Saturday, December 3, 2011

สุภาษิตเยอรมัน: มีศัตรูที่ซื่อตรงดีกว่ามีเพื่อนผิดๆ

สุภาษิตเยอรมัน: มีศัตรูที่ซื่อตรงดีกว่ามีเพื่อนผิดๆ

ประกอบ คุปรัตน์Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: Proverbs, German, สุภาษิต, เยอรมัน, การบริหาร

มีสุภาษิตเยอรมันบทหนึ่งที่แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า “Better an honest enemy than a false friend.” ~ German Proverb

สุภาษิตดังกล่าวแปลเป็นไทยได้ว่า “มีศัตรูที่ซื่อตรงดีกว่ามีเพื่อนผิดๆ” ~ สุภาษิตเยอรมัน

ความหมายของ “ศัตรูที่ซื่อตรงคือคนที่เขามองเราในแง่ไม่ดี เห็นสิ่งไม่ดีในเรา เขาก็นำไปวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผย และตรงไปตรงมา สิ่งที่เรามีดีเขาอาจไม่ได้พูด ก็ไม่เป็นไร แต่หากเขาเป็นคนดีมีศักดิ์ศรี แล้วเขานำสิ่งที่เราทำแม้เราจะคิดว่าดี แต่หากเขามองในอีกแง่มุมหนึ่ง แล้วได้พูดและวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งคำวิจารณ์เช่นนี้ มันก็ควรค่าแก่การรับฟัง และนำไปตรวจสอบ

ความหมายของ “เพื่อนที่ผิด” หรือมิตรที่เลวจริงๆก็มีให้เห็น คือคนที่เขาคิดว่าเราเป็นมิตร แต่เขาไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพื่อนที่ดี ไม่ได้กล่าวเตือนเรายามเราทำผิดพลาด ป้อยอเราแล้วทำให้เราเหลิง ไม่ได้ช่วยเรายามเราทุกข์ยากมีปัญหา ไม่ได้ให้กำลังใจแก่เรายามเราสิ้นหวัง เขาอยู่รอบๆเราเพียงเพื่อแสวงประโยชน์ยามที่เรายังมีอำนาจวาสนา แต่ยามเราสิ้นบุญสิ้นวาสนา เขาจะจากไปอย่างไม่ใยดี และในบางครั้งจะเรียกว่าถีบหัวเรือส่ง ไม่กลับมาเหลียวแลกันอีกต่อไป คนแบบนี้ก็จะมีให้เห็น

มีเพื่อนอีกแบบหนึ่งที่เขารักเราด้วยใจจริงในแบบของเขา แต่เขาไม่มีศักยภาพที่จะเป็นที่พึ่งแก่เราในเส้นทางชีวิตของเรา และในทางตรงกันข้าม เขาอาจเป็นคนไปสร้างศัตรูให้กับเราโดยความเคยชินของเขา หรือโดยลักษณะนิสัยความเป็นคนไม่ดีของเขา เป็นอันธพาล เพื่อนแบบนี้ยิ่งคบไว้มากๆ มีแต่คนรอบข้างที่มีลักษณะดังกล่าว ก็นับว่าเราจะมีแต่ความอับเฉา จึงมีคนกล่าวว่า “จะดูว่าคนๆนั้นเป็นเช่นไร ก็ให้ดูคนรอบข้างเขา” คนโบราณและผู้ใหญ่จึงเตือนเอาไว้ว่า “คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล” คือคำแนะนำให้เราหลีกเลี่ยงจากการคบคนผิด ยกเว้นเรามองเห็นหนทางที่จะเปลี่ยนเขาให้เป็นคนดี หลุดพ้นจากวงจรความไม่ดีได้

ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อเราทำงานไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหรือการเมือง เรามักพบว่าจะมีเส้นทางที่ทำให้ต้องไปมีความขัดแย้งกับฝ่ายตรงกันข้าม ซึ่งเป็นเพราะไปทำธุรกิจที่ต้องแข่งขันกัน ขัดผลประโยชน์กัน หรือไปอยู่ในพรรคการเมืองที่ต้องต่อสู้กันทางความคิดและแสวงอำนาจ ในด้านนี้เขาแนะนำให้เราต้องมองสรรพสิ่งอย่างเป็นบวก (Positive Thinking) อย่ามองคนเป็นศัตรูเสมอไป ดังทางการเมืองเขามีคำกล่าวว่า “ไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร” โดยอย่าไปคิดแบบติดยึด ผูกใจเจ็บ แบบคิดอาฆาตแค้นต่อกันตลอดเวลา
ตัวอย่างในทางธุรกิจ อย่าไปมองคนที่ทำงานให้กับฝ่ายตรงกันข้ามว่าเป็นศัตรู เพราะในบางวาระ คนที่ต้องแข่งขันกัน ก็ต้องมาร่วมมือกัน ต้องมีสมาคมในบรรดาคนทำงานด้านเดียวกัน เพื่อจะได้เปิดเป็นเวทีพูดคุยกัน ไม่ใช่แข่งขันกันแบบเอาเป็นเอาตาย เสียหายทางธุรกิจไปทั้งสองฝ่าย

ในทางธุรกิจ บางครั้งแข่งขันกันแบบไม่มีแพ้มีชนะกันจนเหนื่อยอ่อน แต่ท้ายสุด เขาต้องเลือกทางยุบรวมธุรกิจเข้าด้วยกัน เรียกว่า Merging เพื่อลดต้นทุนการผลิตและบริการ ลดความซ้ำซ้อนสิ้นเปลืองในการให้บริการ และการขยายบริการไปในที่ๆยังไปไม่ถึง ธุรกิจเดินรถ เดินเรือ รถไฟ ล้วนต้องมีวิธีการคิดวางเครือข่ายที่ครอบคลุมและสร้างจุดแข็งในการให้บริการลูกค้า

ในทางการเมือง ดังในสหรัฐอเมริกา การแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีต้องมีการเสนอตัวเองภายในพรรคเดียวกัน ต้องใช้เวลาหาเสียงเสนอนโยบายแข่งกัน พบกันในการโต้วาทีหลายๆสนามการเลือกตั้งขั้นต้นอย่างที่เรียกว่า Primary เพื่อให้ได้เป็นตัวแทนพรรค และในการนี้ เราจะพบว่ามีหลายครั้งที่ ผู้ชนะก็ต้องหันมาหาคู่แข่งบางคน เพื่อเลือกไปร่วมงาน เพราะต้องการได้ฐานเสียงของคู่แข่ง หรือต้องการความสามารถพิเศษของเขา การที่ Barack Obama ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีแล้ว แต่ก็ขอนาง Hilary Clinton ซึ่งเป็นคู่แข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตายมา มาร่วมงานในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และเขาก็ทำงานร่วมกันได้อย่างดี และผลจนถึงปัจจุบัน ก็นับได้ว่าเป็นการตัดสินใจร่วมงานกันที่เป็นผลดี ในอดีตประธานาธิบดี Abraham Lincoln ก็เลือกคนที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นศัตรูทางการเมืองเข้ามาเป็นทีมงาน เพราะเห็นประโยชน์ในการเลือกคนดีคนเก่ง มากกว่าจะระแวงในความสวามิภักดิ์เป็นส่วนตัว

กล่าวโดยสรุป คำสุภาษิตเยอรมันที่ว่า “มีศัตรูที่ซื่อตรงดีกว่ามีเพื่อนผิดๆนั้นเป็นการเตือนใจคนทำงาน คนที่ต้องคบคนมากหลายในชีวิต ต้องอย่ามองเห็นคนเป็นศัตรูตลอดเวลา หรือตลอดไป และก็อย่าตายใจกับการมองคนที่เห็นว่าเป็นมิตร เพราะในความเป็นจริงอาจปรากฏว่า เขาอาจมิได้เป็นมิตรของเราจริงจังหรือแท้จริง

No comments:

Post a Comment