Sunday, February 3, 2013

ขอเขียนถึง “พระครูปีละวัด”


ขอเขียนถึง “พระครูปีละวัด”

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: การศึกษา, education, ศาสนา,  religion, พุทธศาสนา, Buddhism, พระสงห์, monks, อาจารย์มหาวิทยาลัย, professor, 

ผมขอนำความที่เขียนโดย “พระครูวินัยธรชุมพร อุชุจาโร” ซึ่งเขียนถึงสหธรรมิก “ท่านชู บ้านแคน” และเห็นว่าเป็นประโยชน์ในทางวิชาการด้าน ความเป็นผู้นำ และการอุดมศึกษา จึงได้นำข้อมูลมาเรียบเรียงและให้ทัศนะเพิ่มเติม


ภาพ ท่านชู บ้านแคน

พระครูวินัยธรชุมพร อุชุจาโร กล่าวถึง “ท่านชู บ้านแคน” ว่า

พระภิกษุรูปนี้ชอบย้ายวัด ได้เป็นสหธรรมิกกันกับท่านตั้งแต่ปี 2548 เดิมทีท่านเป็นพระเกิดที่สุรินทร์สะพายบาตร, มุ้งกรด แบบชนิดที่บาตรเดียวเที่ยวทั่วไป มาขออยู่ที่วัดบูรพาภิราม ร้อยเอ็ด แล้วย้ายไปอยู่วัดบ้านเปลือยใหญ่ ไปอยู่เกษตรวิสัย ไปอยู่บ้านหนองบัว อ.กมลาไสย กาฬสินธุ์ ไปอยู่วัดป่าโคกสง่า

ท่านชอบเข้า ๆ ออก ๆ ระหว่าง วัดเวฬุวันเพื่อไปกราบเจ้าคุณปู่วัดเวเป็นประจำ เพื่อนที่สนิทกันหรือบางรูปจะล้อท่านว่า พระครูปีละวัด หรือพระย้ายวัด ครั้นเมื่อถึงเวลาเข้าพรรษาถึงรู้ว่าท่านจำพรรษาอยู่วัดไหนแน่นอน ดูแล้วท่านเป็นคน(พระ)หัวเดียวกระเทียมรีบ ชอบท่องเที่ยวไปหาประสบการณ์ใส่ชีวิต

ที่สำคัญท่านรักการเรียน ประพฤติในกรอบพระธรรมวินัยมาตลอด เอาตัวรอดได้ ครั้นเมื่อออกพรรษากรานกฐินเสร็จชอบลาออกจากวัดที่จำพรรษา เมื่อท่านจะลาออกจากวัดใดญาติโยมวัดนั้นจะอาลัยอาวรณ์ยิ่งนัก ท่านประพฤติตนแบบไม่ติดอาวาส มาทึ่งที่จบ พธ.บ.(เกียรตินิยมอันดับ 1, ร.บ., พธ.ม., รป.ม. และว่าที่ ป.รด. (ภาวะผู้นำการบริหาร) ส่วนรวมทางคณะสงฆ์ท่านก็สนองงานพระราชธรรมโสภณและคณะสงฆ์ร้อยเอ็ด สร้างมจ.ร. บ้านท่าเยี่ยม ท่านเป็นผู้ก่อตั้งเลยเชียวแหละ เลยได้ไปร่วมงานกับท่านอย่างจริงจัง

ท่านชูเป็นคนรอบคอบ ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม หนักเอา เบาสู้ ทำให้พระผู้ใหญ่ก็เมตตาสงสารเห็นอกเห็นใจท่าน ดังนั้นขอแสดงความยินดีอีกรอบที่ท่านได้รับพระกรุณาให้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร.

ประกอบ คุปรัตน์

มีชาวบ้านหลายคน อาจคิดว่า พระสงฆ์มาเรียนวิชาการเยี่ยงชาวบ้าน จะเป็นการฝักใฝ่ในทางโลกมากเกินไปหรือไม่ พระควรใช้คอมพิวเตอร์หรือไม่ ใช้สื่อสังคมอย่าง Facebook หรือ Twitter ผิดธรรมวินัยหรือไม่ หรือพระมาศึกษาเล่าเรียนจนถึงปริญญาเอก เรียนไปเพื่ออะไร

ผมมีความเห็นในเบื้องต้นว่า พระสนใจใฝ่รู้ในเรื่องทางโลก ไม่เป็นการแปลกหรอก พระยิ่งมีความรู้กว้างขวางเท่าใด ก็จะยิ่งเป็นประโยชน์ในการเป็นที่พึ่งให้กับชาวบ้าน สำหรับผมแล้ว ฟังพระสวดเป็นภาษาบาลีมากๆ ยาวๆ ผมฟังไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าได้นั่งคุยกับท่าน แล้วแลกเปลี่ยนทัศนะกัน ผมรู้เรื่องภาษาอังกฤษบ้าง วิทยาศาสตร์พื้นฐานบ้าง แล้วท่านรู้เรื่องบาลีและหลักธรรม ทำให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน อย่างนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผม สำหรับผม พระที่ไม่มีประสบการณ์ สอนเพียงตีความตามภาษาบาลีโดยไม่มีตัวอย่างชีวิตจริง ก็ดูเหมือนอาจารย์มหาวิทยาลัยที่บรรยายแต่ทฤษฎี แต่ไม่สามารถทำให้ศิษย์เข้าใจและนำไปปฏิบัติในชีวิตจริงได้

ในการเดินทางไปร่วมสัมมนาทางวิชาการที่จังหวัดสกลนคร และแวะขึ้นพระธาตุภูเพ็ก สังเกตเห็นท่านชูเดินขึ้นเขาแบบตัวปลิว ทั้งๆที่ดูภายนอก ท่านเป็นพระที่มีน้ำหนักตัวไม่น้อย แสดงว่าท่านต้องมีการฝึกทางร่างกาย ทำงานหนัก หรือธุดงค์อยู่เป็นประจำ สำหรับผมซึ่งเป็นคนตัวใหญ่คล้ายท่าน น้ำหนักตัวกับการไต่เขาเป็นเรื่องสาหัสทีเดียว ต้องใช้ความพยายามและตั้งใจพอสมควร จึงจะถึงยอดเขาได้

ในการเดินทางไปวัดที่เป็นพุทธสถานแห่งหนึ่ง มีร้านขายแคนอันเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้าน ได้เห็นและได้ฟังท่านเป่าแคนได้อย่างไพเราะ น่าสนใจ แคนเป็นอุปกรณ์การสอนและการเทศนาได้ เปลี่ยนบรรยากาศที่ทำให้พระใกล้ชิดสนิทสนมกับชาวบ้านได้ ผมเคยพบพระมีอารมณ์ขัน ใช้ Comedy ในการเทศนาได้อย่างน่าสนใจ เด็กๆและชาวบ้านชอบ การใช้แคนหรือเครื่องดนตรีเป็นอุปกรณ์ในการสอน หรือเทศนา ก็ย่อมเป็นสิ่งที่น่าจะกระทำได้ และน่าสนใจ เหมือนในโบสถ์ฝรั่ง ก็มีชีที่สามารถร้องประสานเสียงเพลงศาสนาได้อย่างไพเราะ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ

ในด้านวิชาการ เมื่อพูดคุยกับท่านเกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษากับชุมชน ท่านมีความรู้ทางโลกมากกว่านักศึกษาปริญญาเอกหลายๆคน เข้าใจในชีวิตของชาวบ้าน การทำมาหากิน และการพัฒนาชุมชนได้เป็นอย่างดี ผมก็ได้เรียนรู้จากท่าน เมื่อพูดถึงเงื่อนไขการต้องมีความสามารถด้านภาษาอังกฤษ (English Proficiency) ท่านฟังความคาดหวังจากผมในฐานะประธานหลักสูตร “ภาวะผู้นำและการบริหาร” แล้วท่านบอกว่า “จะเรียนสามปีหรือหกปีก็ไม่เป็นไร ขอให้เรียนจบได้” ผมเชื่อว่าท่านมีความวิริยะอย่างดี ท่านคงจะพัฒนาทักษะภาษา ที่จะใช้เพื่อการสื่อสารกับโลกภายนอก ทั้งด้วยการอ่าน การฟัง การพูด และการเขียนได้

การที่ท่านชู มีฉายาว่า “พระครูปีละวัด” ก็เป็นเรื่องน่าสนใจ พระบางรูปมีนิสัย “ติดที่” (Place bound) ยึดวัดเป็นที่สุดท้ายของชีวิต และใช้เวลาทั้งหมดกับการประพฤติปฏิบัติในชีวิตการกินการอยู่อย่างเรียบง่าย แล้วชาวบ้านก็ไปหาที่วัด ในมหาวิทยาลัยก็มีอาจารย์ประเภทอยู่ติดที่ ไม่ออกไปบรรยายที่ไหน แต่หากใช้ชีวิตกับหนังสือในห้องสมุด สอนในห้องเรียน ทำงานในห้องทดลอง แต่ก็มีอาจารย์อีกประเภทหนึ่ง ที่ชีวิตการเรียนการสอนและการทำงาน คือการต้องออกไปสัมผัสกับโลกภายนอก อาจารย์ทางเกษตรฯ ต้องออกภาคสนาม อาจารย์สอนทางประมง ต้องมีชีวิตอยู่กับท้องทะเลเป็นเวลายาวนานในแต่ละปี พระก็คงจะเช่นกัน พระบางรูปท่องเที่ยวไปที่ต่างๆ เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากโลกภายนอก ฟังจากชาวบ้าน ไปเห็นชาวบ้านทำมาหากิน ก็ย่อมจะได้แง่คิดที่จะกลับมาใช้หลักธรรมในการสอนแก่ชุมชนได้

อาจารย์อีกประเภทในมหาวิทยาลัย เรียกว่า Visiting professor อาจารย์เหล่านี้ ท่านชอบที่จะได้ไปเป็นอาจารย์พิเศษ ย้ายไปสอนตามมหาวิทยาลัยและประเทศต่างๆ ขณะเดียวกันก็รับประสบการณ์จากหลายๆที่เหล่านั้น ความก้าวหน้าทางวิชาการหลายๆด้านเกิดจากการที่อาจารย์ได้ไปเห็น ไปร่วมงานกับองค์กรต่างๆทั้งภายในและนอกประเทศ


ภาพ ประกอบ คุปรัตน์ คนที่สี่จากซ้าย: ท่านชู บ้านแคน คือพระที่ถือไม้ช่วยเดินป่า

ผมเป็นอาจารย์โดยอาชีพ แต่ด้วยความตระหนักว่า ผมเองก็ต้องทำตัวเป็น “นักศึกษา” (Student) ในแง่ที่ต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และเป็นอันมาก ต้องเรียนรู้ร่วมไปกับนิสิตที่เราสอนเขานั่นแหละ

No comments:

Post a Comment