Saturday, September 24, 2011

กฎข้อที่ 42 จัดการกับคนเลี้ยงแกะแล้วจึงดำเนินการกับแกะ

กฎข้อที่ 42 จัดการกับคนเลี้ยงแกะแล้วจึงดำเนินการกับแกะ

ประกอบ คุปรัตน์Pracob Cooparat
E-mail: Pracob@sb4af.org

ศึกษาและเรียบเรียงจาก “กฎการใช้อำนาจ 48 ข้อ” The 48 Laws of Power”, 1998 โดย Robert Greene and Joost Elffers.

Keywords: Power48, Administration, การบริหาร, management, การจัดการ, power, อำนาจ

ความนำ

Strike the Shepherd and the Sheep will Scatter.
จัดการกับคนเลี้ยงแกะและฝูงแกะจะกระจัดกระจาย

Shepherd = คนเลี้ยงแกะ, พระสอนศาสนา, สุนัขเลี้ยงแกะ, อันหมายถึงผู้นำคนอื่นๆ

ความยุ่งยากมักจะเกิดจากคนนำเพียงส่วนน้อย เป็นคนก่อเหตุที่ทำให้งานไม่บรรลุผล จึงมีความเชื่อว่าหากปล่อยให้คนเหล่านี้ยังลอยนวลอยู่ก็จะทำให้ส่งอิทธิพลต่อคนอื่นๆ จึงไม่รอให้ความยุ่งยากเหล่านี้เกิดขึ้น โดยการต้องกำจัดคนนำนี้เสีย ในการเมืองและความสับสนของยุโรปยุคกลาง คือการทำอย่างไรที่จะทำให้คนนำดังกล่าวหมดไป จึงเป็นไปด้วยการลอบสังหาร การจับกุมคุมขัง แยกเขาออกจากกลุ่ม การเนรเทศ หรืออะไรก็ตามที่ทำให้คนนำเหล่านี้ไม่สามารถกลับมานำได้อีก

ในสงครามกองโจร เขามีหลักว่า เมื่อต้องหนี ก็จะลอบโจมตีฝ่ายที่ติดตามมาคนแรกก่อน และหากลอบโจมตีคนนำหน้าจนเป็นที่ล่ำลือ ท้ายสุดจะไม่มีใครกล้าเป็นคนนำหน้า และฝ่ายคนตามก็จะยิ่งไม่มีใครอยากจะตามมา

ในกระบวนการมาเฟีย (Mafia) กลุ่มอาชญากรรม ขบวนการผิดกฎหมาย จึงมีการเด็ดชีพหัวหน้าฝ่ายตรงกันข้าม แล้วลูกน้องทั้งหลายก็จะแตกกลุ่ม ไม่สามารถรวมตัวได้ติด

ในกระบวนการทางการเมือง เมื่อการต่อสู้ทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น หัวหน้าพรรคและแกนนำจะต้องเป็นคนรับหน้าการโจมตีทั้งปวง ทั้งเรื่องนโยบาย ความซื่อสัตย์ ความจริงจัง ฉลาด กล้าหาญ หรือขลาดกลัว ในทางส่วนตัว ก็จะโดนโจมตีเช่นกัน ดังนั้นหากมองกลับกัน หากใครอยากจะเป็นใหญ่ รับหน้าที่ ก็ต้องอดทน อดกลั้น พร้อมที่จะรับการโจมตีนานาประการอย่างมียุทธศาสตร์ และเมื่อถูกโจมตี ก็แสดงความเรามีความสำคัญ และฝ่ายตรงกันข้ามตระหนักในความจริงข้อนี้

อัล คาโปน

ในกลุ่มอาชญากรรมก็มีหลักในการจัดการกับฝ่ายตรงกันข้าม



ภาพ อัล คาโปน (Al Capone)

อัล คาโปน มีชื่อเต็มว่า Alphonse Gabriel "Al" Capone เกิดเมื่อวันที่ 17 มกราคม ค.ศ. 1899 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 1947 เป็นหัวหน้ากลุ่มอาชญากรรมชาวอมริกัน เป็นผู้นำในยุคอันธพาลและอาชญากรครองเมือง ไม่ส่งเสริมการดื่มเหล้า ควบคุมการจำหน่ายเหล้า (Prohibition-era) และเป็นช่วงที่อาชญากรสามารถค้าเหล้าเถื่อนอย่างเป็นขบวนการ (Crime syndicate) อัล คาโปนมีถิ่นประกอบการแถบเมืองชิคาโก (The Chicago Outfit) แก๊งของเขารู้จักกันในนาม “กลุ่มคาโปน” ซึ่งหากินกับการค้าของเถื่อน เหล้าเถื่อน และกิจกรรมผิดกฎหมาย ซึ่งรวมถึงการค้าโสเภณี (prostitution) ในแถบเมืองชิคาโกในสหรัฐอเมริกาในช่วงปีค.ศ. 1920s ถึงปี ค.ศ. 1931


อัล คาโปนเกิดในเขตบรูคลินในเมืองนิวยอร์ค จากครอบครัวชาวอิตาลีอพยพ คาโปนเกี่ยวข้องกับแก๊งอาชญากรรมตั้งแต่วัยเด็ก ในวัย 14 ปี เขาถูกให้ออกจากโรงเรียน พออายุได้ 20 ปี เขาย้ายจากนิวยอร์คไปอยู่ที่เมืองชิคาโก และได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับแก๊งอาชญากรรมทำกิจกรรมนอกกฎหมายต่างๆ รวมถึงการติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ การค้าโสเภณี แต่แม้เขาจะมีกิจกรรมนอกกฎหมาย แต่อัล คาโปนกลับเป็นคนทำตนให้คนได้เห็นเป็นข่าวได้รับรู้ เขาบริจาคเงินให้กับสาธารณกุศลโดยใช้เงินจากที่หาได้จากอาชญากรรมของเขา จนทำให้คนมองว่าเขาเป็น “โรบินฮูดในยุคใหม่” (modern-day Robin Hood)
คาโปนถูกวิจารณ์ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ในวันแห่งความรัก (Saint Valentine's Day Massacre) ซึ่งปรปักษ์ของเขา 7 คนถูกสังหารพร้อมกันอย่างอุกอาจและเฉียบพลัน รัฐบาลกลางโดยหน่วยงานสอบสวนกลาง (FBI) พยายามหาทางจัดการกับเขาในส่วนที่เกี่ยวกับงานอาชญากรรม แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ง่ายนัก ด้วยไม่สามารถหาหลักฐานหรือไม่มีใครอยากเป็นพยายาน จนในที่สุดฝ่ายปราบปรามได้ใช้ช่องทางฟ้องเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงภาษี (tax evasion) จนทำให้ศาลตัดสินจำคุกเขาได้ในที่สุด โดยเขาถูกจองจำอยู่ที่คุกของรัฐบาลกลางที่ Alcatraz ในช่วงท้ายของชีวิต เขาป่วยด้วยโรคซิฟิลิสขึ้นสมอง (Neurosyphilis) อันเป็นผลมาจากการที่เขาได้รับเชื้อกามโรคมาตั้งแต่วัยรุ่น ในวันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 1947 เขาเสียชีวิตลงด้วยหัวใจล้มเหลว (Cardiac arrest)

สงครามยาเสพติดในเมกซิโก

ในยุคปัจจุบัน ยาเสพติดแพร่หลาย มีประเทศอเมริกาเหนือและยุโรปเป็นแหล่งรับซื้อและกระจายยาเสพติด กระทำกันอย่างเป็นขบวนการ ส่วนประเทศผู้ผลิต และขบวนการค้ายาก็แพร่ขยายไปทั่วโลก และมีผลเกี่ยวเนื่องกับฝ่ายการเมือง


ในประเทศเมกซิโกอันมีชายแดนกว้างขวางติดกับสหรัฐอเมริกาตอนใต้ กำลังมีสงครามยาเสพติด (Mexican Drug War) เป็นความขัดแย้งต่อสู้กันด้วยการใช้อาวุธสงครามระหว่างกลุ่มค้ายาเสพติด (Drug cartels) ที่ต่อสู้กันเอง และกับฝ่ายกองกำลังของรัฐบาลที่ต้องการจะปราบปรามเส้นทางค้ายาเสพติดนี้
กลุ่มอาชญากรค้ายาเสพติดนั้นมีมานานหลายทศวรรษแล้ว แต่หลังการตายของเจ้าพ่อค้ายาเสพติดใหญ่ในกลุ่ม Cali และ Medellín ในโคลัมเบียได้เสียชีวิตในช่วงปีค.ศ. 1990s กลุ่มค้ายาก็ได้กลายเป็นกลุ่มผูกขาดตลาดค้ายาใหญ่ในสหรัฐ การพยายามจับกุม Tijuana และกลุ่ม Gulf cartels ยิ่งนำไปสู่การต่อสู้ที่รุนแรง เพื่อหวังควบคุมเส้นทางค่ายาไปสู่ตลาดในสหรัฐ


กระทรวงยุติธรรมสหรัฐประมาณว่ามีการค้ายามูลค่าระหว่าง 13,000 ถึง 48,400 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และการค้ายานี้ได้มีการลักลอบนำเงินกลับเข้ามาในเมกซิโกโดยอาศัยรถยนต์และรถบันทุกที่ข้ามชายแดนสู่เมกซิโก ซึ่งเป็นผลจากการที่สหรัฐใช้กระบวนการติดตามเงินทางอิเลคโทรนิกส์อย่างได้ผล การค้าจึงเน้นไปที่เงินสดที่ต้องมีการส่งกันจริงๆมากขึ้น



ภาพ การต่อสู้กับฝ่ายอาชญากรค้ายาเสพติด เจ้าหน้าที่ต้องใส่เกราะป้องกันกระสุน ใช้อาวุธปืนยิงเร็ว และใส่หน้ากากเพื่อพรางตัวจากฝ่ายอาชญากร


ภาพ สำหรับคนที่สงสัยว่าจะเป็นสายให้เจ้าหน้าที่ หรือไปเข้ากับฝ่ายตรงกันข้าม ก็จะถูกกำจัด แล้วทิ้งศพไว้เพื่อสร้างความหวาดกลัวสำหรับคนอื่นๆ ในการค้ายาเศพติด มักไม่มีใครอยากเป็นพยานให้กับตำรวจ


ภาพ สงครามปราบปรามยาเสพติดในเมกซิโก การเข้าปราบปรามยาเสพติดในสลัม ต้องเตรียมพร้อมด้วยรถหุ้มเกราะ และอาวุธสงครามพร้อมมือ และในจำนวนมากพอที่จะต่อสู้ ไม่ต่างอะไรจากการเข้าสู่สงคราม

ในช่วงปี ค.ศ. 2006 จนถึงปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิตดังนี้

· เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 1,000+ คน
· ทหารเสียชีวิต 138 คน
· นาวิกโยธินเสียชีวิต 14 คน
· เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลาง 318 คน
· ผู้สื่อข่าวเสียชีวิต 58 คน
· เด็กๆเสียชีวิต~1,000 คน


มีผู้ต้องสงสัย 121,199 คน ถูกจับกุมและควบคุมตัว แต่มีจำนวนเพียง 8,500 ถูกตัดสินลงโทษ และในการต่อสู้มีทั้งอาชญากรและชาวบ้านที่ต้องเสียชีวิตจากการต่อสู้และความรุนแรงที่รุนแรงยิ่งขึ้นทุกวัน

· 62 คนถูกสังหารในปี ค.ศ. 2006
· 2,837 คนถูกสังหารในปี ค.ศ. 2007
· 6,844 คนถูกสังหารในปี ค.ศ. 2008
· 9,635 คนถูกสังหารในปี ค.ศ. 2009
· 15,273 คนถูกสังหารในปี ค.ศ. 2010


รวมทั้งสิ้น 39,392 คนถูกสังหารในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 2006ธันวาคม ปี ค.ศ. 2010

ฮาเฟ อัล อัสซาด แห่งซีเรีย


ภาพ ฮาเฟส อัล อัสซาด (Hafez al-Assad)


ฮาเฟส อัล อัสซาด (Hafez al-Assad - Arabic: حافظ الأسدḤāfiẓ al-Asad) เกิดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1930 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 2000 เป็นประธานาธิบดี (President) ของประเทศซีเรีย (Syria) 3 ทศวรรษ อัสซาดสามารถรวบรวมอำนาจของรัฐบาลกลางหลังจากประเทศได้มีการรัฐประหารและต่อต้านรัฐประหารหลายครั้ง การปกครองของเขาใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ แต่ก็นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงสู่สมัยใหม่ ดังเช่นเรื่องการให้สิทธิสตรีที่เท่าเทียมกับชายในสังคม


อัสซาดพยายามนำประเทศเขาเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม และเปิดสู่ระบบตลาดเสรี โดยลงทุนในด้านโครงสร้างสาธารณูปโภค การศึกษา การสาธารณสุข และการก่อสร้างในเขตเมือง มีการปรับปรุงด้านการอ่านออกเขียนได้ การสำรวจและค้นพบน้ำมัน และการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ


แต่ขณะเดียวกัน ได้รับคำวิพากษ่ว่าใช้การปกครองแบบกดขึ่ประชาชนของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคำสั่งสังหารหมู่ Hama massacre ในปี ค.ศ. 1982 ซึ่งจัดได้ว่าเป็นการกระทำโหดที่สุดโดยรัฐบาลใดๆในอาหรับที่กระทำต่อประชาชนของตนเองในตะวันออกกลาง กลุ่มสิทธิมนุษยชนได้ออกมาเปิดเผยว่า มีคนหลายพันคนได้ถูกสังหารเพราะการเป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาลของอัสซาด



ภาพ บาชาร์ อัล อัสซาด (Bashar al-Assad)

เมื่อเขาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 2000 บุตรชายของเขา คือบาชาร์ อัล อัสซาด (Bashar al-Assad) ได้รับการสืบทอดอำนาจเป็นประธานาธิบดีคนต่อมา การนำและการปกครองในแบบของอัสซาดยังเป็นการโต้แย้งกันอีกมาก และในยุคต่อมาที่ปกครองโดยประธานาธิบดี บาชาร์ อัล อัสซาด ผู้เป็นบุตรชายก็ประสบปัญหาความขัดแย้งรุนแรงในช่วงการลุกฮือของฝ่ายต่อต้านที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในประเทศอาหรับที่เรียกว่า “ฤดูใบไม้ผลิแห่งอาหรับ” (Arab Spring) และดูไม่มีท่าที่จะยุติ

การหาคนก่อความวุ่นวาย (Hell Raisers) ให้พบ

ในโลกของความขัดแย้งและการเอาชนะกันแบบเด็ดขาดนั้น ไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้องทางจริยธรรมการบริหาร

ในสถานการณ์สู้รบ การต่อสู้ที่ใช้ความรุนแรง การกำจัดคนที่ก่อความวุ่นวายนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็นและกระทำกันอยู่ และด้วยเหตุดังกล่าว ในประวัติศาสตร์ไทย พม่าก็อยากที่จะกำจัดคนอย่างสมเด็จพระนเรศวร หรือพระยาตาก ซึ่งต่อมาคือพระเจ้าตากสิน แต่เขามีแนวคิดการกำจัดคนในลักษณะที่จะก่อให้เกิดความวุ่นวายได้อย่างไร ลองติดตาม

สำหรับฝ่ายต้องการปราบปรามหัวหน้าผู้ก่อความวุ่นวาย เขากระทำดังนี้

1. ประการแรก ต้องรู้ว่าผู้ก่อความวุ่นวายคือใคร ทั้งนี้โดยการสังเกตลักษณะของเขา และการที่เขาแสดงอาการกระด้างกระเดื่อง
2. เมื่อท่านพบผู้ก่อความวุ่นวายแล้ว ไม่ต้องปล่อยให้เขาปรับตัวหรือปฏิรูป หรือไปเอาใจเขา เพราะมันจะทำให้สิ่งต่างๆยิ่งเลวร้ายยิ่งขึ้น
3. อย่าโจมตีเขาเหล่านี้โดยตรง เพราะโดยธรรมชาติแล้ว คนเหล่านี้มีพิษสงทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงต้องใช้วิธีการใต้ดิน เพื่อจัดการกับเขา หรือมิฉะนั้น เขาก็จะใช้วิธีการใต้ดินที่จะทำลายท่าน
4. ใช้วิธีการเหมือนดังในสงคราม คือขับไล่หรือจัดการกับเขาก่อนที่จะสายเกินไป
Banish = กริยาขับไล่, กำจัด, ขับไล่ไสส่ง, เนรเทศ, ไล่
5. แยกเขาออกจากกลุ่ม ก่อนที่เขาจะกลายเป็นศูนย์กลางของวังวนแห่งปัญหา
Whirlpool = นามวังวน, น้ำวน, สิ่งที่ดูดอย่างน้ำวน
6. อย่าให้เวลาเขาที่จะกระตุ้นความกังวลในหมู่คน และหว่านเม็ดพืชแห่งความขัดแย้งให้ขยายวงออกไป
7. อย่าให้พื้นที่เขาเคลื่อนไหว ให้เขาต้องเดือดร้อนเพียงคนเดียว ดีกว่าให้ที่เหลือทั้งหมดได้อยู่อย่างสงบสุข
8. เมื่อแยกคนก่อกวนออกจากกลุ่มได้ ก็ให้ชี้ไปยังคนอื่นๆในกลุ่ม เพื่อให้ได้เห็นและตระหนักในสิ่งที่เป็นไป ดังลักษณะที่เรียกว่า “เชือดไก่ให้ลิงดู”
9. การทำความเข้าใจเกี่ยวกับพลภาพของกลุ่มก่อความวุ่นวายนับว่าเป็นความสำคัญยิ่ง เพราะลักษณะกลุ่มไม่ได้มีการหยุดนิ่ง มันอาจขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีการเคลื่อนไหว เปลี่ยนที่ทาง หรืออาจกำลังประสบปัญหาบางด้าน
10. คนก่อกวนมักจะแอบอยู่กับกลุ่ม ซ่อนการกระทำของเขาอยู่ข้างหลังคนอื่นๆ

สรุป

ในการต่อสู้ทางการเมืองซึ่งในบางครั้งได้ก้าวเข้าสู่สถานการณ์สงคราม หรือสงครามกลางเมือง ความรุนแรงจะยิ่งขยายแผ่กว้างยิ่งขึ้น การต่อสู้ไม่ใช่เรื่องความผิดถูก แต่จะเป็นทำอย่างไรจึงจะชนะในสงครามและยุติความขัดแย้งนั้นๆ

ในสงครามการปราบปรามยาเสพติด (Wars against drugs) บางประเทศใช้วิธีการที่ไม่เลือกว่าถูกหรือผิดกฎหมาย แต่ทำอย่างไรจึงจะจัดการกับกลุ่มอาชญากรรมค้ายาเสพติด ซึ่งอาจรวมถึงการฆ่าตัดตอน หรือวิสามัญฆาตกรรม โดยฝ่ายอาชญากรเสียชีวิตจากการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ในการดำเนินการในลักษณะเช่นนี้ จึงไม่มีการใช้ระบบศาลเพื่อตัดสินความผิดถูก และไม่ได้คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ประเทศเมกซิโก บราซิล และหลายประเทศในอเมริกาใต้ ตลอดจนประเทศไทยก็กำลังประสบปัญหาอาชญากรรมค้ายาเสพติด ที่ได้ขยายตัวออกไป และเพิ่มความรุนแรงในการดำเนินการ

ในบทนี้จึงไม่สรุปในแง่ความผิดความถูกในด้านศีลธรรม แต่เปิดเพื่อการอภิปรายกันในหมู่ผู้เรียนและผู้ศึกษา ว่าในสังคมไทยเรานั้น จะมีแนวทางในการจัดการกับปัญหากันอย่างไร ส่วนข้อมูลที่นำเสนอนี้ อย่างน้อยเป็นเพื่อให้เข้าใจปรากฏการณ์ “Strike the Shepherd and the Sheep will Scatter” หรือ “จัดการกับคนเลี้ยงแกะและฝูงแกะจะกระจัดกระจาย

No comments:

Post a Comment