สุภาษิต: คนมักฟังคำแนะนำน้อยที่สุดยามที่ต้องการมันมากที่สุด
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob CooparatE-mail: pracob@sb4af.org
Keywords: proverbs, สุภาษิต, คำแนะนำ, การรับฟัง, การเปิดใจกว้าง
มีสุภาษิตในภาษาอังกฤษหนึ่งกล่าวว่า “Advice is least heeded when most needed.” ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “คนมักฟังคำแนะนำน้อยที่สุด ยามที่ต้องการมันมากที่สุด”
มีได้สองลักษณะของการให้คำแนะนำในช่วงที่สำคัญยิ่ง คือ
เขาอยากทำก็ให้เขาทำไป ส่วนหนึ่งโบราณบอกว่าไม่มีอะไรจะดีไปกว่าให้ประสบการณ์เป็นครูสอน คือหากเขาอยากจะทำอะไร ก็ให้ทำไป เพราะถึงห้ามก็จะไม่ฟัง หากเขาทำไปแล้วประสบความสำเร็จ ซึ่งก็มีอยู่มาก มันก็จะไปเสริมความมั่นใจเขาให้กล้าทำอะไรอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน และก็ต้องยอมรับความจริงว่า ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่เกิดจากการที่คนเรากล้าทำอย่างที่คนรุ่นก่อนๆไม่กล้าทำ
ในกรณีเช่นนี้ ควรเป็นในเรื่องที่ไม่ใหญ่มากนัก แต่เป็นการให้โอกาสที่เขาจะผิดพลาด หากเกิดผลเสีย ก็ไม่มากนัก และจะได้มีโอกาสเรียนรู้ด้วยตนเอง และอีกด้านหนึ่ง เมื่อเราเป็นผู้ใหญกว่า เป็นเจ้านาย การปล่อยให้ได้มีการตัดสินใจในระดับล่างลงไป มันทำให้เขาต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เขาทำ
ต้องเตือนเขาให้ได้ แม้จะยุ่งยากและเป็นภัยแก่คนเตือน ในบางช่วงที่เป็นหัวเลี้ยงหัวต่อของคน หรือขององค์การ การตัดสินใจบางอย่างที่อาจพลาดเพียงครั้งเดียว แต่ก็มีผลรุนแรงอย่างมาก อาจไม่มีโอกาสที่จะแก้ตัวได้อีกเลย
ในบางจังหวะของชีวิต และอนาคตขององค์การ หรือแม่แต่ประเทศ
สำหรับผู้ที่ต้องเป็นผู้นำ หากเรารู้ว่าเขาจะทำผิดพลาด เพราะความที่เขาหมกมุ่น หลงอยู่กับอำนาจ ลาภ ยศ สรรเสริญ หรือดังในกรณีเหมือนคนมี “ผีพนันกำลังเกาะ” จึงทำให้ไม่สามารถถอนตัวได้ แม้คนอื่นๆที่มองจากภายนอกจะเห็นปัญหานั้น แต่ตนเองที่กำลังหมกมุ่น จะมองไม่เห็น เหมือนที่เขาบอก “เส้นผมอาจบังภูเขา” แต่กระนั้น เพราะความที่เราเป็นเพื่อน พ่อแม่ ญาติพี่น้อง และเพราะหวังดี จึงจำเป็นต้องหาวิธีการที่เหมาะสมที่จะต้องเตือนหรือให้คำแนะนำ มิฉะนั้นจะเกิดหายนะอย่างใหญ่หลวงทั้งต่อบุคคลนั้น ต่อองค์การ หรือแม้แต่ประเทศชาติ ดังนั้นแม้ว่าจะไม่พอใจ หรือเตือนแล้วเกิดภัยแก่ผู้เตือน แต่ก็ต้องกระทำ แต่ต้องเป็นการให้ข้อแนะนำในแบบที่เขารับฟังได้ และมีวิธีการที่ทำให้เขาฉุกคิด
สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยมีการสร้างวัฒนธรรมขึ้นในองค์การ ในครอบครัว ที่ทำให้มีการฟังกัน ทำใจเปิดกว้าง แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ก่อนที่จะมีการตัดสินใจใหญ่ๆ คือต้องสร้างนิสัยในการฟังความอย่างรอบด้าน เปิดใจรับข้อมูล และต้องตระหนักในระดับความสำคัญของสิ่งที่จะตัดสินใจ และต้องเตรียมที่จะรับผลพลอยที่จะเกิดจากมัน ให้มีแผนสอง (Plan B) ในกรณีที่เกิดผลเสียอย่างที่ไม่คาดคิด
อีกครั้งหนึ่ง ขอให้ระลึกเสมอว่า “คนมักฟังคำแนะนำน้อยที่สุดยามที่ต้องการมันมากที่สุด” สถานะเช่นนี้อาจเกิดกับตัวเราเอง หรือคนรอบข้างเราก็เป็นได้
No comments:
Post a Comment