Friday, December 2, 2011

คนฉลาดจะมีหูยาว แต่ลิ้นสั้น (2)


คนฉลาดจะมีหูยาว แต่ลิ้นสั้น (2)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: proverbs, German, สุภาษิต, เยอรมัน, Open-mindedness, การเปิดใจ, การรับฟัง, ความเป็นผู้นำ, leadership, การเมืองไทย, Thai politics

มีสุภาษิตเยอรมันบทหนึ่ง ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า “The wise person has long ears and a short tongue.” ~ German proverb

ในภาษาไทยจะแปลได้ตรงตัวว่า คนฉลาดจะมีหูยาว แต่ลิ้นสั้น” ~ สุภาษิตเยอรมัน มีความหมายว่า การจะเป็นคนฉลาดนั้น ต้องเปิดใจ รู้จักฟังคน แต่ฟังแล้วไม่จำเป็นต้องพูดมาก ต้องยังไม่รับปากกับคนง่ายๆ เพราะหากการพูดไปแล้วไปรับปาก เราก็ต้องยืนหยัดตามคำพูดนั้นๆ ซึ่งเราอาจปฏิบัติไม่ได้ เพราะยังอาจมีอีกหลายเรื่องหลายตัวแปรที่เราต้องคำนึงถึง

ในการรับฟังคนนั้น ก็ไม่ใช่เพียงรับฟังแต่คนเดียวในด้านเดียว อาจมีทัศนะอื่นๆ จากคนอื่นๆ และมองในอีกหลายแง่มุม ดังนั้น คนทำหน้าที่บริหาร ยิ่งมีความรับผิดชอบมาก การตัดสินใจสำคัญต้องมีผลกระทบกับผู้คนและองค์การออกไปอย่างกว้างขวาง จึงต้องยึดหลักฟังให้มาก ฟังแล้วต้องกลับมาใช้ความคิด ตรวจสอบข้อมูล หาความเป็นจริง แล้วแสวงหาทางเลือกในการแก้ปัญหา ใช้โอกาสจากข้อมูลข้อเท็จจริงเหล่านั้น แล้วจึงเลือกปฏิบัติในทางเลือกที่ได้คิดและเตรียมการณ์มาอย่างดีที่สุด นักบริหารที่ดี ผู้นำที่มีประสบการณ์จึงไม่ด่วนได้ใจเร็ว ต้องให้มีเวลาในการศึกษา การฟังเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะนำไปสู่การรับปากอะไรง่ายๆ จนกว่าจะมั่นใจในการตัดสินใจนั้นๆแล้ว
ดังนั้น จึงพึงตระหนักดังสุภาษิตเยอรมันว่า คนฉลาดจะมีหูยาว แต่ลิ้นสั้น


ภาพ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

กรณีตัวอย่างสุภาษิตนี้ได้แก่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

บุคลิกส่วนตัวพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นคนพูดน้อย ในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย จะให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนน้อยมาก จนถูกหนังสือพิมพ์ในขณะนั้นเรียกขานว่า เตมีย์ใบ้ และได้รับอีกฉายาหนึ่งว่า นักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาจากเหตุการณ์กบฏเมษาฮาวายและกบฏ 9 กันยา จุดแข็งของพลเอกเปรมไม่ได้อยู่ที่การพูด แต่อยู่ที่การฟัง และการเลือกที่ปรึกษาที่มีความสามารถ และเมื่อถึงเวลาอันจำเป็น และเมื่อได้รับข้อมูล ความคิดเห็น และทางเลือกในการดำเนินการแล้ว ก็จะตัดสินใจในสิ่งที่ยุ่งยากได้เสมอ แม้จะช้าไปบ้าง

และด้วยความเป็นซื่อสัตย์ เป็นคนฟังคน และกล้าตัดสินใจหลักๆ และทำได้อย่างถูกต้องนำความเจิญก้าวหน้ามาสู่บ้านเมือง หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกเปรม เป็นองคมนตรี ในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2531 จากนั้นในวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2531 ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ และในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2541 มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี

No comments:

Post a Comment