Wednesday, August 31, 2011

ระวังค่าใช้จ่ายแม้เพียงเล็กน้อย การรั่วเพียงรูเล็กๆก็ทำเรือใหญ่ล่มได้

ระวังค่าใช้จ่ายแม้เพียงเล็กน้อย การรั่วเพียงรูเล็กๆก็ทำเรือใหญ่ล่มได้

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail:
Pracob@sb4af.org

ศึกษาและเรียบเรียงจากWikipedia

Keywords: power48, Administration, การบริหาร, management, การจัดการ, power, อำนาจ

มีคำกล่าวของ เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin) บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์อเมริกา ว่า “Beware of little expenses. A small leak will sink a great ship.” แปลเป็นไทยได้ความว่า “ระวังค่าใช้จ่ายแม้เพียงเล็กน้อย การรั่วเพียงรูเล็กๆก็ทำเรือใหญ่ล่มได้”

ภาพ เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin)

เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin) เกิดเมื่อวันที่ 17 มกราคม ค.ศ. 1706 หรืออาจเป็น 6 มกราคม ค.ศ. 1705 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1790 เป็นหนึ่งในคณะบุคคลที่ได้รับเกียรติเรียกในประวัติศาสตร์อเมริกันว่า “บิดาผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา” หรือ Founding Fathers of the United States เป็นผู้มีความสามารถรอบด้านที่เรียกว่า Polymath ที่มีผลงานอย่างเหลือเชื่อ เขาเป็นนักประพันธ์ชั้นนำ เป็นผู้ตีพิมพ์ (printer), นักทฤษฎีการเมือง (political theorist), นักการเมือง (politician), เป็นนักบริหารบุกเบิกสำนักไปรสณีย์ (postmaster) ของสหรัฐ, นักวิทยาศาสตร์ (scientist), นักดนตรี (musician), นักประดิษฐ (inventor), นักเขียนเชิงถากถาง (satirist), นักเคลื่อนไหวภาคประชาชน (civic activist), รัฐบุรุษ (statesman), และนักการทูต (diplomat)

ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ เขาเป็นบุคคลสำคัญในยุค American Enlightenment มีชื่อในประวัติศาสตร์ฟิสิกส์ (history of physics) เขาเป็นคนค้นพบและเป็นนักทฤษฎีเกี่ยวกับไฟฟ้า เขาประดิษฐสายล่อฟ้า (lightning rod) แว่นแบบสองระดับ (bifocals), เตาประหยัดพลังงานที่เรียกว่าเตาแฟรงคลิน (Franklin stove) เครื่องวัดระยะทางรถม้า (odometer) หีบเพลงแก้ว (glass 'armonica') เขาเป็นผู้ก่อตั้งห้องสมุดสาธารณะแบบยืมหนังสือได้ (lending library) และการจัดให้มีสำนักงานตำรวจดับเพลิง (fire department) สำหรับรัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania)

เบนจามิน แฟรงคลิน ด้วยความที่เขาเป็นคนฉลาดอย่างล้ำลึกและมีประสบการณ์ชีวิตอย่างกว้างขวาง และได้ริเริ่มในหลายๆอย่างในสหรัฐอเมริกาที่ยากยิ่งที่จะเข้าใจว่าคนๆหนึ่งจะทำอะไรได้มากมายอย่างที่เขาได้ทำ เมื่อเขาแนะนำด้วยคำกล่าวประโยคหนึ่งว่า “ระวังค่าใช้จ่ายแม้เพียงเล็กน้อย การรั่วเพียงรูเล็กๆก็ทำเรือใหญ่ล่มได้” เพื่อเตือนสติคนในรุ่นต่อๆมาให้พึงรู้จักใช้จ่ายอย่างประหยัด ประหยัดในทุกขึ้นตอน และการประหยัดเล็กๆน้อยๆนี้ ท้ายสุดจะนำมาซึ่งความสำเร็จในสิ่งใหญ่ๆ

ผมจะยกตัวอย่างจากประสบการณ์ชีวิตมาเล่าให้ฟัง

นาฬิกาที่ใส่

นาฬิกาเป็นเครื่องบอกเวลา

เมื่อไม่นานมานี้ได้ซื้อนาฬิกาญี่ปุ่นมียี่ห้อมาเรือนหนึ่งในราคาประมาณสามพันกว่าบาท ความจริงถ้าจะซื้อเรือนละแสนก็พอจะซื้อได้ แต่จะรู้สึกเสียดายเงิน หรือจริงๆจะซื้อเรือนละ 900-1,000 บาทนั้นก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะนาฬิกายุคใหม่มีราคาถูกลงมามาก และทำงานได้แทบไม่ต่างกัน เป็นระบบ Quart ที่ให้ความเที่ยงตรงได้สูงมาก และที่สำคัญคนในวัยผม และลักษณะงานที่เกี่ยวข้อง ไม่มีความจำเป็นต้องสร้างภาพลักษณ์ด้วยนาฬิกามากนัก

ภาพ นาฬิกาแบบ Quart คุณภาพดี ราคาประหยัด เรือนละ 800-900 บาท

ภาพ นาฬิกาหรู อาจราคานับเป็นแสนบาท

หรือจริงๆจะไม่ต้องซื้อนาฬิกาเลย โดยใช้ดูเวลาจากโทรศัพท์มือถือก็เกือบจะทำได้ และเวลาก็เที่ยงอย่างมากๆ และใช้ระบบออนไลน์เทียบเวลากับเวลาสากลได้ตลอดเวลา

ภาพ iPad และเครื่องโทรศัพท์มือถือที่มี Function นาฬิกาอยู่แล้ว

ผมซื้อนาฬิกายี่ห้อดังกล่าวมา และด้วยความที่เคยใช้ได้อย่างดีมาก่อน มันทนทานให้ผมใช้ได้นับ 20 ปี จึงไม่ได้ใส่ใจเก็บใบประกันที่เขาให้มาด้วย แม้กล่องที่มีติดมาด้วยก็ไม่ได้เก็บไว้ แต่แล้วในช่วงเวลาหลังจากนั้นไม่นาน ปรากฏว่ามันเดินช้าไปประมาณ 4-5 นาทีในระยะเวลา 1 สัปดาห์ คิดว่าถ่านหมด ไปเปลี่ยนถ่านมาแล้ว ก็พบว่ามันยังเดินช้าเหมือนเดิม

ผมจึงนำนาฬิกาไปให้ห้างใหญ่ที่ซื้อมาส่งซ่อมต่อ เขาบอกว่าไม่มีใบประกัน ถ้าซ่อมก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายและที่สำคัญต้องเสียเวลารอ ผมจึงให้คนไปซ่อมที่ร้านซ่อมที่มีอยู่ตามห้าง จุดรับซ่อมเหล่านี้เขาบอกว่าซ่อมก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในระดับหนึ่งที่ดูแล้ว ซื้อใหม่จะดีกว่า เพราะเขาวางแผนจะเปลี่ยนเครื่องในทั้งหมด

ผมเลยเปลี่ยนที่ซ่อมใหม่ โดยเดินไปที่ร้านหน้าปากซอย เป็นร้านซ่อมนาฬิกาที่อยู่ใกล้ๆกับร้านซ่อมรองเท้าข้างทางนั้นเอง โดยต้องไปซ่อมด้วยตัวเองในเวลาทำงานปกติ โดยผมลงทุนรอให้เข้าเปิดเครื่องดูถ่าน ถ่านก็ยังมีไฟสมบูรณ์เพราะเพิ่งเปลี่ยนไป ขณะที่เปิดหน้าปัด ช่างเก๋าคนนั้นเขาสังเกตเห็นว่าเข้มวินาทีมีการคดงอไปเกี่ยวเล็กๆกับเข้มอีกสองอัน และนั่นเป็นสาเหตุที่เกี่ยวกันทุกครั้ง แม้เล็กๆ แต่ก็ทำให้เวลาสะดุดช้าลง สูญเสียความเที่ยงตรง เมื่อรู้แล้ว เขาก็ดัดเข็มให้ตรงและไม่ขบกัน แล้วปิดหน้าปัดอัดเครื่องให้แน่นกันน้ำ แล้วส่งให้ผม ผมถามว่าเท่าไร เขาบอกว่า “60 บาทครับ” ตั้งแต่นั้นมา นาฬิกาเรือนนั้นก็ทำหน้าที่อย่างเที่ยงตรงจนถึงปัจจุบัน

นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ แทนที่ผมอาจจะทิ้งนาฬิกาเรือนนี้ไป หรือเชื่อว่าดีไม่พอ ต้องไปซื้อเรือนละหลายหมื่นบาทให้สะใจก็ทำได้ แต่การที่ลองหาวิธีการซ่อมมันประหยัดเงินให้เราได้ดังที่เล่า

เครื่อง CPAP

โรคที่ปัจจุบันเป็นกันมากทั่วโลก คืออาการหยุดหายใจขณะนอนหลับ

มีบุคคลในครอบครัวผมคนหนึ่งที่เขามีอาการนอนหลับแล้วหยุดหายใจ หรือหายใจสะดุ้งเป็นเฮือกๆ และมีเสียงกรนดังมากขณะหลับ เขาเรียกว่า Sleeping Apnea อาการนี้มักจะเป็นกับคนอ้วนน้ำหนักตัวมาก (Obesity) จึงทำให้กล้ามเนื้อและไขมันที่พอกบริเวณลำคอไปกดทับ หลอดลมหายใจหย่อนตีบลงมายามนอนหลับ และทำให้หายใจไม่สะดวก หายใจติดขัดเมื่อนอน

วิธีการแก้ไขตามอาการที่ง่ายที่สุดในปัจจุบัน ง่ายที่สุด คือไปซื้อเครื่องช่วยหายใจขณะหลับเขาเรียกเป็นภาษาอังกฤษยาวเชียวว่า Continuous Positive Airflow Pressure หรือเรียกย่อๆว่า เครื่อง CPAP เครื่องนี้ในอเมริกาต้องมีใบสั่งแพทย์ แต่ในเมืองไทยสามารถหาซื้อได้โดยผ่านทาง Website โดยพิมพ์คำสั่งค้นว่า CPAP ลงไป เครื่องทำหน้าที่อัดอากาศเข้าไปในทางเดินหายใจ ทำให้ช่องลมเปิดตลอดเวลา

ภาพ ตัวอย่างเครื่อง CPAP มีหลายแบบ

เมื่อซื้อเครื่อง CPAP 3 ปีที่แล้ว เครื่องมีราคา 44,000 บาท ซึ่งเป็นแบบพื้นฐาน ตั้งโปรแกรมด้วย Manual ไม่เป็นระบบอัตโนมัติ ราคาเครื่องอย่างแพงเป็นแบบอัตโนมัติรวมควบคุมความชื้น นั้นมีราคาถึง 80,000 บาท เราเลือกซื้ออย่างไม่แพงนัก ใช้อย่างพื้นฐานได้ แต่ขณะเดียวกันได้ศึกษาวิธีแก้ปัญหาหยุดหายใจขณะนอนหลับนั้น หากจะผ่าตัดในประเทศไทยจะใช้เงินประมาณ 200,000-300,000 บาท แต่ประเด็นคือมันจะไม่ใช่เพียงค่าใช้จ่าย เพราะเมื่อรับการผ่าตัดแล้ว จะได้ผลเพียงร้อยละ 40-50 หากคนไข้เป็นโรคอ้วน และความอ้วนและไขมันบริเวณลำคอกลับมาอีก

อุปกรณ์เสีย

อุปกรณ์ต้องมีระบบซ่อมบำรุง

ผู้ป่วยใช้เครื่อง CPAP มานาน 3 ปี เครื่องทำหน้าที่ได้ดี เวลาหน้าหนาวในต่างประเทศ ก็ใช้เครื่องช่วยให้ความชื้นในอากาศ (Humidifier) หรือ Vaporizer ทำให้อากาศที่หายใจเข้าไปมีความชื้นระดับ 40-50% ไม่แห้งจนทำให้หลอดลมหายใจแห้งและระคายเคือง ทำให้เจ็บป่วยได้

ภาพ ตัวอย่างเครื่องช่วยหายใจแบบให้แรงดัน เรียกว่า CPAP แบบควบคุมความชื้นได้

ภาพ คนเมื่อยามนอนแล้วใช้เครื่อง CPAP เพื่อช่วยควบคุมการหายใจ

แต่เครื่องที่ใช้ไปนานๆ ส่วนของท่ออากาศก็อาจเสื่อมเสียได้ แต่ที่พบคือส่วนที่เป็นสายรัดที่เป็น Elastic เสื่อมเสียก่อน เราก็ไปหาซื้อส่วนอุปกรณ์เสริมนี้ โดยลองเข้าไปค้นทั้งระบบ

ปัจจุบันเข้าไปค้นหาราคาเครื่อง CPAP ปรากฏว่าราคาลดลงมาเหลือเริ่มต้นที่ 20,000 บาท และอย่างที่เป็นอัตโนมัติ ราคาประมาณ 45,000-55,000 บาท แต่ชุดหน้ากากที่เป็นอะไหล่ ราคาประมาณ 4,500-5,000 บาท แต่ปัญหาคือเครื่องแต่ละรุ่นมีท่อและระบบสรวมต่อที่ไม่เหมือนกัน เครื่องรุ่นที่เราซื้อหาอะไหล่ไม่ได้ในประเทศไทย ซึ่งหากซื้อทั้งระบบก็คงต้องจ่ายอย่างน้อย 20,000 บาท ซึ่งผมก็รู้สึกว่าเครื่องระบบมันยังใช้การได้ แต่มีเพียงส่วนสายรัดที่เสื่อมหย่อนยาน จึงลองศึกษาอีกทีว่า หากหาสาย Elastic ในตลาด แล้วไปหาช่างตัดเสื้อเขาช่วยเย็บให้เป็นแบบตายตัวเลย เพราะใช้กับคนเพียงคนเดียว จึงไปหาซื้อสาย Elastic ถามคนเขา เขาบอกว่าไปซื้อที่ “ร้านขายกระดุม” ขายอุปกรณ์ตัดเย็บเสื้อผ้าผู้หญิง ผมไปเลือกสายยางยืด ซื้อขนาดกว้างประมาณ ¾ นิ้ว ใช้ยาวไม่เกิน 2 เมตรๆลั 10 บาท เสียเงินไป 20 บาท แล้วมาขอร้านตัดเย็บเสื้อผ้าผู้หญิงในซอยข้างบ้าน ให้เขาช่วยตัดสายเดิมออกหมด แล้วเย็บสายใหม่โดยวัดให้ขนาดพอเหมาะกับศรีษะของผู้ใช้งาน ช่างเจ้าของร้านเขาดูแล้ว เขาก็ทำให้ได้ ในอีก 2 วันผมไปรับอุปกรณ์หน้ากาก (Mask and duct) ที่ติดสายรัดใหม่ เขาทำเสร็จคิดค่าทำ 60 บาท รวมแล้วผมจ่ายเงินไป 80 บาท และทำให้อุปกรณ์ราคา 44,000 บาท ยังใช้ต่อไปได้อีกสักระยะหนึ่ง คิดง่ายๆปีหนึ่งคงประหยัดไปประมาณ 10,000 บาท

เมื่อหาซื้ออุปกรณ์ที่เสียไปไม่ได้ เคยคิดจะซื้อใหม่ทั้งเซท ซึ่งถ้าค้นเข้าไปในอินเตอร์เน็ต ก็คงต้องจ่ายเงินใหม่ราคาประมาณ 20,000 บาทเป็นอย่างน้อย

รถยนต์ที่ใช้

รถยนต์คือพาหนะเพื่อการเดินทาง

เมื่ออยู่เมืองนอก สมัยเรียนหนังสือที่สหรัฐอเมริกา ผมอยู่ในเมืองขนาดเล็ก 2 แห่ง ที่เมือง Emporia ในรัฐแคนซัส และเมือง Norman รัฐโอคลาโฮมา เป็นเมืองนักศึกษา เมืองไม่มีรถประจำทาง สามารถขี่จักรยานไปเรียนหนังสือได้ เพราะเราจะเลือกพักบริเวณใกล้ๆกับมหาวิทยาลัย แต่ยามหน้าหนาว หรือฝนตก หรือต้องการเดินทางไกล ก็ยังจำเป็นต้องมีรถยนต์ใช้ ซึ่งเป็นที่รู้กันสำหรับนักศึกษาไทยในสหรัฐอเมริกา เขาเรียกว่า Automobile Culture คือวัฒนธรรมต้องมีรถยนต์ขับ เหมือนยุคอเมริกาตะวันตก ที่ทุกคนต้องมีม้าหรือรถม้านั่นเอง

แต่เมื่อเป็นคนต่างชาติ เป็นนักศึกษาไม่มีเงินทองมากนัก ก็ต้องรู้จักเลือกใช้รถยนต์ ผมเลือกใช้รถมือสอง (Used car) สมัยก่อนเคยซื้อที่ราคาระหว่าง 250-350 เหรียญ ขณะนั้นเหรียญละ 20 บาทไทย และเมื่อใช้รถเก่า ก็ต้องเรียนรู้วิธีการซ่อมบำรุง เช่น การเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเอง การเปลี่ยนหัวเทียนรถยนต์ การล้างหม้อน้ำ เปลี่ยนน้ำยาสำหรับฤดูหนาว เปลี่ยนยางสำหรับใช้กับหิมะ เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยานพาหนะได้พอสมควร

เมื่อมาทำงานอยู่เมืองไทย ก็ต้องใช้รถเหมือนกัน แต่ที่เมืองไทยมีช่างซ่อมรถที่ค่าแรงไม่แพงนัก เราก็เลือกใช้รถที่พอเหมาะแก่ฐานะ เคยใช้รถแพงที่สุดก็เมื่อทำงานองค์การระหว่างประเทศคือใช้ Mercedes E Class ราคาเท่ากับรถญี่ปุ่น เพราะซื้อโดยไม่ต้องเสียภาษี แต่โดยทั่วไปก็เลือกใช้รถที่พอจะดูแลได้ง่าย คือเป็นพวกรถญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่

ในปัจจุบันที่บ้านมีรถใช้ที่เป็นแบบทั่วไป 3 คันสำหรับคน 4-5 คนสลับกัน รถยนต์นั้นมีไว้เพื่อเป็นยานพาหนะ มันไปใช่เป็นเรื่องของหน้าตา หรือศักดิ์ศรีอะไรแล้ว เราจึงเลือกใช้รถโดยดูว่าซ่อมแซมได้ง่าย หาอะไหล่ไม่ยาก ราคาซื้อไม่ต้องสูงนัก แต่มีสมรรถนะที่ดี ไม่เปลืองน้ำมัน

Toyota Camry

รถยนต์นั่ง 4 ประตู Toyota Camry ขนาดเครื่องยนต์ 2400 CC ผมจะใช้ต่อเมื่อต้องเดินทางไปกับครอบครัวขนาด 2-4 คน รถคันที่ใช้อยู่นี้ มีสมรรถนะเกือบเหมือนกับ Mercedes E Class แต่ราคาซื้อต่างกัน 3 เท่า

ภาพ รถ Toyota Camry ในแบบที่ใช้ที่บ้าน

Mazda 3 Hatchback

ภาพ รถยนต์นั่ง Mazda 3 แบบ Hatchback 5 ประตู

รถ
Mazda 3 ขนาดเครื่องยนต์ 1600 CC เป็นแบบ Hatchback แบบ 5 ประตู คนไทยนั่งได้ 4 คนสบายๆ ส่วนใหญ่ภรรยาเป็นคนขับ เขามักจะขับไปจับจ่ายแถวๆศูนย์การค้า ตอนที่ซื้อ ที่ร้านเขามีขนาดเครื่องยนต์ 2000 CC ซึ่งคิดว่าเราคงไม่ไปวิ่งอะไรแรงขนาดนั้น เครื่องขนาด 1600 CC นับว่าเพียงพอที่จะขับไปได้ทั่วประเทศไทยแล้ว และเครื่องเล็กกว่า ก็ประหยัดน้ำมันได้ดีกว่า

Opel Corsa Hatchback


ภาพ รถ Opel Corsa อย่างที่ใช้ที่บ้าน

มีรถยนต์อีกคันที่อยากพูดถึง คือ Opel Corsa แบบ Hatchback 5 ประตู ขนาดเครื่องยนต์ 1400 CC เป็นแบบใช้เกียร์มือ ผลิตในสเปน ตอนซื้อเมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว ราคาไม่น่าจะถึง 400,000 บาท เป็นรถขนาดเล็ก แต่จริงๆนั่งได้ 4 คนสบายๆ คิดจะขายอยู่หลายครั้ง เพราะที่บ้านไม่มีที่จอดรถมากแล้ว แต่ก็ยังเก็บไว้เป็นรถสำรอง เผื่อผมอยากขับไปจ่ายตลาดหรือขี่ออกไปนอกเมืองเล่นตามลำพัง

ผมดูสถิติการใช้รถที่บ้านนั้นค่อนข้างน้อย คือปีละไม่ถึง 10,000 กิโลเมตรต่อคัน ซึ่งโดยทั่วไป การจะใช้รถยนต์ให้คุ้มคงต้องมีความจำเป็นวิ่งปีละ 30,000-35,000 กิโลเมตร หากเป็นรถแทกซี่วิ่ง 2 กะในกรุงเทพฯ คงตกปีละ 220,000 กิโลเมตร หากวิ่ง 5 ปีก็เท่ากับ 1 ล้านกิโลเมตรหรือมากกว่า

สำหรับรถคันเล็กที่ผมชอบ แต่มักไม่มีใครชอบใช้ คือ Opel Corsa ปีหนึ่งวิ่งไม่ถึง 5,000 กิโลเมตร โดยลักษณะดังครอบครัวของผมแล้ว ก็คงไม่ต้องไปซื้อรถใหม่อะไรที่ไหนอีกแล้ว เพราะตัวผมเอง เมื่อไปต่างจังหวัด ก็ใช้รถประจำทาง หรือเครื่องบิน เวลาไปเดินซื้อของก็ใช้บริการรถไฟฟ้า ใช้รถสามล้อเครื่อง หรือแทกซี่ หรือไม่ก็เดินเอา

สรุป

หากใช้มาตรฐานคนรุ่นใหม่ เขาคงมองผมว่าเป็นคนขี้ตืด ประหยัดไม่เข้าเรื่อง มีเงินก็ใช้ๆไปเสีย ตายแล้วเอาติดตัวไปด้วยไม่ได้ คนรุ่นใหม่เขาพร้อมที่จะใช้การเป็นหนี้ หรือเอาเงินของอนาคตมาใช้ในวันนี้ แต่สำหรับผมแล้ว การที่เราฝึกการใช้จ่ายให้อยู่ในกรอบ คือไม่ใช้เงินมากกว่าที่เราจะหาได้ มีเงินเหลือก็เก็บไว้ แล้วก็นำไปลงทุนในส่วนที่จะเกิดการงอกเงยในอนาคต หากตายไปแล้ว จะเอาเงินไปทำอะไรนั้น ก็คงจะฝากลูกหลานให้รู้จักใช้จ่ายอย่างประหยัด อย่าไปฟุ่มเฟือยโดยไม่จำเป็น

No comments:

Post a Comment