประสานงานผันน้ำเข้าสู่พื้นที่ไม่เสี่ยงและกระทบต่อเศรษฐกิจมาก ก็ให้กระทำไปตลอดแนวทาง เพื่อหน่วงน้ำให้ไหลช้าลง ดึงน้ำเก็บน้ำไว้ในทุ่งตอนเหนือให้มาก ขณะเดียวกันต้องแจ้งเตือนเขตเศรษฐกิจตอนล่างให้เตรียมตัว ตั้งแต่นิคมอุตสาหกรรม เมืองริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงเวลาที่จะเตรียมการณ์รวมไปถึงการตรวจสอบคูคลอง การระดมคนลอกคลอง ตรวจสอบความแข็งแกร่งของเขื่อน (Dikes) พร้อมเสริมความแข็งแรงทั้งความหนา ความแน่น และความสูง ทดสอบทางเดินของน้ำ เก็บกวาดวัจพืช สิ่งปฏิกูล ฯลฯ ในด้านการเร่งระบายน้ำนอกเหนือจากธรรมชาติ ต้องมีการตรวจซ่อมเครื่องสูบน้ำ สำรองมอเตอร์ไฟฟ้าสำหรับเครื่องสูบน้ำที่อาจมีการชำรุดในระหว่างใช้งาน การสำรวจที่ตั้งสูบน้ำ

หากสิ่งใดขาดไป ก็ต้องเตรียมสั่งซื้อพิเศษ แม้ขอให้เอกชนร่วมกันจัดหา ก็ต้องทำ หากรู้ว่าต้องใช้เครื่องสูบน้ำจำนวนมาก เพราะไม่สามารถปล่อยให้น้ำไหลออกไปตามแม่น้ำ คลองและคูได้เพียงตามลำพัง สิ่งเหล่านี้ต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้า เพราะต้องใช้เวลาในการสั่งซื้อ หรือนำเข้าจากต่างประเทศ

ดังนั้น การจะทำงานเราก็จงอย่าทำงานเหมือน “ไก่ไม่มีหัว” คือทำอย่างไม่รู้จักใช้ความคิด แต่ควรทำงานอย่างเอาใจใส่กับงาน ทำอย่างใช้ความคิด มีการใช้ความคิดและประสบการณ์ในการเตรียมงาน ทำอย่างมีระบบ คิดและทำอย่างเป็นขั้นตอน และทำให้งานได้สำเร็จอย่างดีตามเป้าหมายที่ต้องการ

No comments:

Post a Comment