Wednesday, August 24, 2011

พรรคเพื่อไทย หลอกฉันได้ครั้งหนึ่ง คุณเป็นคนอัปยศ

พรรคเพื่อไทย หลอกฉันได้ครั้งหนึ่ง คุณเป็นคนอัปยศ

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail:
pracob@sb4af.org

Keywords: proverb, สุภาษิต, idiom, การเมือง, ความฉลาด, ความซื่อสัตย์, ความจริงใจ
Updated: Friday, August 26, 2011

ความนำ

มีคำกล่าวในภาษาอังกฤษบทหนึ่งว่า “Fool me once, shame on you, fool me twice shame on me.” ~ Unknown ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า “หลอกฉันได้ครั้งหนึ่ง คุณเป็นคนอัปยศ หลอกฉันได้สองครั้ง ฉันนะแหละเป็นคนอัปยศ” ~ นิรนาม

การจะอยู่ร่วมกันในสังคม เราต้องมีความซื่อสัตย์และจริงใจต่อกัน เมื่อเราจะพูดหรือคิดอะไร เราต้องมั่นใจในสิ่งที่พูด เมื่อเราจะโฆษณาสินค้าใดๆ เราก็ต้องรับผิดชอบต่อสรรพคุณของสิ่งที่เราเสนอขาย และเมื่อสินค้าและบริการที่เรานำเข้าสู่ตลาด ในช่วงแรกๆ คนอาจไม่เชื่อถือ แต่เมื่อคนได้ใช้บริการ หรือได้ซื้อสินค้านั้นไป แล้วมันดีกว่า ถูกกว่า เชื่อถือได้มากกว่า คนก็หันมาใช้สินค้าและบริการนั้นๆแบบปากต่อปาก โดยสินค้าและบริการนั้นมันได้โฆษณาด้วยตัวมันเอง

คุณสมบัติในธุรกิจดังนี้เขาเรียกว่า Reliability ซึ่งตามพจนานุกรมมีคำแปลว่า ความเชื่อถือ, ความเชื่อถือได้, ความเชื่อมั่น, ความไว้วางใจ ฯลฯ ยิ่งเราดำเนินธุรกิจยาวนาน ชื่อเสียงในความเชือถือได้ คนไว้วางใจเรามากเท่าใด สิ่งใหม่ๆที่เรานำเสนอสู่ตลาด แม้จะเป็นสินค้าใหม่ แต่คนจะเชื่อในชื่อเสียงที่มีมาแต่เดิม เขาเรียกว่าความจงรักภักดีต่อยี่ห้อ หรือ Brand loyalty หรือความผูกพันในยี่ห้อนั้นๆ

ผมเขียนบทความนี้ด้วยเห็นว่าการเมืองไทยกำลังพัฒนาไปข้างหน้า และสิ่งที่สำคัญคือพรรคการเมือง (Political Parties) ต้องลงแรงพัฒนานโยบายของพรรคอย่างจริงจัง โดยนโยบายดังกล่าวนั้นต้องพัฒนาอย่างให้ประชาชนมีส่วนร่วม และเมื่อได้นโยบายที่ไตร่ตรองมาอย่างดีแล้ว ก็ต้องสื่อต่อประชาชน และช่วงที่สำคัญที่สุดระยะหนึ่งคือการช่วงการหาเสียงเพื่อรับการเลือกตั้งเข้าไปบริหารชุมชนหรือประเทศ และเมื่อได้รับการเลือกตั้งแล้ว นโยบายนั้นก็คือสื่อ สัมพันธ์ และสัญญาที่นักการเมืองอาชีพทั้งหลายต้องจริงใจที่จะดำเนินการให้เกิดขึ้นตามที่ได้ให้สัญญาไว้

การรณรงค์ทางการเมือง

Campaign เป็นคำนาม ตามพจนานุกรม หมายถึง ณรงค์, การโฆษณา, ศึก, การต่อสู้, การรณรงค์, การรบ, การเผยแพร่, การศึก

การรณรงค์ทางการเมือง (Political campaign) เป็นความพยายามอย่างเป็นระบบที่จะหาการสนับสนุนที่ทำให้เกิดกระบวนการตัดสินใจภายในกลุ่มหนึ่ง ในระบอบประชาธิปไตย การรณรงค์ทางการเมืองหมายถึงการรณรงค์ภายในกลุ่มตัวแทนของตน (Electoral) หรือที่ตัวแทนจะไปเลือก หรือในวงกว้างลงประชามติ (Referendums) เพื่อตัดสินใจทางการเมืองบางประการ

ในการรณรงค์ทางการเมืองในช่วงของการเลือกตั้ง เรามีการหาเสียงด้วยนโยบายว่า เราจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วเราใช้เวลาเพื่อชี้แจงในสิ่งที่เราจะทำ สามารถบอกในแนวคิดและแนวทางให้มากที่สุดว่าสิ่งที่เรานำเสนอนั้นคืออะไร แตกต่างจากนโยบายของคนและพรรคอื่นๆอย่างไร มีรายละเอียด มีแนวคิด (Concepts) อย่างไร แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ได้สัญญาไว้นั้น และเมื่อใด

นโยบายของพรรคไทยรักไทย

ยกตัวอย่าง ในยุคของพรรค “ไทยรักไทย” ภายใต้การนำของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ก้าวสู่อำนาจนั้น มีหลายนโยบายที่แตกต่างจากพรรคอื่นๆอย่างชัดเจน ดังเช่น

นายกรัฐมนตรีพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร (Police Lt. Colonel Thaksin Shinawatra) หัวหน้าพรรคไทยรักไทย (Thai Rak Thai Party) เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 54 และคนที่ 55 เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 และประกาศยุบสภาลาออกเพื่อรับการเลือกตั้งใหม่ และได้กลับเข้าสู่ตำแหน่งเป็นนายกรัฐมตรีในสมัยที่สอง รวมเวลาการดำรงตำแหน่ง 5 ปี 15 วัน และในปี พ.ศ. 2549 หลังจากความวุ่นวายทางการเมือง ได้เกิดรัฐประหารและต้องถูกให้ออกจากตำแหน่ง

ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งช่วงปีพ.ศ. 2543-2544 นับเป็นครั้งแรกที่มีการสร้างพรรคการเมืองอย่างมียุทธศาสตร์การบริหาร การรณรงค์ทางการเมือง และการสร้างนโยบายทางการเมืองแบบ “ประชานิยม” อย่างเป็นรูปธรรม ในขณะที่พรรคอื่นๆไม่ได้มีการดำเนินการในลักษณะดังกล่าว

มีหลายนโยบายที่ได้รับความนิยมจากประชาชน ซึ่งจะขอมานำเสนอดังนี้

นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค อันเป็นนโยบายที่ฝรั่งเรียกว่า Universal Healthcare คือเป็นการให้หลักประกันด้านรักษาพยาบาลแก่ประชาชนทั้งมวล ไม่ว่าจะยากจนอย่างไร เมื่อเจ็บป่วยและต้องการรักษาพยาบาล จะได้รับบริการจากรัฐบาล หลักการนี้เป็นการให้บริการแก่ทุกคนที่เป็นคนไทย หากมีบัตรประจำตัวและทะเบียนบ้านแสดงความเป็นคนไทย ก็มีสิทธิรับบริการรักษาพยาบาลนี้ได้ โดยเสียค่าใช้จ่ายในขั้นต้นไม่เกินครั้งละ 30 บาท

นโยบายกองทุนหมู่บ้าน โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินให้หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท คิดตามจำนวนหมู่บ้านที่มี 27,000 หมู่บ้าน ก็เท่ากับลงทุนไป 27,000 ล้านบาทโดยประมาณ และเขาก็มีวิธีการบริหารเงินทุนดังกล่าว และเงินทุนนี้ไม่ได้ให้เปล่า แต่มอบหมายให้แต่ละหมู่บ้านมีการจัดการกันเอง และใช้เป็นเงินหมุนเวียน

สองนโยบายนี้ในระยะแรกๆ คนก็ไม่เชื่อว่าจะทำได้ หรือทำแล้วเกิดประโยชน์ แต่หลังจากพรรคไทยรักไทยบริหารประเทศไปได้สักระยะ และรัฐบาลได้ทำตามนโยบายที่ได้เสนอไปนี้ แล้วได้ผล การประกันสุขภาพเป็นที่ต้องการของประชาชน รวมถึงคนแก่คนเฒ่า แม้จะมีปัญหาด้านเงินทุนที่ใช้นั้นกินเข้าไปในเงินทุนสะสมของแต่ละโรงพยาบาล ส่วนกองทุนหมู่บ้าน ก็เป็นการไปกระตุ้นเศรษฐกิจโดยไม่ใช่ไปแจกเงินเปล่าๆ และยังเป็นการฝึกให้ชาวบ้านต้องช่วยกันดูแลกองทุนนี้ แนวทางทั้งสองและอื่นๆที่เขาเรียกว่า “นโยบายประชานิยม” (Populism policies) และอื่นๆที่ทำให้ชาวบ้านได้ประโยชน์นี้ จึงทำให้เป็นคะแนนนิยมของพรรคไทยรักไทย เมื่อมีการเลือกตั้งในครั้งต่อมา พรรคไทยรักไทยก็ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาด้วยคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น

แต่หลังจากที่การเมืองเปลี่ยนผันไป มีการปฏิวัติรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 พรรคไทยรักไทยถูกยุบ กลายเป็นพรรคพลังประชาชน แล้วก็ถูกยุบ จนท้ายสุดกลายเป็นพรรคเพื่อไทย (Pheu Thai Party) ในการเลือกตั้งครั้งวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 พรรคเพื่อไทยได้เสนอนโยบายต่างๆออกมามากมายในลักษณะประชานิยม มีหลายอย่างที่ทำได้ แต่ใช้เวลาและเป็นที่เข้าใจกัน แต่ก็มีบางอย่างที่ชัดเจน แต่จะเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ซึ่งจะขอวิเคราะห์ใน 2 นโยบาย กล่าวคือ

นโยบายค่าแรงงานขั้นต่ำวันละ 300 บาท

นโยบายค่าแรงงานขั้นต่ำวันละ 300 บาท ตามความเข้าใจของคนทั่วไปนั้น มันคือการมีกฏหมายที่กำหนดให้มีค่าแรงงานขั้นต่ำที่วันละ 300 บาท ฝรั่งเขาเรียกว่า Minimum Wage Law

ดังตัวอย่างในประเทศออสเตรเลีย มีกฎหมายบังคับใช้ค่าแรงงานขั้นต่ำ ตั้งแต่ปีค.ศ. 1896 หรือ 115 ปีมาแล้ว และได้มีการใช้ และรัฐบาลก็บังคับใช้โดยกฎหมายอย่างต่อเนื่อง

ในปี ค.ศ. 2005 มีคนออสเตรเลียร้อยละ 58 ที่ได้รับผลจากนโยบายนี้ หรือเท่ากับมีร้อยละ 42 ที่มีรายได้สูงกว่านี้ไปแล้ว ส่วนในสหราชอาณาจักร (United Kingdom – UK) กฎหมายค่าแรงงานงานขั้นต่ำช่วยคนร้อยละ 45 ในสหรัฐอเมริการ้อยละ 34 หรือประมาณ 1 ใน 3 ของแรงงาน

ในประเทศออสเตรเลีย ณ วันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 2011 นี้เอง ค่าแรงงานขั้นต่ำกำหนดโดยรัฐบาลกลางเท่ากับ $15.51 ต่อชั่วโมง หรือเท่ากับวันละ $124.08 หรือคิดเป็นเงินไทยเท่ากับ 3,877 บาท หรือคิดเป็นสัปดาห์ละ $589.30 หรือเท่ากับ 18,415 บาท หรือเดือนละ 73,662.5 บาท

AUS$1 = 31.25 บาท

ค่าแรงงานขั้นต่ำตามกฎหมายไทยที่ได้ปรับเพิ่มในปีพ.ศ. 2554 ค่าแรงงานในจังหวัดที่ต่ำสุด คือที่จังหวัดพะเยา151 บาท ปรับเพิ่มเป็น 159 บาท และในจังหวัดที่สูงสุด ที่จังหวัดสมุทรปราการ 206 บาทเพิ่มเป็น 215 บาท และกรุงเทพฯ 206 บาทเพิ่มเป็น 215 บาท หรือจังหวัดที่ต่ำสุดกับสูงสุดต่างกันประมาณร้อยละ 26

ความจริงการทำให้คนงานระดับล่างสุดได้รับค่าแรงเพิ่มเป็นวันละ 300 บาทนั้นเป็นเป้าหมายที่ดี หากทำได้อย่างรอบคอบ โดยใช้เวลาเป็นขั้นเป็นตอน แต่หากคิดจากฐานต่ำสุดที่ 159 บาท เพิ่มเป็น 300 บาทนั้นเป็นการเพิ่มเท่ากับเกือบ 1 เท่าตัว และเพิ่มอย่างทันทีทันใดเหมือนอย่างที่ได้รับปากไว้ในระหว่างหาเสียง

นโยบายค่าแรงงานขั้นต่ำที่ 300 บาทนี้เป็นนโยบายที่โดนใจคนทำงานระดับล่างเป็นอันมากที่เงินรายได้เขาไม่ถึงระดับดังกล่าว ซึ่งยังมีอีกมาก อาจจะถึงร้อยละ 60-70 ของแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งในที่สุดก็พิสูจน์ได้ว่านโยบายนี้ไม่สามารถทำได้อย่างที่พูด (สิงหาคม 2554)

นโยบายเงินเดือนผู้จบปริญญาตรีขั้นต่ำ 15,000 บาท

นโยบายปรับเงินเดือนขั้นต่ำของผู้จบปริญญาตรีที่ 15,000 บาท เป็นอีกนโยบายที่โดนใจคนที่จบปริญญาตรีและกำลังเรียน ซึ่งเป็นคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาว นโยบายนี้เป็นอีกนโยบายที่ทำให้ไม่มีความเข้าใจตรงกัน นโยบายนี้ หากมีการบังคับใช้ เอกชนสามารถรับได้ เขาคงต้องหาทางเลี่ยงบาลี กล่าวคือ รับเป็นการลองงาน หรือฝึกงานในช่วงสั้นๆ 3-6 เดือน แล้วก็ให้ออกไปก่อน แล้วสมัครเข้าใหม่ หรือไม่ก็ใช้วิธีการจ้างแบบตามสัญญา หรือ Subcontract งานออกไป ไม่ถือว่าคนทำงานนั้นๆเป็นลูกจ้าง เหมือนกับที่เขาใช้วิธีการจ้าง Freelance ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

อีกด้านหนึ่งมองว่า หากจะจ้างคนในระบบราชการเป็นตัวนำ ซึ่งมีคนในราชการ และลูกจ้างอยู่ประมาณ 1.8 ล้านคน อาจจะร้อยละ 50 ที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี การปรับเงินเดือนในส่วนราชการก่อนอาจเป็นตัวกำหนดได้ในระดับหนึ่งแม้ไม่ทั้งหมด เพราะปัจจุบัน งานภาคเอกชนได้เติบโตขึ้นมาก จนงานส่วนราชการกลายเป็นงานส่วนน้อย แต่แม้จะเลือกดำเนินการในส่วนราชการก่อน ก็ไม่สามารถกระทำได้อย่างง่ายๆ เพราะเป้าหมายและส่วนที่เป็นจริงในปัจจุบันต่างกันมากเกินไป

อัตราเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างที่ประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2548

เงินเดือนปริญญาตรีในราชการ 7,630 บาท หากเพิ่มรายได้จากปีพ.ศ. 2548 ทุกปีๆละ 5 เปอร์เซ็นต์ ในปีพ.ศ. 2554 นี้จะมีเงินเดือนเท่ากับ 10,224.93 บาท และหากใช้ฐานการปรับเพิ่มปีละ 5 เปอร์เซ็นต์ไปจนอึก 4 ปีจนถึงปี พ.ศ. 2557 ก็จะมีเงินเดือนเท่ากับ 12,428.47 บาท ซึ่งนับว่ายังห่างไกลจาก 15,000 บาท

จากฐานเงินเดือนปริญญาตรีในราชการที่ 7,630 บาท หากให้เพิ่มขึ้นปีละ 10% ต่อเนื่องกันทุกปี 4 ปี ก็จะได้เงินเดือนที่ 11,171 บาท ซึ่งก็ยังห่างไกลจากเงินเดือน 15,000 บาทตามที่โฆษณา และที่สำคัญการจะปรับเงินเดือนนี้ต้องคิดถึงคนที่เขาได้รับเงินเดือนทั้งระบบด้วย มิฉะนั้นการขึ้นเงินเดือนคนเข้าใหม่โดยไม่ใส่ใจคนที่ทำงานอยู่เดิม ก็ยิ่งเป็นการทำลายขวัญคนทำงานทั้งระบบ และที่สำคัญนี่เป็นเพียงในระบบราชการ ซึ่งก็เป็นเพียงส่วนเดียวของคนรับเงินเดือนทั้งประเทศ

การกำหนดอัตราเงินเดือนที่ขั้นต่ำ 15,000 บาทนี้แสดให้เห็นว่าขาดฐานของการคิดอย่างรอบคอบและเป็นระบบ อัตราเงินเดือนนี้ไม่ได้เป็นจริงในภาคเอกชน เพราะเอกชนเป็นการจ้างโดยเลือกตามความสามารถของผู้มาสมัครงานและสภาพการแข่งขันในตลาดงานเป็นสำคัญ ในระบบงานเอกชนหากเขาจะรับสภาพเงินเดือนขั้นต่ำที่ 15,000 บาท เขาอาจกระทำได้อย่างรวดเร็ว แต่เขาก็จะเลือกรับคนที่มีคุณภาพ และรับจำนวนน้อยลง แล้วส่วนที่เหลือใครจะเป็นคนรับไป โดยเฉพาะคนที่ได้รับปริญญาจริง แต่ไม่มีความสามารถตามวุฒิอันควร และสิ่งที่เราต้องไม่ลืมคือคนตกงานจริงๆในปัจจุบัน คือคนที่จบการศึกษาระดับปริญญาแต่แบบไม่มีคุณภาพ

การกำหนดเงินเดือนขั้นต่ำแบบเหมาทั่ว (Across the board) ไม่สามารถกำหนดได้ เพราะคุณภาพของบัณฑิตผู้จบการศึกษาจากแต่ละสถาบันมีไม่เท่ากัน โดยทั่วไป เงินเดือนตามอัตราราชการถือว่าเป็นอัตราปานกลางสำหรับสายวิชาการทั่วไปที่ไม่ได้มีความขาดแคลนในตลาดแรงงาน ดังเช่นสายการศึกษา รัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ทั้งหลาย

ในตลาดงาน บัณฑิตมีความแตกต่างในแต่ละสาขาวิชาการ ดังในสายวิชาแพทย์ ทันตแพทย์ วิศวกร มีความต้องการในตลาดสูง แพทย์บางคนที่จบการศึกษามาเพียง 2-3 ปี ก็มีรายได้ถึงเดือนละ 100,000 บาท ทั้งนี้เมื่อเขาไปประกอบอาชีพอิสระ หรือเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ส่วนวิศวกรในระดับปริญญาตรีที่จะได้รับเงินเดือนเริ่มต้นที่ 18,000 -25,000 บาทนั้นก็มีให้เห็น ขึ้นอยู่กับความสามารถและคุณภาพการศึกษาของแต่ละคน

ดังนั้นการกำหนดอัตราเงินเดือนปริญญาตรีที่ 15,000 บาทนั้นเป็นเหมือนนโยบายที่รู้ใจเยาวชน แต่ไม่เข้าใจหรือทำเป็นไม่เข้าใจตลาดแรงงานแท้จริง และท้ายสุดก็จะทำตามที่ให้สัญญาไว้ไม่ได้

หลอกฉันสองครั้ง ฉันเป็นคนอัปยศ

หลอกฉันได้ครั้งหนึ่ง คุณเป็นคนอัปยศ หลอกฉันได้สองครั้ง ฉันนะแหละเป็นคนอัปยศ” ~ นิรนาม

หากเป็นธุรกิจที่หลอกคน ก็คงจะประสบความสำเร็จในระยะสั้นๆเท่านั้น แต่ในระยะยาวย่อมนำมาซึ่งความหายนะ เพราะจะเสียชื่อเสียงไปในระยะยาว และยากที่จะแก้ตัว

การเป็นพรรคการเมืองยิ่งสำคัญกว่านั้น พรรคการเมืองนั้นต้องสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้มาก จึงจะได้รับคะแนนเสียงสนับสนุน พรรคการเมืองมีรางวัลคือศรัทธาแม้นับเป็นเงินทองไม่ได้โดยตรง

การหลอกประชาชนเพื่อให้ได้รับการเลือกตั้งครั้งหนึ่งนั้นคนพอเข้าใจ แต่แล้วคราวต่อๆไป จะโกหกคนได้อีกหรือ แล้วประชาชนกลุ่มนั้นๆ เขาจะเชื่อหรือไม่ หากนับจากที่ได้เสนอนโยบายไปแล้ว แม้ทำให้ได้รับการเลือกตั้ง แต่ส่วนหนึ่งพรรคเพื่อไทยได้เสียเครดิตไปแล้ว การจะแก้ไขได้ ก็ด้วยต้องแสดงความสำเร็จที่เป็นภาพรวมๆของเศรษฐกิจประเทศ และผลกระทบต่อคนยากคนจนว่า พรรคฯ แม้จะไม่สามารถทำได้ตามสัญญาในนโยบายสำคัญ แต่ก็จะยังทำได้ดีกว่าพรรคใดๆที่มีอยู่อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งก็ต้องเป็นเรื่องที่ใช้เวลาและความพยายามอย่างจริงจังที่จะพิสูจน์

สำหรับประชาชนคนทั่วไปที่ไปออกเสียงเลือกตั้งต้องจำสุภาษิตที่เขาสอนอย่างใส่ใจไว้ว่า

Fool me once, shame on you, fool me twice shame on me.” ~ Unknown

ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า “หลอกฉันได้ครั้งหนึ่ง คุณเป็นคนอัปยศ หลอกฉันได้สองครั้ง ฉันนะแหละเป็นคนอัปยศ” ~ ผู้แต่งนิรนาม

No comments:

Post a Comment