Monday, February 1, 2010

สถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า



สถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า
ประกอบ คุปรัตน์ Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
ศึกษาจากเรื่อง “Battery-switching stations” โดยบริษัท Better Place
ดูได้จาก VDO Clip ที่ http://www.youtube.com/watch?v=Y8nTAjVaa7Y
ในปัจจุบันมีการพูดกันถึงรถไฟฟ้ามากขึ้น และมีการศึกษารูปแบบรถไฟฟ้ากันอย่างกว้างขวาง คำว่ารถไฟฟ้าในที่นี้หมายถึง Electric Cars ที่ต้องอาศัยแบตเตอรี่ที่พัฒนาพิเศษให้มีความสามารถในการเก็บไฟฟ้าที่จะใช้เพื่อการวิ่งในระยะไกลพอสมควร ซึ่งเขามองกันที่ระดับ 100-200 กิโลเมตร จนถึง 400 กิโลเมตร แต่ระยะยิ่งไกลก็ทำให้ขีดความสามารถของรถมีมากขึ้น แต่ราคาของแบตเตอรี่ก็จะสูงมากขึ้น น้ำหนักของแบตเตอรี่ก็จะเป็นตัวแปรมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีขนาดน้ำหนักอาจสูงถึง 1500 ปอนด์ หรือประมาณ 681 กิโลกรัม หรือประมาณร้อยละ 38 ของน้ำหนักทั้งคัน ในอนาคตเขาหวังว่าวิวัฒนาการของแบตเตอรี่จะเดินต่อไป และจะทำให้มีราคาลดลงเป็นครึ่งหนึ่งของปัจจุบันในอีก 10 ปีข้างหน้า น้ำหนักและขีดความสามารถก็จะดีขึ้น เบาลง ทนทานยิ่งขึ้นไปอีก
อีกด้านหนึ่งที่สำคัญมากเช่นกัน คือเรื่องของการชาร์ตไฟฟ้าสำหรับแบตเตอรี่ มีการคิดกันหลายแบบ ส่วนหนึ่งพยายามหาวิธีการชาร์ตไฟในช่วงเวลาที่สั้นเพียงพอ ซึ่งมีความสามารถที่จะชาร์ตไฟได้ร้อยละ 80 kของเต็มสมรรถนะ โดยใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที หรือถ้าจะต้องใช้ไฟฟ้าที่บ้านเพื่อชาร์ตไฟรถยนต์ไฟฟ้า ก็ต้องใช้เวลาประมาณ 6-8 ชั่วโมง ถ้ารถไฟฟ้าใช้เป็นรถคันที่สองสำหรับวิ่งแต่ละวันระยะสั้นๆเพียง 30-40 กิโลเมตร ก็คงจะหาคำตอบได้ไม่ยาก ชาร์ตไฟฟ้ารถที่บ้านก็คงจะทำได้ แต่หากคนๆหนึ่งต้องเดินทางไกลเป็นหลายร้อยกิโลเมตร หรือเดินทางไกลเป็นหลายพันกิโลเมตร จะทำอย่างไร
บริษัท Better Place ได้มีแนวคิดที่จะมีสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ (battery-switch station) โดยให้คนขับรถสามารถเปลี่ยนชุดใหม่ที่เติมไฟฟ้าเต็มแล้ว ได้ภายในเวลาไม่เกิน 1 นาที คล้ายกับการที่รถฟอร์คลิฟต์ (Forklifts) ใช้เคลื่อนย้ายของในโกดังที่เมื่อไฟฟ้าหมด เขาก็ยกแบตเตอรี่ชุดใหม่ใส่ แล้วก็สามารถใช้งานต่อได้ทันที ส่วนแบตเตอรี่ที่ใช้จนหมดไฟแล้ว ก็นำขึ้นชั้นเพื่ออัดไฟฟ้าใหม่ และรอไว้เปลี่ยนให้ลูกค้ารายต่อไป Shai Agassi ผู้บริหารระดับสูงของ Better Place คิดว่านี่แหละคือบริการหนึ่งสำหรับรถไฟฟ้าที่จะต้องมีในการเดินทางระยะไกลๆ และการจะสร้างสถานีเปลี่ยนและเติมไฟฟ้านี้จะมีราคาประมาณแห่งและ 500,000 เหรียญ USD ซึ่งเขาค่าใช้จ่ายก็จะเป็นเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของสถานีเติมน้ำมันในปัจจุบัน
การจะทำสถานีเติมไฟต้นแบบได้นี้ ก็จะต้องมีโครงการต้นแบบ ที่เขาทำขึ้นที่เมือง Yokohama ซึ่งสถานีเติมไฟฟ้านี้ มีลักษณะคล้ายกับสถานีเติมน้ำมันรถในปัจจุบันนี้ และคล้ายกับสถานล้างรถอัตตโนมัติ โดยลักษณะการเปลี่ยนแบตเตอรี่ คือ เมื่อรถมาถึง ก็จะเช้าระบบสายพาน ยกรถขึ้นสูง แล้วมีระบบจัดเปลี่ยนแบตเตอรี่ โดยถอดจากด้านใต้ แล้วเสียบแบตเตอรี่ใหม่ไป ซึ่งแน่นอนว่าแบตเตอรี่ที่ใช้ทั้งหมดนี้จะต้องมีมาตรฐานและคุณภาพการจุไฟที่เป็นไปตามมาตรฐานสินค้าและบริการ กิจการสถานีเติมไฟจึงต้องมีลักษณะเป็นเครือข่าย แบตเตอรี่ไม่ใช่เป็นของเจ้าของรถ แต่เป็นเหมือนกับบริการเช่าแบตเตอรี่และรวมถึงการชาร์ตไฟในแบบเหมือนเช่าบริการ และบริการสถานีเหล่านี้ต้องมีบริการเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายที่ต้องเชื่อถือได้ในมาตรฐานและบริการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เวลาที่ใช้ในการเปลี่ยนนี้ จะใช้ไม่เกิน 2 นาที แล้วรถยนต์ไฟฟ้า ก็ขับเคลื่อนออกไปได้ ไม่ต่างจากการเติมน้ำมันดังที่กระทำอยู่ในปัจจุบัน
สถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่นี้มีสาธิตที่เมือง Yokohama ประเทศญี่ปุ่น เริ่มเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 2009 ออกแบบโดย Yoav Heichal หัวหน้าวิศวกรของหน่วยวิจัยและพัฒนาของ Better Place

No comments:

Post a Comment