Sunday, February 3, 2013

หน้าที่ของรัฐมนตรีศึกษาธิการ คืออะไร?


หน้าที่ของรัฐมนตรีศึกษาธิการ คืออะไร?

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: การเมือง, politics, การศึกษา, education, รัฐมนตรีศึกษาธิการ, Minister of Education, เขตพื้นที่การศึกษา, Local Education Authority – LEA, ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา, superintendent, การกระจายอำนาจ, decentralization, การให้อำนาจ, empowerment,

ผมขอเสนอทัศนะต่อบทบาทรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ก่อนที่จะหลายคนจะเข้าใจความคิดของผมผิด และสับสนว่าแล้วผมในฐานะนักวิชาการคนหนึ่งคิดอย่างไรต่อบทบาท MOE หรือ Minister of Education ของไทย

หน้าที่ของรัฐมนตรีศึกษา คือ “ทำเรื่องใหญ่ๆ” และเรื่องที่เล็กๆลงมา อันเป็นรายละเอียด และแตกต่างกันได้ ก็ให้คนมีอำนาจในระดับเบื้องต้นเขาตัดสินใจ เช่นเรื่องการแต่งกาย ทรงผม การใช้เวลาทำการบ้านมากน้อยเพียงใด ไม่มีคำตอบที่ตายตัว ไม่มีรูปแบบการสอนที่เป็นแบบเดียวแล้วดีที่สุด การหย่อน หรือตึงด้านระเบียบวินัย ล้วนต้องมีเหตุผล แต่คนที่จะตอบได้ดีกว่า คือ ทางโรงเรียน พ่อแม่นักเรียน และตัวนักเรียนเอง ปล่อยให้เขาไปคิด ไปทำการบ้านหาทางออกกันเอง

หน้าที่ของรัฐมนตรีศึกษาธิการ คือทำเรื่องใหญ่ๆ ทำสักร้อยละ 20 แต่ได้ผลกระทบ (Impact) สัก 80 ซึ่งเรื่องใหญ่ๆที่เห็นว่า รัฐมนตรีต้องออกแรงเอง คนอื่นๆทำไม่ได้ดีเท่า แต่ท่านสามารถฟังผู้เชี่ยวชาญได้ จุดสำคัญที่อยากพูดถึงมีดังนี้

1.   การระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา - ภาพใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการ คือการทำให้การกระจายอำนาจเกิดขึ้นได้อย่างจริงจัง และยังประโยชน์ การศึกษาของชาติต้องการทรัพยากรสนับสนุน (Resources) ทั้งคน เงิน และอื่นๆ ซึ่งมากเกินกว่ารัฐบาลกลางจะจัดหาให้ฝ่ายเดียว เราต้องระดมทรัพยากรนี้จากท้องถิ่น ภาคธุรกิจ และแม้แต่พ่อแม่ที่พอจะมีฐานะ ไม่มีการลงทุนใดสำหรับประเทศที่จะดีไปกว่า “การศึกษา” เพียงแต่ผู้เกี่ยวข้องเขาต้องแน่ใจว่า เงิน/ทรัพยากรที่ลงไปนั้น ได้ผลกลับคืนมาอย่างมีประสิทธิผล

2.   ลงทุนเพื่ออะไร หลักสูตรแบบไหนดีที่สุด ใช้ระบบการสอนอย่างไรเหมาะที่สุด – ไม่มีคำตอบเดียวสำหรับสิ่งเหล่านี้ (There is no one best way.) มันต้องมีการอธิบายอย่างมีความเชื่อมโยงต่อกัน สังคมต้องซื้อสิ่งเหล่านี้อย่างเป็น Project ซื้อความคิดอย่างทั้งระบบ แต่เป็นระบบเล็กๆที่แต่ละที่เขาจะเลือกกัน การศึกษาแบบเน้นเด็กเป็นศูนย์กลางก็ดี การให้อำนาจครู (Empowerment) ผู้สอนก็เป็นเรื่องที่ดี การจะจัดการศึกษานานาชาติก็เป็นเรื่องสำคัญ การให้อำนาจผู้บริหารที่มีความสามารถ มีความเป็นผู้นำและเป็นคนดี ก็เป็นเรื่องจำเป็น การจะสนับสนุนก็ต้องให้ทางโรงเรียนเสนอขึ้นมา แล้วให้ระดับสูงที่ใกล้เขา ดังเขตพื้นที่การศึกษา (Local Education Authorities – LEAs) เป็นคนตัดสินและดำเนินการ

การจะทำให้เกิดความเป็นผู้นำและการจัดการศึกษาอย่างกระจายอำนาจนั้น คือการต้องให้ท้องถิ่นไปดำเนินการกันเอง ส่วนกลางต้องลดบทบาทลง

3.   การสร้างวัฒนธรรมใหม่ ด้านความโปร่งใส และธรรมาภิบาล (Transparency & Good Governance)หากจะระดมเงินเพื่อการศึกษาเพิ่มขึ้นให้ได้ร้อยละ 25-30 ในอีก 3-5 ปีข้างหน้านั้นเป็นสิ่งที่ทำได้  เช่นเลิกโครงการประชานิยมที่ไม่มีประสิทธิผลบางโครงการเสีย แล้วให้ท้องถิ่นร่วมกับการศึกษาในชุมชนของเขา ร่วมกันพัฒนาแผนธุรกิจ (Business Plan) ที่เขียนแล้วทำได้อย่างจริงจัง และทำได้อย่างรอบคอบ รัฐมนตรีศึกษาธิการ ต้องแสดงบทบาทของความจริงจังในการทำงานที่ต้องโปร่งใส ไม่เล่นพวก มีความอดทนที่จะรับฟัง แต่ขณะเดียวกัน ต้องไม่ทนต่อสภาพทุจริตคอรัปชั่นที่แซกซึมไปทุกวงการ รวมทั้งวงการศึกษา

ความโปร่งใสและตรงไปตรงมา และบังคับให้เกิดทั้งระบบ จะทำให้คนเกิดความมั่นใจในการศึกษา และกล้าที่จะมาร่วมลงทุนด้วย มาร่วมกันหาทรัพยากรเพื่อการศึกษา หากเขามั่นใจว่าเงินที่เขาจัดหากันมานั้นได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างจริงจัง ไม่รั่วไหล

4.   ระบบคุณธรรม (Merit System) ในการบริหารบุคคลและทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งจำเป็น - หลักของมันคือต้องให้ระบบได้เลือกคนเก่งและคนดีสำหรับตำแหน่งงานที่ว่าง (Put the right man to the right place.) ต้องไม่ปล่อยให้ระบบพวกพ้อง ผลักดันคนที่ไม่มีความสามารถเข้ามาเป็นครูอาจารย์ เพียงเพราะเขามีพรรคพวก มีคนมีอำนาจหนุนหลัง ตำแหน่งครูนั้น มักจะเข้าง่าย แต่ออกยาก ระบบการศึกษาต้องมีกลไกขจัดคนไร้ความสามารถออกจากระบบการศึกษา และสิ่งเหล่านี้ กระทำได้ดีที่สุดในระดับบริหารที่ใกล้กับเขา มากกว่าคนในระดับสูงและห่างไกลออกไป

5.   การต้องมีระบบกฎหมายรองรับการปฏิรูปการศึกษา – รัฐมนตรีศึกษาคนใหม่เป็นนักกฎหมายก็ดีแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่ต้องใช้การปรับแก้นิติบัญญัติ เพื่อทำให้การกระจายอำนาจกระทำได้ดียิ่งขึ้น ดังเช่นเขตพื้นที่การศึกษาต้องมีความเป็นนิติบุคคล (Legal entity) เรื่องผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา (ฝรั่งเรียก Superintendents) ต้องมีอำนาจในการจัดการมากกว่านี้ มีความมั่นคงมากกว่านี้ มีความเป็นผู้นำมากกว่านี้ รัฐมนตรีฯจะได้เหนื่อยน้อยลง การกระจายอำนาจกรมบางกรม ดังกรมอาชีวศึกษา ซึ่งต้องกระจายอำนาจออกไป ซึ่งอาจจะเป็น Cluster หรือศึกษารูปแบบของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่ได้มีการปรับเปลี่ยนไปแล้วเอาไว้เป็นแนวทาง ก็สามารถทำได้

ผมเสนอเพียงเท่านี้ หากท่านรัฐมนตรีอยู่ได้จนครบเทอม และทำให้ได้ดังที่กล่าวนี้ สักร้อยละ 30 มันก็จะเป็นเรื่องที่เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนแล้ว แต่ที่กลัวก็คือ ฝ่ายการเมืองจะเห็นตำแหน่งรัฐมนตรีเป็น “เก้าอี้ดนตรี” เป็นตำแหน่ง “รัฐมนตรีเกรดสอง” หรือเป็น “ฐานเสียง” มากกว่าการมองเป็นเครื่องมือเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาอย่างจริงจัง

No comments:

Post a Comment