Saturday, October 8, 2011

มารู้จักท่าอากาศยาน (Airport)

มารู้จักท่าอากาศยาน (Airport)

 ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

ศึกษาและเรียบเรียงจาก Wikipedia, the free encyclopedia

Keywords: การขนส่ง, การเดินทาง, transportation, traveling, house, home, ที่พักอาศัย, บ้าน, dwelling, อพาร์ทเมนท์, apartment, airport, ท่าอากาศยาน, สนามบิน,  terminal, travelator, horizontal escalator, walkalator, autowalk, movator, และหรือ people mover

ท่าอากาศยาน (Airport)

ท่าอากาศยาน หรือสนามบิน ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Airport เป็นสถานที่ซึ่งอากาศยานหลากหลายรูปแบบ อันได้แก่ อากาศยานแบบมีปีก (fixed-wing aircraft), เฮลิคอปเตอร์ (helicopters), และยานอากาศแบบบอลลูนบิน (blimps) ใช้เพื่อการบินขึ้น และบินลง ใช้เพื่อการเก็บและบำรุงรักษาอากาศยาน ท่าอากาศยานอย่างน้อยจะประกอบไปด้วย ทางบินขึ้นลง (runway) สนามจอดเฮลิคอปเตอร์ (helipad), เป็นที่อำนวยความสะดวกและปลอดภัยเรื่อง การบินขึ้น (takeoffs) และการบินลง (landings) ซึ่งมักจะมีอาคารต่างๆ อันได้แก่ หอควบคุมการบิน (control towers), อาคารเก็บเครื่องบิน (hangars) และอาคารเทอร์มินัล (terminal buildings)

สนามบินขนาดใหญ่จะมี ท่าเทียบเครื่องบิน (Docks) และบันไดทางลาดขึ้นลงเครื่องบิน (Ramps) สถานที่อำนวยความสะดวกสำหรับผู้โดยสาร เช่น ร้านอาหาร (Restaurants) และ เลาจน์ (Lounges) และบริการฉุกเฉิน (Emergency services) สนามบินสำหรับทางการทหารมักเรียกกันวว่า Airbase หรือ Air station

ลานจอดเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ (Helipad) ซึ่งสามารถบินขึ้นลงในแนวตรงได้ มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก สามารถจัดทำบนยอดตึกสูง ยอดเขาที่เป็นที่พักตากอากาศ แท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเล

สนามบิน (Airport) และเทอร์มินัล

หนึ่งสนามบินอาจมีได้หลายเทอร์มินัล (Terminals)
ภาพ สนามบินนานาชาติ John F Keneddy (JFK) หนึ่งสนามบิน แต่มีหลาย Terminals คือมีถึง 8 Terminals

ภาพ เทอร์มินัล (Terminal) ของสนามบินสุวรรณภูมิที่เป็นสนามบินขนาดใหญ่ที่มีเพียง 1 เทอร์มินัล (Terminal)

สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ
Suvarnabhumi International Airport


ภาพ สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ (Suvarnabhumi International Airport)

สนามบินสุวรรณภูมิ หรือ ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ (Suvarnabhumi International Airport) ชื่อของสนามบินแห่งนี้ มีความหมายว่า "แผ่นดินทอง" เป็นชื่อพระราชทานโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัฐบาลไทยมีนโยบายกำหนดให้สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศ และมุ่งหน้าสู่ความเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ เพื่อรองรับการจราจรทางอากาศที่ เพิ่มขึ้นในอนาคต อันเนื่องมาจากการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

ข้อมูลสนามบิน

สนามบินสุวรรณภูมิ มีเนื้อที่ประมาณ 20,000 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบล ราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ทางฝั่งตะวันออกห่าง จากทางด่วนบางนา-ตราดไปประมาณ 15 กิโลเมตร โดยอยู่ห่างจาก ใจกลางกรุงเทพฯ ประมาณ 25 กิโลเมตร

พื้นที่ใช้สอยและอาคารผู้โดยสาร

อาคารผู้โดยสารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Terminal) มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 563,000 ตารางเมตร มี 9 ชั้น รวมชั้นใต้ดิน สิ่งอำนวยความสะดวกของ ผู้โดยสารภายในประเทศและระหว่างประเทศถูกจัด ไว้ในอาคารเดียวกัน

ชั้น 1 สถานีรถโดยสาร ศูนย์รักษาพยาบาล
ชั้น 2 อาคารสำหรับผู้โดยสารขาเข้า เคาน์เตอร์บริการผู้โดยสารเปลี่ยนเครื่อง, ติดตามสัมภาระ, จุดตรวจเช็คศุลกากร (ขาเข้า) จุดให้บริการเกี่ยวกับการคมนาคม ที่พัก แหล่งท่องเที่ยว การแลกเปลี่ยนเงิน
ชั้น 3 บริเวณพักคอยของผู้โดยสารสายการบิน จุดนัดพบ ร้านค้าต่างๆ ทางเชื่อมที่จอดรถ
ชั้น 4 อาคารสำหรับผู้โดยสารขาออก สำนักงานจำหน่ายบัตรโดยสารสายการบินต่างๆ จุดตรวจเช็คศุลกากร (ขาออก)
ชั้น 5 สำนักงานบริษัทการบินไทยและกลุ่มสายการบินในเครือ
ชั้น 6 ภัตตาคาร ร้านอาหารต่างๆ
ชั้น 7 จุดชมทิวทัศน์
ชั้น 0 สถานีรถไฟฟ้า
ชั้น -1 ชานชาลารถไฟฟ้า และสถานที่ลำเลียงกระเป๋า

ทางทิศเหนือของสนามบินสุวรรณภูมิ คือส่วนของอาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานนี้สามารถรองรับเที่ยวบินได้ 76 เที่ยวบินต่อชั่วโมง รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 45 ล้านคนต่อปี เเละขนถ่ายสินค้าได้มากถึง 3 ล้านตันต่อปี

เทอร์มินัล (Terminal)

ภาพ เทอร์มินัลในสนามบินนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น

อาคารเทอร์มินัลของสนามบิน
(Airport terminal) เป็นอาคารขนาดใหญ่ในในสนามบิน เป็นที่ซึ่งผู้โดยสารจะขึ้นเครื่อง (to board) และเพื่อลงจากเครื่อง (To disembark) หรือเปลี่ยนถ่ายเครื่องบิน (Transfer) สนามบินหนึ่ง อาจมีได้หลายเทอร์มินัล


ที่เทอร์มินัลของสนามบิน ผู้โดยสารสามารถซื้อตั๋วโดยสาร ขนถ่ายกระเป๋าสัมภาระ และผ่านระบบตรวจสอบความปลอดภัย เป็นสถานที่ๆผู้โดยสารจะเตรียมตัวขึ้นเครื่อง และผ่านกระบวนการตรวจสอบความปลอดภัยก่อนผ่านประตู (gates) สำหรับผู้โดยสาร

คำว่า Terminal ใช้ทดแทนกับคำว่า Concourse ได้ ขึ้นอยู่กับลักษณะสนามบินแต่ละแห่ง
สนามบินขนาดเล็ก (Small airports) อาจมีเพียงเทอร์มินัลเดียว แต่สนามบินขนาดใหญ่ อาจมีได้หลายเทอร์มินัลในหนึ่งสนามบิน ดังนั้นเมื่อจะเดินทางระหว่างประเทศควรรู้ด้วยว่าจะขึ้นเครื่องบินที่สนามบินใด เพราะบางเมืองใหญ่อาจมีมากกว่า 1 สนามบิน ดังเช่นที่นิวยอร์ค หรือลอนดอน และในหนึ่งสนามบิน (Airport) อาจมีหลายเทอร์มินัล (Terminal) ดังเช่นที่สนามบิน JFK International Airport ในเมืองนิวยอร์ค แต่ระหว่างหลายเทอร์มินัลนั้นอาจมียานพาหนะเพื่อการขนส่งผู้โดยสารระหว่างกันโดยผ่านทางเดิน walkways, สะพานแบบลอยฟ้า (sky-bridges) หรืออุโมงค์ใต้ดิน (underground tunnels) เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างเทอร์มินัล

ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ (Helipad)


ลานจอดเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ (Helipad) ซึ่งสามารถบินขึ้นลงในแนวตรงได้ มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก สามารถจัดทำบนยอดตึกสูง ยอดเขาที่เป็นที่พักตากอากาศ แท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเล


ภาพ ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ที่อยู่บนแท่นขุดเจาะน้ำมัน


ภาพ ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ (Helipad) ที่อยู่บนแท่นขุดเจาะน้ำมัน

โรงเก็บเครื่องบิน (Hangars)

ภาพ โรงเก็บเครื่องบิน (Hangar)
โรงเก็บเครื่องบิน หรือ Hangar เป็นโครงสร้างอาคารแบบปิด สามารถจัดเก็บเครื่องบิน (aircraft) หรือยานอวกาศ (spacecraft) โรงเก็บเครื่องบินส่วนใหญ่ทำด้วยโลหะ แต่การใช้วัสดุอื่นๆก็มี เช่น ทำด้วยคอนกรีตหรือไม้ คำว่า Hangar มาจากคำในภาษาฝรั่งเศส hanghart ในภาษาเยอรมันมีคกว่า haimgard ซึ่งหมายถึงรั้วรอบกลุ่มบ้าน โดยคำว่า Haim มีความหมายว่า บ้าน หรือหมู่บ้าน (home, village, hamlet) ส่วนคำว่า Gard มีความหมายว่า สนาม หรือ Yard

Hangars มีไว้เพื่อปกป้องเครื่องบินจากสภาพดินฟ้าอากาศ และแสงอุลตราไวโอเลต Hangars มีไว้เพื่อทำเป็นโรงซ่อม และในบางกรณีมีไว้เพื่อเก็บอากาศยานหรือยานอวกาศจากการสอดส่องจากดาวเทียม (satellites) และเครื่องบินสืบราชการลับ (spyplanes)

ทางเดินแบบสายพาน (Moving walkway)


ภาพ ทางเดินแบบสายพาน หรือ Moving walkway ที่มีใช้ในอาคารสนามบิน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร

ทางเดินแบบสายพาน หรือ moving walkway ตามการเรียกในภาษาอังกฤษแบบอังกฤษ (British English) หรือ moving sidewalk ตามแบบภาษาอังกฤษแบบอเมรักน (American English) และยังมีคำเรียกอื่นๆที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่ travelator, horizontal escalator, walkalator, autowalk, movator, และหรือ people mover)

ห้องพักผู้โดยสารเครื่องบิน (Lounges)


ภาพ ห้องพักผู้โดยสารที่สนามบิน หรือ Airport lounge

ห้องพักผู้โดยสารที่สนามบิน หรือ Airport lounge เป็นห้องพรรคผู้โดยสารที่สายการบินเป็นเจ้าของ หรือเป็นการดำเนินการร่วมกับพันธมิตรสายการบินอื่นๆที่เรียกว่า alliance ที่ห้องพักนี้จะมีห้องประชุมส่วนตัว โทรศัพท์ โทรสาร ระบบสื่อสารไร้สาย (Wireless) อินเตอร์เน็ต และบริการธุรกิจอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีบริการอื่นๆ เช่นเครื่องดื่ม ของว่าง ที่ห้องพรรคผู้โดยสารนี้จะมีที่นั่งที่สบาย มีสภาพแวดล้อมที่เงียบกว่าห้องพรรคผู้โดยสารภายนอก และมีบริการให้แก่ลูกค้าที่ดีกว่าห้องพักผู้โดยสารภายนอก ซึ่งบางครั้งมีความแออัด และไม่มีความเป็นส่วนตัว

ฐานทัพอากาศ (Airbase)

เครื่องบินโดยสาร (Airliner)

Airliner คือเครื่องบินโดยสารแบบมีปีกขนาดใหญ่ (fixed-wing aircraft) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรับส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้า เหตุที่เรียกว่า Airliner เพราะเป็นเครื่องบินที่ดำเนินการโดยบริษัทสายการบิน หรือ airlines ถึงแม้ว่าเครื่องบินแบบนี้จะมีความแตกต่างกันระหว่างประเทศ แต่โดยทั่วไปจัดเป็นเครื่องบินที่สร้างเพื่อไว้ใช้ขนส่งผู้โดยสารที่เป็นบริการเชิงพาณิชย์

ภาพ เครื่องบินในแนวคิดอนาคต ที่อาจเป็นแบบปีกบิน (Flying wing)

เครื่องบิน Airbus A380

ภาพ เครื่องบินโดยสาร Airbus 380 เป็น Airliner ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ผลิตโดยบริษัท Airbus

ในบรรดาเครื่องบินโดยสาร
Airbus 380 จัดเป็นเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ที่สุด เป็นแบบมีห้องผู้โดยสาร 2 ชั้น (double-deck) ตลอดลำ ลำตัวกว้าง (wide-body) ที่พัฒนาและผลิตโดยบริษัทความร่วมมือข้ามชาติของชาติหลักๆในยุโรปที่ชื่อ Airbus ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ EADS Airbus A380 จัดเป็นเครื่องบินโดยสาร (Passenger airliner) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และเพราะขนาดที่ใหญ่กว่าปกติมาก จึงทำให้หลายสนามบินต้องปรับปรุงอาคารสถานที่และวัสดุอุปกรณ์เพื่อให้รองรับเครื่องบินดังกล่าว


A380 มีความจุห้องโดยสาร 478 ตารางเมตร มีขนาดใหญ่กว่าเครื่องบิน Boeing 747-400 อีกร้อยละ 49 รับผู้โดยสารได้ 525 คนสำหรับผู้โดยสารคละ 3 ชั้น แต่ถ้าจัดทำเป็นชั้นประหยัด (Economy Class) ทั้งหมด จะจุผู้โดยสารได้เต็มที่ 853 คน

A380-800 สามารถบินได้ระยะทาง 15,200 กิโลเมตร เพียงพอที่จะบินระหว่างนิวยอร์คกับฮ่องกงโดยไม่ต้องแวะกลางทาง สามารถบินได้ความเร็วสูงสุด 900 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ด้วยขีดความสามารถด้านความจุและการประหยัดพลังงาน เหมาะสำหรับเป็นเครื่องบินในอนาคต จึงทำให้มีสายการบินถึง 236 สายที่จองเครื่องบินรุ่นนี้ ซึ่งมีจำนวน 57 รายได้มีการผลิตและจัดส่งแล้ว สายการบินที่สั่งจองมากที่สุด คือสายการบิน Emirates สั่งจองถึง 90 ลำ

บอลลูนบิน (Blimp)


บอลลูนบิน (Blimp) หรืออากาศยานที่มีลำตัวยืดหยุ่น (Non-rigid airship) เป็นอากาศยานที่ลอยได้ด้วยตัวเอง (Floating airship) มีโครงสร้างลำตัวที่ยืดหยุ่นต่างจากเครื่องแบบ Zeppelin ในอดีตที่ใช้ลำตัวที่เป็นแบบ rigid airship บอลลูนบิน บอลลูนบินลอยตัวได้ด้วยการบรรจุก๊าส helium ที่มีความเบากว่าอากาศ

คำว่า Blimp ใช้กับอากาศยานที่สามารถบินได้อย่างอิสระ โดยมีใบพัดเป็นพลังขับเคลื่อนไปข้างหน้า และมีหางเสือเพื่อบังคับทิศทาง

ท่าเทียบเครื่องบิน (Docks)


ภาพ ท่าเทียบเครื่องบินแบบงวงช้าง

คำว่า Dock คือท่าเทียบเครื่องบิน คำนี้มีใช้ในท่าเทียบเรือเช่นกัน

ทางลาดขึ้นลงเครื่องบิน (Ramps) คือทางลาดขึ้นหรือลงจากเครื่องบิน ที่มีความต่างระดับกับตัวอาคาร ท่าขึ้นเครื่องในแบบนี้ ส่วนใหญ่ของสายการบินจะเป็นแบบปิด มีลักษณะคล้ายงวงช้าง ผู้โดยสารสามารถเดินจากห้องพักผู้โดยสารไปยังเครื่องได้โดยตรง ไม่ต้องเดินผ่านสนามบิน ลดความเสี่ยงอันตรายจากยานพาหนะต่างๆในสนามบิน ไม่ต้องไปทนร้อนหรือหนาวจากอากาศภายนอก

รถโดยสารภายในสนามบิน (Airport buses)


ภาพ รถโดยสารภายในสนามบิน (Airport buses)

แต่ในกรณีที่ไม่มีท่าเทียบเครื่องบินแบบงวงช้างนี้ สายการบินก็จะบริการโดยรถบริการผู้โดยสารที่ออกแบบมาให้ใช้เฉพาะสำหรับใช้ในสนามบิน พื้นที่สำหรับคนยืนจะอยู่ในระดับต่ำ เพื่อำนวยความสะดวกสำหรับผู้โดยสาร บางคันมีลำตัวกว้างกว่ามาตรฐานรถโดยสารทั่วไป ใช้วิ่งตามถนนไม่ได้

No comments:

Post a Comment