Tuesday, February 19, 2013

ทุ่งสังหาร (The Killing Fields) สิ่งที่โลกไม่ควรลืม


ทุ่งสังหาร (The Killing Fields) สิ่งที่โลกไม่ควรลืม

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: ประวัติศาสตร์, history, การเมือง, politics, กัมพูชา, Cambodia, conflict, ความขัดแย้ง, civil war, สงครามกลางเมือง, ทุ่งสังหาร, Killing Fields

ทุ่งสังหาร คือสิ่งที่ชาวโลกไม่ควรลืม ตราบนานเท่านาน แต่คนรุ่นใหม่ในกัมพูชาเอง กลับมีการสืบทอดบอกเล่ากันต่อมาน้อยมาก ราวกับว่าทุกคนอยากให้ลืมฝันร้ายที่ได้เคยเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมาในแผ่นดินกัมพูชาแห่งนี้

ทุ่งสังหาร มาจากคำในภาษาอังกฤษว่า The Killing Fields คือสถานที่หลายๆแห่งในกัมพูชา ที่ซึ่งได้มีการสังหารประชาชนจำนวนมากมายแล้วฝังศพไว้โดยพวก “เขมรแดง” (Khmer Rouge regime) ในระหว่างที่พวกเขาครองอำนาจในช่วงปี ค.ศ. 1975 ถึง 1979 ภายหลังจากสงครามกลางเมืองของกัมพูชา หรือ Cambodian Civil War (1969-1975)ได้ยุติลง

มีการวิเคราะห์กันว่ามีบริเวณที่ฝังศพกว่า 20,002 แห่งในแผนที่ DC-Cam Mapping Program ซึ่งดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) แห่งสหรัฐอเมริกา ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1,386,734 คนด้วยการถูกสังหาร และประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตอันเกิดจากนโยบายของเขมรแดง ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บและการขาดอาหารประมาณ 1.7 ถึง 2.5 ล้านคน จากประชากรที่มีอยู่เพียง 8 ล้านคน ในปี ค.ศ. 1979 เวียดนามคอมมิวนิสต์ได้บุกยึดประเทศกัมพูชา และโค่นล้มรัฐบาลของเขมรแดง

นักหนังสือพิมพ์ชาวกัมพูชาชื่อ ดิฐ ปราน (Dith Pran) ได้ให้คำว่า “ทุ่งสังหาร” หลังจากที่เขารอดพ้นจากความโหดร้ายของเขมรแดง จนได้มีภาพยนตร์เรื่อง “ทุ่งสังหาร” (The Killing Fields) ในปี ค.ศ. 1984 ซึ่งนำแสดงโดยชาวกัมพูชาอีกคนหนึ่ง ชื่อ “เฮียง เอส งอ” (Haing S. Ngor) ที่ได้เล่าถึงการหนีหลุดจากค่ายแห่งความตายมาได้


ภาพ พิพิธภัณฑ์หลักฐานจากทุ่งสังหาร (Killing Fields) ณ วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา


ภาพ ส่วนหนึ่งของหลักฐานผู้เสียชีวิตในช่วงที่เขมรแดงครองอำนาจ และมีการสังหารหมู่ผู้คนหลายล้านคน


ภาพ หลุมที่เคยเป็นที่ฝังศพบุคคลผู้ถูกสังหารแล้วฝังในหลุมเหล่านี้ ที่เชืองเอ๊ก (Choeung Ek ใกล้กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา (Phnom Penh, Cambodia)


ภาพ ค่ายกักกันโตล สเล็ง ซึ่งปัจจุบันได้ปรับเป็นพิพิธภัณฑ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Tuol Sleng Genocide Museum) เดิมเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาแต่ช่วงเขมรแดงครองอำนาจในช่วงปี ค.ศ. 1975-1979 ได้ถูกแปลงเป็นค่ายกักกัน ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศในช่วงนั้น


No comments:

Post a Comment