Tuesday, September 27, 2011

กฎข้อที่ 46 อย่าทำตัวให้สมบูรณ์แบบนัก

กฎข้อที่ 46 อย่าทำตัวให้สมบูรณ์แบบนัก

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail:
Pracob@sb4af.org

ศึกษาและเรียบเรียงจาก “กฎการใช้อำนาจ 48 ข้อThe 48 Laws of Power”, 1998 โดย Robert Greene and Joost Elffers.

Keywords: Power48, Administration, การบริหาร, management, การจัดการ, power, อำนาจ

ความนำ

Never appear too Perfect
อย่าทำตัวให้สมบูรณ์แบบนัก

ภาพ ศิลปินสร้างภาพบุคลิกของคนที่เป็นพวก Perfectionist

หากเราเป็นผู้นำ ก็ต้องไม่ทำตัวให้สมบูรณ์แบบจนเกินไปนัก จะเป็นอันตราย อันตรายที่สำคัญที่สุดคือการทำตนดังไม่มีจุดบกพร่องหรือจุดอ่อนเลย เพราะมันจะสร้างความอิจฉา และจะนำไปสู่การมีศัตรูมากมาย มันจึงเป็นเรื่องปกติที่ในบางขณะก็แสดงความบกพร่องให้เห็นเสียบ้าง การยอมรับในความบกพร่องบ้างไม่เป็นอันตราย บางครั้งเป็นการกระตุ้นให้กลุ่มต้องช่วยกันดูแล ไม่ปล่อยให้เป็นความรับผิดชอบของผู้นำแต่เพียงฝ่ายเดียว

ในสุภาษิตตะวันตก เขากล่าวว่า “เพียงพระเจ้าและคนตายแล้วเท่านั้นที่สมบูรณ์แบบและไม่มีข้อบกพร่อง” ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า มนุษย์ทุกคนที่ยังมีลมหายใจอยู่นั้น ล้วนทำสิ่งบกพร่องมาแล้วทั้งนั้น ในองค์การก็เช่นกัน ไม่มีใครที่จะเก่งและสมบูรณ์ไปเสียทั้งหมด และทุกคนต้องตระหนัก และช่วยกันตรวจสอบซึ่งกันและกัน

ผู้ต้องการความสมบูรณ์แบบ

Perfectionist = ผู้ที่พอใจแต่สิ่งดีเลิศ

Perfectionism = ลัทธิพอใจแต่สิ่งดีเลิศ

ผู้ที่พอใจแต่สิ่งดีเลิศ หรือ Perfectionist ในทางจิตวิทยา คือพวกที่เชื่อว่าความสมบูรณ์แบบหรือสิ่งที่ดีเลิศนั้นควรได้มา หรือในความเชื่อที่ว่า อะไรที่ไม่ดีเลิศ ไม่สมบูรณ์แบบ เป็นสิ่งที่รับไม่ได้ และด้วยความเชื่อเช่นนี้ถือว่าเป็นความเชื่อที่ไม่ดีต่อสุขภาพกายและจิต และนักจิตวิทยาจำแนกคนประเภทนี้ว่าเป็นพวกที่พอใจแต่สิ่งดีเลิศแบบปรับตัวไม่ได้ (Maladaptive perfectionists)

การไม่กระจายความรับผิดชอบ

เพราะความเชื่อว่าต้องทำในสิ่งที่ดีเลิศ และเชื่อว่ามีตนเองเท่านั้นที่รู้งานดังกล่าวดี ไม่มีใครรู้งานดังกล่าวได้ดีไปกว่าตน หากให้คนอื่นทำ ก็จะไม่สามารถทำได้อย่างที่ตนเองต้องการ ดังนั้นจึงต้องลงมือทำ และเข้าไปทำเอง จึงไม่มีการแบ่งงานให้ลูกน้องหรือคนอื่นๆทำ เพราะไม่เชื่อใจเขา ความเชื่อและพฤติกรรมดังนี้ ก็จะขาดโอกาสที่จะกระจายงาน กระจายความรับผิดชอบ คนที่ทำงานด้วยก็จะรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า เจ้านายหรือผู้ใหญ่ไม่เห็นความสำคัญ

ขาดความสามารถในการปรับตัว

ภาพ คนต้องการความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) คือคนที่มีความทุกข์ มีความเครียดสูง แล้วนำความเครียดและปัญหานั้นๆส่งต่อไปสร้างความเครียดกับคนอื่นๆ

เพราะคาดหวังในสิ่งที่สมบูรณ์แบบ อยากจะทำอะไรสักอย่าง ทุกสภาพแวดล้อมจะต้องได้อย่างที่ต้องการ และหากไม่ได้ดังที่ต้องการนั้น ก็จะทำอะไรได้ไม่สมบูรณ์ ดังนั้นจึงปล่อยวาง และไม่ใส่ใจที่จะทำในสถานะที่ไม่ได้อย่างที่สมบูรณ์แบบ แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่แสวงหาสิ่งที่สมบูรณ์แบบนัก เช่น

ในสภาพแวดล้อมของระบบ มีตัวป้อน (Inputs) กระบวนการ (Process) และผลผลิต (Outputs) และสภาพแวดล้อมภายนอก (External environment) หากต้องการผลผลิตหรือบริการที่เป็นเลิศ แล้วเขาเป็นผู้รับผิดชอบ เขาก็ต้องการทั้งตัวป้อน อาจเป็นวัตถุดิบ กำลังคนมีฝีมือที่เพียงพอ และมีสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์แบบ จึงจะทำให้เขาทำงานที่ได้ผลิตภาพที่สมบูรณ์แบบ แต่เมื่อในสภาพความเป็นจริง ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบ มันมักมีข้อจำกัดนานาประการ แล้วเขาก็จะรับไม่ได้ จึงเป็นเหตุที่ทำให้ทำงานไม่ได้ดังต้องการ และอะไรที่ไม่ได้อย่างต้องการ ก็จะไม่อยู่ในวิสัยที่เขาจะทำงานนั้นๆ

คิดเป็นตัวอย่างง่ายๆ อยู่ในต่างประเทศ คนไทยต้องรู้จักปรับตัว

จะทำอาหารไทยเพื่อรับประทาน ดังเช่น ส้มตำ ไม่มีมะละกอดิบ ก็ใช้แครอททดแทนได้ หากจะทำแกงแบบไทย ไม่มีกะทิ ก็ใช้นมสดทดแทนได้ คนที่ต้องการความสมบูรณ์แบบจนไม่คิดยอมที่จะปรับตัวเองหรือความคาดหวังนั้น จะทำให้ทำอะไรก็จะมีแต่อุปสรรค เพราะสภาพแวดล้อมจะไม่มีทางเป็นไปอย่างที่เราต้องการ จำเป็นต้องทำความเข้าใจ และปรับตัวและงานให้สอดคล้องบ้าง

ขาดความสามารถในการเสี่ยง

พวกที่เชื่อในความสมบูรณ์แบบ (Perfectionists) มักจะคาดหวังความแน่นอนในอนาคต โดยอาจคิดและคาดเดาว่าอนาคตจะเป็นไปอย่างที่ตนคาดหวัง แต่ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่แน่นอน และเมื่ออนาคตไม่ได้เป็นไปดังคาดหวัง ทำให้งานที่ตามมาผิดพลาด และเมื่อผิดพลาดแล้วก็ไม่คิดที่จะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ได้แต่มานั่งเสียใจกับสิ่งที่ได้ผิดพลาดไปแล้ว เรียกว่า เป็นพวกที่คิดว่า “รู้อย่างนี้ก็จะไม่ทำอย่างนั้น ถ้ารู้อย่างนั้นก็จะไม่ทำอย่างนี้” พวกนี้จะนั่งเสียใจกับสิ่งที่ตนเองได้ทำผิดพลาดไป จมตัวเองกับอดีต แทนที่จะหาทางเรียนรู้ ยอมรับข้อผิดพลาด แล้วก้าวต่อไปในอนาคตอย่างที่มีบทเรียนมากขึ้น

ในอีกด้านหนึ่ง ไม่ได้โทษตนเอง แต่โทษทุกสิ่งที่แวดล้อมที่ไม่ได้เป็นไปอย่างที่ตนคาดหวัง เช่น คนทำงานไม่ดี เครื่องมือที่ได้ไม่ดี อะไรก็ดูไม่ดีไปหมด แต่ไม่ได้หันกลับมาวิเคราะห์ตนเอง

สรุป

คนที่จะเป็นผู้นำ ต้องเข้าใจว่าจำเป็นที่สุดคือต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ซึ่งมีความไม่แน่นอน มีเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา สภาพแวดล้อมทั้งในวงแคบและในวงกว้างออกไป และที่สำคัญคือการต้องวิเคราะห์องค์กรหรือระบบสังคมที่เรารับผิดชอบให้ออก แล้วจึงวางยุทธศาสตร์ในการดำเนินการให้ดีที่สุด และขณะเดียวกัน ก็ต้องทำใจว่า หลายสิ่งอาจไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวังไว้ ก็ต้องมีสติและใช้ปัญญา ที่จะปรับตัวปรับระบบ เพื่อให้สามารถเดินต่อได้

ไม่มีใครที่จะสมบูรณ์แบบไปทั้งหมด มีดี 70 มีเสีย 30 ก็ต้องถือว่าดีพอแล้ว หากท้ายสุดมันบรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการ

No comments:

Post a Comment