Friday, September 23, 2011

กฎข้อที่ 41 อย่าสรวมรองเท้าผู้ใหญ่

กฎข้อที่ 41 อย่าสรวมรองเท้าผู้ใหญ่

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail:
Pracob@sb4af.org

ศึกษาและเรียบเรียงจาก “กฎการใช้อำนาจ 48 ข้อThe 48 Laws of Power”, 1998 โดย Robert Greene and Joost Elffers.

Keywords: Power48, Administration, การบริหาร, management, การจัดการ, power, อำนาจ

ความนำ

Avoid Stepping into a Great Man’s Shoes
หลีกเลี่ยงการสรวมรองเท้าผู้ยิ่งใหญ่

หากเราเป็นคนที่ต้องเข้ารับตำแหน่งต่อจากคนที่มีชื่อเสียงและมีผลงานต่างๆ ไว้มากมาย ความคาดหวังจะติดตัวตามมาด้วยว่าต้องทำให้ได้เหมือนคนก่อนหน้านั้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นความกดดัน แทนที่จะทำงานหรือหน้าที่นั้นๆ ได้ดี กลับกลายเป็นกระวนกระวายและเครียดจนทำงานนั้นๆ ไม่ได้อย่างที่ควรจะมีศักยภาพที่จะทำ

เด็กบางคนมีพ่อแม่ที่เรียนหนังสือเก่ง เป็นแพทย์หรือวิศวกร เป็นนักวิชาการที่มีความสามารถ ก็ต้องไม่ไปคาดหวังว่าลูกจะเดินตามรอยพ่อแม่ได้ดังนั้น ต้องปล่อยให้เด็กๆ ได้เติบโตเป็นไปตามธรรมชาติของเขาเอง กล่าวคือ ต้องไม่สรวมรองเท้าผู้ใหญ่ ต้องเป็นตัวของตัวเอง ลดความกดดัน และทำงานหรือรับผิดชอบไปตามหน้าที่นั้นๆ อย่างที่เป็นไปตามศักยภาพของตน มีดำเนินชีวิตให้มีความหมายตามที่ใจตนเองปรารถนา

แล้วเราจะไม่ไปสรวมรองเท้าของพ่อได้อย่างไร

คำว่าพ่ออาจมิได้หมายถึงพ่อที่แท้จริง แต่อาจหมายถึงคนที่เขามีอำนาจในตำแหน่งหน้าที่นั้น และมีการส่งต่อตำแหน่งหน้าที่และความรับผิดชอบมาถึงท่าน และท่านก็ยังต้องพิจารณาอยู่ดีว่าจะไม่ไปหลงกลกับการสรวมรองเท้าผู้ใหญ่ได้อย่างไร

ภาพ อเลกซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great)

1. ทำดังอเลกซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) คือละทิ้งอดีต สร้างอาณาจักรใหม่ของตนเอง ปล่อยให้ภาพของ “พ่อ” เป็นอดีต และแล้วเป็นตัวของตัวเอง

ภาพวาด อเลกซานเดอร์ในยุคใหม่ ฉายแววของการเป็นนักรบผู้อาจหาญ

ภาพ อเลกซานเดอร์ ที่ปรากฏในฝาผนังที่ทำเป็นศิลปะแบบกระเบื้อง Mosaic

รูปปั้น อเลกซานเดอร์ที่เป็นหินอ่อนแกะสลัก

อเลกซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) หรือ อเลกซานเดอร์ที่สามแห่งมาเซดอน (Alexander III of Macedon) เกิดเมื่อวันที่ 20/21 กรกฎาคม ปีที่ 356 ก่อนคริสตกาล และเสียชีวิตในวันที่ 10/11 มิถุนายน 323 ปีก่อนคริสตกาล เป็นกษัตริย์แห่งมาเซดอน อันเป็นรัฐทางเหนือของกรีก (Greece) โดยในวัยเพียง 30 พรรษา ได้เป็นนักรบที่แผ่ขยายอาณาจักรให้กว้างใหญ่จากทะเลไอโอเนียน (Ionian Sea) ไปจนจบเทือกเขาหิมาลัย (Himalayas) พระองค์ไม่เคยพ่ายแพ้ในสงคราม และจัดว่าเป็นผู้นำทัพที่ประสบความสำเร็จที่สุดตลอดกาล

อเลกซานเดอร์มีเพื่อนร่วมรุ่นที่เติบโตมาพร้อมกัน ได้ฝึกวิชาทหารและเรียนรู้เติบโตมาด้วยกัน และเมื่อเขามีอำนาจ เขาอาศัยกำลังจากเพื่อนร่วมรุ่นที่รู้ใจ แทนที่จะไปพึ่งกองทัพของพระบิดา ซึ่งยังมีคนที่ไม่จงรักษ์ภักดีต่อเขาอยู่ เขามีเพื่อนที่รู้ใจเข้าใจในความคิดและรู้ในขีดความสามารถ

ภาพวาด อเลกซานเดอร์กำลังได้รับการศึกษาจากอริสโตเติล (Aristotle) ในแบบตัวต่อตัว

อีกสิ่งที่อเลกซานเดอร์ได้จากประสบการณ์ที่มากกว่าจากพระบิดา คือการได้ครูผู้ยิ่งใหญ่ เป็นปราชญ์อย่างอริสโตเติล (Aristotle)

2. หากเริ่มต้นที่ศูนย์ไม่ได้ ก็เป็นการโง่เขลาที่จะปฏิเสธทรัพย์สมบัติ ท่านอาจเริ่มต้นที่ศูนย์ในทางจิตวิทยา คือทำใจเป็นกลางเหมือนเราไม่ได้รับทรัพย์สมบัติหรือมรดกตกทอด แล้วเริ่มคิดอย่างเป็นอิสระ คือให้เลือกที่จะรับบางอย่าง และสิ่งใดที่ไม่ดี หรือหมดคุณค่าก็สามารถเลิกได้

ยกตัวอย่าง การเริ่มไปรับงานการเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่มีชื่อเสียง ดังเป็นตำแหน่งอธิการบดี นั่นเป็นสิ่งที่ดีที่จะต้องเข้าใจสิ่งดีๆที่มีอยู่แล้ว เช่น ชื่อเสียงเกียรติคุณ คณาจารย์ ทร้พย์สิน และเงินกองทุนของมหาวิทยาลัย แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมองหาสิ่งที่มหาวิทยาลัยมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไป เช่น ทิศทางของมหาวิทยาลัยในอนาคต วิทยาการใหม่ การก้าวสู่ความเป็นนานาชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับอนาคตใหม่ เพราะในโลกวิชาการย่อมมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการแข่งขันกันสูง

3. สละทิ้งน้ำหนักที่ติดมากับอดีต และเริ่มทิศทางใหม่ (New directions) ในอดีตไม่ว่าจะทำมาดีอย่างไร แต่อนาคตเป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลง คนที่จะยืนอยู่เฉยๆ แล้วมองว่าสิ่งต่างๆที่ทำมานั้นถูกต้อง อาจเท่ากับได้เดินถอยหลัง

คำว่าน้ำหนักที่มีติดมากับอดีต เช่นอาจจะเป็นกำลังคนที่เกินความจำเป็น ปัญหาที่ยังคาใจกันอยู่ด้วยความเกรงใจ วิกฤติที่ยังไม่มีใครแก้ไข และไม่มีใครกล้าเปลี่ยนแปลง แนวคิดหนึ่งที่จะเป็นประโยชน์สำหรับหน่วยงานในการปรับโครงสร้าง คือแนวคิด “Lean and Mean” คือให้มีความเบาตัวที่สุด และเข้มแข็งดุดันที่สุด

ABB เป็นบริษัทข้ามชาติที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมือง Zürich ประเทศ Switzerland โดยมีธุรกิจหลักคือพลังงาน (power) และเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ (Automation technology) ปัจจุบันเป็นบริษัทข้ามชาติที่มีอันดับใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 143 ของโลก ตามการจัดของนิตยสารโฟร์บส์ (Forbes Ranking) ในปี ค.ศ. 2010

ABB จัดเป็นกลุ่มบริษัททางด้านวิศวกรรมและจัดเป็นประเภทกลุ่มบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของโลกแห่งหนึ่ง โดยมีกิจการใน 100 ประเทศ มีคนทำงานประมาณ 130,000 คน มีรายได้ต่อปีที่ 31,600 ล้านเหรียญตามการรายงานในปี ค.ศ. 2010 แต่การที่เขาเติบใหญ่มาได้จนปัจจุบันนี้ เขาผ่านวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรปและในโลกมาหลายครั้ง มีการปรับโครงสร้าง ทั้งยุบรวมบริษัทเข้าด้วยกัน ปรับโครงสร้างให้แต่ละจุดทำงาน (Profit Centers) มีความเป็นอิสระ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน และในที่ใดที่กิจการไม่สามารถแข่งขันได้ ก็มีการปรับโครงสร้าง ยุบกิจการในส่วนที่ไม่มีอนาคตลงเสีย ในขณะเดียวกันในที่ใดในโลกที่มีโอกาสในทางธุรกิจที่เขามีความถนัด เขาก็เข้าไปลงทุนดำเนินการในเขตเหล่านั้น ซึ่งรวมถึงในสหรัฐอเมริกาด้วย

4. ตระหนักถึงสิ่งที่อเลกซานเดอร์ได้เตือน คืออภิสิทธิ (Privilege) ที่ได้มาแต่เกิดจะเป็นอุปสรรคสู่อำนาจ เพราะเมื่อก้าวสู่อำนาจนั้น ท่านไม่ได้ฝึกตนเองให้มีความสามารถได้เทียบเท่ากับคนก่อนหน้าท่าน ท่านรับอภิสิทธิมาอาจด้วยชาติกำเนิด แต่ไม่ได้รับความสามารถนั้นๆมาด้วย

การที่อเลกซานเดอร์ก้าวสู่อำนาจนั้นไม่ใช่โรยด้วยกลีบกุหลาบ เขาต้องสร้างอาณาจักรของเขา และฝ่าฟันเพื่อรับราชบัลลังค์ต่อจากพระบิดา และหลายแหล่งประวัติศาสตร์สงสัยว่าเขาเป็นผู้กำจัดพระบิดา เพื่อเข้าครอบครองอำนาจแทน

จุดอ่อนของระบบกษัตริย์ดังที่เป็นปัญหาในประวัติศาสตร์ยุโรป คือกษัตริย์ที่สืบทอดอำนาจจากพระบิดา แต่ไม่มีความสามารถที่จะทำหน้าที่ผู้นำได้อย่างที่คาดหวัง และท้ายสุดเกิดความหวั่นไหวทั้งภายในแบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่า ส่วนศัตรูภายนอกที่เคยสวามิภักดิ์ก็เกิดความกระด้างกระเดื่อง ซึ่งโดยหลักแล้ว กษัตริย์ทุกพระองค์ที่จะก้าวสู่อำนาจนั้น ต้องพิสูจน์ตนเองว่ามีความสามารถ มีอำนาจและบารมีเพียงพอที่จะรับผิดชอบบริหารบ้านเมืองได้หรือไม่

ภาพ อเลกซานเดอร์ได้รับการศึกษาจากครูผู้ยิ่งใหญ่ คือ อริสโตเติล (Aristotle)

ในประเทศไทย รัชกาลที่ 5 ทรงสืบราชสมบัติในช่วงที่บ้านเมืองมีความเสี่ยงต่อการถูกยึดเป็นอาณานิคมของตะวันตก แต่สิ่งที่พระองค์ได้รับประการหนึ่ง คือการเตรียมตัวทางด้านการศึกษา ดังเช่น การศึกษาที่เข้าใจในความเป็นไทย พระองค์ทรงได้รับการศึกษาเบื้องต้นในสำนักพระเจ้าอัยยิกาเธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา ทรงได้การศึกษาภาษาเขมรจากหลวงราชาภิรมย์ ทรงได้การศึกษาการยิงปืนไฟจากพระยาอภัยเพลิงศร วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2404 สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมที่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ [2]

ในทางศาสนา พ.ศ. 2409 พระองค์ทรงผนวชตามราชประเพณี ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ภายหลังจากการทรงผนวช

ในอีกด้านหนึ่ง การศึกษาเพื่อความเข้าใจในโลก พระองค์ได้รับความรู้ในภาษาอังกฤษและโลกตะวันตกจากครูพี่เลี้ยงชาวต่างชาติ คนหนึ่งคือ แอนนา ลิโอโนเวนส์ (Anna Leonowens) ผู้เกิดในวันที่ 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 1831 และเสียชีวิตในวันที่ 19 มกราคม ค.ศ. 1915 ซึ่งเป็นครูชาวอังกฤษมีเชื้อสายลูกครึ่งอินเดีย ซึ่งเป็นนักเขียน นักท่องเที่ยว นักการศึกษา และเป็นนักรณรงค์ทางสังคม ผู้ซึ่งเข้ามาทำงานในสยามในช่วงปี ค.ศ. 1862 ถึงปี ค.ศ. 1868 ซึ่งในช่วงดังกล่าวเธอได้รับงานสอนให้กับบรรดาราชวงศ์ฝ่ายในและโอรสของพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4

ในสังคมไทยฝ่ายราชการไม่ได้ให้การยอมรับบทบาทของเธอด้วยนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ของเธออันเกี่ยวกับราชสำนักในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่เขียนโดย Margaret Landon ที่เป็นหนังสือขายดีไปทั่วโลกชื่อ Anna and the King of Siam ซึ่งปรากฏเป็นภาพยนตร์หลายเรื่อง ละครเพลงที่ทำสถิติแสดงยาวนานที่สุด และชุดเพลงของ Rodgers and Hammerstein ในนำเสนอในช่วงปี ค.ศ. 1951 และภาพยนตร์และละคอนเรื่อง The King and I

ภาพ แอนนา ลิโอโนเวนส์ (Anna Leonowens)

แต่โดยรวม ครูแอนนา ที่ได้มีส่วนในการสอนภาษาและเปิดให้ราชวงศ์ไทยได้เข้าใจในวัฒนธรรมของโลกตะวันตก ย่อมเป็นสิ่งที่จำเป็น และแนวคิดก้าวหน้าอย่างที่เธอได้แสดงหรือเขียนนั้น ไม่ว่าจะเป็นสิทธิสตรี สิทธิมนุษยชน และการศึกษา ย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สังคมกำล้งเปลี่ยนอย่างไทยในยุคนั้นพึงได้รับ

ภาพ โฆษณาภาพยนตร์ King and I แสดงโดย Yul Brynner และ Deborah Kerr แสดงเป็น แอนนา เป็นภาพยนตร์เพลงอัมตะเรื่องหนึ่งของฮอลลิวูด

5. อย่าเมตตาต่ออดีต เพียงเพราะพ่อและพ่อของพ่อได้กระทำมาอย่างนั้น แต่ให้เริ่มจากความสำเร็จที่เป็นของตนเองได้เสียตั้งแต่แรกๆ รัชกาลที่ 5 (Rama V)

ตัวอย่าง คือรัชกาลที่ 5 จากข้อมูล Wikipedia ส่วนภาษาไทย

ภาพ รัชกาลที่ 5 (King Chulalongkorn)

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (Phra Bat Somdet Phra Poramintharamaha Chulalongkorn Phra Chunla Chom Klao Chao Yu Hua) เป็นพระมหากษัตริย์สยาม รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์วงศ์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอังคาร เดือน 10 แรม 3 ค่ำ ปีฉลู 20 กันยายน พ.ศ. 2396 เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ 1 ในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เสวยราชสมบัติ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 15 ค่ำ ปีมะโรง (พ.ศ. 2411) รวมสิริดำรงราชสมบัติ 42 ปี [1] เสด็จสวรรคต เมื่อวันเสาร์ เดือน 11 แรม 4 ค่ำ ปีจอ (23 ตุลาคม พ.ศ. 2453) ด้วยโรคพระวักกะ รวมพระชนมพรรษา 57 พรรษา

ผู้คนมักออกพระนามว่า "ปิยมหาราช" แปลว่า ราชายิ่งใหญ่ผู้ทรงเป็นที่รัก และว่า "พระพุทธเจ้าหลวง"

สิ่งแรกที่รัชกาลที่ 5 ทรงดำเนินการก่อนอื่น คือเรื่อง “เงิน”

เมื่อรัชกาลที่ 5 ได้ครองราชย์นั้นสิ่งที่พระองค์ปฏิรูปก่อนอื่น คือการวางระบบจัดเก็บภาษี โดยให้มี หอรัษฎากรพิพัฒน์ (the Auditory Office ) ที่มีลักษณะเป็นสถาบัน เพื่อแทนระบบจัดเก็บภาษีแบบบรรดาเจ้านายพระราชวงศ์จัดเก็บกันเองอย่างลักลั่นที่ทำให้เกิดความขัดแย้งกันเองระหว่างภายใน ซึ่งมีระบบวังหน้าและวังหลัง ซึ่งมีมาแต่สมัยรัชกาลที่ 4 พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (King Mongkut) ซึ่งวังหน้าในสมัยนั้นมีการจัดเก็บภาษีมากถึงหนึ่งในสามของแผ่นดิน และนอกจากนี้เจ้านายฝ่ายวังหน้าก็เป็นพวกสนิทชิดชอบกับคนอังกฤษ ในขณะที่จักรวรรดิอังกฤษกำลังแผ่ขยายและเป็นศัตรูกับประเทศสยาม (Siam) หรือไทยในขณะนั้น

6. คนที่อ่อนแอเท่านั้นที่จะอาศัยพึ่งพิงและพักอยู่กับความสำเร็จในอดีต เรื่องของอำนาจไม่เคยได้มีเวลาพัก ท่านจะต้องก้าวต่อไป และไม่หยดยั้ง

โฟล์คเต่า (VW Beetle)

ภาพVolkswagen Beetle รุ่นปี 1949 ผลิตหลังสงครามโลกครั้งที่สองในเยอรมันนี

ในประวัติศาสตร์ยานยนต์ต้องบันทึกถึงรถยนต์ของเยอรมันแห่งยุคสมัยรุ่นหนึ่ง คือ Volkswagen Type 1 ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “โฟล์คเต่า” (Volkswagen Beetle หรือ Volkswagen Bug) เป็นรถยนต์รุ่นประหยัดที่ผลิตโดยบริษัทผลิตรถยนต์เยอรมัน Volkswagen (VW) ที่ได้ผลิตรถยนต์นี้อย่างต่อเนื่องในช่วงปี ค.ศ. 1938 จนถึงปี ค.ศ. 2003 เป็นจำนวนทั้งสิ้นกว่า 21 ล้านคัน

ภาพ ระบบวางเครื่องด้านหลัง ระบายความร้อนด้วยน้ำ ไม่ใช้หม้อน้ำ

รถรุ่นดังกล่าวเป็นการออกแบบอย่างล้ำหน้าของรุ่น กล่าวคือ ระบายความร้อนด้วยอากาศ (air-cooled) ทำให้ไม่ต้องไปกังวลในขณะนั้นว่าน้ำในหม้อน้ำจะแข็งตัวหรือไม่ เพราะไม่มีหม้อน้ำ (Radiator) ระบายความร้อน เป็นรถที่วางเครื่องไว้ด้านหลัง (rear-engined rear-wheel drive configuration) และขับเคลื่อนด้วยล้อหลัง ส่วนรูปทรงที่เป็นแบบเหมือนเต่า หรือแมลงเต่าทอง ก็ทำให้มีลักษณะพลอากาศที่ดี ไม่ต้านลม มี 2 ประตู แต่ก็มีที่นั่งหลังให้คนตัวไม่โต เช่นเด็กๆ หรือสตรีนั่งได้ รวม 4-5 คน ที่สำคัญคือเป็นรถยนต์ราคาถูกประหยัดน้ำมัน เพราะใช้เครื่องยนต์ขนาดไม่ใหญ่

ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่จนไม่กล้าเปลี่ยน

รถโฟล์คเต่าประสบความสำเร็จ ผลิตตั้งแต่ปี ค.ศ. 1938 จนถึงปี ค.ศ. 2003 รถนี้ประสบความสำเร็จมากจนกระทั่ง บริษัทไม่ได้ลงแรงอย่างจริงจังในการปรับเปลี่ยนไปสู่เทคโนโลยีใหม่ เช่นในระยะหลัง เทคโนโลยีด้านน้ำยาที่ใช้เป็นของเหลวระบายความร้อนที่ทนอากาศหนาวได้ดีโดยไม่เป็นน้ำแข็ง ระบบหม้อน้ำที่ทำได้ดีทนทาน กะทัดรัดไม่เปลืองพื้นที่ และตลอดรถยนต์ในเอเซียและที่อื่นๆในโลกที่มีความร้อนมากกว่าในยุโรป ต้องการระบบปรับอากาศ แต่รถโฟล์คเต่าไม่มีที่วางสำหรับระบบระบายความร้อน

ภาพ Dr. (h.c.) Ferdinand Porsche ผู้ออกแบบรถโฟล์เต่า ระบบวางเครื่องด้านหลัง

ข้อเสียของบริษัท VW คือพักผ่อนติดอยู่กับรถรุ่นโฟล์คเต่านานเกินไป ประกอบกับยังมีแฟนพันธุ์แท้ที่ชอบรถโฟล์คในแบบดั่งเดิมอยู่มาก การเปลี่ยนแปลงของบริษัทฯ จึงเป็นไปอย่างช้า เมื่อเทียบกับรถยนต์ของญี่ปุ่นอย่าง Toyota, Nissan, Honda, Mazda ฯลฯ ที่ผลิตได้มีคุณภาพมากขึ้น ราคาไม่แพง จนทำให้ครองตลาดรถยนต์ประหยัด (Economy cars) ในเอเชีย สหรัฐอเมริกา และทั่วโลกในระยะเวลาต่อมา รถยนต์ของบริษัท VW จึงต้องไปเปิดตลาดในรถยนต์ราคาสูง กลายเป็นรถหรูที่มีราคา และตลาดที่แคบกว่าเดิม

ภาพ VW Beetle รุ่นผลิตในเมกซิโก ปี 2003

ภาพ VW Beetle รุ่นปี 2011-2012

No comments:

Post a Comment