คำพูดไร้ประโยชน์ยามคนหิว
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
Keywords: proverbs, สุภาษิต, การบริหาร
มีสุภาษิตบทหนึ่งในภาษาฝรั่งเศส “Ventre affamé n'a pas d'oreilles.” ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “Words are wasted on a starving man.”คำพูดจะไร้ประโยชน์สำหรับคนที่อดอยาก”
หรือพบในคำสุภาษิตอื่นๆที่ใกล้เคียงกันว่า “The hungry belly has no ears.” หรือ “กระเพาะที่หิวโหยย่อมไม่มีหู” หูในที่นี้หมายถึงการฟัง การรับฟังในสิ่งที่เป็นเหตุผล
ในทางการบริหาร แรงจูงใจขั้นพื้นฐานที่สุดคือความต้องการทางร่างกาย ดังในเรื่อง อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ซึ่งเรียกว่า Physiological needs หากความต้องการในระดับนี้ยังไม่ได้รับการตอบสนอง ก็ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะไปพูดถึงความต้องการในระดับสูงขึ้นไป เช่น ความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน ความต้องการทางสังคม การเป็นที่ยอมรับ การมีศักดิ์ศรี และอื่นๆ
ดังนั้นสำหรับนักบริหารที่จะต้องตระหนักเป็นสิ่งแรก คือการต้องมีอาหารการกินเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของคนเป็นพื้นฐาน ไม่ว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจระดับมหภาค ระดับประเทศจะดีอย่างไร แต่คนทั่วไปยังต้องดิ้นรน ดำรงชีวิตอยู่อย่างขาดแคลนอาหาร และปัจจัยขั้นพื้นฐานอื่นๆ ดังนั้นสิ่งแรกๆที่นักการเมืองที่เข้ามารับผิดชอบบริหารบ้านเมืองต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือต้องคิดถึง ข้าว เนื้อ นม ไข่ ปลา และอาหารโปรตีนทั้งหลาย ตลอดจนพืช ผัก ผลไม้ต่างๆ อย่างน้อยจะต้องมีสิ่งเหล่านี้ในตลาดในราคาที่เป็นธรรม ไม่สูงเกินไป ต้องไม่ให้เกิดการกักตุนโดยกลุ่มพ่อค้า หากขาดแคลนภายในประเทศ จำเป็นต้องสั่งนำเข้าจากต่างประเทศ ก็ต้องกระทำโดยรวดเร็ว ไม่ปล่อยให้เรื่องดังกล่าวกลายเป็นประเด็นความเดือดร้อนในวงกว้างต่อไป
ในวงการธุรกิจในวัฒนธรรมแบบจีน เมื่อเขาจะเจรจาความกัน เขาจึงมักมีงานเลี้ยงอาหารร่วมด้วย ก่อนการประชุมเรื่องราวต่างๆดูจะเครียด แต่พอมีอาหารอร่อย มีเครื่องดื่มย้อมใจ มีเสียงเฮฮาสนุกสนาน เรื่องที่เคร่งเครียดก็จะผ่อนคลาย เรื่องยากๆ ก็พลอยง่ายขึ้น ในองค์การทั่วไป เมื่อจะมีการเจรจา เขาก็จะมีงบประมาณส่วนหนึ่ง เรียกว่างบ Entertain ซึ่งเป็นวัฒนธรรมโดยทั่วไปในวงการธุรกิจ
ดังนั้น พึงจำหลักการบริหารขั้นพื้นฐาน ดังสุภาษิตที่ว่า “คำพูดไร้ประโยชน์ยามคนหิว”
No comments:
Post a Comment