ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
Keywords: history, ประวัติศาสตร์, เยอรมัน, เสรีภาพ
ศึกษาและเรียบเรียงจาก “August 13, 1961: Berlin is divided.”, History.com
ช่วงหลังเที่ยงคืนของวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ. 1961 ไม่นาน ทหารของฝ่ายเยอรมันตะวันออกได้เริ่มวางลวดหนามและก่อสร้างกำแพงด้วยอิฐคอนกรีตแบ่งแยกเมืองเบอร์ลิน (Berlin) ระหว่างเบอร์ลินตะวันออกที่ควบคุมโดยโซเวียต และฝ่ายตะวันตกที่เป็นส่วนเสรีประชาธิปไตยของเมือง
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง (World War II) เยอรมันเป็นฝ่ายแพ้สงคราม และถูกแบ่งแยกออกเป็นเขตภายใต้การปกครองของ 4 ประเทศ คือ โซเวียต (Soviet), อเมริกัน (American), อังกฤษ (British) และฝรั่งเศส (French) โดยบริเวณแล้วเมืองเบอร์ลินในทางเทคนิคเป็นเขตอยู่ภายใต้โซเวียต เป็นส่วนที่ตั้งอยู่ในเยอรมันตะวันออก แต่ถูกแบ่งแยก โดยโซเวียตได้ปกครองส่วนเบอร์ลินตะวันออก แต่หลังจากฝ่ายสัมพันธมิตรได้มีการบินเพื่อโดนย้ายคนจำนวนมหาศาลออกจากเมืองเบอร์ลินในช่วงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1948 โซเวียตเริ่มมีความพยายามปิดล้อมเบอร์ลินตะวันตก ส่วนเบอร์ลินตะวันออกเองก็กลายเป็นส่วนของโซเวียตอย่างเข้มงวด
หลังจากนั้น 12 ปี ได้มีการตัดแยกส่วนของตะวันตก เยอรมันตะวันออกกลายเป็นส่วนบริวารของโซเวียต ฝ่ายประชาชนเยอรมันตะวันออกระหว่าง 2.5 ถึง 3 ล้านคนได้มุ่งหน้าสู่เยอรมันตะวันตกเพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า ในช่วงปี ค.ศ. 1961 ในแต่ละวัน ชาวเยอรมันตะวันออกประมาณ 1,000 คน ได้อพยพเข้าสู่เยอรมันตะวันตก คนเหล่านี้เป็นพวกแรงงานมีฝีมือ นักวิชาชีพ และปัญญาชน
ภาพ กำแพงเบอร์ลิน ความสูงกว่า 3 เมตร รอบเขตเบอร์ลินตะวันตก ความยาว 93 ไมล์
ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1961 Walter Ulbricht ผู้นำคอมมิวนิสต์ของเยอรมันตะวันออกได้รับอนุญาตจาก Nikita Khrushchev นายกรัฐมนตรีของสหภาพโซเวียต ให้ปิดกั้นเมืองระหว่างเขตเบอร์ลินตะวันออกและตะวันตก ทหารได้ทำงานในช่วงกลางคืนระหว่างวันที่ 12-13 โดยวางลวดหนามในเขตที่มีความยาวกว่า 100 ไมล์ในเขตที่เข้ามาในส่วนตะวันออกเล็กน้อย หลังจากนั้นไม่นานได้มีการก่อสร้างกำแพงที่มีความสูง 6 ฟุตแทน โดยทำเป็นอิฐคอนกรีตมีความยาวของกำแพง 96 ไมล์ มีหอคอยเป็นช่วงๆโดยมีทหารยามเฝ้า พร้อมด้วยปืนกลและไฟส่องสว่าง ฝ่ายเยอรมันตะวันออกมีเจ้าหน้าที่ๆรู้จักกันในชื่อ Volkspolizei ("Volpos") เดินยามในบริเวณกำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall) ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน
ชาวเบอร์ลินหลายคนได้เห็นตอนเช้าของวันรุ่งขึ้นหลัง 12 สิงหาคม ค.ศ. 1961 ที่เขาได้ถูกตัดขาดจากเพื่อน สมาชิกในครอบครัวที่ได้กลายไปอยู่ในอีกซีกหนึ่งของเมือง เริ่มต้นด้วยการนำของนายกเทศมนตรีเมือง Willi Brandt ได้นำประชาชนชาวเบอร์ลินตะวันตกเดินขบวนแสดงการต่อต้านกำแพงเบอร์ลินนี้ และ Brandt ได้วิจารณ์ประชาธิปไตยฝ่ายตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่ไม่สามารถยับยั้งการคุกคามของโซเวียตได้
ในช่วงแรกประธานาธิบดี John F. Kennedy สหรัฐประกาศต่อสาธารณะว่าจะช่วยชาวเบอร์ลินตะวันตกและเยอรมันตะวันตก และการกระทำของฝ่ายเยอรมันตะวันออกจะไม่ประสบความสำเร็จ
กำแพงเบอร์ลินเป็นสัญลักษณ์กร้าวของสงครามเย็น (Cold War) ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1963 Kennedy ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่มีชื่อเสียงของเขาต่อหน้ากำแพงเบอร์ลิน ว่า “ข้าพเจ้าคือชาวเบอร์ลิน” หรือ "Ich bin ein Berliner" ("I am a Berliner") เป็นการฉลองเมืองที่เป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพและประชาธิปไตยในการต่อต้านทรราชย์และการกดขี่ ในปี ค.ศ. 1970 กำแพงได้ถูกสร้างเสริมให้มีความสูง 10 ฟุต เพื่อหยุดความพยายามผู้คนที่หนีสู่ฝั่งตะวันตกซึ่งเกิดขึ้นเกือบทุกวัน
ในช่วงปี ค.ศ. 1961 ถึงปี 1989 มีชาวเบอร์ลินกว่า 5,000 รายได้หลบหนี บางส่วนได้พยายามแต่ไม่สำเร็จ บางส่วนถูกยิงเสียชีวิตขณะพยายามหลบหนี ซึ่งทำให้โลกตะวันตกยิ่งเกลียดชังกำแพงเบอร์ลินยิ่งขึ้น
ภาพ กำแพงเบอร์ลินในช่วงที่จะถูกทำลาย จะเต็มไปด้วยสีป้ายแสดงความไม่พอใจที่ปรากฏในฝ่ายเบอร์ลินตะวันตก
ภาพ วันแห่งการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน อันนำไปสู่การรวมเยอรมันตะวันตกและตะวันออกเป็นหนึ่งเดียว
ในที่สุดในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980s เยอรมันตะวันออก โดยสภาพของความเสื่อมถอยของสหภาพโซเวียต ได้เริ่มเปิดเสรีให้มีการปฏิรูป ในวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1989 ชาวเบอร์ลินทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกได้แห่กันไปชุมนุมที่บริเวณกำแพงเบอร์ลิน ได้ปีนกำแพง และทุบทำลายกำแพงนั้นเสีย ในฐานะที่มันเป็นสัญลักษณ์ของสงครามเย็นและการกดขี่ ฝ่ายเยอรมันตะวันออกและตะวันตกได้กลับมารวมเป็นชาติหนึ่งเดียวอีกครั้ง และได้ลงนามรวมชาติ (Treaty of Unification) ในวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1990
No comments:
Post a Comment