Friday, September 2, 2011

กฎข้อที่ 20 ไม่ฝักไฝ่ฝ่ายใด อย่ารับปากกับใครง่ายๆ

กฎข้อที่ 20 ไม่ฝักไฝ่ฝ่ายใด อย่ารับปากกับใครง่ายๆ

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail:
Pracob@sb4af.org

ศึกษาและเรียบเรียงจาก “กฎการใช้อำนาจ 48 ข้อThe 48 Laws of Power”, 1998 โดย Robert Greene and Joost Elffers.

Keywords: power48, Administration, การบริหาร, management, การจัดการ, power, อำนาจ

Do Not Commit to Anyone
อย่ารับปากกับใครง่ายๆ

การทำตัวเป็นอิสระ จะทำให้เราเป็นเจ้านายของคนอื่นๆ

ในหลักยุทธศาสตร์ประการหนึ่งคือ “ปีนขึ้นภู ดูเสือกัดกัน” นั่นคือ เมื่อคนเขาทะเลาะกัน เขาอาจอยากดึงเราเข้าเป็นพวก หากเราเลือกเข้าข้างใดข้างหนึ่ง และเข้าผิดข้าง ฝ่ายชนะก็จะไม่พอใจและจะมาจัดการกับเราได้ภายหลัง แต่การไม่เลือกข้างในระยะแรกๆ และรอดูให้เขารบกันไปสักระยะ เมื่อฝ่ายใดจะชนะชัดเจนจึงเลือกข้าง หรืออีกแนวหนึ่งในสงคราม เมื่อทั้งสองฝ่ายรบกันจนหมดแรง ท้ายสุดเราก็เข้าไปเป็นใหญ่ได้ โดยไม่ต้องเหนื่อยมาก

ในนิทานไทยๆ ตาอินกับตานาทะเลาะกันเรื่องการกินปลา แต่ท้ายสุด ตาอยู่เป็นคนกลาง เข้าไปตัดสินและได้กินส่วนกลาง กินพุงปลามันๆ ไป

ภาพ ภูมิทัศน์ของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ที่ดูสวยงาม แต่อีกส่วนหนึ่งคือความเป็นเทือกเขาที่เป็นอุปสรรคสำหรับประเทศที่คิดจะรุกราน

ภาพ Switzerland นับเป็นประเทศหนึ่งที่ไม่ฝักไฝ่ฝ่ายใด และสามารถรักษาตนเองให้ไม่ต้องบอบช้ำจากสงคราม แม้อยู่ท่ามกลาง ประเทศมหาอำนาจอย่าง เยอรมันทางตอนเหนือ ฝรั่งเศสทางฝั่งตะว้นตก และอิตาลีทางตอนใต้

ดังนั้นในสถานการณ์ขัดแย้ง การสู้รบ ไม่เข้าไปร่วมรบโดยไม่จำเป็น ปล่อยให้เขาทะเลาะกันไปเอง แล้วเขาอาจต้องกลับมาพึ่งเราในภายหลัง

ลัทธิมอนโร

การดำรงอยู่อย่างไม่ฝักไฝ่ฝ่ายใด

ภาพ เจมส์ มอนโร (James Monroe)

ก่อนที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “ลัทธิมอนโร” คงจะต้องทำความรู้จักกับเจมส์ มอนโร (James Monroe) ซึ่งเกิดในวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1758 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 กรกฎคม ค.ศ. 1831 โดยเป็นประธานาธิบดีคนที่ 5 ของสหรัฐอเมริกา (ค.ศ. 1817–1825) มอนโรเป็นประธานาธิบดีคนสุดท้ายจากกลุ่ม “บิดาผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา” ซึ่งหมายถึงกลุ่มผู้นำที่เข้าร่วมในการต่อสู้และประกาศอิสรภาพจากอาณานิคมอังกฤษ และเป็นประธานาธิบดีคนสุดท้ายของตระกูลนักการเมืองที่ทรงอิทธิพลดังราชวงศ์

ในยุคที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจัดเป็นยุคที่ประเทศไม่ต้องทำสงครามกับใคร นับเป็น “ยุคความรู้สึกที่ดี” (Era of Good Feelings) การประกาศสำคัญที่เรียกว่า “ลัทธิมอนโร” (Monroe Doctrine) เจมส์ มอนโร อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ได้แถลงการณ์ไว้เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1823 โดยกล่าวถึงจุดมุ่งหมายที่จะนำพาประเทศให้อยู่ในความสงบ โดดเดี่ยว และ ไม่ต้องการให้ชาติยุโรปเข้ามาแทรกแซงทางด้านการเมือง หรือ แสวงหาดินแดนในทวีปอเมริกา ซึ่ง อังกฤษ ฝรั่งเศส ปรัสเซีย รัสเซีย ออสเตรีย ต่างสนใจที่จะให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่สเปนในการปราบกบฏอาณานิคมทั้งในอเมริกาเหนือ และ อเมริกาใต้ ซึ่งเป็นความพยายามของชาติต่างๆ ในการแสวงหาโอกาสครองครองดินแดนในแถบนี้

แถลงการณ์ฉบับนี้ เป็นนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ ซึ่งเรียกกันว่า ลัทธิมอนโร(Monroe Doctrine) มีหลักการณ์สำคัญดังนี้

1. สหรัฐอเมริกาจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับอาณานิคมของสเปนในทวีปอเมริกา

2. ถ้าประเทศใดในทวีปยุโรปเข้ามายุ่งเกี่ยว กดขี่ประเทศในอเมริกา สหรัฐอเมริกาจะถือว่าการกระทำของประเทศนั้น เป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพ และ ความปลอดภัยของสหรัฐอเมริกา

3. สหรัฐอเมริกาจะไม่ยอมให้ประเทศใดในทวีปยุโรปเข้ามาแสวงหาอาณานิคมในทวีปอเมริกาอีกต่อไป

4. สหรัฐอเมริกาจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของประเทศในทวีปยุโรป

Queen Elizabeth I

ภาพ พระราชินีอลิซาเบธที่หนึ่ง (Queen Elizabeth I) แห่งอังกฤษ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นราชินีพรมจรรย์

ภาพ การแต่งกายของพระราชินีอลิซาเบธที่หนึ่ง นับเป็นแฟชั่นแห่งยุคอย่างหนึ่ง

พระราชินีอลิซาเบธที่หนึ่งไม่ได้อภิเษกสมรส เป็นโสดตลอดชีวิต จึงไม่ได้ผูกพันกับการมีทายาทสืบทอดอำนาจต่อไป ในทางการเมืองพระนางใช้การทูต การเจรจาควบคู่ไปกับการทำให้อังกฤษมีความแข็งแกร่ง ในทางศิลปะ วัฒนธรรม พระนางทรงส่งเสริมให้เสรีภาพในการแสดงออก การคิดและการเขียน

พระราชินีอลิซาเบธที่หนึ่ง Elizabeth I เกิดเมื่อวันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 1533 และสิ้นพระชนม์ในวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 1603 ทรงเป็นราชินีผู้ครองอำนาจของอังกฤษและไอร์แลนด์ในวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1558 จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ พระนางถูกเรียกว่า ราชินีพรมจรรย์ (The Virgin Queen) Gloriana, หรือ Good Queen Bess ซึ่งเป็นการเรียกขานด้วยทัศนคติที่ดี พระนางเป็นกษัตริย์องค์ที่ 5 ของราชวงศ์ทูดอร์ (Tudor dynasty) เป็นธิดาของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 (Henry VIII) เมื่อเกิดเป็นเจ้าฟ้าหญิง (Princess) โดยพระมารดา Anne Boleyn ซึ่งเป็นพระราชินีของกษัตริย์เฮนรีที่ 8 แต่หลังประสูติได้ 2 ปีครึ่ง พระมารดาถูกประหารชีวิต อลิซาเบธถูกประกาศตัดจากเป็นพระธิดาที่ถูกต้องตามกฏหมาย พี่น้องต่างมารดา Edward VI ยกการสืบทอดอำนาจต่อให้ Lady Jane Grey ตัดพระนางออกจากการสืบราชบัลลังค์ ต่อมา Lady Jane Grey ถูกประหารชีวิต ในปี ค.ศ. 1558 อลิซาเบธได้ครองอำนาจต่อจากพระราชินีแมรี่ที่หนึ่ง (Catholic Mary I) ซึ่งนับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันแคธอลิค ในระหว่างที่พระราชินีแมรี่ครองอำนาจ เธอถูกจำคุกเป็นเวลาเกือบปี แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายกบถนับถือนิกายโปรเตสแตนท์

พระราชินีอลิซาเบธที่หนึ่ง (Elizabeth I) ตลอดชีวิตของพระนางได้ใช้ชีวิตโดยไม่มีการสมรสในขณะดำรงตำแหน่งพระราชินีของอังกฤษ พระนางเป็นตัวอย่างที่ดีเลิศของการไม่ฝักไฝ่ แต่เมื่อต้องทำหน้าที่ ก็สามารถดึงความสนใจและรวมถึงเสน่ห์ที่เป็นข้อได้เปรียบ ดังมีบทบาทสำคัญในการเจรจาเพื่อสันติภาพระหว่างฝรั่งเศสและอังกฤษ ซึ่งรวมถึงการโปรยเสน่ห์กับผู้ปกครอง Anjou และ Alencon ให้ถอนทหารออกไปเมื่อมีการลงนามในสัญญาสงบศึก

พระนางอลิซาเบธมีเป็นคนมีลักษณะไม่ตกปากตกคำกับใครง่ายๆ ดูเหมือนตัดสินใจช้า ฟังข้าราชการที่ถวายความเห็น แต่เมื่อตัดสินใจแล้วก็จะได้รับการยกย่องว่าเป็นการตัดสินใจที่ดี

ในการปกครองอลิซาเบธมีการบริหาราชการแบบสายกลาง ไม่ได้ใช้อำนาจเหมือนอย่างพระบิดา น้องชาย หรือน้องสาวของพระนางก่อนหน้านี้ คำขวัญของเธอคือ "video et taceo" ข้าไม่ได้เห็น และข้าไม่พูดอะไร (I see, and say nothing) ในทางศาสนาพระนางมีความอดทนในความแตกต่าง หลีกเลี่ยงการลงโทษผู้นับถือศาสนาต่าง หลังปี ค.ศ. 1570 พระสันตปาปาในกรุงโรมประกาศตัดเยื่อใยกับเธอ ทำให้มีการข่มขู่คุกคามเธอ แต่แผนการเหล่านั้นก็ล้มเหลว ทั้งนี้ด้วยเธอมีหน่วยสืบราชการลับ อลิซาเบธดำเนินนโยบายการต่างประเทศอย่างระมัดระวังที่จะต้องดูแลมหาอำนาจอย่างฝรั่งเศสและสเปน

Isabella d'Este

ภาพ อิซาเบลลา เดอเอสเต (Isabella d'Este)

อิซาเบลลา เดอเอสเต (Isabella d'Este) เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤาภาคม ค.ศ. 1474 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1539 มีตำแหน่งเป็นผู้ครองนคร (Marchesa) แห่งแมนทัว (Mantua) จัดเป็นสตรีที่มีบทบาทสำคัญในยุคฟื้นฟูของอิตาลี (Italian Renaissance) ให้กลายเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมและการเมือง

ภาพ Francesco II Gonzaga, Marquess of Mantua, สามีของ Isabella ซึ่งรับตำแหน่งเป็นแม่ทัพใหญ่ของนครเวนิซ จึงให้ Isabella ต้องรักษาการผู้ครองนครแมนทัวอยู่บ่อยๆ

อิซาเบลลา นางเป็นผู้อุปถัมภ์ศิลปะและแฟชั่น ซึ่งการแต่งกายของเธอเป็นที่ลอกเลียนแบบไปทั่วราชสำนักทั้งในอิตาลีและฝรั่งเศส กวีชื่อ Ariosto ได้ขนานนามเธอให้เป็น “อิซาเบลลาผู้เสรีและเอื้ออารี” (liberal and magnanimous Isabella) นักประพันธ์ชื่อ Matteo Bandello ยกให้เธอเป็นสุดยอดของสตรี นักการทูตชื่อ Niccolò da Correggio ยกให้เธอเป็น “สตรีหมายเลขหนึ่งของโลก”

ในช่วงที่เธอต้องทำหน้าที่ปกครองแมนทัวในช่วงสามีไม่อยู่ Francesco II Gonzaga, Marquess of Mantua และดูแลบ้านเมืองแทนบุตรชาย Federico, Duke of Mantua ในช่วง 1500 เธอได้โน้มน้าวให้กษัตริย์หลุยส์ที่ 12 แห่งฝรั่งเศส โดยไปพบที่เมืองมิลานแล้วใช้ทักษะทางการฑูตทำให้พระเจ้าหลุยส์เปลี่ยนใจไม่ส่งทหารไปยึดนครแมนทัว

เธอเป็นคนเขียนจดหมายได้อย่างยอดเยี่ยม และรักษาการเขียนติดต่อกับน้องสะไภ้ Elisabetta Gonzaga. Lucrezia Borgia ซึ่งเป็นน้องสะไภ้อีกคน

สรุป

ในโลกที่มีบ่อยครั้งที่คนต้องขัดแย้งกัน สังคมต้องแตกแยก โลกทั้งโลกต้องแบ่งออกเป็นฝักเป็นฝ่าย คน สังคม หรือประเทศที่ไม่ฝักไฝ่ฝ่ายใด รักษาความเป็นมิตรของทั้งสองฝ่าย แม้เป็นที่ไม่ชอบพอ ขัดใจเป็นบางครั้ง แต่ในที่สุด เพื่อสันติภาพในระยะยาว คนที่เป็นอิสระ มีเหตุผล และไม่ได้ดำรงอยู่ด้วยความเกลียดชัง ก็จะเป็นฝ่ายที่ชนะในที่สุด

ประเทศไทยเองในช่วงของการล่าเมืองขึ้น มีมหาอำนาจอย่างอังกฤษที่ได้ยึดครองอินเดีย พม่า และมลายู หรือมาเลเซียในปัจจุบันทางตอนใต้ของไทยส่วนหนึ่ง กับฝรั่งเศสที่ได้เข้ามามีอิทธิพลและยึดครองลาว กัมพูชา และเวียตนาม ประเทศไทยภายใต้การนำของพระมหากษัตริย์อย่างรัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5 ที่มีสายพระเนตรยาวไกล ได้รักษาเอกราชของชาติไว้ได้ด้วยการใช้การทูตมากกว่าการแตกหักด้วยการทหาร ใช้การเจรจา การยอมเสียบางส่วนเพื่อรักษาเอกราชของชาติอันเป็นส่วนใหญ่ของประเทศเอาไว้

No comments:

Post a Comment