Monday, October 3, 2011

มารู้จักหญ้าที่ควรรู้จัก - หญ้าแฝก หญ้าแพรก หญ้าคา

มารู้จักหญ้าที่ควรรู้จัก - หญ้าแฝก หญ้าแพรก หญ้าคา

ประกอบ คุปรัตน์Pracob Cooparat
E-mail: Pracob@sb4af.org

ศึกษาและเรียบเรียงจาก From Wikipedia, the free encyclopedia

Keywords: ธรรมชาติวิทยา, ชีววิทยา, สิ่งแวดล้อม, หญ้าแฝก หญ้าแพรก หญ้าคา

นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการออกอากาศในรายการพบประชาชนเป็นครั้งแรก (ตุลาคม 2554) เกี่ยวกับน้ำท่วมใหญ่ทั่วประเทศ และพูดถึงพืชคลุมดินที่จะมีประโยชน์ในการปลูกป่ารักษาต้นน้ำ คือ “หญ้าแพรก” ซึ่งความจริงน่าจะหมายถึง “หญ้าแฝก” ทำให้ฝ่ายต่อต้านฮือฮากันมากว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่เป็นขวัญใจคนรากหญ้า แต่ไม่รู้เรื่องชีวิตของชาวบ้านเลย

อันที่จริง คนเรามีสิทธิพลาดกันได้ อย่างที่เขาบอก “สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง” แต่หากพลาดไป ก็ขอให้กลับไปเรียนรู้เพิ่มเติม และอย่าพลาดใหม่บ่อยๆ

พวกเราเป็นประชาชนเอง ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือชนบท ก็ควรจะรู้เรื่องพืช การเกษตร และสิ่งแวดล้อมกันเอาไว้บ้าง เพราะบ้านเมืองปัจจุบันที่มีปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งสลับกันอย่างซ้ำซากทุกปีนั้น เห็นทีทุกคนต้องหันมาให้ความสนใจกับหญ้าในฐานะพืชคลุมดินกันให้มากกว่านี้แล้ว

ลองมารู้จักหญ้าสัก 3-4 ชนิด มีประโยชน์ใช้สอยต่างกัน รายละเอียดสามารถศึกษาได้จาก Wikipedia ภาคภาษาไทยครับ
ภาพ หญ้าแฝก ปลูกริมน้ำ คลุมดินกันดินถล่มละลายลงน้ำ เพื่อรักษาร่องน้ำ
ภาพ หญ้าแฝก ปลูกคลุมดิน ป้องกันดินถล่มตามบริเวณเชิงเขา

หญ้าแฝก (อังกฤษ:Vetiver Grass ;ชื่อวิทยาศาสตร์ : Vetiveria Zizanioides Nash) เป็นพืชที่ มีระบบรากลึกและแผ่กระจายลงไปในดินตรงๆ ซึ่งเป็นพืชพื้นบ้านของไทย มีวิธีการปลูกแบบง่าย ๆ เกษตรกรไม่ต้องดูแลหลังการปลูกมากนักและประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าวิธีอื่นๆอีก ด้วยเป็นพืชที่มีอายุได้หลายปี ขึ้นเป็นกอแน่น มีใบเป็นรูปขอบขนานแคบปลายสอบแหลม ยาว 35-80 ซม.มีส่วนกว้าง 5-9 มม. สามารถขยายพันธุ์ที่ได้ผลรวดเร็ว โดยการแตกหน่อจากลำต้นใต้ดิน ในบางโอกาสสามารถแตกแขนงและรากออกในส่วนของก้านช่อดอกได้ เมื่อหญ้าแฝกโน้มลงดินทำให้มีการเจริญเติบโตเป็นกอหญ้าแฝกใหม่ได้

ประโยชน์ เป็นพืชคลุมดิน โดยเฉพาะตามที่ลาดชันเชิงเขา ช่วยดูดซับน้ำ มีระบบหญ้าที่แผ่ขยายทั้งลึกและกว้าง เหมาะแก่การป้องกันดินถล่ม ลำต้นมีความสูงได้ถึง 150-200 เซนติเมตร เหมาะแก่การปลูกปะทะกันฝนชะล้างดิน ยามแล้งก็ทนแล้งได้ดี ใช้ปลูกร่วมกับต้นไม้ใหญ่ เหมาะแก่การใช้ในโครงการปลูกป่า เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับมาได้โดยเร็ว และไม่มีภาระต่อเนื่องด้านการบำรุงรักษามากนัก

ภาพ หญ้าแพรก

หญ้าแพรก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Cynodon dactylon; อังกฤษ: Burmuda Grass หรือชื่ออื่นว่า dūrvā grass, Dubo, Dog's Tooth Grass, Bahama Grass, Devil's Grass, Couch Grass, Indian Doab, Grama, and Scutch Grass) เป็นพื้ชพื้นเมืองในทวีปแอฟริกา ทวีปเอเชีย ทวีปออสเตรเลีย และยุโรปใต้ ส่วนชื่อ Burmuda Grass มาจากการที่มันเป็นพืชต่างถิ่นรุกรานในเบอร์มิวดา แต่ไม่ได้เกิดขึ้นที่นั่น

ประโยชน์ เป็นพืชคลุมดินในที่ราบ สนามหญ้า ในลักษณะเดียวกับหญ้านวลน้อย แต่ที่จะพบในการศึกษามากที่สุดจะไปเน้นที่ความเป็นพืชสมุนไพร ใช้เป็นยารักษาโรคบางชนิด ไม่พบมากนักที่จะมีคนแนะนำให้เป็นพืชคลุมดิน โดยเฉพาะในการปลูกป่ารักษาต้นน้ำ เพื่อฟื้นฟูสภาพนิเวศให้กลับคืนมา
คำว่า “หญ้าแฝก” กับ “หญ้าแพรก” นั้นต่างกันมากทั้งในลักษณะและประโยชน์ใช้สอย แม้ชื่อดูจะคล้ายกัน

ภาพ หญ้านวลน้อย

หญ้านวลน้อย (Manila Grass) เป็นหญ้าพื้นเมืองของไทย เป็นหญ้าที่นิยมปลูกกันมาก สามารถขึ้นได้ดีในดินเกือบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นดินเหนียว หรือดินปนทราย และยัง ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมได้ดีได้ง่าย นอกจากนี้ ยังทนต่อร้อนและแห้งแล้ง หรือที่น้ำท่วมขังแฉะ ได้เป็นครั้งคราว จึงนิยมปลูกกันมาก

ประโยชน์ เป็นหญ้าที่จัดอยู่ในประเภทใกล้เคียงกับหญ้าญี่ปุ่น แต่มีใบกว้างกว่า และการเจริญเติบโตเร็วกว่า ใบไม่แข็งกระด้าง เหมือนหญ้าญี่ปุ่น หญ้าชนิดนี้ ขึ้นง่าย และเจริญเติบโต เป็นแผ่นได้เร็วพอสมควร เป็นหญ้าที่นิยมปลูกคลุมสนามหญ้า มีลักษณะหนา มีรากคลุมพื้นที่ได้แน่น เหมาะทำเป็นสนามหญ้าและสนามกีฬา เช่นฟุตบอล หรือเทนนิส แต่ไม่ได้เหมาะแก่การใช้ปลูกป่า หรือปลูกในสภาพธรรมชาติที่มีพืชหลากหลาย
ภาพ ทุ่งหญ้าคา ที่เห็นขึ้นที่กรุงกบิลพัสด์ ประเทศอินเดีย

ภาพ หญ้าคา นำมาสานเป็นตับๆ ราคาตับละ 7-8 บาทใช้มุงหลังคา ป้องกันความร้อนได้ดี แต่จะไม่ทนผุพังได้เท่าหลังคาจากใบจาก

หญ้าคา (ชื่อวิทยาศาสตร์: Imperata cylindrica Beauv.) เป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในตระกูลหญ้า มีลำต้นสูงประมาณ 50-100 เซนติเมตร ลักษณะลำต้นเป็นทรงกลมเรียวยาวขนาดเล็ก ลักษณะใบเป็นขนกระจุก ขอบใบมีลักษณะคมกริบ ออกดอกเป็นช่อก้านยาวสีขาว คล้ายหางกระรอก มีสรรพคุณในการรักษาโรคได้หลายชนิด เช่น โรคไต โรคมะเร็งคอ แก้ลมพิษ ผื่นคัน เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถใช้ประโยชน์จากหญ้าคาในการมุงหลังคา

ประโยชน์ ใช้มุงหลังคา ช่วยป้องกันความร้อนได้ดี แต่ไม่ทนฝนและการผุเน่า ใช้ทำยารักษาโรค โดยทั่วไปเกษตรกรไม่ชอบให้มีในที่ดินการเพาะปลูกของตน เพราะเข้าไปแทรกแซงพืชที่ปลูก เป็นการไปแย่งดินและปุ๋ย

No comments:

Post a Comment