Friday, October 21, 2011

แผนสู้น้ำท่วมภาคประชาชนแบบพึ่งตนเอง

แผนสู้น้ำท่วมภาคประชาชนแบบพึ่งตนเอง

ประกอบ คุปรัตน์Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: cw092, flood, น้ำท่วม, water management, การจัดการน้ำ, reservoir, แก้มลิง, คณะกรรมการน้ำ, การอนุรักษ์ป่า, การเกษตรที่ลุ่ม. นิคมอุตสาหกรรม

ความนำ

น้ำท่วมคราวนี้มองทั่วประเทศในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มันหนักหนาสาหัสนับเป็นประวัติศาสตร์อุบัติภัยครั้งใหญ่ของประเทศ ผมไม่อยากโทษใครในวันนี้ เสร็จน้ำท่วมแล้วเราค่อยมาเรียนรู้ร่วมกันศึกษาว่า
สาเหตุมันมาจากอะไร และเราจะแก้ปัญหาอย่างไร

ข้อแนะนำ

แต่น้ำท่วมนี้กำลังจะเข้ากรุงเทพฯหรือไม่ มากน้อยเพียงใด จะรู้ภายใน 2-3 วันนี้ ผมขอร่วมเขียนบันทึก และเสนอแนวทางการป้องกันภัยน้ำท่วมภาคประชาชนที่ร่วมกันใช้ประโยชน์ได้ โดยจะนำเสนอสั้นๆดังนี้

1. กันไว้ดีกว่าแก้ จงทำตนไม่อยู่ในความประมาท ภาษาอังกฤษเขาบอกว่า “You may hope for the best, but also prepare for the worst.” กล่าวคือ เราตั้งความหวังไว้สูงได้ แต่ต้องเตรียมตัวสำหรับสิ่งเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นด้วย” สำหรับน้ำท่วม มีอะไรที่จะเตรียมการณ์ไว้ได้ในช่วงนี้ ก็ให้รีบทำ รีบตัดสินใจ เช่น มีเพื่อนคนหนึ่งมีสมาชิกในบ้าน 4-5 คน เขาลังเลที่จะอยู่ต่อที่บ้านที่เสี่ยงสูงมากที่น้ำจะท่วม แล้วเผชิญกับน้ำท่วม หรือเขาจะไปอยู่ร่วมกับญาติที่จังหวัดใกล้เคียง และน้ำไม่ท่วม

เขาต้องรีบตัดสินใจ เพราะหากน้ำท่วมมาจริงๆ การเดินทางด้วยรถยนต์ฝ่าน้ำท่วมออกไป จะกลายเป็นเรื่องยุ่งยากมาก ก็คงจะต้องทนอยู่บ้านในชั้นที่สอง รอไปจนกว่าน้ำจะลดลง

2. มีรถให้เก็บในที่ปลอดภัย ใช้ระบบขนส่งสาธารณะหรือเดิน ไม่ควรที่สุดที่จะนำรถส่วนตัวไปจอดไว้บนทางหลวง หรือทางด่วน เพราะเจ้าหน้าที่เขาต้องใช้เพื่อการขนส่งสิ่งของที่จำเป็นกว่า หากจำเป็น มีรถรุ่นใหม่ ตัวอย่าง ดังญาติบางคนที่มีรถคันละหลายล้านบาท เขาก็รีบไปหาที่จอด ยอมจ่ายค่าจอดรถไปวันละ 500 บาท หากต้องจอด 10 วันก็เสียเงิน 5,000 บาท บางคนอาจเลือกไปพักร้อนในจังหวัดใกล้เคียงที่ไม่มีปัญหาน้ำท่วม ใช้เวลาสัก 5-10 วัน หรือไปแล้วฝากรถกับโรงแรม แล้วมารับรถในสัปดาห์ต่อไป หากเป็นลูกค้าคนที่มาพักอยู่แล้ว เขาจะเกรงใจสักหน่อย ถือเป็นการฝากรถควบคู่กับการพักผ่อน
ส่วนตัวผมเอง เลือกไม่ทำอะไรมากนัก ผมมีรถ Opel Corsa รุ่นเก่า ไม่มีระบบอิเลคโทรนิกส์ซับซ้อนมาก คิดเป็นราคาไม่เกิน 100,000 บาท ผมเก็บไว้ที่บ้าน เผื่อเอาไว้ขับยามฉุกเฉิน หากน้ำท่วมจริง ก็ถอดแบตเตอรี่เก็บไว้ หลังน้ำท่วมแล้วก็เรียกช่างมาซ่อมถึงที่บ้าน หรือให้เขามาลากรถไปซ่อมที่อู่เลย ไม่ต้องคิดมาก ส่วนรถอีกสองคันเป็นรถใหม่กว่า ก็นำไปฝากไว้กับคนอื่นในที่ๆปลอดภัย

3. อยู่อาศัยกันเป็นกลุ่ม คิดและตัดสินใจร่วมกัน และเนิ่นๆ ก่อนที่ปัญหาจะเกิด ผมอยู่ในกรุงเทพส่วนใน อยู่ในบ้านตีกสองชั้นขนาดใหญ่ มีสมาชิกในบ้านและเด็กรับใช้ (Maids) รวม 10 คน หากน้ำท่วมก็จะยังอยู่ที่บ้าน เพราะอยู่ในชุมชนที่มีคนหนาแน่น มีญาติพี่น้องคนใกล้ชิดอยู่รวมในบริเวณเดียวกันกว่า 10 คน ในบ้านใกล้เคียงกัน หากมีอะไรเกิดขึ้น ผมคงเป็นที่พึ่งให้กับคนอื่นๆได้ในหลายเรื่อง

ผมเป็นคนเรียนรู้วิธีการเอาชีวิตรอดในยามคับขัน และรู้เรื่องสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยดี ก็จะได้คอยช่วยคนอื่นๆ ผมพอรู้วิธีการตรวจวัดความดันโลหิต ชีพจร เจาะตรวจน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้เป็นเบาหวาน ผมจะเป็นประโยชน์ที่จะอยู่ที่บ้าน จะหลบไปพักร้อนโรงแรมในต่างจังหวัด ก็รู้สึกจะอายสักหน่อย เหมือนกับเอาตัวรอด

4. สำรองอาหารพอให้มีชีวิตอยู่ได้สัก 5-10 วัน ไม่เก็บหรือกักตุนมากกว่านั้น ทั้งนี้คิดถึงคนรอบข้างด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะมีชีวิตรอดไปได้โดยไม่ต้องไปพึ่งรัฐบาลหรือหน่วยงานภาครัฐมากไปกว่านี้ เพราะหากเกิดวิกฤติจริงๆ ทุกฝ่ายก็จะประสบปัญหาคล้ายๆกัน ต้องหาทางช่วยตัวเองแบบเป็นกลุ่ม พยายามสงบนิ่ง ไม่ไปสร้างภาระให้กับคนอื่นๆมากจนเกินไป

5. ใช้น้ำอย่างประหยัด น้ำเป็นสิ่งสำคัญ ขาดน้ำ 3 วันคนเสียชีวิตได้ เพราะไตจะวาย ดังนั้น เราต้องเก็บน้ำดื่มที่สะอาดเชื่อถือได้ วันหนึ่งเราดื่มน้ำประมาณ 6 แก้วหรือประมาณ 1.5 ลิตร สำหรับคน 10 คน เป็นเวลา 10 วัน จึงรวมใช้น้ำประมาณ 150-200 ลิตร ที่บ้านเป็นบ้านขนาดใหญ่ มีถึงคอนกรีตเก็บน้ำได้สัก 5-6 พันลิตร เป็นน้ำประปา แต่เพราะจัดเก็บใต้ดิน หากน้ำมาท่วมปากถัง น้ำก็จะเสียหายใช้ไม่ได้เหมือนกัน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม ผมให้เขาใช้เครื่องกรองน้ำ เก็บน้ำไว้ในถังพลาสติกขนาด 200 ลิตร น่าจะเพียงพอสำหรับการใช้ดื่มในช่วง 8-10 วันสบายๆ

6. การอาบน้ำให้เปลี่ยนเป็นเช็ดตัว การใช้น้ำแปรงฟัน ทำความสะอาดร่างกายวันละครั้งๆละ 1 ลิตรพอทำความสะอาดร่างกายได้แล้ว แต่ผมวางแผนว่าจะไม่ใช้น้ำประปาที่อาจะไม่บริสุทธิสำหรับดื่ม แต่จะใช้เพื่ออาบน้ำได้ ส่วนที่บริเวณขา หากต้องลุยน้ำ ระวังการเปียกน้ำสกปรกที่มากับน้ำ ใช้วาสลินเคลือบผิวก่อนลุยน้ำ

สิ่งที่เตรียมตัวเตรียมใจไว้แล้ว คือเมื่อน้ำท่วม ส้วมแม้มีอยู่ที่ชั้นบน แต่เวลาชักโครก ก็คงจะไม่สะดวก คงต้องทนๆไป

7. เตรียมตัวเมื่อต้องมีการตัดไฟ เมื่อมีน้ำท่วมขึ้นสูง ทางผู้รับผิดชอบเขาต้องตัดไฟ ชีวิตที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ หากคุ้นเคยกับระบบเครื่องปรับอากาศ ก็ต้องเปลี่ยนนิสัยอย่างน้อยชั่วคราว โดยอาจใช้เปิดหน้าต่างที่มีมุ้งลวดแทน อีกส่วนหนึ่งที่ต้องคำนึงถึง คือการไม่มีไฟฟ้าที่จะใช้ประกอบอาหารอย่างง่ายๆ ดังเช่นเตาไมโครเวฟ ซึ่งอาจเกิดขึ้นนานเป็นสัปดาห์ ก็จะใช้เตาแก๊สที่ยังมีอยู่ ใช้ทำอาหารที่ไม่ต้องใช้พลังงานมากนัก กะว่าจะใช้ต้มเป็นหลัก เช่นต้มข้าว ต้มไข่ ใช้การผัดให้น้อยลง หากมีของในตู้เย็นจะเสีย เช่นมีหมูหรือไก่ ก็นำมาผัดเค็ม ทำให้เก็บไว้กินได้นานหลายวัน หรือจะนำมาต้มเค็ม หรือทำเป็นพะโล้ หากต้องการจะฆ่าเชื้อ ก็นำมาผัดใหม่ หรือต้มใหม่ ยิ่งเค็มสักหน่อย และยิ่งแห้งยิ่งเก็บไว้ได้นาน

ผมกะว่า เราอาจเตรียมตัวช่วยตัวเองให้ได้สัก 5-10 วัน ขึ้นอยู่กับจำนวนคนที่ได้รับผลกระทบ หากมีคนประสบน้ำท่วมหลายล้านคน ก็จะใช้เวลานานหน่อย แต่หากท่วมไม่มาก ก็จะเป็นเพียงความไม่สะดวก จะไปซื้อข้าวของตามร้านที่เขาเปิดบริการได้ ผมมีเงินสำรองจากตู้ ATM กดมาไว้สำรองสัก 10,000 บาท คิดว่าเพียงพอแล้ว เงินมีประโยชน์ แม้ว่าน้ำจะท่วม มีเงินก็หาซื้อกินเอง ไม่ต้องไปรอบริจาค เพราะหากคนประสบอุบัติภัยกันเป็นล้านๆคน ก็ต้องช่วยตัวเองเป็นหลักแหละครับ “ตนต้องเป็นที่พึ่งแห่งตน”

2 comments:

  1. ขอบคุณสำหรับแนวทางดีๆ ค่ะ

    ReplyDelete
  2. ผมไม่ค่อยเข้ามาดูเท่าที่ควร เพราะจัดการไม่เป็น แต่ตอนนี้เป็นแล้ว สำหรับปัญหาน้ำท่วม ปี 2555 โอกาสท่วมคงไม่เท่าปี 2554 แต่ก็หวังว่า เราต้องเตรียมตัวให้พร้อมครับ

    ReplyDelete