Friday, August 5, 2011

สุภาษิต - ไม่มีอะไรจะโง่ไปกว่าคนแก่แล้วโง่ (2)

สุภาษิต - ไม่มีอะไรจะโง่ไปกว่าคนแก่แล้วโง่ (2)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: สุภาษิต, proverb, การเมือง, การปกครอง, Egypt, อียิปต์, ฮอสนี่ มูบารัค, Hosni Mubarak

ฮอสนี่ มูบารัค (Muhammad Hosni Sayyid Mubarak) เกิดเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1928 เขาได้ไต่เต้าจากนายทหารอากาศ จนเป็นอดีตผู้บัญชาการทหาร นักการเมือง และอดีตประธานาธิบดีคนที่สี่ของประเทศอียิปต์ หลังประธานาธิบดีคนก่อนเขาถูกลอบสังหาร และเมื่อเขาเข้าสู่ตำแหน่ง เขาครองอำนาจนานที่สุด ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1981 ถึงปี 2011 นับเป็นเวลากว่า 30 ปี และนั่นอาจเป็นระยะเวลาที่นานเกินไป


ในช่วงที่เขามีอำนาจ เขาถ่วงดุลอำนาจได้อย่างพอดี ระหว่างการเอาใจสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการให้อียิปต์สงบศึกกับอิสราเอล และสร้างดุลยภาพในตะวันออกกลาง เขาระมัดระวังที่จะไม่สร้างความไม่พอใจแก่ชาวอียิปต์ โดยเฉพาะคนยากจนในประเทศที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลอียิปต์ภายใต้การนำของเขาต้องหาเงินสนับสนุนด้านอาหารนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดสภาพข้าวยากหมากแพงในประเทศ เงินส่วนหนึ่งนั้นก็มาจากเงินสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา

ต่อสหรัฐอเมริกา เขารักษาสัมพันธภาพที่ดี แต่แบบปานกลางเพื่อไม่ให้เกิดความโกรธเคืองจากประเทศโลกอาหรับหลายประเทศที่ไม่พอใจบทบาทของสหรัฐในตะวันออกกลาง อเมริกาเองก็เกรงใจอียิปต์ภายใต้การนำของมูบารัค แม้จะไม่สบายใจในการปกครองประเทศในแบบใช้อำนาจเผด็จการทหาร การไม่ปฏิรูปประเทศสู่ความเป็นประชาธิปไตย แต่ก็ไม่มีทางเลือกอื่น 30 ปีของการปกครอง สหรัฐอเมริกามีประธานาธิบดีเปลี่ยนหน้าไปหลายคน แต่มูบารัคยังคงอำนาจ เป็นประธานาธิบดีของอียิปต์อย่างมั่นคง แต่นั่นเป็นเพียงภาพฉาบฉวยที่มองจากภายนอก

ในที่สุด เมื่อเกิดปรากฏการณ์ “ปฏิวัติดอกมะลิ” (Jasmine Revolution) ขึ้นในตะวันออกกลาง เริ่มจากตูนีเซีย และลามมายังอียิปต์และประเทศอื่นๆ ความไม่พอใจจากกลุ่มคนต่างๆที่ได้รับผลจากการปกครองของเขา เยาวชนตกงาน คนระดับกลางที่ฝืดเคืองในการทำมาหากิน และคนรุ่นใหม่ที่ต้องการปฏิรูปการปกครองประเทศไปสู่ระบบเสรีประชาธิปไตยมากขึ้น ทำให้มีการเดินขบวนต่อต้านมูบารัคอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างไคโร แต่สิ่งที่มูบารัคทำได้คือยื้ออยู่ในอำนาจให้นานที่สุด เหมือนคนดื้อรั้นที่ไม่เข้าใจในสถานการณ์ที่เป็นไปในขณะนั้น มีหลายฝ่ายเสนอให้เขาสละตำแหน่งแล้วลี้ภัยไปนอกประเทศ แต่เขาก็ปฏิเสธที่จะทำตาม แต่เมื่อเหตุการณ์บานปลาย ในที่สุด เขาต้องถูกบังคับให้สละตำแหน่งประธานาธิบดี ลงจากอำนาจอย่างไม่มีทางเลือก

หลังจากความวุ่นวายเดินขบวนประท้วงนาน 18 วันในอียิปต์ที่เรียกว่า Egypt Revolution ในที่สุดในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2011 เขาก็ต้องลาออกจากตำแหน่ง และถ่ายโอนอำนาจไปยัง “สภาทหารสูงสุด” (Supreme Council of the Armed Forces) โดยหวังว่าสภาทหารที่เคยอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของเขาจะได้ดูแลเขาไว้ในสถานะอันสมควร แต่ก็ไม่เป็นอย่างนั้น

สภาฯทหารไม่สามารถช่วยอะไรเขาได้มากนัก เพราะประชาชนหลายกลุ่มเหล่ามองว่าทหารเองก็ชักช้าในการเปลี่ยนแปลง จึงมีการจัดเดินขบวนประท้วงรัฐบาลเกิดขึ้นเป็นระยะ มูบารัคเอง เพราะเลือกที่จะอยู่ในประเทศ จึงเป็นเป้าโจมตีอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดเขาต้องถูกดำเนินคดีต่างๆอย่างเต็มที่

ท่ามกลางความโกรธแค้นของประชาชน เขาถูกข้อหา โทษฐานคอรัปชั่นและการใช้อำนาจที่ผิด เขาถูกนำตัวขึ้นศาลในข้อกล่าวหาฆ่าคนตายโดยเจตนา มีคำสั่งฆ่าผู้เดินขบวนประท้วงโดยสันติ การพิจารณาคดีที่เขาถูกนำตัวขึ้นศาลและถูกกักตัวอยู่ในกรงขัง พร้อมนอนอยู่บนเตียงผู้ป่วยในสภาพของคนชราที่ทั้งทนทุกข์ อัปยศ และน่าเวทนา มีการถ่ายทอดการพิจารณาในศาลไปทั่วโลกผ่านทั้งเครือข่ายโทรทัศน์ CNN และ BBC จากอัยการฝ่ายทหาร เขาถูกสอบสวนอีกครั้งว่ามีบทบาทในการสั่งสังหารประธานาธิบดีคนก่อนเขา คือนาย Anwar Sadat เมื่อกว่า 30 ปีมาแล้ว

หากมูบารัคเลือกที่จะก้าวลงจากอำนาจในเวลาอันควร ปล่อยให้คนรุ่นหลังได้เข้ามาบริหารประเทศตามครรลองประชาธิปไตยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เขาสามารถค่อยๆปล่อยวางทางการทหารที่ยังจะเป็นโล่ปกป้องตัวเขาได้ แต่ทุกอย่างก็สายเกินไปแล้ว เปรียบดังคำสุภาษิตที่ว่า “ไม่มีอะไรจะโง่ไปกว่าคนแก่แล้วโง่” และเมื่อรู้ว่าได้โง่เขลาไปแล้ว ทุกอย่างก็ดูเหมือนสายเกินไป

No comments:

Post a Comment