Thursday, August 18, 2011

ความไม่ลดละ (Persistence) คือคุณลักษณะผู้คนประสบความสำเร็จ

ความไม่ลดละ (Persistence) คือคุณลักษณะผู้คนประสบความสำเร็จ

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail:
pracob@sb4af.org

ศึกษาและเรียบเรียง

Keywords: persistence, persistent, ความอดทน, การไม่ลดละ, การมีความมานะ, ดื้อ, ตื้อ

Persistence = คำนาม, วิริยะ, การติดตา, ความคงอยู่, การยืนกราน, การเพียร, การยังขืน, การฝังแน่น (Google, แปลภาษา)

Persistence … จากคำนี้เราได้ adj ว่า persistent ซึ่งน่าจะแปลว่า ดื้อ ไม่ลดละ ใช้อธิบายพฤติกรรมคน She’s very persistent. ไม่ได้แปลว่าไม่ดีเสมอ ~ Andrew Biggs

My greatest point is my persistence. I never give up in a match. However down I am, I fight until the last ball. My list of matches shows that I have turned a great many so-called irretrievable defeats into victories. ~ Bjorn Borg

ผมขอเริ่มต้นด้วยการนำเอาคำกล่าวของ Bjorn Borg มาแปลเป็นภาษาไทย เพื่อจะเริ่มอภิปรายในเรื่องของ Persistence ต่อไป

จุดแข็งของผมคือการไม่ลดละ (Persistence) ผมไม่เคยยอมแพ้ในแต่ละแมทช์ ไม่ว่าจะตามหลังมาแค่ไหน ผมจะสู้จนบอลสุดท้าย และจากสถิติแสดงให้เห็นว่า ผมสามารถเปลี่ยนสิ่งที่คนคิดว่าจะเป็นความพ่ายแพ้ให้กลายเป็นชนะได้มากมาย ~ บียอน บอร์ก (Bjorn Borg)


ภาพ บียอน บอร์ก (Bjorn Borg) นักเทนนิสชาวสวีเดนที่คงความเป็นเลิศได้ด้วย Persistence คือสู้อย่างไม่ลดละ

บียอน บอร์ก (Björn Rune Borg) เกิดเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1956 เป็นอดีตนักเทนนิสชายมือหนึ่งของโลกชาวสวีเดน ในช่วงปี ค.ศ. 1974 ถึงปี 1981 เขาชนะเลิศในการแข่งขันเทนนิสชายเดี่ยวครั้งสำคัญของโลก ที่เรียกว่า Grand Slam ถึง 11 รายการ เขาชนะเลิศชายเดี่ยวในการแข่งขัน Wimbledon ในประเทศอังกฤษติดต่อกันถึง 5 ครั้ง เป็นสถิติคู่กับ Roger Federer เขาชนะเลิศชายเดี่ยวในรายการ French Open 6 ครั้ง นับเป็นสถิติที่คู่กับ Rafael Nadal นักเทนนิสสุดยอดในการเล่นบนสนามผิวดิน (Clay court) ในบรรดานักเทนนิสชั้นยอดทั้งหลาย มีหลายคนที่เห็นว่าเขาเป็นนักเทนนิสที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกเท่าที่เคยมีมา

บอร์กสูง 5 ฟุต 11 นิ้ว รูปร่างผอมบาง น้ำหนักตัวน่าจะประมาณ 160-165 ปอนด์ในขณะนั้น ในขณะที่ปัจจุบันนักเทนนิสชายระดับอาชีพน้ำหนักตัวเฉลี่ยที่ประมาณ 180-185 ปอนด์ ความสูงประมาณ 6 ฟุต 2-4 นิ้ว คนตัวสูงทำให้มีความได้เปรียบในการเสอร์ฟลูกที่สามารถกดลงมาได้มาก และยังมีความได้เปรียบด้านพลัง แต่คุณสมบัติของบอร์คคือความอดทนเป็นเลิศ ยิ่งเล่นนาน เหมือนเครื่องยนต์ยิ่งร้อน เหมือนอย่างที่เขาเรียกว่า “ม้าตีนปลาย”

บอร์กเสอร์ฟไม่แรง เพราะร่างกายที่ไม่ใหญ่ และไม่ได้เปรียบจากความสูง แต่เขาได้ฝึกฝนจนเขาไม่เสียเปรียบในการเสอร์ฟมากนัก เพราะเป็นการเสอร์ฟแบบเล่นทางเพื่อทดแทนการขาดความเร็วและแรงของลูก โดยทั่วไปเขาจะเป็นพวกชอบเล่นท้ายคอร์ต ตีลูก Top spin ทั้งแบคแฮนด์และโฟร์แฮนด์ ส่วนการตีแบคแฮนด์นั้น เขาจะจับไม้สองมือ ซึ่งในขณะนั้นถือว่าเป็นสไตล์แปลกที่คนส่วนใหญ่ไม่คุ้น แต่ทำให้เขาสามารถตีลูกได้ยืดยาวไปตกท้ายคอร์ตได้อย่างคงเส้นคงวา

ในการเล่นเทนนิสของบอร์กมีลักษณะสำคัญประการหนึ่งคือการเก็บอารมณ์ ในสนามเขาจะนิ่งเฉยไม่แสดงความดีใจหรือผิดหวังออกมาให้เห็น ไม่ว่าเขาจะเป็นฝ่ายนำหรือฝ่ายตาม มีลักษณะคล้าย Roger Federer นักเทนนิสระดับยอดชาวสวิส บอร์คนิ่งจนคนตั้งฉายาเขาว่า “มนุษย์น้ำแข็ง” หรือ "Ice Man" หรือ "Ice-Borg."

เพราะความเป็นยอดนักกีฬาของเขาจึงมีคนศึกษาลักษณะร่างกายของเขาที่เป็นอยู่ อะไรที่ทำให้เขาทนการแข่งขันที่ต้องใช้ทั้งความเร็ว ความอดทน และพลังที่ต้องแข่งขันที่แม้แต่คนที่แข็งแกร่งที่สุด ก็ทนอาการล้าไม่ไหว

มีผู้เชี่ยวชาญหลายคนอธิบายถึงลักษณะสรีระของบอร์คว่า เพราะเขาฝึกหนักหรือเพราะคุณสมบัติทางร่างกายเฉพาะตัว เขามีหัวใจใหญ่ที่เต้นช้า ซึ่งอาจจะเต้นเพียง 35 ครั้งต่อนาที ในขณะที่คนธรรมดาจะมีหัวใจเต้นที่ 65-75 ครั้ง/นาที เมื่อเขาได้รับการตรวจสอบร่างกายเมื่อตรวจเพื่อรับราชการทหารในวัย 18 ปี ทางการแพทย์ทหารระบุว่าหัวใจเขาเต้น 38 ครั้ง/นาที เมื่อตื่นนอนหัวใจเขาเต้น 50 ครั้ง/นาที นั่นแสดงว่าเมื่อนอนพักผ่อน เขาก็จะฟื้นคืนตัว กลับมาสดชื่นได้เร็วกว่าคนอื่นๆ และจะประมาณ 60 ครั้ง/นาที ในตอนบ่าย บอร์คมีความอดทนอย่างที่คนธรรมดายากที่จะทำได้ ดังนั้นในเกมส์เทนนิสรายการสำคัญที่ต้องเล่นที่ต้องชนะ 3 เซท (3 จาก 5) อาจใช้เวลา 3 ถึง 4 ชั่วโมง ยิ่งเล่นนานเท่าใด โอกาสที่บอร์คจะชนะก็ยิ่งสูง คู่ต่อสู้ทั่วไปจะถอดใจแพ้ไปเสียก่อนตั้งแต่เกมส์ยังไม่จบก็มีมาก

จากเกมส์กีฬา ย้อนกลับมาในการทำกิจการใดๆในชีวิต

เมื่อจะเริ่มทำธุรกิจใดๆ การมีความอดทน การสู้อย่างไม่ลดละนับเป็นคุณสมบัติของคนที่จะประสบความสำเร็จที่สำคัญ เพราะกว่าคนจะประสบความสำเร็จได้ เขาต้องผ่านการฝึกอบรม ทำแล้วทำอีก ทำจนเป็นทักษะที่ไม่พลาด และแม้จะมีทักษะในการทำงานเฉพาะด้าน แต่เมื่อจะเริ่มเป็นหัวหน้าคน ต้องมีการตัดสินใจที่ผลอาจออกมาเป็นหัวหรือก้อยก็ได้นั้น คนทำงานต้องเข้าใจว่าโอกาสพลาดนั้นมี แต่คนที่มีความอดทน ไม่ย่อท้อ ก็มีโอกาสกลับมาสู้ใหม่ได้ การพลาดก็กลายมาเป็นบทเรียนสำหรับการเดินต่อไป

สำหรับการเข้าไปดำเนินธุรกิจใดๆก็ตาม มักจะมีคนที่เขาอยู่ในวงการนั้นๆอยู่แล้ว คนที่มีความอดทน ศึกษา ขวนขวายอย่างสม่ำเสมอ ไม่ย่อท้อ ขณะที่คนอื่นๆสู้ไปได้ไม่นาน สายป่านก็หมดเสียแล้ว เปลี่ยนใจ ถอดใจไม่สู้ต่อ แต่คนที่เข้มแข็ง สู้อย่างไม่ถอย แต่ไม่ได้หมายความว่าสู้อย่างดื้อรั้น ทำงานในแต่ละวัน เหนื่อยนัก ก็พักก่อน นอนหลับพักผ่อน ร่างกายฟื้นตัวแล้วก็กลับมาทำใหม่ สู้ในขณะที่ร่างกายสดชื่น สมองปลอดโปร่ง มีสติปัญญา และมีความมุ่งมั่นที่จะก้าวเดินต่อไป

ทุกธุรกิจมีการแข่งขัน และแข่งขันตลอดเวลา คนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต คือคนที่ทำดีต่อเนื่อง สม่ำเสมอ แม้ประสบความสำเร็จแล้ว ในแต่ละวันและตลอดเวลา ผู้ประกอบการก็ต้องทำงานอย่างไม่มีลดละ เพื่อให้ได้ผลงานเยี่ยมยอดตลอดเวลา กิจการเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน โรงแรม สถานที่ตากอากาศ ร้านอาหาร ร้านตัดผมดัดผม ฯลฯ ทุกอย่างล้วนต้องการทำงานอย่างไม่ลดละ ทำดีต่อเนื่อง

ภาพ ร้านอาหาร Peter Luger Steakhouse เป็นเลิศด้าน Steak เนื้อวัว ที่ให้บริการมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1887 ตั้งอยู่ที่ Brooklyn, ในมหานครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา หากใครไปเที่ยวนิวยอร์ค แล้วเป็นพวกชอบสเต๊ก ต้องไปลองให้รู้ ทำไมเขามีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ

ภาพ Steak ที่บริการจะต้องผ่าน Ageing ในอุณหภูมิกำหนด เนื้อที่เลือกใช้จะต้องเป็นระดับ USDA คัดสรร และเลือกโดยตรงจากทางร้าน บริการต้องเสอร์ฟขณะร้อนๆ เนื้อมีลักษณะหนานุ่ม

หากคนทำร้านอาหารที่ไม่มีความอดทน ปิดร้านบ่อยๆ พอทำได้ดีก็ชะล่าใจไปเที่ยวไปเล่น ในขณะที่ร้านอื่นๆเขาเปิด หรืองานที่ควรจะละเอียดแต่กลับไม่ละเอียด ได้วัตถุดิบไม่สด ห้องน้ำไม่สะอาด พนักงานเสอร์ฟไม่ใส่ใจลูกค้า ไม่ดูแลการเงินอย่างถี่ถ้วน ฯลฯ ในสิ่งเหล่านี้ หากไม่สมบูรณ์ในอย่างใดอย่างหนึ่ง ร้านอาหารนั้นๆก็ประสบปัญหาอันนำไปสู่ความล้มเหลวทางธุรกิจได้เช่นเดียวกัน สิ่งเหล่านี้ที่ผู้ประกอบการที่จะประสบความสำเร็จนั้น คือสามารถที่จะใช้ความไม่ลดละ สามารถยืนนำหน้าคนอื่นๆได้หนึ่งก้าวในทุกๆเรื่องและตลอดเวลา นั่นแหละคือคนที่จะประสบความสำเร็จทั้งในระยะสั้น และระยะยาว

No comments:

Post a Comment