Wednesday, December 28, 2011

บทที่ 8 มองงานให้ทะลุ

บทที่ 8 มองงานให้ทะลุ

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือออนไลน์เรื่อง สู่ความสำเร็จแห่งชีวิต

Keywords: cw214-08, ชีวิต, การทำงาน, planning, management

ความนำ

การทำงานจะให้ประสบความสำเร็จจะต้องทำงานแบบมองทะลุ รับโจทย์มา ต้องนำมาคิดและมองงานให้ออกตั้งแต่เริ่มต้นจบจบ และไม่ได้มองเพียงที่ตัวงาน แต่ให้มองที่สภาพแวดล้อมของงานนั้นๆด้วย

คนบางคนทำงานแบบสั่งทีทำที ไม่สั่งก็ไม่ทำ ทำแบบไม่ได้คิด ทำผิดพลาด แล้วก็มานั่งตีความตามคำสั่ง แต่ไม่ได้มีเวลาคิดก่อนทำ ทำอย่างไม่มีดุลพินิจ

คนบางคนทำงานตามคำสั่ง ไม่ว่าคำสั่งนั้นจะชอบหรือไม่ชอบ ถูกหรือไม่ถูกกฎหมาย ไม่มีดุลยพินิจที่จะคิดและดำเนินการได้ด้วยตนเอง งานบางอย่างก็เป็นเช่นนั้น ต้องทำตามคำสั่ง ซ้ายหัน ขวาหันก็ทำตาม ทหารต้องทำตามคำสั่ง เจ้าหน้าที่เรือ หรือทหารเรือก็ต้องทำตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด สั่งให้หันหัวเรือไปที่องศาเท่าใด ให้เดินเรือไปข้างหน้าด้วยความเร็วเท่าใด ก็ทำตามไปตามนั้น ไม่มากหรือเกินไปจากที่สั่ง คนสั่งก็สั่งให้ชัดเจน คิดรอบคอบแล้วสั่ง

แต่ในการทำงานโดยทั่วไปในยุคใหม่ และสำหรับคนทำงานในระดับสูงยิ่งขึ้นนั้น เขาต้องปรึกษาหารือกันก่อนออกมาเป็นคำสั่ง คำสั่งจะเป็นเรื่องท้ายสุดที่จะมอบอำนาจให้สามารถทำการนั้นๆ ได้ การปรึกษาหารือก็คือการมาช่วยกันมองงานให้ชัด เพราะเจ้านายก็ไม่สามารถมองงานได้ทั้งหมดอย่างตลอด ไม่มีรายละเอียดหลายประการเท่าที่คนทำงานเขามีกัน การปรึกษาหารือกัน และบางครั้งแม้แต่ตัดสินใจร่วมกัน จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และเมื่อเป็นเช่นนี้ คนทำงานแต่ละคนต้องคิดและร่วมกันมองงานให้ตลอด

คนขับรถแทกซี่

คนขับรถแทกซี่ที่มีประสิทธิภาพ

เมื่อเราเดินทาง ต้องใช้บริการแทกซี่ เมื่อเรานั่งไป คนขับแทกซี่ เขาก็ต้องรู้จุดหมายปลายทาง เขาจะถามเราว่า จะไปไหนครับ เราบอกจุดหมายปลายทางแก่เขา แล้วเราอาจให้ข้อมูลแนวทางการเดินทาง แต่คนขับเขาจะไปคิดต่อเองว่าจะเดินทางไปทางไหนได้สะดวก คงไม่มีคนขับรถกี่คนที่ต้องการให้เราบอกเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวาไปตลอดทาง เราเป็นคนทำงาน ก็คงต้องการแบบนั้น คือต้องให้รู้วัตถุประสงค์ ให้รู้เวลาว่าต้องการงานเสร็จเมื่อใด เราสามารถใช้ทรัพยากรใดๆ ได้บ้าง มีใครช่วยงาน หรือมาร่วมงานบ้าง และระหว่างทำงานก็มีการปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนข้อมูลไปตลอดเวลาของการทำงาน ตามจังหวะของมัน

คนเป็นนักแสดง

การจะเป็นนักแสดง ก็ต้องมีการศึกษาบทบาทอ่าน Script ดูแล้วพอใจเลือกที่จะทำงาน หรือไม่เลือกแสดง ไม่ใช่ไปรับงานโดยไม่ศึกษา ลงนามลงสัญญา โดยไม่รู้ว่าจะให้แสดงอะไร และบทบาทนั้นเหมาะสำหรับตนเองหรือไม่

นักแสดงที่ดีต้องศึกษาบทบาท ต้องลองไปทำวิจัยอย่างง่ายๆ ไปสังเกตบทบาทชีวิตคนอย่างที่ต้องไปสรวมบทบาทนั้น ถ้าจะต้องแสดงเป็นทหาร ก็ต้องไปสังเกตพฤติกรรมทหาร การเดิน การพูด การแสดงสีหน้าท่าทาง หรือวิธีการคิดแบบทหาร จะแสดงเป็นคนเสียสติ ก็ต้องไปศึกษาพฤติกรรมของคนป่วยในโรงพยาบาลประสาท เสร็จแล้วก็ต้องศึกษาแผนการแสดง ต้องวางแผนชีวิตที่จะเกี่ยวข้องกับงานนั้น จะแสดงแต่ละครั้งแต่ละวัน ก็ต้องท่องและเตรียมบทก่อนไปแสดง

การทำงานรับจ้าง

คนทำงานรับจ้างรายวัน ต่างจากนักวิชาชีพ (Professional) และผู้ประกอบการอิสระ (Entrepreneur)

คนรับจ้างรายวัน เช่นคนงานก่อสร้าง เขาจะรอฝ่ายผู้จ้างให้เป็นคนจัดหางาน และส่งไปทำงานตามที่ๆ กำหนด ส่วนคนทำงานเป็นนักวิชาชีพ นักวิชาการ และผู้ประกอบการอิสระ ก็เป็นผู้รับจ้างเหมือนกัน แต่ว่าเขาต้องรับอย่างมืออาชีพ

การทำงานรับจ้าง จะรับงานแต่ละงาน ก็ต้องศึกษาสัญญา ศึกษาขอบเขตของงานว่าเหมาะแก่ความสามารถเฉพาะของตนหรือไม่ แล้วจึงจะทำข้อเสนอ (Proposal) ได้

การทำงานใดๆ ก็ต้องมีการศึกษางาน ศึกษาบทบาทของตนเองที่จะเกี่ยวข้อง และต้องวางแผน (Roles and Goals) อย่างเช่นในงานก่อสร้าง เป็นวิศวกรไฟฟ้า จะต้องรู้แปลนตั้งแต่แรก ได้ปรึกษาร่วมกันถึงรายละเอียด อ่าน Plan หรือพิมพ์เขียว (Blue Print) แล้วเข้าใจ ก็ต้องร่วมวางแผนงานแต่แรก และต้องรู้ว่าในงานไฟฟ้า การเดินสายไฟจะเป็นงานที่มาระยะหลัง แต่ก็ต้องรู้และร่วมตั้งแต่แรก เพราะเขาต้องมีการเตรียมวางท่อร้อยสาย ที่จะต้องเป็นมาตรฐานที่ฝ่ายช่างไฟฟ้าจะต้องสามารถดำเนินการต่อได้ และทำได้อย่างสะดวก เพราะหากเขาฝังท่อไปในคอนกรีตแล้ว เราจะไปรื้อที่หลังไม่ได้ หรือได้ก็ยุ่งยาก

การทำงานระดับสูง

การทำงานระดับสูง ก็ต้องมีการวางแผนงาน คน เงิน วัสดุอุปกรณ์ และการจัดการ อย่างที่เขาเรียกว่า 4Ms คือ

Man = คน, งานนั้นๆต้องการใช้คนที่มีความสามารถอะไรบ้าง และจำนวนสักเท่าใด งานในระดับสูงมากเท่าใด ความต้องการใช้คนก็มีลักษณะเฉพาะเจาะจงมาก จะต้องไปรู้ว่าจะหาคนแบบนั้นๆได้ที่ไหน

Money = เงิน, งานนั้นๆจะต้องใช้เงินสักเท่าใด คนจะรับงานใดๆ จะต้องมีความรู้ในวิธีการประเมินค่าใช้จ่ายอย่างคร่าวๆ ดังงานก่อสร้างนั้น เขาจะต้องรู้ว่าโดยรวมงานนั้นมีพื้นที่ก่อสร้างสักกี่ตารางเมตร แล้วค่าใช้จ่ายต่อตารางเมตรโดยประมาณสักเท่าใด

Materials = วัสดุอุปกรณ์, จะเป็นร้านอาหาร ก็ต้องรู้ว่าจะไปหาวัตถุดิบ อาหารสด มาจากที่ไหน และถ้าจะต้องใช้วัตถุดิบนั้นๆมาประกอบอาหาร จะต้องมีผู้จัดส่งอาหารที่ไว้วางใจได้ มิฉะนั้นก็ต้องไปซื้อหาเองที่ตลาดทุกวัน ผู้รับเหมาก่อสร้างก็เช่นกัน เขาก็จะต้องรู้ว่าจะไปหาวัสดุก่อสร้างที่เหมาะสมได้ที่ไหนจึงจะได้ของดีและราคาถูก

Management = การจัดการ, คนยิ่งรับผิดชอบในระดับสูงขึ้นไป โอกาสที่จะทำงานนั้นๆเองก็น้อยลง ต้องเปลี่ยนจากการปฏิบัติการ (Operating) ไปสู่การจัดการ (Managing) ซึ่งคนทำงานบริหารในระดับสูงขึ้นไป ก็ต้องรู้และมีประสบการณ์ในการจัดการ ซึ่งต้องคิดถึงการวางแผน การจัดโครงสร้างองค์การ การสั่งการ การควบคุมงาน การประสานงาน ติดตามงาน การรายงาน ฯลฯ

หากเราเป็นผู้เยาว์ เราจะยังไม่ได้คิดถึงการบริหารหรือการจัดการ แต่เมื่อเราได้ทำงานในระดับปฏิบัติการณ์ไปสักระยะ เราอาจพบว่า เราต้องทำงานกับคนมากขึ้น และเราต้องเรียนรู้ในเรื่องการจัดการให้มากขึ้น

มองชีวิตเราให้ทะลุ

อันคนเรามีเกิด แก่ เจ็บ และตายกันทุกคน

ในระหว่างมีชีวิต จะมีเรื่องของการศึกษาเล่าเรียน การทำงาน และในยุคต่อไปนี้ เราจะเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต และทำงานไปตลอดชีวิต

ชีวิตคนเราในอดีต อายุเฉลี่ยเพียง 55-60 ปี แต่ในปัจจุบัน ชีวิตเฉลี่ยคนอาจยืนยาวไปถึง 82 ปีในบางประเทศ และจะมีมากขึ้นที่จะมีอายุยืนไปจนเป็นร้อยปี ดังนั้น คนเราเกิดมาจึงต้องคิดให้ทะลุว่า หากเรามีอายุยืนยาวขึ้นดังที่เป็นแนวโน้มแล้ว เราจะใช้ชีวิตและการทำงานกันอย่างไร

ทำอย่างไรจึงจะทำให้ชีวิตเราดำรงอยู่ได้อย่างมีหลักประกัน มีทรัพย์สินเงินทองที่จะใช้จ่ายจนยามแก่เฒ่า สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข สามารถทำงานใช้สติปัญญาที่มีอยู่ได้แม้จนแก่เฒ่า แต่เป็นการทำงานที่เหมาะแก่วัยและคุณสมบัติดีๆที่มี

ในชีวิตของเรา เราต้องมีการเขียนแผนชีวิต เราอยากเป็นอะไร ทำอะไร เราต้องการความสำเร็จในชีวิตอย่างไร ใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างไร คนเราบางคนใช้ชีวิตแบบไปวันๆ มีเงินก็สนุก ยามแก่เฒ่าก็อยู่อย่างสิ้นไร้ไม้ตอก หมายความว่าสิ้นไร้แม้ไม้ทำฝาโลงเมื่อยามตาย

คนเราจะทำงาน จะใช้ชีวิตให้ประสบความสำเร็จ ก็ต้องคิดตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนจบ มองงานให้ออก มองชีวิตให้ออก

บทสรุป

เกร็ดเรื่องเล่า

ไปรอฟากโน้น - คุณยายกรอง เป็นชาวชนบท เจ็บป่วยจึงเดินทางไปรับการรักษาพยาบาล

ที่โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร

เมื่อคุณยายไปตรวจโรค มีคนรอตรวจเป็นคิวยาว คุณยายเดินไปถามพยาบาลที่กำลังง่วนอยู่กับงาน คุณพยาบาลจึงบอกว่า คุณยาย ไปรอฟากโน้นอันหมายความว่าให้ไปรอที่นั่งรอของผู้ป่วยที่อยู่อีกฟากของห้อง

คุณยายได้รับฟังคำสั่งก็งงๆ แต่ก็ปฏิบ้ติตามโดยนั่งเรือข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยา มารอที่ท่าเรืออีกด้านหนึ่ง

เมื่อถึงคิวตามสั่ง พยาบาลเรียกชื่อคุณยายกรอง หลายครั้งแต่ก็ไม่มีใครมารับบริการ

ทุกอาชีพต้องมองงานให้ทะลุ

การจะรับคำสั่ง ก็ต้องมีวิจารณญาณ ต้องเข้าใจกรอบของการสั่งงานนั้น ต้องสามารถซักถามได้ เพื่อให้เข้าใจงานได้ตลอด

ในการทำงานไม่ว่าในอาชีพอะไร ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ หากเราใส่ใจกับงาน ก็ต้องหัดมองงานให้ทะลุ หากมองยังไม่ออก ก็ให้มีการซักถาม หรือไปศึกษาเพิ่มเติม ทำตามคำสั่ง โดยไม่รู้ว่าเขาให้ทำอะไรนั้นไม่ใช่วิธีการที่ดี

การจะทำอะไร ต้องมีการมองงานให้ทะลุตั้งแต่แรก ต้องมองเห็นขั้นตอนการทำงาน และไม่เป็นแบบสั่งที ทำที คนที่ฝึกมาอย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อมีประสบการณ์มากขึ้น เขาจะรู้ว่าจะเริ่มงาน และจะจบงานนั้นๆ อย่างไร

No comments:

Post a Comment