Wednesday, August 31, 2011

กฎข้อที่ 15 อย่าตีงูเพียงให้หลังหัก

กฎข้อที่ 15 อย่าตีงูเพียงให้หลังหัก

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail:
Pracob@sb4af.org

ศึกษาและเรียบเรียงจาก “กฎการใช้อำนาจ 48 ข้อThe 48 Laws of Power”, 1998 โดย Robert Greene and Joost Elffers.

Keywords: power48, Administration, การบริหาร, management, การจัดการ, power, อำนาจ

Crush your Enemy Totally แปลความได้ว่า จงทำลายศัตรูให้ราบคาบ

จะตีงูเขาว่าต้องตีให้ตาย เพราะงูแม้จะหลังหัก แต่เมื่อไม่ตาย มีโอกาสกลับมาแว้งกัดได้ พิษร้ายนั้นก็จะยังคงมีอยู่ และอาจทำให้ถึงตายได้ ในยามสงครามจึงพบว่าในการรบชนะนั้น มีเป็นอันมากต้องการชัยชนะอย่างเด็ดขาด ไม่มีเงื่อนไข และในส่วนหนึ่งนั้น คือการทำลายหรือสังหารผู้นำฝ่ายตรงกันข้าม ดังในกรณีของสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรทำสงครามกับฝ่ายอักษะ อันมีเยอรมันและอิตาลีในยุโรป จึงมีการคิดแผนสังหารผู้นำอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งแน่ชัดว่า Hitler และ Mussolini ได้เสียชีวิตแล้ว ไม่มีทางกลับมานำได้อีก

ในสงครามเป็นเรื่องของการเอาแพ้เอาชนะ และเมื่อชนะแล้ว ก็ต้องตามติดเพื่อให้ได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด ในเกมส์กีฬา ดังเทนนิส มวย ฟุตบอล เมื่อได้เปรียบแล้วเขาจะไม่หย่อนข้อ จะต้องรีบใช้ช่วงที่ฝ่ายตรงข้ามกำลังขวัญเสีย รีบบุกอยางไม่ให้ตั้งตัวติด จะรุกจนกระทั่งได้ชัยชนะเด็ดขาดแล้วนั่นแหละ เพราะมีหลายครั้งที่ดูเหมือนจะชนะแล้ว เลยหย่อนกำลังลงไปเพราะคิดว่าจะชนะแน่ๆ แต่การกลับไม่เป็นไปดังนั้น เพราะฝ่ายเสียเปรียบสามารถกลับมาตั้งตัวใหม่ได้ บางคนเล่นกีฬาแบบเหมือนม้าตีนปลาย ตอนต้นๆ ก็มักจะปล่อยให้นำไปก่อน เพราะเครื่องยังไม่ร้อน ยังปรับตัวไม่ได้ดีนัก แต่หากฝ่ายตรงข้ามชะล่าใจ ไม่รีบรุกจนชนะขาด ท้ายที่สุดฝ่ายเสียเปรียบจะกลับมากู้สถานการณ์ได้ และมีให้เห็นในลักษณะดังกล่าวนี้มากมายในวงการกีฬา

ในทางการเมืองระหว่างประเทศ เราจะเห็นได้ว่าฝ่ายที่เสียเปรียบจะเป็นฝ่ายที่อยากจะเปิดเจรจา แต่ฝ่ายที่ได้เปรียบนั้น อยากที่จะเอาชนะให้ได้โดยเร็ว ดังเช่นในสงครามโลกครั้งที่สอง ฝ่ายพันธมิตรไม่ได้เปิดช่องให้เจรจายุติสงคราม แต่เมื่อรบกันถึงระดับรุนแรงแล้ว ไม่มีเจรจาจนกว่าจะได้ชัยชนะเด็ดขาด ญี่ปุ่นไม่เคยคิดจะยอมวางอาวุธจนกระทั่งเมื่อได้มีการหย่อนระเบิดนิวเคลียร์ลงไปยังสองเมืองในประเทศญี่ปุ่นแล้ว ญี่ปุ่นจึงประกาศยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไข

ภาพ Napoleon จักรพรรดิของฝรั่งเศส ที่ทำสงครามกับนานาประเทศในยุโรป ท้ายสุดเมื่อแพ้สงคราม ก็ถูกจำคุกบนเกาะชื่อ Saint Helena ซึ่งอยู่ห่างจาก Bight of Cuinea ในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้ ในช่วงหลัง 15 ตุลาคม ค.ศ. 1815 เพื่อให้มั่นใจได้ว่า เขาจะไม่สามารถกลับมามีอำนาจในฝรั่งเศสได้อีก

ภาพ Czar Nicholas II

ภาพ Czar Nicholas II ภาพถ่ายปี ค.ศ. 1913 กษัตริย์ แห่งราชวงศ์ Romanov และครอบครัว ถูกสังหารหลังกองทัพของรัฐบาลต้องพ่ายแพ้แก่กองทัพของฝ่ายคอมมิวนิสต์

ในการแข่งขัน ในการรบ เมื่อจะทำลายคู่ต่อสู้ ก็ต้องทำลายอย่างสิ้นเชิง ไม่มีโอกาสกลับมาต่อสู้ได้อีก ในการทำลายคู่ต่อสู้นั้น อาจไม่เป็นเพียงทางร่างกาย แต่หมายถึงในทางจิตวิญญาณ หรือโอกาส ในบางทีเขายังอาจมีชีวิตอยู่ แต่ในทางการเมืองได้ถูกทำลาย ตัดเขี้ยวตัดเล็บไปหมดแล้ว ไม่มีโอกาสกลับมานำได้อีก ดังกรณีของ Napoleon แห่งประเทศฝรั่งเศส เมื่อเป็นฝ่ายแพ้สงครามในที่สุด ก็ต้องถูกนำไปปล่อยเกาะที่ Saint Helena ซึ่งอยู่ห่างจาก Bight of Cuinea ในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้

ในทางธุรกิจ เราจะเห็นมีการซื้อกิจการฝ่ายตรงกันข้าม ซื้อเพื่อนำเอาแบรนด์ของฝ่ายตรงกันข้ามพร้อมกับวิทยาการมาเป็นของตนแล้วใช้ประโยชน์ต่อ หรือในหลายๆกรณี คือซื้อแล้วค่อยๆสลายแบรนด์นั้น ทำให้คู่แข่งขันในตลาดหมดไป และทำให้บริษัทของตนมีส่วนแบ่งในตลาดเพิ่มขึ้นไปอีก

No comments:

Post a Comment