Monday, August 8, 2011

เมื่อเสื้อขาดให้รีบปะชุนเสีย

เมื่อเสื้อขาดให้รีบปะชุนเสีย

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: proverbs, สุภาษิต, การบำรุงรักษา

มีสุภาษิตในภาษาอังกฤษหนึ่งกล่าวว่า “A stitch in time saves nine.” แปลเป็นไทยให้ได้ใจความว่า “เมื่อเสื้อขาดให้รีบปะชุนเสีย” เป็นความได้ว่า เมื่อมีอะไรเสียหายเล็กน้อย ก็ต้องรีบดำเนินการเสีย ก่อนที่มันจะเสียหายหนัก จนซ่อมไม่ได้

Stitch = การปักหรือเย็บ; ส่วนคำว่า Save nine = การต้องเย็บ 9 ครั้ง

ลองให้นึกถึงเสื้อผ้าแบบถักด้วยไหมพรมในสมัยก่อน เมื่อมันหลุดมาตะเข็บหนึ่ง หรือเส้นหนึ่ง แล้วไม่ซ่อมแซมเสีย มันจะหลุดไปเรื่อยๆ ยิ่งซ่อมยาก ดังนั้นถ้าพบว่ามันขาดไปนิดหนึ่ง ก็ให้รีบปะชุนเสีย เพื่อจะได้ไม่ต้องไปซ่อมใหญ่ หรือหากเป็นยุคปัจจุบัน ก็จะไม่ใส่ พาลโยนทิ้งไปเลย

สุภาษิตนี้ไม่ได้มีไว้เตือนเฉพาะเรื่องการตัดเย็บเสื้อผ้า แต่หมายถึงทุกๆสิ่งที่ เมื่อมีอะไรเสียหายเล็กน้อย ก็ให้ดูแลเสียแต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะการชำรุดจะลามต่อไป ทำให้เสียหายหนัก

การใช้รถยนต์เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ใช้สุภาษิตนี้ได้ดี เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนน้ำมันเครื่องตามกำหนดระยะทางหรือเวลา ก็ให้ดำเนินการไปเสีย ไม่ใช่เห็นว่าพอวิ่งไปได้ ก็วิ่งไปเรื่อยๆ เพราะเมื่อน้ำมันเสื่อมคุณภาพ มันจะทำให้สูญเสียการหล่อลื่น ลูกสูบ ข้อเหวี่ยง เหล่านี้จะบดกันทำให้เกิดการสึกกร่อนอย่างรวดเร็ว แต่ตรงกันข้าม รถยนต์รุ่นใหม่มีน้ำมันเครื่องที่มีคุณภาพการหล่อลื่นและทนความร้อนได้ดีขึ้น รถยนต์รุ่นใหม่สามารถวิ่งได้เป็นล้านกิโลเมตร โดยไม่ต้องไปยกเครื่อง ลองถามพวกแทกซี่ดู เขาเพียงแต่ว่าเมื่อถึงเวลา เขาจะเปลี่ยนน้ำมันเครื่องและไส้กรองน้ำมันเครื่องอย่างเคร่งครัด พวกเจ้าของอู่รถแทกซี่เขาจะมีประสบการณ์เรื่องนี้ดี ระบบเครื่องล่างกันสะเทือนของรถยนต์ก็คล้ายกัน หากลูกยางกันสะเทือนเสีย เหล็กจะกระทบกับเหล็ก ไม่ช้าจะลามเสียไปทั้งระบบ หมดเงินอีกหลายพันหรือเป็นหมื่นบาท พวกเครื่องล่างกันสะเทือนนั้นเป็นชิ้นอะไหล่ที่แพง ที่สำคัญคือจะเกิดปัญหาเรื่องความปลอดภัยตามมา เพราะรถจะควบคุมได้ยาก ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

ในระบบการทำงานของคนเรา ก็ไม่ต่างอะไรจากเสื้อผ้าหรือรถยนต์ ทุกอย่างมีสึกหรอ มีชำรุดได้ทั้งสิ้น เมื่อจะใช้คนทำงาน ก็ต้องนึกถึงให้ใช้เขาทำงานร่วมกันไปได้นานๆ อย่าไปหักโหมใช้คนโดยไม่ให้เขามีเวลาพักผ่อน หากเขาทำงานหนักมาสักพักหนึ่ง ฝ่ายนายจ้างเองควรรีบให้เขาได้พักผ่อนตามวันหยุดที่เขามี เวลาเขาทำงาน ณ จุดๆหนึ่งจนเบื่อแล้ว ก็ต้องมองหาทางหมุนเวียนเปลี่ยนตำแหน่งไปให้เขาได้เรียนรู้งาน ณ จุดอื่นๆ และในแต่ละช่วงชีวิต ต้องมองความเป็นไปได้ที่ต้องส่งเสริมเขาให้ได้เรียนรู้เพิ่มเติม ขึ้นเงินเดือนให้ ไม่ต้องรอให้เขาเรียกร้อง เพราะบางทีเขาจะไม่เรียกร้อง แต่เขาก็จะไปหางานใหม่ที่อื่นๆทำที่มีอนาคตกว่า

ดังนั้น เมื่อมีอะไรที่สมควรต้องดูแลบำรุงรักษา ก็ต้องดำเนินการเสีย อย่าให้ต้องชำรุดจนใช้การไม่ได้ จนเสียงาน หรือเสียคน แล้วจึงค่อยมาหยุดซ่อม หรือกลับมาแก้ปัญหาเสียที จงจำสุภาษิตที่ว่า “A stitch in time saves nine.” หรือเป็นไทยว่า “เมื่อเสื้อขาดให้รีบปะชุนเสีย”

No comments:

Post a Comment