Thursday, December 8, 2011

วันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ. 1992 นาวิกโยธินสหรัฐบุกเมืองโมกาดิชู ประเทศโซมาเลีย

วันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ. 1992 นาวิกโยธินสหรัฐบุกเมืองโมกาดิชู ประเทศโซมาเลีย

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail:
pracob@sb4af.org

Keywords: Dec 9, 1992: Politics, การเมือง, การปกครอง, Africa, อัฟริกา, Conflict, ความขัดแย้ง, การทหาร, UN, สหประชาชาติ

U.S Marines storm Mogadishu, Somalia

ในวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ. 1992 ทหารนาวิกโยธิน 1800 นายได้ไปถึงเมืองโมกาดิชู ประเทศโซมาเลีย (Mogadishu, Somalia) เพื่อเป็นการนำกองกำลังนานาชาติเข้ารักษากฏหมายในประเทศที่ขณะนั้นเกิดความขัดแย้งรุนแรงที่ไม่มีท่าทีว่าจะสงบ

หลังจากหลายศตวรรษภายใต้การปกครองในระบบอาณานิคมของชาติตะวันตก อันได้แก่ ปอร์ตุเกส (Portugal), อังกฤษ (Britain), และอิตาลี (Italy) เมืองโมกาดิชูได้กลายเป็นเมืองหลวงของประเทศโซมาเลียในปี ค.ศ. 1960 หลังจากนั้นไม่ถึงปี กลุ่มทหารนำโดยนายพล Muhammad Siad Barre ได้เข้ายึดอำนาจและประกาศประเทศโซมาเลียเป็นประเทศสังคมนิยม และด้วยเหตุของความแห้งแล้งในช่วงกลางทศวรรษที่ 1970s ประกอบกับการลุกฮือของกลุ่มกบถชนเผ่าในประเทศข้างเคียงของเอธิโอเปียนี้ จึงทำให้ประชาชนอดอยากขาดอาหารและกลายเป็นผู้อพยพ ในปี ค.ศ. 1981 มีคนเกือบสองล้านคนที่กลายเป็นคนไร้บ้าน แม้จะมีการลงนามในสัญญาสันติภาพกับเอธิโอเปียในปี ค.ศ. 1988 แต่การสู้รบกันระหว่างชนเผ่าต่างๆในโซมาเลียเองก็ยังเกิดขึ้น และในเดือนมกราคม ค.ศ. 1991 นายพล Barre ได้ถูกบังคับให้ต้องถอนทหารออกจากเมืองหลวง ในช่วงหลังจากนั้น 23 เดือน โซมาเลียได้เกิดสงครามกลางเมืองที่คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 50,000 คน อีก 300,000 คนเสียชีวิตจากความอดอยาก ในขณะเดียวกัน แม้ด้วยความพยายามโดยกองกำลังรักษาความสงบของสหประชาชาติที่ส่งเข้าไปเพื่อรักษากฎหมาย เพื่อให้เกิดความสงบ และหวังให้ดำเนินกิจกรรมบรรเทาทุกข์ได้

ภาพ Operation Restore Hope ในประเทศโซมาเลีย ตีพิมพ์ในนิตยสารไทม์

ในช่วงต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. 1992 ประธานาธิบดี George H.W. Bush ผู้กำลังจะลงจากตำแหน่ง ได้ส่งหน่วยนาวิกโยธินเฉพาะกิจเข้าไปในเมืองโมกาดิชู อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่เรียกว่า “ปฏิบัติการฟื้นฟูความหวัง” (Operation Restore Hope) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังของสหรัฐ เพื่อหวังให้คนทำงานด้านบรรเทาทุกข์ได้เข้าไปดำเนินการแจกจ่ายอาหารและการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้ ในช่วงความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆนั้น ได้เกิดการฆาตกรรมทหาร 24 นายของสหประชาชาติที่มาจากปากีสถาน ซึ่งเป็นผลให้สหประชาชาติได้สั่งการให้อำนาจเพื่อจับกุมนายพล Mohammed Farah Aidid ผู้นำคนหนึ่งของฝ่ายกบถชนเผ่า ในวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1993 ในความพยายามเข้าจับกุมผู้นำกบถนั้น ฝ่ายกบถได้ยิงเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ Black Hawk 2 ลำของสหรัฐตก ทำให้ทหารของสหรัฐ 18 นายเสียชีวิต

ในคราวนั้นผู้ชมโทรทัศน์ได้เห็นภาพความนองเลือด รวมถึงภาพกำลังทหารของ Aidid ได้ลากศพของทหารอเมริกันรายหนึ่งไปตามถนนในเมืองโมกาดิชูพร้อมโห่ร้องดีใจ ประธานาธิบดีบิล คลินตัน (Bill Clinton) ของสหรัฐตัดสินใจสั่งถอนทหารทั้งหมดของสหรัฐออกจากโซมาเลียในวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1994 ชาติตะวันตกทั้งหมดก็ถอนทหารตาม และเป็นการจบการทำหน้าที่ซึ่งใช้งบประมาณไป 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (60,000 ล้านบาท) โดยไม่ประสบความสำเร็จใดๆ เมืองโมกาดิชูก็ยังไม่มีรัฐบาลที่สามารถทำงานได้ การลงนามหยุดยิงในประเทศเคนยาในปี ค.ศ. 2002 ก็ล้มเหลวไม่สามารถหยุดยั้งความรุนแรงได้ แม้ได้มีการประชุมรัฐสภาของประเทศในปี ค.ศ. 2004 กลุ่มกบถในภูมิภาคต่างๆในโซมาเลียก็ยังคงสู้รบกันต่อไปเพื่อแย่งชิงประเทศที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งไม่รู้จบ

ภาพ ความอดอยากในประเทศโซมาเลีย อันเป็นผลมาจากการสู้รบไม่รู้จบ ความแห้งแล้งในประเทศ

ภูมิหลังประเทศโซมาเลียในปัจจุบัน

ประเทศโซมาเลียมีเมืองหลวง (Capital) และเมืองใหญ่สุดคือโมกาดิชู (Mogadishu) อยู่ในตำแหน่ง 2°02′N 45°21′E

มีภาษาทางการคือ โซมาลี (Somali), และภาษาอาหรับ (Arabic) ในด้านประชากรและชนเผ่า (Ethnic groups) ประกอบด้วย Somalis ร้อยละ 85, ที่เหลือประกอบด้วย Benadiris, Bantus และอื่นๆที่ไม่ใช่โซมาลีอีกรวมร้อยละ 15

ในปัจจุบัน โซมาเลียมีการปกครองโดยรัฐบาลผสม มีประธานาธิบดีชื่อ Sharif Sheikh Ahmed มีนายกรัฐมนตรีชื่อ Abdiweli Mohamed Ali

ประเทศโซมาเลียมีพื้นที่ 637,657 ตารางกิโลเมตร จัดว่าใหญ่เป็นอันดับที่ 43 ของโลก มีประชากร (Population) สำรวจล่าสุดในปีค.ศ. 2011 มี 9,925,640 คน จัดเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับที่ 86 ของโลก

ในด้านเศรษฐกิจ ประเทศมีรายได้ต่อหัวของประชากรประมาณ 600 เหรียญสหรัฐต่อปี หรือคิดเป็นประมาณ 1500 บาทต่อเดือน จัดเป็นอันดับที่ 223 ของโลก หรือจัดได้ว่าอยู่ในกลุ่มจนที่สุดในโลก

No comments:

Post a Comment