Sunday, August 14, 2011

เสรีภาพ หลักสำคัญของประชาธิปไตย

เสรีภาพ หลักสำคัญของประชาธิปไตย

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: Quotes, คำกล่าว, liberty, freedom, เสรีภาพ,

He that would make his own liberty secure, must guard even his enemy from opposition; for if he violates this duty he establishes a precedent that will reach himself. ~ Thomas Paine

ใครก็ตามที่ต้องการให้เสรีภาพของเขามั่นคง ก็ต้องปกป้องเสรีภาพนี้ให้กับฝ่ายตรงข้ามด้วย เพราะหากเขาฝ่าฝืนหลักการนี้ เท่ากับว่าภัยการไร้เสรีภาพนี้จะมาถึงตัวเขาเองในที่สุด ~ โธมัส เพน (Thomas Paine)

เสรีภาพ (Liberty – ลิเบอร์ตี้) เป็นแนวคิดในปรัชญาการเมือง (political philosophy) ที่กล่าวถึงสถานะของมนุษย์ที่มีความสามารถที่จะปกครองตนเอง ที่จะประพฤติอย่างที่เขามีความต้องการได้อย่างอิสระ (free will) และรับผิดชอบในสิ่งที่เขาได้ตัดสินใจ (Responsibility) ในการกระทำของเขา

มีแนวคิดที่แตกต่างกันเกี่ยวกับเสรีภาพ ในส่วนที่เกี่ยวกับเอกัตบุคคลและต่อสังคม บางอย่างเกี่ยวกับชีวิตในพันธะสัญญาทางสังคม (Social contract) และสภาพความเป็นจริงตามธรรมชาติ (State of nature) บางคนมองเห็นเสรีภาพเป็นการต้องได้ใช้เสรีภาพและสิทธิอันพึงมีตามความจำเป็นของเสรีภาพนั้น

เสรีภาพเป็นหลักที่มาควบคู่กับประชาธิปไตย ประชาธิปไตยจะไม่เป็นประชาธิปไตย หากไร้ซึ่งเสรีภาพ และเสรีภาพจะดำรงอยู่ไม่ได้ในสังคมที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย

ฝรั่งเศสยึด 3 เสาหลัก

สัญลักษณ์ของสาธารณรัฐฝรั่งเศสแสดงคำขวัญใต้ภาพของ Marianne ว่า "Liberté, égalité, fraternité" หรือ Liberty, equality, fraternity หรือ “เสรีภาพ เสมอภาพ และภราดรภาพ”

เริ่มตั้งแต่ในการเป็นคำขวัญของการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส (French Revolution) ได้มีคำขวัญที่ใช้นำขบวนการ โดย เสรีภาพ เป็นคำควบกับอีกสองคำ

“ความเสมอภาพ” หรือ égalité เพราะหากจะมีเสรีภาพ แต่คนยังไม่มีสถานะที่เท่าเทียมกัน สังคมเต็มไปด้วยความอดหยากยากไร้ ประชาธิปไตยและการปฏิวัตินั้นก็เป็นไปไม่ได้ยาวนาน

“ภราดรภาพ” หรือ fraternité ในอีกด้าน เสรีภาพและความเสมอภาคจะเป็นไปไม่ได้หากมนุษย์ไม่ได้มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน fraternité มีความหมายในภาษาอังกฤษว่า Brotherhood หรือความเป็นพี่น้องกัน มีความปรารถนาดีต่อกันดุจสายเลือดเดียวกัน

ด้วยเหตุดังกล่าว สามเสาหลักของประชาธิปไตย Liberty, equality, fraternity หรือ “เสรีภาพ เสมอภาพ และภราดรภาพ” จึงเป็นสิ่งที่ต้องดำรงอยู่ควบคู่กัน

เสรีภาพเป็นหลักอันสำคัญยิ่งยวด

ในสหภาพโซเวียต ก่อนล่มสลาย เขามีหลักของความเท่าเทียมกัน และความเป็นพี่น้องกันโดยหลักการ หลักเท่าเทียมกัน (Equality) โดยทุกคนไม่มีใครร่ำรวยมีทรัพย์สมบัติเป็นส่วนตัว ที่ดินอันเป็นส่วนสำคัญในการทำการเกษตรและการค้าขายเป็นของรัฐ ผลผลิตการเกษตรเป็นของรัฐ และแบ่งปันไปตามความจำเป็นใช้สอย สหภาพโซเวียตมีหลักภราดรภาพ เขาส่งเสริมระบบการทำนารวม หรือ Commune เขาส่งเสริมกิจกรรมยุวชนที่ต้องเสียสละรับใช้สังคม เขามีวัฒนธรรมการเรียกขานที่ใช้คำว่า Comrade หรือ “สหาย” พวกคอมมิวนิสต์ในไทยก็เรียกสมาชิกด้วยคำนี้

แต่สังคมนิยมในแบบโซเวียตต้องล่มสลายเพราะขาดหลัก “เสรีภาพ” มีความเสมอภาพและภราดรภาพก็จริง แต่ไม่มีเสรีภาพ ไม่สามารถเลือกผู้นำได้อย่างเสรี นอกจากส่วนที่กำหนดโดยพรรค หรือเผด็จการโดยพรรค ไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่มีเสรีภาพของสื่อสารมวลชน และด้วยเหตุดังกล่าว เผด็จการโดยชนชั้นก็ต้องล่มสลายไปในที่สุด ด้วยตัวของมันเองเป็นส่วนใหญ่

ในประเทศไทย ผมเชื่อว่าเราแม้ไม่มีความเท่าเทียมกันในสถานะทางเศรษฐกิจ ยังมีช่องว่างระหว่างคนมีและคนไม่มี แต่อย่างน้อยคนยากจน เกษตรกร ก็ไม่ยากจนในระดับที่ไม่มีอะไรจะกิน และโดยแนวโน้มแล้ว เรากำลังเคลื่อนไปสู่การลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ ในอีกด้านคือความเป็นภราดรภาพ หรือความเป็นพี่น้องกัน เรามีสัมพันธภาพที่ดีในชุมชนมาแต่เดิม โดยเฉพาะชุมชนหมู่บ้านขนาดเล็ก ที่มีวิถีชีวิตแบบอยู่แบบพึ่งพาอาศัยกัน ซึ่งสิ่งที่เราควรกระทำคือทำให้ชีวิตวิถีไทยแบบดั่งเดิม ความมีน้ำใจต่อกันนั้นยังคงมีอยู่ และขยายไปสู่ความเป็นพี่เป็นน้องกันในวงกว้าง การมีความรับผิดชอบในหน้าที่พลเมืองอันดี ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นได้ในการศึกษา เริ่มแต่จากชุมชนเล็กไปสู่ความเป็นสังคมใหญ่

แต่สิ่งที่เราต้องยึดหลักเอาไว้คือ การต้องมีเสรีภาพ เพราะคนไทยมักเป็นคนสุภาพ ไม่ชอบความขัดแย้ง เรามักยึดหลัก “แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร” แล้วหลบเลี่ยงความขัดแย้ง เราหลบเลี่ยงเมื่อจะทำอะไรแล้วมีคนมาข่มขู่ เราก็จะเงียบเฉย และนั่นเท่ากับเรายอมรับการคุกคามเสรีภาพส่วนตัวของเรา ลองสังเกตในเมืองใหญ่ มีคนฝ่าฝืนเอาเปรียบด้วยการใช้พื้นที่ทางเท้าตั้งเป็นร้านค้า ใช้พื้นที่ถนนส่วนกลางเป็นที่จอดรถของลูกค้า แล้วก็ไม่มีใครว่าอะไร ทั้งๆที่รู้อยู่ว่ามีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น มีเจ้าหน้าที่รัฐสมรู้ร่วมคิดด้วย

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเรายังไม่ได้ยึดหลักการเคารพเสรีภาพของกันและกัน ของบางอย่างมีไว้เพื่อเป็นสมบัติของส่วนรวม มีไว้ใช้เพื่อให้ทุกคนได้ประโยชน์ แต่เมื่อมีคนมารุกล้ำต้องไม่ปล่อยให้กระทำได้ มิฉะนั้นก็ขัดหลักเสรีภาพ เขาอื่นถูกละเมิดได้ เราก็ถูกละเมิดได้เช่นกัน

ในด้านสื่อสารมวลชนก็นับเป็นหลักเสรีภาพที่สำคัญ สื่อต้องสามารถนำเสนอสิ่งที่เป็นความจริง สื่อวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ที่ต้องมีการลงทุนถูกใช้ประโยชน์โดยผู้มีเงิน มีอำนาจ และมีอิทธิพลมากกว่า ผู้สื่อข่าวเขาอาจทำหน้าที่ในการนำเสนอข่าวสาร แต่ก็ไม่อาจทำได้อย่างครบถ้วน แต่สื่อใหม่ที่เป็นอิสระอย่างมาก อย่างสื่ออินเตอร์เน็ต สื่อสังคม หรือ Social Media ทุกคนมีความสามารถในการนำเสนอข่าวสารข้อเท็จจริงชนิดไม่สามารถหยุดยั้งได้ เราปิดกั้นมี Censor กันในประเทศ แต่นอกประเทศเราก็ไม่สามารถจะไปปิดกั้นได้ ด้วยเหตุดังกล่าว เราจึงพบปรากฏการณ์ “ปฏิวัติอาหรับ” หรือ Arab Spring ประชาชนและคนรุ่นใหม่ออกมาต่อต้านรัฐบาลเผด็จการของตนเองกันอย่างกว้างขวาง และยากที่จะหยุดยั้งได้ เพราะสิ่งที่เขาออกมาเรียกร้องนั้น คือการนำประเทศไปสู่การปกครองแบบประชาธิปไตย หรือเรียกว่า Democratization process

หลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพส่วนบุคคล และเสรีภาพของสื่อสารมวลชนที่จะนำเสนอข่าวสารนี้ จะเป็นหลักอันสำคัญในโลกยุคใหม่ ที่ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าในประเทศไทย ในตะวันออกกลาง หรือในอัฟริกา และทั่วทุกมุมโลก

No comments:

Post a Comment