Monday, September 26, 2011

กฎข้อที่ 43 ทำงานอย่างรักษาน้ำใจคนให้ได้

กฎข้อที่ 43 ทำงานอย่างรักษาน้ำใจคนให้ได้

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail:
Pracob@sb4af.org

ศึกษาและเรียบเรียงจาก “กฎการใช้อำนาจ 48 ข้อThe 48 Laws of Power”, 1998 โดย Robert Greene and Joost Elffers.

Keywords: Power48, Administration, การบริหาร, management, การจัดการ, power, อำนาจ

ความนำ

Work on the Hearts and Minds of Others
ทำงานเพื่อให้ได้ใจและจิตวิญญาณจากคนอื่น

การใช้อำนาจด้วยการบังคับฝืนใจคน ในที่สุดก็จะมีผลสะท้อนกลับมาหาฝ่ายผู้ใช้ แต่ในอีกด้านหนึ่งคือการใช้การจูงใจ (Persuasion) ทำให้คนหันมาดำเนินการตามทิศทางของเรา หรือที่เรากำหนด คนที่เราดึงเข้าเป็นพวกได้ ก็จะทำตามที่เราต้องการ หากคนเหล่านี้มีสภาพจิตใจ กำลังเงิน และความรู้ความสามารถด้อยกว่า เขาก็จะต้องพึ่งพาฝ่ายท่าน แต่ในทางตรงกันข้าม หากท่านใช้กำลัง ไม่ใส่ใจต่อความรู้สึกของคน ในที่สุดเขาก็กลับมาเป็นศัตรูต่อท่าน

มารี อังตัวเนต

การไม่เข้าใจในปัญหาและความรู้สึกของคนภายใต้การปกครองของตน นับเป็นอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดินอย่างที่สุด โดยเฉพาะในยุคที่บ้านเมืองมีปัญหาข้าวยากหมากแพง

พระนางมารี อังตัวเนต (Marie-Antoinette) เมื่อจะถูกประหารด้วยกิโยตินในปี ค.ศ. 1793 หลังจากฝ่ายราชวงศ์ฝรั่งเศสต้องจบลงหลังการปฏิวัติ ไม่มีใครสักคนเดียวที่จะออกมาปกป้องเธอ พระนางมารี อังตัวเนตเป็นที่เกลียดชังของผู้คนทั้งมวล บรรดาเครื่องเพ็ชร ชุดแต่งกาย ทรงผม และงานเลี้ยงสรวมหน้ากากอันหรูหรา วิถีชีวิตที่ฟุ่มเฟือยของเธอนั้นสำคัญกว่าความต้องการของประชาชนในประเทศ ที่ในระยะนั้นเต็มไปด้วยความอดอยากยากไร้

ภาพ พระนางมารี อังตัวเนต (Marie-Antoinette)

พระนางมารี อังตัวเนต (Marie-Antoinette) เกิดเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1755 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1793 มีตำแหน่งเป็น Archduchess แห่งออสเตรีย (Austria) และเป็นราชินีแห่งประเทศฝรั่งเศส (Queen of France) และนาวาเร (of Navarre) พระนางอภิเษกสมรสกับ Louis-Auguste เจ้าชายองค์โตของกษัตริย์ฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 และเมื่อพระบิดาได้สวรรคต Louis-Auguste ก็ได้ขึ้นครองราชย์แทนเป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 (Louis XVI of France) มารี อังตัวเนตได้รับการสถาปนาเป็นพระราชินีแห่งฝรั่งเศส แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ และการบริหาราชการแผ่นดินที่ผิดพลาด ฟุ่มเฟือย ประชาชนเดือดร้อนไปทั่ว ในที่สุดจึงได้เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสขึ้น ระบอบกษัตริย์ถูกยกเลิก พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกพิจารณาโทษและประหารชีวิต และพระนางมารี อังตัวเนตถูกจองจำและได้รับการพิจารณาโทษให้ถูกประหารชีวิตในวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1793 นับเป็นเวลา 9 เดือนหลังสามี

การใช้ปัญญา

การจะเข้าใจความรู้สึกของผู้คนนั้น ต้องเป็นเรื่องที่ต้องใช้สติและปัญญา มีข้อแนะนำอย่างน้อย 2 ข้อในด้านการใช้ปัญญาดังนี้

ประการแรก ใช้ปัญญาของตนที่มุ่งไปที่ทำความเข้าใจเกี่ยวกับอารมณ์ของคน ความรัก ความเกลียดชัง และความอิจฉาริษยา จงตระหนักในจิตใจของแต่ละคน และการต้องการการตอบสนองขั้นพื้นฐานของเขา

ประการที่สอง รักษาคนเก่งที่มีความสามารถในการเขียน คนมีศิลปะ และปัญญา ผู้ที่จะช่วยให้ท่านแข็งแกร่งขึ้นในการสร้างอำนาจจูงใจคน คือนอกจากจะใช้ปัญญาของตนเองแล้ว ก็ต้องรู้จักใช้คนมีปัญญาอื่นๆ มาช่วยงานด้วย

การรู้จักใช้สื่อมวลชน ระบบสื่อสารยุคใหม่ ในสมัยก่อน ผู้นำต้องรู้จักเขียน และรู้จักพูด แต่ต่อมา ผู้นำสามารถนำทางความคิด แล้วใช้คนมาช่วยเขียน ดังเช่นสุนทรพจน์ที่จะต้องสื่อสารออกไปอย่างเป็นระบบ สื่อมวลชนในยุคต่อมา นอกจากจะเป็นสิ่งพิมพ์แล้ว ยังเป็นวิทยุ และโทรทัศน์

Fireside Chat ของประธานาธิบดีแฟรงคลิน เดลาโน รูสเวลท์ นับเป็นการบุกเบิกการใช้วิทยุที่สื่อสารไปได้ทั่วประเทศในช่วง ค.ศ. 1930s เป็นต้นมา

ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี้ กับการสื่อสารโดยใช้โทรทัศน์ในยุค ค.ศ. 1960s เป็นต้นมา

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา กับการใช้สื่อสังคมใหม่ (Social Media) ดังเช่น Twitter และ Facebook ในการสื่อสารกับประชาชนโดยตรง นอกเหนือไปจากการใช้วิทยุ โทรทัศน์

ลักษณะอ้นตรายสำหรับคนที่อยู่ในอำนาจ

ลักษณะทัศนคติอันตราย 5 ประการของกรอบการใช้อำนาจ

1. คนที่อยู่ในลักษณะของฟองสะบู่ที่ตนเองสร้างขึ้น ไม่ได้สัมผัสกับความเป็นจริง โดยคิดเอาเองว่ามันจะเป็นเช่นนั้นเป็นเช่นนี้ แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้ว ตนเองไม่ได้มีโอกาสสัมผัสหรือเข้าใจอยางแท้จริง

2. คนที่คิดว่าตนเองเกิดมาเป็นดังกษัตริย์หรือราชินี และทุกคนจะต้องให้ความสำคัญกับตนเอง ดังกรณีของคนที่เกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่เป็นคนมีบุญวาสนา มีแต่คนห้อมล้อม เด็กๆก็พลอยได้รับการเอาใจ โตขึ้นก็ติดนิสัยที่ได้รับมาแต่เด็ก คนที่ไม่เข้าใจและไม่ใส่ใจในธรรมชาติของคนอื่นๆ แต่พยายามจะใช้กำลัง คนในลักษณะนี้เขาเชื่อว่าเขามีอำนาจ ไม่อำนาจอย่างใดก็อย่างหนึ่ง ที่จะบังคับให้คนต้องทำตามที่เขาต้องการ

3. คนที่เมื่อเป็นเด็กได้รับการเอาอกเอาใจ จนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ลักษณะเช่นนี้ ไม่ได้จำกัดเฉพาะคนที่เคยเป็นเด็กในครอบครัวมั่งมีหรือยากจน คนจนที่เลี้ยงลูกตามใจอย่างผิดๆ ลูกๆก็ยังติดกับลักษณะที่ต้องมีคนมาคอยเอาใจ คนที่เกิดมาในครอบครัวลูกคนเดียว ดังในสังคมจีน เด็กๆจะถูกตามใจจากทั้งพ่อแม่ และญาติใกล้ชิดของทั้งสองฝ่าย

4. คนที่โดยธรรมชาติสามารถหว่านเสน่ห์ ชักจูงคนให้ยอมตามได้อย่างง่ายดาย เป็นคนปากหวาน แต่ก็มีเพียงปาก แต่ในส่วนลึกของจิตใจเขายังไม่ได้เข้าใจในผู้คนรอบข้าง เขาอาจจะเป็นคนที่เห็นแก่ตัวเองอย่างมากๆก็เป็นได้

ศิลปะในการจูงใจคนอื่น

การใช้อำนาจหน้าที่ (Authority) ที่ใช้ไปตามบทบาทหน้าที่ๆได้รับนั้นเป็นส่วนหนึ่ง แต่การที่จะใช้ศิลปะในการชักจูงคนนั้นเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ต้องมีการฝึกฝน

1. ท่านต้องใส่ใจกับคนรอบข้างท่านตลอดเวลา คอยวัดสภาพจิตใจของแต่ละคน ทัศนคติและความสนใจของคนนั้นเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลาตามเวลา สถานะ และสภาพแวดล้อม การเป็นคนรับฟังอย่างใส่ใจ ประกอบกับการซักถามพูดคุยอย่าเป็นธรรมชาติ จะทำให้เข้าใจคนได้มากกว่าท่านเป็นฝ่ายพูดอยู่ตลอดเวลา

2. ใช้คำพูดที่ท่านรู้ว่าจะเป็นการจูงใจเขาแต่ละคน คนที่เป็นเพื่อนใกล้ชิด ท่านพูดกับเขาแบบหนึ่งด้วยความเป็นกันเอง แต่กับคนที่เป็นลูกน้องก็เป็นอีกแบบหนึ่ง แต่โดยทั่วไป การพูดจาอย่างแฝงด้วยเมตตาจิตย่อมจะได้ผลดีกว่าการพูดที่มีแต่ตำหนิติเตียน หรือนำมาซึ่งความเครียด

3. ยิ่งขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูง ยิ่งต้องเข้าใจหัวใจและการนึกคิดของคนระดับล่างลงไป เพราะยิ่งเมื่อก้าวสู่ตำแหน่งหน้าที่ๆสูงขึ้นไป ระดับคนห้อมล้อมจะเปลี่ยนไปสู่อีกระดับหนึ่ง การที่จะเข้าใจคนระดับล่างนั้น จึงต้องใช้ความตระหนัก และอย่างน้อยต้องหาเวลาที่จะสัมผัสกับคนระดับล่างอย่างใกล้ชิดเป็นระยะๆ

4. เมื่อขึ้นสู่จุดสุดยอด ก็ต้องมีระบบสนับสนุนคนระดับรองลงมาอย่างเป็นลำดับไป โดยไม่ขาดตกหกหล่น แต่คนระดับรองลงมานั้น จะต้องเป็นคนที่เข้าใจจิตใจและความต้องการของท่าน ต้องเป็นมิตรในทางอุดมการณ์ มากกว่าที่จะเป็นเพียงเพื่อนกินเพื่อนเที่ยว (Buddy) โดยทั่วไป และคนเหล่านี้เขาต้องทำหน้าที่เหมือนดังหยั่งรู้ในจิตใจของท่าน

คิดก่อนทำ

Think Before You Act

ใช้ความสงบ ทำให้จิตใจสงบ สิ่งเหล่านี้สามารถเปลี่ยนคนที่อาจเป็นศัตรูให้กลายเป็นฐานสนับสนุนตน

ใช้เวลาในการคำนวณและเงี่ยหูฟังกลุ่มเป้าหมาย เข้าใจจุดอ่อนด้านจิตใจและสิ่งที่จะเติมเต็ม ในทางยุทธวิธี นั่นคือการต้องมีระบบสืบความลับ หรือที่เรียกว่า Intelligence ต้องมีการหาข่าวที่แม่นยำ รวดเร็ว ให้ได้มากที่สุด ต้องระวังข่าวแบบมีพวกชอบนั่งเทียนเขียน

ให้ตื่นตัวที่จะแยกเขาออกจากกลุ่ม และขณะเดียวกัน ให้เข้าใจว่าเขาเหล่านั้นมีอะไรที่เหมือนกับคนอื่นๆ อะไรที่ทำให้คนจำนวนมากฟังเขา

ทำให้เขาอ่อนลง เลือกใช้ความเมตตา (Mercy) แทนความรุนแรง

ทำให้เห็นทางเลือกระหว่างด้านหนึ่งคือ ความหวาดกลัว ความเกลียดชัง ความอิจฉาริษยา กับอีกด้านหนึ่งคือเรื่องของอารมณ์ ความรัก เสรีภาพ ครอบครัว ฯลฯ ในทางการทหาร มีการใช้ทั้งสายรบอย่างรุนแรงเรียกว่า “พวกเหยี่ยว” (Hawks) แต่ขณะเดียวกันก็มีฝ่าย “พิลาบ” (Dove) ที่เปิดช่องเพื่อการเจรจา ลดความขัดแย้ง ซึ่งทำให้ฝ่ายก่อการนั้นต้องกลับไปคิดว่า หากเขาจะสู้ต่อไป เขาก็ไม่มีทางจะชนะ แต่ถ้าเลือกตัดสินใจเจรจา ซึ่งมีทางเลือกที่จริงใจ เขาควรจะเลือกทางไหน

เมื่อท่านสามารถแยกเขาออกจากกลุ่มได้ ทำให้เขาอ่อนลงได้ ก็จะเกิดความเป็นเพื่อนไปตลอดชีวิต และกลายเป็นความสวามิภักดิ์และความเป็นพันธมิตรไปตลอดกาล ตัวอย่างการต่อสู้กับกำลังคนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย สิ่งหนึ่งที่นโยบาย 66/2523 มีความชัดเจนคือ หากใครต้องการกลับมา “ร่วมพัฒนาชาติไทย” ก็ให้ออกจากป่า แล้วกลับเข้ามาเป็นพลเมืองตามปกติ หากเป็นนักศึกษา ก็ให้กลับมาศึกษาเล่าเรียนต่อ และความบาดหมางที่เคยมีนั้น การบาดเจ็บล้มตายจากการต่อสู้ของทั้งสองฝ่าย ก็ให้ถือว่าอภัยให้กัน แล้วปล่อยให้เวลาเป็นตัวรักษาแผลใจกันไป

ต้องแสดงให้เห็นอย่างง่ายที่สุดว่าเขาจะได้อะไร หากเขาร่วมมือกับท่าน

ผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นแรงจูงใจที่สำคัญที่สุด เพราะท้ายสุดทำให้ทุกอย่างสามารถตกลงกันได้ ผลประโยชน์ที่จะเป็นตัวล่อนี้ต้องให้เกิดความชัดเจน เช่น ดังกรณีของผู้ก่อการร้ายที่เข้ามอบตัวแก่บ้านเมือง สิ่งที่เป็นผลประโยชน์ที่จะแลกเปลี่ยนได้ เช่น ที่ดินทำกิน เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำการเกษตร การสนับสนุนถนนผ่านไปยังเขตก่อการร้าย เป็นต้น

เล่นเกมตัวเลข คิดง่ายๆคือ หากท่านได้รับการสนับสนุนมากเท่าใด การต่อต้านก็ลดลงเท่านั้น และฐานอำนาจของท่านก็จะกว้างขวางขึ้นไปเป็นเงาตามตัว ศัตรูยิ่งเหลือน้อยเท่าใด ปัญหาก็จะยิ่งง่ายขึ้นเท่านั้น

สรุป

ประเทศไทยเคยผ่านสงครามแย่งชิงประชาชนระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์มาแล้ว และทำให้ความขัดแย้งเสียเลือดเนื้อไปนั้น ได้ยุติลง แต่ความขัดแย้งในสังคมไทยก็ยังคงมีอยู่ ดังเช่น

ปัญหาการก่อการร้ายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือยะลา ปัตตานี นราธิวาส ซึ่งต้องใช้การโน้มน้าว การเจรจา ดังที่ได้มีผู้เสนอว่า “ให้เข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา” และที่สำคัญคือต้องมีความอดกลั้น ต้องไม่ใช้วิธีการตาต่อตา ฟันต่อฟัน เพราะการแพ้ชนะไม่ใช่ด้วยการฆ่าฝ่ายตรงข้ามให้มากที่สุด หรือการต่างล้างแค้นกันไปมา ซึ่งยิ่งจะเป็นปัญหารุนแรงยิ่งขึ้น

สิ่งที่รัฐบาลจะทำได้ คือ “Work on the Hearts and Minds of Others.” คือ การทำงานเพื่อให้ได้ใจและจิตวิญญาณจากคนอื่น

No comments:

Post a Comment