Thursday, February 11, 2010

สสส. ประกาศสนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนา ปี 2553

สสส. ประกาศสนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนา ปี 2553

แนวทางสนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนา ปี 2553

แผนสนับสนุนโครงการเปิดรับทั่วไปและนวัตกรรม, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

หลักการและเหตุผล

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีบทบาทหนึ่งที่สำคัญในการจุดประกาย กระตุ้น และสนับสนุนภาคีภาควิชาการและภาคีชุมชนร่วมกันพัฒนาความรู้และกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมพลังให้ชุมชนเป้าหมายมีความสามารถปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ค่านิยม ความเชื่อและพฤติกรรม ไปสู่การลดปัจจัยเสี่ยงและสร้างปัจจัยที่เอื้อต่อสุขภาวะ

สสส. โดยแผนสนับสนุนโครงการเปิดรับทั่วไปและนวัตกรรม จึงประสงค์จะสนับสนุนทุนเพื่อขยายแนวร่วมภาคีรายใหม่ภาควิชาการและภาคีชุมชน โดยใช้การดำเนินงานโครงการวิจัยและพัฒนาเป็นเครื่องมือที่จะเสริมพลังให้กับชุมชนสามารถเกิดการเรียนรู้ในการดำเนินกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพโดยใช้พื้นฐานองค์ความรู้สู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะของชุมชนนั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้การวิจัยและพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน นำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในการพึ่งตนเอง เป็นชุมชนและท้องถิ่นที่น่าอยู่มีสุขภาวะ รวมทั้งการแก้ไขประเด็นปัญหาสุขภาพที่มีความสำคัญและความเสี่ยงสูงในเด็กและเยาวชน ได้แก่ ประเด็นสุขภาวะทางเพศ

ลักษณะโครงการวิจัยและพัฒนาที่สนับสนุน

สนับสนุนการวิจัยอย่างมีส่วนร่วมระหว่างนักวิจัย ชุมชนและท้องถิ่นในพื้นที่ศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น (Participation / Action Research)

สนับสนุนการสร้างองค์ความรู้หรือสร้างกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพที่สำคัญในชุมชนเป้าหมายหรือเพื่อพัฒนาปัจจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เอื้อต่อสุขภาวะ

เป็นโครงการวิจัยที่เป็นประโยชน์กับพื้นที่และท้องถิ่น เกิดรูปธรรมต้นแบบที่คุ้มค่า รวมทั้งสามารถขยายผลหรือเป็นตัวอย่างให้กับชุมชนอื่นๆ ได้

โจทย์งานวิจัยและกรอบประเด็นที่สนับสนุน

1. โครงการวิจัยและพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมเพื่อสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่ ที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนงาน ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมชัดเจน และมีโอกาสต่อเนื่องยั่งยืน ได้แก่

- ชุมชนพฤติกรรมสุขภาพตัวอย่าง (ปลอดเหล้า บุหรี่ ออกกำลังกาย น้ำหนักตัวพอดี ไม่ติดยาเสพติด)

- ชุมชนสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมและสร้างสมดุลธรรมชาติ (สวนสาธารณะ แหล่งน้ำสะอาด การใช้พลังงานทางเลือก การจัดการขยะและของเสีย ฯลฯ)

- เป้าหมายอื่นๆ ที่ผู้วิจัยจะกำหนดเพิ่มเติมตามความเหมาะสมกับบริบทของชุมชนและท้องถิ่น

2. โครงการวิจัยและพัฒนาด้านสุขภาวะทางเพศในเด็กและเยาวชน

- งานวิจัยสร้างการเรียนรู้สุขภาวะทางเพศร่วมกันระหว่างนักวิจัย/นักวิชาการ ครู/อาจารย์ในสถานศึกษา นักเรียนและผู้ปกครอง ผ่านเครื่องมือและกระบวนการต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่

- งานวิจัยเชิงทบทวนสถานการณ์สุขภาวะทางเพศระดับพื้นที่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงและที่มีความเสี่ยงต่ำ เพื่อตอบโจทย์แนวโน้มการพัฒนาที่จะมีผลต่อสุขภาวะทางเพศหรือเพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาทางเพศในอนาคต

3. การวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมด้านสร้างเสริมสุขภาพ ที่ต่อยอดจากโครงการวิจัยที่เคยได้รับทุนจาก สสส. ในช่วงปี 2550 - 2551 โดยให้ชุมชนมีบทบาทอย่างแท้จริง และเน้นการนำผลการวิจัยไปใช้ต่อ (Intervention)

คุณสมบัติของผู้เสนอโครงการ

1. นักวิจัยและผู้ร่วมทำโครงการต้องเป็นผู้ดำเนินการด้วยตนเอง มีสัญชาติไทยและมีถิ่นพำนักถาวรในประเทศไทย

2. นักวิจัยต้องมีประสบการณ์การทำงานวิจัยในชุมชนหรือเคยปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับชุมชน อย่างน้อย 1 ปี และเป็นผู้ปฏิบัติงานประจำอยู่ในพื้นที่เดียวกัน (หรือจังหวัดเดียวกัน) กับที่โครงการวิจัยจะดำเนินการเท่านั้น

3. เป็นโครงการวิจัยที่เสนอร่วมกันระหว่างนักวิจัย ชุมชนในพื้นที่ศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น

4. ไม่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างการรับทุนสนับสนุนจาก สสส. และยังดำเนินงานไม่แล้วเสร็จ

5. ไม่เป็นผู้ติดค้างการส่งรายงานที่ได้รับการสนับสนุนทุนทุกประเภทจาก สสส. หรือกำลังได้รับทุนโครงการเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันจากแหล่งทุนอื่นๆ

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำคัญในการพิจารณา

1. โครงการวิจัยและพัฒนาที่ตรงกับโจทย์งานวิจัยและกรอบประเด็นที่ประกาศ และใช้แบบเสนอโครงการของ สสส. เท่านั้น

2. โจทย์วิจัยชัดเจนอธิบายความเกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นประโยชน์กับพื้นที่แล

3. ให้ความสำคัญกับนักวิจัยและพื้นที่ศึกษาที่ยังไม่เคยได้รับทุนจาก สสส. มาก่อน

4. ไม่สนับสนุนโครงการวิจัยหรือทดลองในห้องปฏิบัติการ การวิจัยที่จะส่งผลกระทบทางด้านกายภาพ สรีรวิทยาในมนุษย์หรือการวิจัยที่สุ่มเสี่ยงต่อปัญหาจริยธรรม

5. ไม่สนับสนุนงานวิจัยที่ต้องการเพียงศึกษาเพื่อรู้ หรือให้ความรู้และไม่เน้นให้การดำเนินงานที่วัดผลได้

6. ไม่สนับสนุนทุนวิทยานิพนธ์ปริญญาโทและเอก

งบประมาณสนับสนุน

ภายในวงเงินไม่เกิน 400,000 บาท/โครงการ

ระยะเวลาโครงการ

1-2 ปี

เงื่อนไขการสนับสนุนทุน

ไม่สนับสนุนงบประมาณค่าตอบแทน หากจำเป็นต้องมีค่าตอบแทนสำหรับนักวิชาการ สัดส่วนค่าตอบแทนคณะทำงานรวมทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละ 10 ของงบประมาณรวมทั้งโครงการ ค่าตอบแทนต้องสามารถระบุรายชื่อผู้รับได้แน่นอน มีประวัติแนบและระบุบทบาทหน้าที่ในโครงการชัดเจน

ไม่สนับสนุนค่าครุภัณฑ์ ยกเว้นที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อโครงการ และมีเหตุผลที่เหมาะสมในการสนับสนุน หากผู้เสนอโครงการไม่สามารถขอรับการสนับสนุนจากแหล่งทุนต่างๆ หรือขอใช้ครุภัณฑ์ที่มีในท้องถิ่นได้ สสส. จะสนับสนุนบางส่วน โดยให้หน่วยงานมีส่วนร่วมด้วย โดย สสส. สนับสนุนไม่เกิน ร้อยละ 30 ของค่าครุภัณฑ์ทั้งโครงการ

- ไม่สนับสนุนค่าธรรมเนียมสถาบัน (Overhead Cost) และค่าเช่าสำนักงาน

- ไม่สนับสนุนการลงทุนหรือเหมาจ่ายให้กิจกรรมต่างๆ

- ไม่สนับสนุนโครงการที่มุ่งจัดหาอุปกรณ์ขนาดใหญ่ หรือการสร้างถาวรวัตถุ เช่น อุปกรณ์ออก กำลังกาย ลานกีฬา เป็นต้น

- การเปิดรับโครงการและระยะเวลาดำเนินโครงการ (เปิดรับโครงการปีละ 1 ครั้ง)

การดำเนินงาน

ระยะเวลา

1. เปิดรับโครงการ

15 กุมภาพันธ์ - 31 มีนาคม 2553

2. พิจารณาโครงการ (ส่งก่อนพิจารณาก่อน)

15 มีนาคม - 31 พฤษภาคม 2553

3. การจัดทำข้อตกลง

พฤษภาคม - กรกฎาคม 2553

4. เริ่มดำเนินโครงการ

ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2553 เป็นต้นไป

รายละเอียดหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

สำนักสนับสนุนโครงการเปิดรับทั่วไป (สำนัก 6)
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
โทรศัพท์ 02-2980500 ต่อ 1112 , 1113 (คุณสายฤดี , คุณฐิติพร)

Download แบบเสนอโครงการที่ www.thaihealth.or.th

การส่งเอกสารโครงการ

ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2553 เวลา 17.00 น.

ส่งเอกสารโครงการ จำนวน 5 ชุด ได้ที่

สำนักสนับสนุนโครงการเปิดรับทั่วไป (สำนัก 6)
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
เลขที่
979/116-120 อาคารเอส เอ็ม ทาวเวอร์ ชั้น 34
ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท
กรุงเทพฯ 10400

(ข้อเสนอโครงการวิจัยและพัฒนา ปี 2553)

No comments:

Post a Comment