ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: Pracob@sb4af.org
ศึกษาและเรียบเรียงจาก “กฎการใช้อำนาจ 48 ข้อ” The 48 Laws of Power”, 1998 โดย Robert Greene and Joost Elffers.
Keywords: Power48, Administration, การบริหาร, management, การจัดการ, power, อำนาจ
ความนำ
Assume Formlessness
การเน้นสภาพไร้รูปแบบ
การทำตนอย่างมีรูปแบบ มีแผนที่ปรากฏชัดทั้งหมด ทำให้ท่านถูกโจมตีได้โดยง่าย ดังนั้นจงทำตัวอย่างไร้รูปแบบ เคลื่อนไหวได้อย่างศัตรูไม่สามารถคาดเดาได้ ต้องเข้าใจความจริงว่าไม่มีอะไรที่แน่นอน ไม่มีกฏเกณฑ์ใดที่จะแข็งกระด้างไม่ยืดหยุ่น วิธีการที่จะปกป้องตนเองได้ดีที่สุดประการหนึ่งคือทำตนให้ไหลลื่น ไม่ติดรูปแบบ เป็นเหมือนน้ำ อย่าไปเน้นที่ความมั่นคง หรือคำสั่งหรืออำนาจที่จะคงไปได้ตลอด ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น
การทำตัวเปิดเผย และการทำให้ฝ่ายตรงข้ามเห็นแบบแผนมากเกินไป ท้ายสุดก็ทำให้ฝ่ายตรงกันข้ามได้อาศัยเป็นช่องโหว่ในการโจมตี ดังนั้นฝ่ายท่านจึงต้องทำตนที่ไม่ติดกับแบบแผนที่ทำให้คนจับทิศทางได้ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนเคลื่อนไหวอยู่เสมอ ต้องยอมรับความจริงว่าในโลกความเป็นจริงไม่มีกฎเกณฑ์อะไรที่จะตายตัว
พระนเรศวรมหาราช ก็ไม่เพียงใช้กองทัพรบในแบบจัดทัพปกติ ในบางยามที่จะต้องบั่นทอนกองทัพข้าศึก ก็ต้องใช้วิธีการแบบกองโจร บุกเข้าตีค่ายยามค่ำคืน เข้าโจมตีระหว่างทางเพื่อตัดกำลังฝ่ายข้าศึก
สงครามปฏิวัติมักจะเริ่มจากฝ่ายที่อ่อนแอกว่า มีกำลังน้อยกว่า และมีอาวุธสงครามล้าสมัยกว่าฝ่ายทีมีอำนาจ แต่จะใช้หลากหลายวิธีเพื่อที่จะเอาชนะฝ่ายที่มีความเหนือกว่า
เลนินกับปฏิวัติรัสเซีย
เริ่มจากความคิดแบบไม่มีตัวตน ฝ่ายปฏิวัติรัสเซียอยู่นอกประเทศ การก่อร่างของแนวคิด Marx และ Lenin การก่อตัวของกลุ่มปฏิวัติโดยมีฐานจากคนรุ่นใหม่ กรรมกรในเมือง สู่การสุกงอมทางความคิด การขยายการต่อสู้ด้วยการสไตรค์ และการจับอาวุธสู้ และแผ่ขยายไปทั่วประเทศ จนเป็นความสำเร็จของการปฏิวัติรัสเซีย และเกิดประเทศสังคมนิยมแห่งแลกในโลก ประวัตินักคิดคนสำคัญคนหนึ่งที่ควรศึกษา คือ เลนิน
ภาพ วลาดิเมียร์ อิลลิช เลนิน (Vladimir Ilyich Lenin)
เลนิน หรือ Vladimir Ilyich Lenin เกิดเมื่อวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1870 และเสียชีวิตในวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1924 เป็นนักปฏิวัติชาวรัสเซีย นักประพันธ์ นักกฏหมาย นักเศรษฐศาสตร์ นักทฤษฎี และนักปรัชญาการเมือง เป็นผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต เป็นผู้นำในการปฏิวัติตุลาคม ค.ศ. 1917 (1917 October Revolution) และเป็นผู้ก่อตั้งสหภาพโซเวียต (USSR) ในฐานะเป็นผู้นำฝ่ายปฏิวัติบอลเชวิค (Bolsheviks) เขาได้นำกองทัพแดง (Red Army) และนำในการทำสงครามต่อสู้กับฝ่ายกษัตริย์ ที่เรียกว่าสงครามกลางเมืองรัสเซีย (Russian Civil War) นับเป็นประเทศสังคมนิยมแรก (Socialist state) ในโลก ในฐานะเป็นนักทฤษฎี เขาได้สร้างพื้นฐานทางทฤษฎีและปรัชญาของลัทธิมาร์กส (Marxism) และลัทธิเลนิน (Leninism) อันเป็นรากฐานสำคัญในการบริหารสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นผู้นำในโลกสังคมนิยม
1. การเอาชนะทางความคิด การต้องมียุทธศาสตร์ที่จะเอาชนะ โดยเริ่มจากแนวความคิดของ Marx และ Lenin ซึ่งนอกจากจะให้แนวคิดทฤษฎีแล้ว ยังมีคำตอบในด้านวิธีการเปลี่ยนแปลงต่างๆด้วย
ภาพ การประชุมในระดับกลุ่มนำของบอลเชวิค คนที่นั่งขวาสุดคือ Lenin
2. เริ่มจากการได้กรรมกรและคนยากจนในเมือง และเริ่มจากเมืองใหญ่ คนหนุ่มคนสาวที่เรียนรู้อุดมการณ์ แล้วขยายไปสู่ภาคชนบท
3. ต้องมีแกนนำ พลังสำคัญในการเคลื่อนไหว คำว่า บอลเชวิค หรือ Bolsheviks มีความหมายว่า “คนส่วนใหญ่” (Majority) ซึ่งเป็นซีกหนึ่งของพรรคมาร์กซิสต์แรงงานสังคมนิยมแห่งรัสเซีย (Marxist Russian Social Democratic Labour Party - RSDLP) ซึ่งเป็นส่วนที่แยกออกจาก Menshevik ในการประชุมพรรคครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1903
บอลเชวิค เป็นกำลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของรัสเซีย สมาชิกของพรรคในปี ค.ศ. 1907 ร้อยละ 22 อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 37 อายุระหว่าง 20-24 ปี และ ร้อยละ 16 อายุระหว่าง 25-29 ปี ในปี ค.ศ. 1905 สมาชิกร้อยละ 62 เป็นกรรมกรในระบบอุตสาหกรรม ซึ่งในขณะนั้นกรรมกรในอุตสาหกรรมเป็นเพียงร้อยละ 3 ของประชากรประเทศ การปฏิวัติสังคมนิยมของรัสเซียอาศัยพลังคนหนุ่มสาวในเมือง และขยายไปสู่กลุ่มคนอื่นๆ
4. คนระดับฝ่ายนำไม่มีชื่อหรือตัวตน ทำให้ยากที่ฝ่ายบ้านเมืองจะจัดการ หรือคุกคามญาติพี่น้องได้ นามที่ใช้ในการสื่อสาร ดังเช่น เลนิน ไม่ใช่ชื่อจริง
5. เป้าหมายการล้มล้างคนกลุ่มน้อยที่มีอำนาจ คือกษัตริย์ ชนชั้นปกครอง เจ้าที่ดิน ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อย เมื่อประเทศเข้าสู่สภาวะข้าวยากหมากแพง คนกลุ่มนี้คือเป้าหมายถูกโจมตีในฐานะต้นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ยากในแผ่นดิน
เวียตกง (Vietcong)
การรบและทำสงครามในแบบไม่เห็นตัวตน
ในสงครามเวียตนาม กองทัพของเวียตกง แท้จริงยามกลางวันคือชาวบ้านธรรมดา แต่ตอนกลางคืนสามารถรวมตัวกันจับอาวุธเข้าโจมตีค่ายทหารของสหรัฐและกองทหารฝ่ายเวียตนามใต้ โจมตีเสร็จแล้วก็กลับไปเป็นชาวบ้านชาวนาตามเดิน ยากที่ทหารอเมริกันจะสามารถสืบรู้ได้
เวียตกง หรือในภาษาอังกฤษเขียนว่า Vietcong (Vietnamese: Việt cộng) หรือ กองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติของเวียตนาม หรือ National Liveration Front (NLF) เป็นองค์กรทางการเมืองและเป็นกองทัพในเวียตนามใต้ (South Vietnam) และกัมพูชา (Cambodia) เพื่อทำการต่อสู้กับสหรัฐอเมริกาและรัฐบาลฝ่ายขวาของเวียตนามใต้ในช่วงสงครามเวียตนาม (Vietnam War) ในช่วงปี ค.ศ. 1959 ถึงปี ค.ศ. 1975 ก่อนที่สหรัฐจะถอนทหารออกจากเวียตนามใต้ และเวียตนามเหนือและใต้ได้รวมเป็นหนึ่ง
เวียตกงเป็นทั้งกองกำลังสำหรับสงครามกองโจร (guerrilla) และมีสถานะเป็นหน่วยงานในกองทัพบกของเวียตนามเหนือ และเป็นเครือข่ายในการเกณฑ์ทหารใหม่ที่ได้มาจากชาวนาในพื้นที่ๆได้เข้าไปมีอิทธิพล ทหารเป็นอันมากเป็นการเกณฑ์จากภายในเวียตนามใต้ แต่ส่วนอื่นๆก็ได้มาจากกองทัพประชาชนแห่งเวียตนาม หรือ People's Army of Vietnam (PAVN) ซึ่งก็เป็นทหารกองทัพบกของเวียตนามเหนือในขณะนั้น ในระหว่างสงคราม ฝ่ายโฆษกคอมมิวนิสต์และกลุ่มต่อต้านสงครามบอกว่าเวียตกงเป็นกองกำลังจัดตั้งเองโดยฝ่ายเวียตนามใต้รักชาติ เพื่อทำให้เวียตนามเหนือในขณะนั้นไม่ต้องเผชิญหน้าโดยตรงกับฝ่ายสหรัฐ ส่วนฝ่ายสหรัฐและเวียตนามใต้ในขณะนั้นฉายภาพพวกเวียตกงเป็นเครื่องมือของเวียตนามเหนือ ในการรุกรานเวียตนามใต้ แต่อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังก็เป็นที่ทราบดีว่า ทั้งฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ ต่างได้รับคำสั่งมาจากโครงสร้างเดียวกัน
ภาพ การใช้ปืนครกยิงส่งใบปลิวไปยังฝ่ายตรงข้าม และส่งไปยังประชาชน
ภาพ กองกำลังฝ่ายเวียตกงมีทั้งชายและหญิง
Execution of a Viet Cong Guerrilla [1968]
การต่อสู้ของพวกเวียตกงนั้นมีลักษณะเหมือนไร้ตัวตน ในตอนกลางวันเขาอาจเป็นชาวนาที่ทำไร่ทำนาอยู่โดยทั่วไป แต่ในตอนกลางคืน เมื่อเขาได้รับการเรียกตัวและสื่อสารกันเพื่อรวมตัวโจมตีฝ่ายสหรัฐและกองทหารของรัฐบาลเวียตนามใต้ เขาก็จะกลายเป็นกองทหารในรูปสงครามกองโจร เป็นรูปแบบสงครามกองโจรที่ไร้ตัวตน และยากที่ฝ่ายสหรัฐจะรบชนะในสงครามเวียตนามนี้ได้
การรบครั้งสำคัญที่สุด คือการบุกใหญ่ที่เรียกว่า Tet Offensive โดยมีการบุกโจมตีศูนย์กลางเมืองสำคัญ 100 จุดพร้อมกัน รวมทั้งสถานทูตสหรัฐในกรุงไซงอน (Saigon) ในระยะหลังเมื่อสหรัฐอ่อนแรงสนับสนุนลง การทำสงครามส่วนใหญ่จะเป็นกำลังจากเวียตนามเหนือ จนในปี ค.ศ. 1976 ที่ฝ่ายเวียตนามเหนือได้คืบเข้ายึดครองเวียตนามใต้ และเป็นการรวมชาติอย่างสมบูรณ์ พวกเวียตกงก็สลายตัวไป กลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลคอมมิวนิสต์เวียตนาม
การขยายตัวของเศรษฐกิจยุคใหม่
ในโลกธุรกิจยุคใหม่ จึงมียุทธศาสตร์การดำเนินการ บางทีบริษัทข้ามชาติจากประเทศตะวันตก เขาไปลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศ ก็ไม่ต้องไปสร้างโรงงาน เพียงนำต้นแบบการผลิต และที่ปรึกษาควบคุมคุณภาพเข้าไปดำเนินการ ไม่ต้องเสียค่าก่อสร้างโรงงาน ไม่เสียค่าสวัสดิการ ถ้าการลงทุนผลิตในประเทศหนึ่งไม่มีประสิทธิภาพ ก็สามารถพับโรงงาน เลิกธุรกิจ แล้วย้ายไปทำการผลิตในประเทศอื่นๆ ที่มีต้นทุนการดำเนินการถูกกว่า
ดังนั้น กิจการผลิตสินค้าจึงเป็นลักษณะออกแบบและควบคุมคุณภาพโดยฝ่าย QC และวิจัยและพัฒนาที่บริษัทแม่จะควบคุม แต่ในส่วนการผลิตได้ส่งไปยังโรงงานที่ตั้งอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา และประเทศที่ค่าแรงงานยังต่ำอยู่ อย่างในจีน อินเดีย อเมริกาใต้ และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สินค้าที่กลายมาเป็นผลิตในประเทศที่มีค่าแรงงานต่ำกว่า ได้แก่สินค้าประเภท เสื้อผ้า ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ ส่วนรถยนต์ก็หันมาผลิตในประเทศอื่นๆ แต่ใช้ชิ้นส่วนที่ต้องมีเทคโนโลยีระดับสูงร่วมด้วย โดยผลิตในประเทศแม่ แล้วส่งชิ้นส่วนไปประกอบ ณ โรงงานต่างๆที่กระจายอยู่ทั่วโลก
GM การอยู่รอดของบริษัทยักษ์ใหญ่
การปรับตัวและปรับโครงสร้าง เพื่อความอยู่รอดของบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี ค.ศ. 2008
จีเอ็ม หรือ General Motors Company (NYSE: GM, TSX: GMM.U), มีชื่อเรียกโดยทั่วไปว่า General Motors หรือ GM เป็นบริษัทข้ามชาติของอเมริกันที่มีกิจการด้านการผลิตรถยนต์ (multinational automotive) มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองดีทรอยต์ (Detroit) ในรัฐมิชิแกน (Michigan) ในปัจจุบันจัดเป็นบริษัทรถยนต์ใหญ่อันดับสองของโลก ก่อนหน้านี้จัดเป็นบริษัทรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกมาเป็นเวลานาน
จากที่เคยมีคนทำงานสูงสุดกว่า 700,000 คน ปัจจุบัน GM มีคนทำงานประมาณ 209,000 คน ทำงานอยู่ใน 157 ประเทศทั่วโลก ผลิตรถยนต์ชื่อ Buick, Cadillac, Chevrolet, GMC, Opel, Vauxhall, และ Holden และมีความร่วมมือในการผลิตรถยนต์กับบริษัทในประเทศจีน
ในวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 2009 GM ได้ยื่นขอปรับโครงสร้างใหม่ ตามกฏหมายสหรัฐ Chapter 11, Title 11, United States Code ซึ่งเป็นช่วงที่ใกล้จะล้มละลายต้องปิดกิจการ แต่ในวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 2010 บริษัทได้รับเงินช่วยเหลือเป็นเงินจากรัฐบาลกลางด้วยก้อนเงินที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ คือ 20,000 ล้านเหรียญ และรัฐบาลกลางสหรัฐได้เข้ามาถือหุ้นร้อยละ 27 รัฐบาลแคนาดาเข้ามาถือหุ้นร้อยละ 12 และรัฐบาลของรัฐออนทาริโอในแคนาดาเข้าถือหุ้นร้อยละ 3.8 ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009
ภาพ รถยนต์ขนาดเล็ก Opel Corsa เป็นรถยนต์ขนาดเล็กที่ได้รับความนิยมในยุโรป
GM ต้องปรับตัว ลดรูปแบบ ต้องขายกิจการบางส่วนไป เช่นบริษัท Opel ที่มีอยู่ในยุโรป ก็ขายให้กับเยอรมัน บริษัท Isuzu ก็ขายคืนไปกับญี่ปุ่น ซึ่งเขามีความแข็งแกร่งที่จะดำเนินการเองได้อยู่แล้ว
จากความที่เคยเป็นยักษ์ใหญ่ที่เคยเป็นฝ่ายครอบงำตลาดในอเมริกาที่ผลิตแต่รถขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่ใช้พลังงานสิ้นเปลือง แต่ก็ต้องถูกรัฐบาลและตลาดรถยนต์ใหม่ที่ต้องการถยนต์ทางเลือกมากขึ้น เช่น การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าลูกประสม (Hybrid electric vehicles), รถยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบ (All-electric vehicles), รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้เติมพลังงานด้วยการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่อย่างรวดเร็ว (Battery packs for electric vehicles), รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen initiative) โดยการใช้ไฟฟ้าแยกน้ำออกเป็นไฮโดรเจนและออซิเจน, รถยนต์ที่ใช้พลังงานได้อย่างยืดหยุ่น (Flexible-fuel vehicles)
รถยนต์ไฟฟ้าลูกประสม Chevy Volt โดย General Motors
ในโลกที่พลังงานจากฟอสซิลและปิโตรเลียมกำลังค่อยๆหมดไปจากโลก ทุกค่ายรถยนต์ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด GM ถูกรัฐบาลกลางผลักดันให้ต้องให้ความสนใจต่อรถยนต์ประหยัดพลังงาน เมื่อทุกค่ายรถยนต์ของอเมริกันเองต้องยอมรับแนวทางของรัฐบาลที่จะทำให้รถยนต์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2025 หรืออีก 13 ปีข้างหน้า จะต้องมีประสิทธิภาพการใช้พลังงานเทียบเท่ากับ 50 ไมล์ต่อแกลลอน หรือประมาณ 20 กิโลเมตรต่อลิตร ในทางทฤษฎีและแนวโน้มเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ในอดีตไม่เคยได้ทำ เพราะบริษัทค่ายรถยนต์เป็นฝ่ายครอบงำตลาดมาตลอด แต่เมื่อการแข่งขันสูงขึ้น และทางเลือกเหลือน้อยลง GM ก็ต้องมีการปรับตัวเหมือนกับทุกบริษัท
เหตุผลที่การเปลี่ยนแปลงทำให้คนมีอำนาจ
ในศตวรรษที่ 21 จัดได้ว่าเป็นศตวรรษที่เป็นโลกของเทคโนโลยีใหม่ มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีใหม่ ไม่ว่าจะเป็นทางชีวภาพ วัสดุศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและข้อมูลข่าวสาร ประเทศใดครอบครองเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ก็ย่อมมีความได้เปรียบ และสิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้คนบางส่วนมีอำนาจ ซึ่งมีเหตุดังต่อไปนี้
1. คนมีอำนาจนั้นมักจะได้แก่คนที่ในช่วงวัยหนุ่มสาวได้แสดงให้เห็นความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ในการแสดงออกบางอย่าง โดยผ่านรูปแบบของเขา
2. สังคมให้อำนาจเพื่อการเปลี่ยนแปลง เพราะหิวกระหายที่จะได้รางวัลจากความใหม่
3. อำนาจจะเติบโตได้เมื่อมันยืดหยุ่นและไร้รูปแบบ
4. การทำตนให้ไม่มีรูปแบบ (Formless) นั้น ไม่ใช่หมายความว่าเป็นไม่มีตัวตนเสียเลยทีเดียว ทุกสิ่งล้วนมีรูปแบบ แต่เพียงรูปแบบนั้นๆจะออกมาในรูปแบบใด ที่ทำให้ไม่สามารถสังเกตุได้ง่าย
5. อำนาจจะมีลักษณะไร้รูปแบบ เหมือนกับน้ำหรือปรอท แท้จริงมันมีรูปแบบเหมือนภาชนะที่บรรจุมัน
6. การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ทำนายได้ยาก (Unpredictability)
7. คนมีอำนาจนั้นสร้างรูปแบบใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา และอย่างสม่ำเสมอ บริษัทต่างๆจะเจริญและพัฒนาอยู่ได้ ก็คือต้องมีการพัฒนาสิ่งใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา ลองยกตัวอย่าง บริษัท Google ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการระบบสืบค้นผ่านอินเตอร์เน็ตที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ก็ผันตัวเองไปสู่ การผลิตซอฟแวร์ให้กับคอมพิวเตอร์ที่มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งเพื่อใช้ใน SmartPhone, Tablet PC, Netbook, ฯลฯ และเมื่อเติบใหญ่แล้ว ก็สามารถเข้าไปแข่งในตลาดฮาร์ดแวร์ โดยในระยะแรกอาศัยความร่วมมือกับบริษัทอื่นๆ
8. อำนาจมาจากความรวดเร็ว (Rapidity) ที่เขาจะปรับเปลี่ยนไปได้มากเท่าที่เขาจะทำ ยกตัวอย่างเทคโนโลยีการสื่อสาร เมื่อ 10-15 ปีก่อน เราจะยังนึกไม่ออกว่า เครื่องคอมพิวเตอร์แบบ Tablet PCs นั้นจะมีความจำเป็นในการใช้สอยอย่างไร
9. ความที่ไร้ตัวตน ฝ่ายศัตรูมองไม่เห็น และไม่รู้ว่าเผชิญกับอะไร จึงไม่สามารถโจมตีได้อย่างถนัด
สรุป
โลกในศตวรรษที่ 21 เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว องค์การที่เราเห็นเฟื่องฟูในวันหนึ่ง แต่อีกเพียง 10 ปีให้หลัง องค์การเหล่านั้นอาจได้สูญหายตายจากไปแล้ว ส่วนองค์การที่จะดำรงอยู่ได้นั้น ไม่ใช่ว่าใหญ่ที่สุด จะดีที่สุด แต่บางทีหมายถึงอาจจะใหญ่หรือเล็กก็ได้ แต่ต้องมีความคล่องตัว ปรับเปลี่ยนได้ เพื่อความอยู่รอด
ความไม่ติดยึด ไม่ตายตัวคือความอยู่รอด รัสเซียประสบความสำเร็จในการโค่นล้มระบบกษัตริย์ และดำรงอยู่ได้เพียงช่วงหลายทศวรรษ แต่เพราะการมีโครงสร้างการบริหารประเทศที่แข็งกระด้าง ตายตัว และท้ายสุดไม่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน จึงต้องล่มสลายไปภายในช่วงเวลาไม่ถึง 1 ศตวรรษ
โครงสร้างขององค์การเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น กฏเกณฑ์ต่างๆก็เช่นกัน เมื่อถึงเวลาจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อการพัฒนาและเพื่อความอยู่รอด ทุกสิ่งทุกอย่างต้องปรับเปลี่ยนได้ และเปลี่ยนได้เร็วอย่างทันการณ์ อย่างพร้อมและเข้าใจในความจำเป็นที่จะต้องตอบสนอง มิฉะนั้นก็จะไม่ทันกาลที่จะทำให้ดำรงอยู่ได้