Monday, September 5, 2011

กฎข้อที่ 22. ยอมแพ้ เปลี่ยนจุดอ่อนให้กลายเป็นอำนาจ

กฎข้อที่ 22. ยอมแพ้ เปลี่ยนจุดอ่อนให้กลายเป็นอำนาจ

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail:
Pracob@sb4af.org

ศึกษาและเรียบเรียงจาก “กฎการใช้อำนาจ 48 ข้อThe 48 Laws of Power”, 1998 โดย Robert Greene and Joost Elffers.

Keywords: power48, Administration, การบริหาร, management, การจัดการ, power, อำนาจ

Use the Surrender Tactic: Transform Weakness into Power
หากรู้ว่าเมื่อรบก็จะแพ้ ก็ยอมแพ้อย่างมียุทธศาสตร์ อย่าสู้จนย่อยยับไปในที่สุด

ในทางธุรกิจ บางครั้งทางเลือกที่ดีที่สุดในบางกิจการ คือการรีบยอมแพ้และปิดโครงการ ก่อนที่จะต้องเสียหายไปมากกว่านั้น

ในเกมกีฬา มีเกมชนไก่ เมื่อไก่ฝ่ายแพ้เสียท่า ถูกจิกตีอย่างไม่มีทางสู้ ฝ่ายเจ้าของก็อาจรีบจับไก่แสดงการยอมแพ้เสีย ดีกว่าจะปล่อยให้ไกถูกตีจนตาย เพราะหากไก่ไม่บอบช้ำมาก วันหลังเมื่อแข็งแรงแล้ว ก็ยังกลับมาสู้ในเวทีได้อีก การยอมแพ้โดยหลักเลี่ยงการเจ็บหนักนี้เขาเรียกว่า จับไก่


ปารีสอยู่รอดได้
ภาพ หอไอเฟล (Eifel Tower) สัญญลักษณ์ของกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศฝรั่งเศสยอมแพ้ต่อเยอรมัน ไม่เหมือนกับอังกฤษ ทั้งนี้ เพื่อยังเก็บรักษา บ้านเมืองไว้ไม่ให้บอบช้ำจนเกินไป และขณะเดียวกัน ก็จะมีฝ่ายต่อสู้ในรูปแบบสงครามกองโจร และต่อสู้แบบสงครามใต้ดิน จนในที่สุดก็ปลดแอกจากการอยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายนาซีเยอรมัน


Douglas MacArthur ถอยเพื่อจะได้กลับมาสู้

ภาพ นายพลแมคาเธอร์ (Douglas MacArthur)

หลังจากที่กองทัพสหรัฐต้องยอมถอยจากฟิลิปปินส์ในปี ค.ศ. 1942 นายพล Douglas MacArthur ต้องรีบออกจากฟิลิปปินส์ไปพร้อมคำว่า “I shall return.” หรือ “แล้วข้าพเจ้าจะกลับมา” และในที่สุดเขาก็ได้กลับมารบในภูมิภาคนี้และนำชัยชนะมาในที่สุด

ภาพ “ข้าพเจ้ากลับมาแล้ว” นายพลแมคาเธอร์ได้กลับสู่ฟิลิปปินส์พร้อมกับประธานาธิบดี Sergio Osmena ทางฝั่งขวา และ Sutherland ทางด้านซ้ายของเขา

ภาพ Douglas MacArthur ได้ลงนามในสัญญายอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขโดยกองทัพของญี่ปุ่น บนเรือรบหลวง USS Missouri ในวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945

ไม่ว่าจะเป็นเกมกีฬา การรบ การทำธุรกิจ มีวันแพ้ก็มีวันชนะ

เมื่อรู้แน่ว่าเราอ่อนแอกว่า ก็จงอย่าไปต่อสู้เพื่อเกียรติยศ แต่ยอมแพ้เสียหากทำได้ การยอมแพ้ทำให้มีเวลาที่จะฟื้นตัว หรือทำให้ไม่ต้องถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง ในทางธุรกิจ บางครั้ง เมื่อไม่สามารถดำรงธุรกิจอยู่ได้ ก็ให้รีบดำเนินการตัดสินใจเลิกอย่างเป็นระบบเสีย ยังจะได้เก็บรักษาทรัพย์สมบัติบางส่วนไว้เริ่มธุรกิจใหม่ แต่ถ้าพยายามจะยื้อธุรกิจนั้นต่อไป อาจจะทำให้ล้มชนิดไม่มีโอกาสกลับมาทำธุรกิจใหม่ได้อีกเลย

ตัวอย่างเรื่องเล่าเกี่ยวกับ Voltaire

ภาพ ภาพวาดเหมือนของวอลแตร์ (Voltaire)

François-Marie Arouet
เกิดเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 1694 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1778 มีชื่อนามปากกาที่รู้จักกันในนาม “วอลแตร์” (Voltaire) เป็นนักเขียนที่เกิดในช่วงฟื้นฟูของฝรั่งเศส (French Enlightenment) เป็นนักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงฐานะว่ามีไหวพริบในการนำเสนอสิทธิเสรีชน (civil liberties) รวมทั้งเสรีภาพในการนับถือศาสนา และเสรีภาพในทางการค้า วอลแตร์เป็นนักเขียนที่มีผลงานละครเวที โคลงฉันท์ นวนิยาย ข้อเขียนความเรียง และงานทางวิทยาศาสตร์ เขาเขียนจดหมายที่บันทึกในประวัติศาสตร์กว่า 20,000 ฉบับ มีหนังสือและแผ่นปลิวกว่า 2,000 รายการ

ครั้งหนึ่งวอลแตร์เมื่อลี้ภัยอยู่ในกรุงลอนดอน ซึ่งมีบรรยากาศของการต่อต้านฝรั่งเศสสูงมาก วันหนึ่งเมื่อเขาเดินไปตามถนน เขาพบว่าตัวเองถูกห้อมล้อมด้วยฝูงชนที่กำลังเดือดดาล “แขวนคอมันเสีย แขวนคอไอ้ฝรั่งเศสนี้” ฝูงชนที่โกรธจัดตะโกน วอลแตร์เมื่อได้ยินก็ตอบฝูงชนด้วยสติที่นิ่งว่า “ท่านชาวอังกฤษทั้งหลาย ท่านหวังว่าจะฆ่าผมเพราะผมเป็นคนฝรั่งเศส ผมไม่ได้ถูกลงโทษเพียงพอแล้วหรือที่ไม่ได้เกิดเป็นคนอังกฤษ” ฝูงชนเมื่อได้ยินวาจาของวอลแตร์ก็ส่งเสียงเฮด้วยความพอใจ แล้วก็พากันเดินไปส่งวอลแตร์ยังที่พักอย่างปลอดภัย

No comments:

Post a Comment