Friday, September 2, 2011

กฎข้อที่ 18 อย่าสร้างกำแพงปกป้องตนเอง

กฎข้อที่ 18 อย่าสร้างกำแพงปกป้องตนเอง

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail:
Pracob@sb4af.org

ศึกษาและเรียบเรียงจาก “กฎการใช้อำนาจ 48 ข้อThe 48 Laws of Power”, 1998 โดย Robert Greene and Joost Elffers.

Keywords: power48, Administration, การบริหาร, management, การจัดการ, power, อำนาจ

Do Not Build Fortresses to Protect Yourself – Isolation is Dangerous
อย่าทำตัวเองแบบอยู่รอดอย่างโดดเดี่ยว อย่าตัดขาดการสื่อสารกับคนอื่นๆเขา

คำอธิบายคือ โลกนี้อันตรายและมีศัตรูในทุกที่ ทุกคนจึงต้องปกป้องตนเอง และการสร้างป้อมปราการนั้นดูจะเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด แต่นั่นอาจเป็นการคิดผิด การต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวนั้นกลับเป็นอันตรายมากกว่าที่จะปกป้องตัวท่าน เพราะมันตัดท่านออกจากข้อมูลอันมีค่า มันทำให้ท่านเป็นที่เฝ้ามองและเป็นเป้าหมายที่ง่ายที่สุด ดังนั้นทางที่ดีคือให้พบปะผู้คน หาพันธมิตร และปะปนไปกับผู้คน จะทำให้ท่านมีที่กำบังจากศัตรูด้วยมีคนที่ห้อมล้อม

ในโลกปัจจุบัน คนบางคนมีนิสัยทำตัวสันโดษ ไม่พึ่งคนอื่นๆ และไม่เป็นที่พึ่งให้กับใคร มีงานมีหน้าที่อะไรก็ทำไปตามนั้น การทำตัวอย่างสันโดษ ไม่ยุ่งกับใคร ไม่พึ่งใคร นั่นไม่ใช่วิสัยของนักบริหารและคนจะเป็นผู้นำ

คนบางคนพอสร้างฐานะร่ำรวย ก็ซื้อบ้านใหญ่ สร้างรั้วรอบหวังว่าจะไว้ปกป้องโจรผู้ร้าย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทำให้ตนเองและครอบครัวอยู่รอดปลอดภัย หลายคนก็จะพบปัญหาผู้ร้ายลักพาตัวได้อีก หลายคนที่ร่ำรวยมากๆ ก็มีคนหวังคบค้ามีสัมพันธ์กับลูก ก็จะทำให้กลัวว่าจะมีคนมาปอกลอก หลอกลูกชายหรือลูกสาวของตนเองอีก

ภาพ Great Wall ในประเทศจีน เริ่มต้นสร้างในสมัยกษัตริย์จิ๋นซี ฮ่องเต้ โดยหวังว่ากำแพงที่สูงและแข็งแรงนี้จะปกป้องจีนให้รอดพ้นจากพวกฮวนนั้ง หรือพวกคนป่า

ภาพ บ้านแบบจีนโบราณ เป็นบ้านคหบดี มีประตูแน่นหนา มีกำแพงสูงที่แข็งแรง ไว้ป้องกันโจรผู้ร้าย

ภาพ กำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall) ที่ปัจจุบันยังถูกเก็บไว้เป็นอนุสรณ์บางส่วน แต่ส่วนใหญ่ได้ถูกทำลายไปแล้ว เมื่อช่วงสหภาพโซเวียตล่มสลาย

ภาพ กำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall) ที่เรียกกันว่าเป็น “เส้นแห่งความตาย” เป็นรั้วกั้นระหว่างเบอร์ลินตะวันตก และเบอร์ลินตะวันออกของโซเวียต ช่วงก่อนปี ค.ศ. 1989 ที่ระบบสังคมนิยมแบบโซเวียตได้ล่มสลายลง กำแพงเบอร์ลินก็ถูกทำลายลงไป

กำแพงถูกใช้เพื่อป้องกันการหลบหนีของชาวเยอรมันฝั่งคอมมิวนิสต์ตะวันออกสู่ฝั่งตะวันตก เพื่อแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่เปิดกว้างมากกว่า

ทัศนคติหนึ่งคือการมองเห็นคนในโลกที่เป็นศัตรู มีความน่ากลัว จึงมีการสร้างกำแพงบ้าน กำแพงเมืองเพื่อปกป้อง และสร้างความรู้สึกปลอดภัยและแยกตนเองออกจากสังคม แต่ประวัติศาสตร์บอกว่า การสร้างกำแพง ไม่ว่าจะเป็นกำแพงเมืองจีน ปราสาทในยุโรป หรือบ้านแบบจีนโบราณ หรือกำแพงเบอร์ลิน หรือสร้างถ้ำหรืออุโมงค์อยู่ใต้ดิน เหล่านี้ล้วนมีไว้เพื่อปกป้องตนเองจากสภาพแวดล้อมที่ดูน่ากลัว แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ตนเองโดดเดี่ยว ตัดตนเองออกจากโลกภายนอก ทำให้ไม่ได้รับรู้ข้อมูลอันจำเป็น ไม่มีเพื่อนภายนอก ท้ายสุดทำให้ตนเองอ่อนแอ และโดดเดี่ยว ง่ายต่อการถูกทำลาย

ในที่สุดทั้งคน ชุมชน และประเทศ ก็จะพบความจริงว่า ความอยู่รอดปลอดภัยที่ดีนั้น คือการมีสัมพันธ์ของตนเอง ชุมชน และประเทศของตนกับสภาพแวดล้อม คนต้องมีเพื่อน เพื่อนบ้านที่ดีเป็นรั้วที่ดี ในระดับชุมชน ความสัมพันธ์ของชุมชนนั้นๆ กับชุมชนอื่นๆ และกับสังคมประเทศ คือปัจจัยความปลอดภัยที่สำคัญ และในระดับประเทศ นโยบายการต่างประเทศ การเป็นมิตรกับประเทศเพื่อนบ้าน มีความสำคัญยิ่งกว่าการไปสร้างกำแพงปกป้องตนเอง หรือการสะสมอาวุธร้ายแรงไว้ป้องกันประเทศ เพราะฝ่ายหนึ่งสะสมอาวุธ ฝ่ายเพื่อนบ้านก็จะเกิดความระแวงแล้วสะสมอาวุธแข่งขัน

รัชกาลที่ 5

ภาพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่
5 ทรงมีพระนามเต็มว่า Phra Bat Somdet Phra Poramintharamaha Chulalongkorn Phra Chunla Chom Klao Chao Yu Hua (Thai: พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว), หรือ รัชกาลที่ 5 (Rama V) ประสูติเมื่อวันที่ 20 กันยายน ค.ศ. 1853 สวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 1910 นับเป็นกษัตริย์องค์ที่ 5 ของราชวงศ์จักรี (House of Chakri)

ในทัศนะของนักประวัติศาสตร์ไทย พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่ง ไม่ใช่ในฐานะนักรบ แต่ในฐานะผู้ทรงนโยบายยืดหยุ่น รักษาอธฺปไตยของชาติไว้ได้ด้วยหลายนโยบาย เช่น การทำประเทศให้ทันสมัย การพัฒนาระบบราชการ การปฏิรูปสังคม การใช้การฑูตและการเจรจาเพื่อรักษาประเทศให้รอดพ้นจากยึดเป็นอาณานิคมของอังกฤษ (British Empire) และ (French Indochina) ฝรั่งเศส

สิ่งที่พระองค์ทำ คือทำตนเองให้แข็งแกร่งมีความเป็นประเทศที่เป็นหนึ่ง ไม่แตกแยก เมื่อต้องเผชิญหน้ากับอาณานิคม ยอมเสียส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่ และแทนที่จะตั้งรับ ก็รุกในทางการทูต คบชาติยุโรปและอเมริกาเหนือ ทั้งต้อนรับประมุขต่างประเทศในสยาม และทั้งเสด็จประพาสยุโรป เพื่อทั้งสร้างสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ เพื่อถ่วงดุลอำนาจ และเพื่อเรียนรู้จากเขา

ภาพ นั่งแถวหน้า จากซ้ายไปขวา องค์มกุฎราชกุมารแห่งสยาม, Tsarevich Nicholas Aleksandrovich แห่งรัสเซีย รัชกาลที่ 5, Grand Duke George Aleksandrovich พระอนุชาของ Tsarevich, เจ้าฟ้า Chaturanta Rasmi พระอนุชาของรัชกาลที่ 5 ภาพนี้ถ่ายเมื่อ Tsarevich เสด็จเยี่ยมสยามในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1891 ถ่ายที่พระที่นั่งฤดูร้อนที่บางปะอิน อยุธยา

ภาพ รัชกาลที่ 5 ถ่ายภาพร่วมกับพระเจ้าซาร์ Tsar Nicholas II ที่เมือง Saint Petersburg ในประเทศรัสเซีย เมื่อเสด็จประพาสยุโรปครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 1897

No comments:

Post a Comment