Friday, September 23, 2011

กฎข้อที่ 40 ระวังของฟรี

กฎข้อที่ 40 ระวังของฟรี

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail:
Pracob@sb4af.org

ศึกษาและเรียบเรียงจาก “กฎการใช้อำนาจ 48 ข้อThe 48 Laws of Power”, 1998 โดย Robert Greene and Joost Elffers.

Keywords: Administration, การบริหาร, management, การจัดการ, power, อำนาจ

ความนำ

Despise the Free Lunch
ระวังของฟรี

ในโลกนี้ไม่มีของฟรี และอันที่จริงของฟรีเป็นอันตราย

ลองเข้าไปดูในระบบอินเตอร์เน็ต มีคนเสนอของฟรีมากมาย เช่นบอกว่า ขอแสดงความยินดี ท่านได้รับสิ่งของต่อไปนี้ ขอให้ติดต่อกลับไป และเมื่อลองติดต่อกลับไป จะพบว่ามันไม่ใช่ของฟรี เช่นบอกต่อไปว่า ท่านจะได้รับเงินจำนวนเท่านี้ หากท่านทำสิ่งต่อไปนี้ให้เขา และรวมถึงต้องนำเงินใส่เข้าบัญชีต่อไปนี้เป็นเงินนับพัน เพื่อจะได้รับเงินนับล้าน เป็นต้น และถ้าเราหลงตาม ก็จะถูกหลอก

นอกจากนี้ เรายังพบว่า บางครั้งของถูกหรือของให้ฟรี แท้ที่จริงก็กลายเป็นค่าใช้จ่ายที่ตามมาอีกมาก เช่น มีคนบริจาคที่ดินให้กับรัฐบาล และรัฐบาลก็มีนโยบายว่าการรับบริจาคที่ดินเพื่อประโยชน์ทางการศึกษานั้นมาก่อนที่จะต้องไปซื้อหา แต่ในข้อเท็จจริงคือ ที่ดินที่ได้รับบริจาคนั้นอยู่ห่างไกลจากถนน เขาบริจาคที่ดินเพื่อรัฐบาลกลางหรือท้องถิ่นต้องทำถนนมูลค่าหลายล้านบาท หรือหลายสิบล้านบาทเข้ายังที่ดินนั้น ซึ่งเขาจะได้รับประโยชน์จากที่ดินที่มีมูลค่าเพิ่มอีกมากมาย

การรับบริจาคที่ดินเพื่อใช้ทำเป็นสถานที่ราชการ

ของฟรีที่กลายเป็นของแพง

ในช่วงที่มีความพยายามสร้างเมืองราชการขึ้นในหลายๆจังหวัด จึงมีเหตุผลว่าศาลากลางจังหวัดที่มีอยู่นั้นมีขนาดอาคารและสถานที่เล็กและคับแคบเกินไป อยู่ในบริเวณที่แออัด และไม่สามารถขยายพื้นที่ได้ด้วยติดขัดด้วยผังเมืองแบบเดิม จึงมีความพยายามที่จะย้ายศาลากลางจังหวัด ตลอดจนส่วนราชการต่างๆของจังหวัดไปอยู่ในสถานที่ๆใหญ่ขึ้น สามารถวางระบบถนนและสาธารณูปโภคได้อย่างสะดวก

มีหลายแห่งที่ทำแล้วประสบความสำเร็จในแง่เกิดเมืองใหม่ที่มีการวางระบบต่างๆที่ทันสมัย มีถนนหนทางตัดใหม่ที่ขนาดกว้างขวาง สามารถทำให้คนที่มาติดต่อราชการเดินทางมาได้สะดวก แต่มีหลายจังหวัดที่สถานที่ตั้งของศาลากลางจังหวัดนั้น ไปอยู่ในที่ไม่เหมาะทั้งด้วยระบบถนนที่คับแคบ ไปอยู่ปลายถนนทางตัน (Dead end) ถนนสู่ศาลากลางมีขนาดเล็ก สถานที่ตั้งอยู่กลางทุ่งนา อยู่ไกลชุมชนเมืองไปนับหลายกิโลเมตร ทั้งนี้มีเหตุผลเพียงแต่ว่าได้ที่ดินบริจาคจากเอกชน แตค่าใช้จ่ายในการสร้างทางนั้นมีค่าใช้จ่ายมาก และที่สำคัญ เป็นความลำบากอย่างยิ่งที่จะให้ชาวบ้านไปติดต่อราชการได้อย่างสะดวกในสถานที่ปลายทางอย่างนั้น และจะเป็นปัญหาที่สืบเนื่องไปอีกยาวนาน

เอาลูกกุ้งล่อปลากะพง

การเจรจาธุรกิจในช่วงแรก ไม่ควรไปผูกติดหรือพึ่งพา ต้องให้เป็นอิสระต่อกันก่อน

การเจรจาธุรกิจ เขามีธรรมเนียมของการต่างคนต่างออกค่าใช้จ่ายในส่วนที่เกี่ยวข้องไปก่อน หรือทำให้ช่วงการเจรจาไม่ก่อให้เกิดรายจ่ายต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จนกว่าจะได้ข้อตกลงทางธุรกิจที่สมบูรณ์แล้ว ระหว่างช่วงการเจรจานี้ หลายอย่างจะเป็นความลับที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องร่วมกันรักษา แต่หากเจ้าหน้าที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับผลประโยชน์จากอีกฝ่ายเป็นการส่วนตัว แต่ทำให้ฝ่ายตนเสียประโยชน์ นั่นย่อมเป็นความเสียประโยชน์ขององค์กรใหญ่ สังคม หรือประเทศชาติ ในลักษณะนี้เขาจึงเรียกว่า “การติดสินบน” (Bribery)

นักธุรกิจจะรู้ดีว่า การนำของเล็กๆน้อยๆไปให้กับคนบางคน ก็ทำให้มีผลการตัดสินใจของอีกฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะในองค์กรขนาดใหญ่ที่ไม่มีการตรวจสอบความโปร่งใสที่ดีพอ โอกาสที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐแอบรับผลประโยชน์เป็นการส่วนตัว แล้วทำให้ผลประโยชน์ของระบบราชการโดยรวมเสียหาย

ในอีกด้านหนึ่งสำหรับฝ่ายที่ต้องการผลในท้ายสุด การใช้เงินจ่ายเพื่อเปิดทางนับว่าเป็นเรื่องได้ผลที่คุ้มค่าของเขา ดังการให้ของขวัญที่เหมาะสม ทำให้ฝ่ายรับต้องรู้สึกว่ามีความจำเป็นต้องตอบแทน การทำใจดี ทำให้ฝ่ายตรงข้ามต้องอ่อนลง ทำให้ได้รับความชื่นชม ทำให้คนลดการวิพากษ์วิจารณ์ลง และทำให้การดำเนินการในส่วนใหญ่ๆได้รับผลสำเร็จด้วยดี

ในทางยุทธศาสตร์ การใช้ความมั่งคั่ง เสน่ห์ การทำให้อีกฝ่ายได้สนุกสนานทำให้เกิดพันธมิตรที่เพิ่มมากขึ้น

ระวังอย่าให้ตัวเองต้องไปหลงเหยื่อ เข้าข่ายสถานการณ์ดังต่อไปนี้

อย่าเป็นปลาหิวเหยื่อ

ปลาตะกละ (The Greedy Fish) นั้นงับทุกอย่าง รวมทั้งเหยื่อที่เขาเอาเบ็ดติดมาด้วย

ในทางการเมืองและธุรกิจ คนจะเลือดเย็น คนที่ไปรับประโยชน์จากเขาแล้ว ในที่สุดก็จะถูกปัดออกไป จะทำงานร่วมกับเขาระยะยาว ก็จะยาก เพราะคนที่เคยรับสินบนท่าน เคยให้ประโยชน์ท่าน เขาสามารถดัดหลังท่าน หรือทำให้ท่านต้องถลำไปในการทำสิ่งที่ผูกพันลึกเข้าไปอีก แต่เมื่อใดที่ไม่มีประโยชน์ต่อเขา ท่านก็จะเป็นเบื้ยตัวหนึ่งที่ถูกกำจัดออกไปได้

ในอีกทางหนึ่ง ไม่มีใครอยากทำงานกับปลาตะกละ และยิ่งคบกันนานๆ จะยิ่งพบว่าคบเป็นเพื่อนใกล้ชิดไม่ได้

หากจะต้องทำงานด้วยระยะยาว ให้หลีกเลี่ยงคนที่เป็นปลาตะกละที่กินทุกอย่าง เพราะเขาก็จะหาทางเล่นบทที่จะแสวงหาประโยชน์จากท่าน

อย่าต่อรองกับปีศาจ

ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “ปีศาจชอบต่อรอง” (Bargaining demon) คนมีอำนาจมักตัดสินทุกอย่างที่คำนวณออกมาเป็นค่าใช้จ่ายได้ ไม่เพียงในด้านตัวเงิน แต่รวมถึงเวลาที่เสีย ศักดิ์ศรี และความสงบสุขในใจ

แต่มีสิ่งที่ปีศาจต่อรองไม่ได้ คือ การเสียเวลาในการเจรจาต่อรอง เพราะเขาจะกังวลว่าเขายังมีที่อื่นๆที่สามารถต่อรองได้ด้วยค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า

แต่สิ่งที่เขาเจรจาต่อรองได้ มักจะเป็นของที่มีปัญหา อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อการซ่อมแซม หรือต้องซื้อหามาทดแทนใหม่ในเวลาอันสั้น เพราะของไม่ดีมักพังเร็วกว่าของดีที่มีราคาแพงกว่า

ค่าใช้จ่ายที่ต้องติดตาม มักไม่ใช่ในเรื่องตัวเงินเพียงอย่างเดียว แม้บางทีราคาที่ตั้งไว้นั้นอาจเป็นเรื่องลวงตาอย่างมาก แต่เพราะเวลาและความสงบสุขในใจมักทำให้คนเลือกที่จะต่อรองกับปีศาจ แล้วทำให้ต้องเสียหายมากในภายหลัง

อย่าให้นิสัยชอบของถูกเป็นเหมือนโรคระบาด ราชการไทยเองมีปัญหาในเลือกการประมูลได้ของถูก เพราะให้คำตอบได้ง่ายๆ แต่ผลเสียที่ตามมานั้นไม่มีคนอื่นๆที่รับรู้ในเวลานั้นๆ แต่หากซื้อของที่แพงกว่า คนมักจะสงสัยว่ามีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง ต้องมีใครได้ประโยชน์ไปจากการซื้อของหรือบริการที่มีราคาสูงเหล่านั้น

ตัวอย่างแชร์ลูกโซ่

อย่าไปหลงเชื่อผลประโยชน์ที่อธิบายเหตุผลไม่ได้

ตัวอย่าง พวกนี้จะใช้เงินหรือเรื่องเกี่ยวกับเงินเป็นเครื่องล่อ ดังเช่น ทำให้ท่านเชื่อได้ว่า เงินก้อนใหญ่กำลังรออยู่ และเงินที่เขาจะให้นั้น เขาจะใช้เหตุผลที่ทำให้ท่านเชื่อว่าเรื่องที่เขานำเสนอนั้นเป็นเรื่องจริง

ยกตัวอย่างที่เขาหลอกล่อในลักษณะ “แชร์ลูกโซ่” ให้ผลประโยชน์ตอบแทนเดือนละ 5-10 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ท่านนำเงินไปฝากธนาคารจะได้ดอกเบี้ยเพียงปีละ 3-4 เปอร์เซ็นต์ และในช่วงที่นำเงินไปให้เขาทำประโยชน์นี้ เขาก็ส่งดอกให้อย่างสม่ำเสมอ จนท่านต้องนำเงินไปฝากลงทุนเพิ่มเติม มันเป็นแช่ลูกโซ่ เพราะท่านเองก็รอดูว่าเงินที่ไปลงทุนนั้นให้ผลตอบแทนได้จริงหรือไม่ มีรายได้มาสม่ำเสมอหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น มีเงินที่อื่นๆ ก็จะได้นำมาลงทุนกับเขาเพิ่มเติม แต่เมื่อเขาได้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์คนแห่นำเงินมาลงทุนกับเขา สิ่งที่ตามมาคือ เขาจะล้มลงอย่างไม่เป็นท่า หรือไม่ก็เก็บของหายตัวไป โดยไม่สามารถตามตัวได้ เหลือไว้ให้เจ้าหนี้ที่ถูกหลอกเอาเงินไปนับหลายร้อยหรือแม้แต่หลายพันล้านบาท

พวกซาดิสต์

พวกซาดิสต์ หรือ Sadistic personality disorder บุคลิกภาพโหดร้าย ทำให้คนถูกกระทำตกต่ำ มีความก้าวร้าวที่เริ่มเป็นมาตั้งแต่เด็ก และแสดงให้เห็นบุคลิกภาพนี้อย่างซ้ำแล้วซ้ำอีก

พวกซาดิสต์ทางการเงิน (Financial sadists) เป็นพวกเล่นกับเกมอำนาจโดยใช้เงินเป็นเครื่องล่อ เพราะเขามองว่าเงินซื้อได้ทุกอย่าง

ยกตัวอย่าง เมื่อท่านเห็นงานที่มีรายได้ มีเงินเดือนสูง ท่านเข้าไปทำงานด้วยหวังรายได้ โดยแม้แต่จะไม่รู้ว่างานที่เขาให้ทำนั้นเป็นงานอะไรแน่ แต่พวกซาดิสต์ทางการเงินนี้จะใช้ท่านอย่างหัวปักหัวปำ เพราะเขาเห็นว่าได้จ้างท่านด้วยค่าจ้างที่แพงแล้ว เขามีสิทธิจะใช้ท่านให้ทำงานอย่างที่ต้องการได้ทุกเรื่อง คนพวกนี้บางทีทำงานไม่เป็น ได้แต่สร้างความโกลาหลในหน่วยงาน

พวกซาดิสต์ไม่มีความรู้สึกสุภาพอ่อนโยนในเรื่องเกี่ยวกับการเงิน หรือจิตใจของคน

หากท่านโชคดีพอ หากจะทำงานกับคนพวกนี้ บางทีก็ต้องยอมรับความสูญเสียหรือโอกาสทางการเงิน รีบตีจาก ดีกว่าที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับเกมอำนาจของพวกเขาที่จะนำเขาไปสู่หายนะที่รุนแรง

ผู้ให้ที่ไม่รู้จักจำแนก

ผู้ให้ที่ไม่รู้จักจำแนก (The Indiscriminate Giver)

คนบริจาคที่ไม่รู้จักจำแนก มักเป็นพวกที่เคยขาดแคลนความรักความชอบมา เขาต้องการความรักและความชื่นชมจากทุกคนและต้องการอย่างไม่จำกัด

ภาพความเป็นคนใจดีมีเมตตาทำให้มีอำนาจ คืออำนาจในการให้ มันดึงดูดคน เป็นการสร้างพันธมิตร แต่การให้นั้นก็ต้องเป็นการให้อย่างมียุทธศาสตร์ว่าให้เพื่ออะไร แต่การให้อย่างไม่เลือกสรรนอกจากจะทำให้ไม่ได้ประโยชน์แล้ว อาจเป็นการส่งสัญญาณผิดๆ กลายเป็นผลลบและเป็นภาระในระยะต่อๆไป

ภาพ ประเพณีทำบุญเทกระจาด มีคนมารอรับของบริจาคจำนวนมาก

ยกตัวอย่าง เศรษฐีในชุมชนแห่งหนึ่ง เมื่อร่ำรวยขึ้นมา จึงทำบุญที่วัดโดยวิธีการเทกระจาด คือป่าวประกาศให้คนยากจนในระแวกนั้นมารับของบริจาค โดยวางแผนว่าจะมีมีข้าวสาร 10 กิโลกรัม อาหารแห้งที่เก็บไว้ได้มูลค่าสัก 300 บาท รวมต่อครอบครัวจะได้รับของมูลค่าประมาณ 500-600 บาท กะว่าจะบริจาคสัก 300 ราย แต่เพราะทางวัดไม่ได้สื่อสารให้ดีพอ จึงป่าวประกาศไปทั่วและรู้กันล่วงหน้าหลายวัน ถึงวันจะทำบุญ ชุมชนข้างเคียงก็มีคนแห่มารับบรจาครวมนับเป็นพันๆคน เกินกว่าที่จะบริจาคมากมาย แล้วเจ้าภาพจะทำอย่างไร จะบริจาคให้ทุกคนก็จะเป็นค่าใช้จ่ายที่มากเกินกว่าที่ต้องการจ่าย แต่ถ้าจะจำกัดวงเงิน แล้วให้ทุกคนได้รับ แต่ลดปริมาณสิ่งของที่จะแจกลง มันก็ไม่คุ้มกับคนที่เดินทางไกลมา หวังว่าจะได้รับของแจก แทนที่จะได้บุญ กลับจะกลายเป็นถูกก่นดา

เงินเป็นอำนาจ

เงินเป็นอำนาจ ในด้านหนึ่งหากท่านเป็นคนตะกละเรื่องเงิน จะทำให้ท่านละทิ้งอำนาจที่แท้จริง ทำให้ท่านต้องพึ่งพา ขาดการควบคุมตนเอง ขาดการมองคนอื่นในแง่ที่ดี และอื่นๆ โดยข้อเท็จจริงแล้ว โชคที่ได้มาจากเงินง่ายๆนั้น มักจะไม่เป็นสิ่งที่อยู่ได้อย่างถาวร การร่ำรวยที่มาอย่างรวดเร็วมักจะไม่ยั่งยืน เพราะไม่มีฐานที่จะยืนได้อย่างมั่นคง อย่าไปหลงในอำนาจเงินจนทำให้ท่านขาดการดูแลป้องกันตนเอง จงเน้นไปที่อำนาจที่จะเป็นของท่านอย่างแท้จริง คำนึงถึงเป้าหมายที่เป็นสาระ ส่วนเรื่องเงินนั้นจะเป็นเรื่องรองลงมา

เงินเป็นอำนาจอย่างหนึ่ง ท่านจะใช้มันได้อย่างยิ่งใหญ่ หรือกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ไร้ความหมาย เงินแสดงให้เห็นว่าท่านยิ่งใหญ่ หรือท่านเป็นคนไม่มีสาระ ขึ้นอยู่กับวิธีการใช้เงินของท่าน

ทางที่ดีท่านควรจะใช้เงินอย่างอิสระ สร้างภาพลักษณ์ของความเป็นคนมีใจกว้าง มีจิตเมตตา ใช้จ่ายเงินเพื่อสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มากกว่าใช้เงินเพียงเพื่อแสดงออกมา “ฉันมีเงิน”

เมื่อจะใช้เงินอย่าทำให้ตาบอดหรือมืดมัวด้วยรายละเอียดเล็กน้อย จนกระทั่งท่านไม่สามารถมองเห็นภาพใหญ่และความเป็นตัวตนของท่าน การใช้เงินอย่างไร้สาระ จะทำให้คนมองท่านอย่างปฏิเสธที่จะทำให้มีผลต่อไปในระยะยาว

ยกตัวอย่าง ท่านมีเงินเป็นมหาเศรษฐี กินเหล้ากินไวน์ขวดละเป็นแสน ใช้รถยนต์ราคาค้นละหลายสิบล้านบาท และมีหลายๆคัน สร้างบ้านราคานับร้อยล้านบาท นั่นเป็นเงินของท่านที่ท่านก็มีสิทธิ แต่ก็ทำให้คนภายนอกมองเห็นว่าท่านเป็นคนใช้เงินอย่างไร ท่านให้รางวัลแก่ตัวเองอย่างไร

ในอีกด้านหนึ่ง ท่านทำตนเหมือนเป็นเศรษฐีที่ประหยัด กินอยู่อย่างเรียบง่าย ภาพที่ออกไปอาจเป็นว่าท่านเป็น “เศรษฐีขี้เหนียว” แต่ท่านกลับใช้เงินสนับสนุนให้กับงานที่ท่านเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่นสนับสนุนการสร้างโรงพยาบาล โรงเรียน ตึกหรืออาคารเรียนในมหาวิทย่าลัย สนับสนุนการวิจัยทางการแพทย์ที่จะช่วยให้คนเป็นอันมากได้รับประโยชน์จากองค์ความรู้ แน่นอนว่าภาพลักษณ์ของท่านในส่วนหลังจะเป็นภาพลักษณ์ของคนที่มีปัญญา และรู้จักใช้เงินที่จะทำให้คนมีความเคารพและเกรงใจท่าน

ภาพ แอนดรู คาร์เนกี้ (Andrew Carnegie)

แอนดรู คาร์เนกี้ (Andrew Carnegie) เกิดเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1835 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1919 เขาเป็นอเมริกันเชื้อสายสก๊อต เป็นนักอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง เขาได้บุกเบิกในกิจการอุตสาหกรรมเหล็ก (steel industry) ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และเขาได้กลายเป็น “คนใจบุญสุนทาน” (philanthropists) ที่ยิ่งใหญ่ในยุคสมัยของเขา เขาเป็นคนที่สร้างตัวจากไม่มีอะไรเลย สู่ความรุ่งโรจน์มั่งคั่ง เรียกว่าเป็นต้นแบบของ “จากผ้าขี้ริ้วสู่ความมั่งคั่ง” (Rags to riches) เขาเป็นตำนานที่คนต้องกล่าวขานต่ออีกนาน

เมื่อเขาประสบความสำเร็จจากธุรกิจจนเป็นมหาเศรษฐี เขาได้หันมาใช้ชีวิตอุทิศให้กับสังคม ใช้เงินสนับสนุนในกิจการสาธารณประโยชน์ต่างๆ ดังเช่น การสร้าง Carnegie Hall ที่เลื่องชื่อ การส่งเสริมทางการศึกษา เช่นก่อตั้งมูลนิธิ Carnegie Corporation of New York, การตั้งกองทุนเพื่อสันติภาพนานาชาติ (Carnegie Endowment for International Peace), สถาบันคาร์เนกี้แห่งวอชิงตัน (Carnegie Institution of Washington) ก่อตั้งมหาวิทยาลัย อย่าง Carnegie Mellon University และการสร้างพิพิธภัณฑ์อย่าง Carnegie Museums of Pittsburgh ชื่อของสิ่งที่เขาได้ก่อตั้งเหล่านี้ จะยังมีชื่อของเขาประวัติความเป็นมาที่ผู้คนจะจำได้ต่อๆไปนับเป็นหลายร้อยปี

คาร์เนกี้ได้กล่าวว่า

Surplus wealth is a sacred trust which its possessor is bound to administer in his lifetime for the good of the community. ~ Andrew Carnegie

การมีเงินเหลือกินเหลือใช้ ย่อมทำให้ท่านผู้เป็นเจ้าของต้องจัดการในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อยังประโยชน์เป็นสิ่งที่ดีงามแก่ชุมชน ~ แอนดรู คาร์เนกี้

สรุป

มีสุภาษิตในภาษาอังกฤษบทหนึ่งกล่าวว่า “There is no free lunch.” คือไม่มีอาหารกลางวันฟรีๆ ของทุกอยางที่เราได้มามักมีค่าใช้จ่าย ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง การไปรับความช่วยเหลือจากคน ไม่ว่าจะนานมาแล้วเท่าใด แต่ท้ายสุดก็ต้องไปตอบแทนเขา และเมื่อเขาร้องขอ มันอาจจะมากมายเกินกว่าที่ท่านจะจ่ายได้ และไม่ตอบสนองก็จะกลายเป็นความเสียหาย

ในเรื่องของเงิน อย่าไปคิดโลภมาก หลงติดกับเงิน เงินเป็นอำนาจก็จริง แต่ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่หากเรามีเงิน หรืออยู่ในสภาวะที่จะใช้เงินได้ ก็พึงใช้มันอย่างสร้างสรรค์ ใช้อย่างมีสติและปัญญา ไม่ใช่ใช้เพราะอยากแสดงความมั่งคั่งร่ำรวย และเป็นการส่งสัญญาณผิดๆ

No comments:

Post a Comment