Saturday, October 15, 2011

การแก้ปัญหาน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯฝั่งตะวันออกและสมุทรปราการ

การแก้ปัญหาน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯฝั่งตะวันออกและสมุทรปราการ

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: cw092, flood, น้ำท่วม, water management, การจัดการน้ำ, reservoir, แก้มลิง, คณะกรรมการน้ำ, การอนุรักษ์ป่า, การเกษตรที่ลุ่ม

คำถาม –

จาก @PuTToE

@pracob พี่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของนักวิชาการคนหนึ่ง ที่ออกมาพูดว่าให้เจาะถนนฝั่งตะวันออกเพื่อทำทางน้ำหรือเปล่าครับ?

คำตอบ

การเจาะถนน เป็นการแก้ปัญหาในช่วงสั้นๆ แต่ต้องมีแผนแก้ไขในระยะยาวด้วย

ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ มีความรู้เพียงบางส่วน คงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญศึกษาสภาพแวดล้อม แล้วทำแผนแก้ไขน้ำท่วมโดยเร็ว

ผมมีที่ดินอยู่แถวบางพลี บางนา-ตราด กม. 21-22 ในคราวน้ำท่วมใหญ่ปี 2526 ทำให้เกิดการพัฒนาคลองและประตูระบายน้ำ+การสูบน้ำออกเพิ่มขึ้นมาก ทำให้ไม่มีน้ำท่วมใหญ่ เมื่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ก็ทำให้มีแถบสนามบินตามยาวขวางทางน้ำยาวนับ 10 กิโลเมตร กระทบเขตกรุงเทพฯฝั่งตะวันออก รวมลาดกระบังและสมุทรปราการบางส่วน

ก่อนอื่น ควรรู้จักจังหวัดสมุทรปราการ

จังหวัดสมุทรปราการ หรือที่เรียกกันว่าเมืองปากน้ำ ซึ่งเคยเป็นเมืองหน้าด่านทางทะเลที่สำคัญในอดีต จังหวัดสมุทรปราการตั้งอยู่ในภาคกลางของประเทศไทยสองฟากฝั่งตอนปลายสุดของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณปากอ่าวไทย ระหว่างเส้นละติจูดที่ 13-14 องศาเหนือ และเส้นลองจิจูดที่ 100-101 องศาตะวันออก ห่างจากใจกลางกรุงเทพมหานครไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 29 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 1,004 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 627,557 ไร่

ทางแก้ไข

ทางแก้ไขน้ำท่วมกรุงเทพฯฝั่งตะวันออก ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถการผันน้ำอย่างละเอียด คงต้องมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมาคิดออกแบบ และใช้การพัฒนาในช่วงสัก 10 ปี เพิ่มขีดความสามารถด้านการระบายน้ำ ซึ่งคงจะต้องทำแบบประสม เช่น

1. การขุดคลองเพิ่มเติม ซึ่งคงทำไม่ได้มาก เพราะเจ้าของที่ดินคงไม่ยอมยกที่ดินให้ง่ายๆ ยกเว้นต้องใช้กฎหมายบังคับ และมีการจ่ายค่าตอบแทนที่สมควร แต่การพัฒนาคลองและคูที่มีอยู่ให้มีความลึก ผันน้ได้มาก ซึ่งทำได้ง่ายและเร็ว แม้ต้องใช้งบประมาณบ้าง

2. การกำหนดเขตทุ่งน้ำหลาก ซึ่งต้องมีกฎหมายรองรับ การทำช่องระบายน้ำข้ามถนนเพิ่ม ทำให้ระบายน้ำออกทางฝั่งตะวันออกได้มากและรวดเร็วขึ้น สิ่งนี้ทำได้ โดยต้องไม่ให้เจ้าของที่ดินเขาต้องเสียประโยชน์มาก โดยไม่มีสิ่งตอบแทน ที่สำคัญต้องมีกฎหมายปฏิรูปที่ดินรองรับ มีการจ่ายค่าทดแทน และมีการเก็บภาษีท้องที่เพิ่ม เพื่อใช้เป็นงบประมาณพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

3. เสริมความสูงของถนนในบางส่วน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าว แต่ถนนจะต้องมีช่องว่าง ทำเป็นสะพานข้ามเป็นระยะเพิ่มขึ้น ทำให้น้ำระบายออกได้สะดวก ไม่ใช่เป็นท่อขนาดเล็กๆ ส่วนถนน ไม่ว่าจะสร้างโดยกรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการ หรือเอกชน จะต้องยึดหลักให้มีทางระบายน้ำผ่านอย่างเคร่งครัด และต้องเป็นมาตรฐานสูงสุด เผื่อช่วงการบริหารน้ำยามวิกฤติด้วย

4. กำหนดเขตนิคมอุตสาหกรรมให้เป็นขนาดปานกลาง ตลอดจนการสร้างหมู่บ้านจัดสรร ต้องไม่ไปขวางทางน้ำ หากที่ดินพัฒนาขนาดกว้าง 1X1 กิโลเมตร เท่ากับ 625 ไร่ และไม่เกิน 1,000 ไร่ ก็พอยอมรับได้ อย่าให้กว้างหรือยาวขวางน้ำต่อเนื่องกันเกิน 1,000 เมตร ต้องมี “ช่องไฟ” เกิดคลอง และทุ่งน้ำหลาก ส่วนบ้านเรือนและที่พักอาศัย ให้เปลี่ยนบ้านในบางพื้นที่ให้เป็นแบบยกเสาสูง (Stilt houses) ทำบ้านแบบลอยน้ำ (Floating houses) ในส่วนที่ตั้งบนทุ่งน้ำหลาก

No comments:

Post a Comment